ThaiPublica > สู่อาเซียน > ธปท. จับมือธนาคารกลางอินโดนีเซีย เปิดบริการชำระเงินข้ามประเทศด้วย QR Code

ธปท. จับมือธนาคารกลางอินโดนีเซีย เปิดบริการชำระเงินข้ามประเทศด้วย QR Code

17 สิงหาคม 2021


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia: BI) ได้ร่วมกันแถลงเปิดตัวการเชื่อมโยงด้านการชำระเงินระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกผ่านโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย และเปิดให้บริการชำระเงินด้วยนวัตกรรม QR Code ที่เป็นมาตรฐานส่งผลให้ลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศสามารถทำรายการชำระเงินและรับเงินระหว่างกันผ่าน QR Code ได้ทันที นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ที่ส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาค

ในระยะแรก ลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ สแกน QRIS (Quick Response Code Indonesian Standard) ซึ่งเป็น QR มาตรฐานของประเทศอินโดนีเซีย ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนลูกค้าในประเทศอินโดนีเซียสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการสแกน Thai QR Code ชำระค่าสินค้าและบริการร้านค้าของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการในประเทศไทย การให้บริการในระยะแรกนี้นับเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับลูกค้า ร้านค้า และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินระหว่างประเทศก่อนที่จะขยายการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

การให้บริการชำระเงินระหว่างกันด้วย QR Code มาตรฐานนี้ จะรองรับธุรกรรมการชำระเงินจากการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะจากธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันสูงถึง 8 แสนคนในปี 2562 และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกหลังสถานการณ์การเดินทางกลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งบริการนี้ยังสามารถรองรับการซื้อขายออนไลน์ระหว่างประเทศได้อีกด้วย

ในระยะต่อไป ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จะเพิ่มจำนวนธนาคารและ non-bank ที่ให้บริการมากขึ้น รวมทั้งในอนาคตจะขยายบริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันทีโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับแทนเลขที่บัญชีด้วย

ในโอกาสนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า “ธปท. เห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และได้ดำเนินการกับหลายประเทศในอาเซียนแล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ตามแผน ASEAN Payment Connectivity ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ธปท. เชื่อมั่นว่าบริการการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมและจูงใจต่อผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ที่ทำการค้าขายออนไลน์ และนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 คลี่คลายลง นอกจากนี้ การเชื่อมโยงกับประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนครั้งนี้จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีการชำระเงินของประชาชนในอาเซียน อันจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตและก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลอีกด้วย”

นายซูเกง รองผู้ว่าการ BI

นายซูเกง รองผู้ว่าการ BI เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การเชื่อมโยงการชำระเงินในครั้งนี้เป็นอีกก้าวในแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินอินโดนีเซียปี 2568 โดยเฉพาะในส่วนของระบบการชำระเงินรายย่อยหรือการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านการเชื่อมโยงมาตรฐาน QR Code นอกจากนี้ การเชื่อมโยงดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นโดยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงสำหรับการชำระดุลระหว่างประเทศ ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมต่ำลง โดยการทำธุรกรรมผ่านธนาคารตัวแทนในการให้บริการธุรกรรม (Appointed Cross Currency Dealer: ACCD) ในแต่ละประเทศ นอกจากการเชื่อมโยงนี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วยังจะช่วย SME ที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวให้เข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยระยะแรกของการเชื่อมโยงนี้ที่ BI เรียกว่า ‘industrial sandbox’ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคต่อไป”

ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างดีของทุกฝ่าย ภายใต้การผลักดันของธนาคารกลางของทั้งสองประเทศ คือ ธปท. และ BI รวมถึงความร่วมมือของ สมาคมธนาคารไทย สมาคมการชำระเงินของประเทศอินโดนีเซีย ผู้ให้บริการ QRIS 13 ราย ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของทั้งสองประเทศ ได้แก่ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ (NITMX) และ RAJA (Rintis, Artajasa, Jalin และ Alto) และธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและทำหน้าที่ชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ของประเทศไทย และ Bank Central Asia (BCA) Bank Negara Indonesia (BNI) และ Bank Rakyat Indonesia (BRI) ของประเทศอินโดนีเซีย

ธนาคารกรุงเทพ ประเดิมเจ้าแรก

นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงเทพแรงไม่หยุด คว้าตั๋วให้บริการ Cross-Border QR Payment ไทย-อินโดนีเซีย ปูทางสู่ ผู้ให้บริการชำระเงินข้ามประเทศระดับภูมิภาค หลังประเดิมบริการ Cross-Border QR Payment ไทย-เวียดนาม เมื่อไตรมาส 1 ชี้จุดแข็งทำธุรกรรมสะดวก ปลอดภัย ค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนถูกลง ร้านค้ารองรับจำนวนมาก แถมลูกค้ามีความคุ้นเคยมากขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมยุค New Normal มั่นใจช่วยหนุนการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้นในระยะยาว เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

หลังจากธนาคารกรุงเทพ ได้ประกาศความสำเร็จในการเข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และทำหน้าที่เป็น Settlement Bank สำหรับการให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

ล่าสุด นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และทำหน้าที่เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ในการให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย โดยบริการ Cross-Border QR Payment เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) เพื่อให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้ง Ecosystem ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาคด้วยการส่งเสริมที่ดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจสถาบันการเงินในประเทศไทย ขณะเดียวกันนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่ดี และช่วยลดต้นทุนทางการเงินระหว่างประเทศ

ภายใต้การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินดังกล่าว ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สแกนเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงลูกค้าของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียที่เข้าร่วมบริการ เช่น Permata Bank เป็นต้น สามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในประเทศไทยได้อย่างสะดวกและปลอดภัยเช่นกัน ทั้งยังลดความยุ่งยากในการแปลงสกุลเงิน เนื่องจากลูกค้าจะชำระเป็นเป็นสกุลเงินของประเทศตัวเองและร้านค้ารับเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้ลูกค้าผู้ชำระเงินจะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต

สำหรับระบบ QR Payment ถือเป็นรูปแบบการชำระเงินที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับชำระเงินของร้านค้าต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากสามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจร้านค้าช่วยให้ไม่พลาดโอกาสการขายกรณีที่ลูกค้าอาจไม่ได้พกเงินสดไว้เพียงพอต่อการซื้อสินค้า ขณะที่ผู้บริโภคคุ้นชินในความสะดวกสบายของการทำธุรกรรมผ่าน QR Code เพิ่มมากขึ้น เพราะมีร้านค้าที่พร้อมให้บริการเป็นจำนวนมาก และช่วยลดการสัมผัสเงินสดซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อีกด้วย โดยในประเทศไทยมีปริมาณธุรกรรมผ่าน Thai QR Payment ในปี 2563 มากถึง 13.39 ล้านรายการซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2562 ถึง 49.14%

นางพรนิจ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน อาจยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวหรือติดต่อธุรกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้น บริการ Cross-Border QR Payment อาจจะตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้เฉพาะกลุ่ม เช่น ชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือชาวไทยที่ทำงานในอินโดนีเซีย รวมถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง คาดว่าการเดินทางและการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญหรือเมืองเศรษฐกิจ และเชื่อมั่นว่าบริการ Cross-Border QR Payment จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรม New Normal ที่ลดการสัมผัสสิ่งของต่างๆ และหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

“การให้บริการ Cross-Border QR Payment สำหรับประเทศไทยและประเทศอินโดนิเซียในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการพัฒนาการให้บริการ Cross-Border QR Payment ผ่านช่องทาง Mobile Banking ของธนาคารอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ริเริ่มการให้บริการสำหรับประเทศไทยและเวียดนาม ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารกรุงเทพในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านระบบการชำระเงินข้ามประเทศในระดับภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมชำระเงินให้แก่ลูกค้า สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเป็น “ธนาคารผู้นำระดับภูมิภาค” อีกด้วย” นางพรนิจ กล่าว

ซีไอเอ็มบีไทยจับคู่ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า อินโดนีเซีย ร่วมให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ตอกย้ำยุทธศาสตร์การเป็น ‘a Digital-led with ASEAN Reach’

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า อินโดนีเซีย ร่วมให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ตอกย้ำยุทธศาสตร์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในการก้าวเป็น ‘a Digital-led with ASEAN Reach’

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็น 1 ใน 3 ธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจในระดับภูมิภาคอาเซียนให้เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการชำระดุล (Settlement Bank) ของประเทศไทย ในการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จะเริ่มให้บริการเดือนกันยายน 2564

คนไทยที่เดินทางไปอินโดนีเซีย สามารถใช้ CIMB THAI Digital Banking แอปพลิเคชันหลักของธนาคารบนมือถือ จ่ายเงินผ่าน QR Code ที่อินโดนีเซีย โดยสแกน QRIS (Quick Response Code Indonesian Standard) ซึ่งเป็น QR มาตรฐานของประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่คนอินโดนีเซียที่เดินทางมาไทยสามารถใช้ OCTO Mobile แอปของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า ชำระสินค้าที่ไทย โดยสแกน Thai QR Code เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งนักท่องเที่ยวและร้านค้า เพราะปัจจุบัน การชำระเงินผ่าน QR Code เป็นวิธีการชำระและรับเงินได้ทันที มีประสิทธิภาพ ช่วยลูกค้าปลอดภัยเพราะไม่ต้องพกเงินสด และประหยัดค่าธรรมเนียมต่างๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า “การชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR Code ระหว่างไทย-อินโดนีเซีย เป็นการเปิดช่องทางใหม่ในอาเซียน ประเทศที่ 2 แล้วของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่เข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นอีกก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียนให้กว้างยิ่งขึ้น เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นคนอาเซียนเชื่อมโยงกันใกล้ชิด ผ่านการชำระเงินของผู้บริโภครายย่อยและร้านค้าแบบเรียลไทม์ เราหวังให้ภูมิภาคของเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้โดยเร็ว และอาเซียนกลับมาเปิดประเทศกันได้อีกครั้ง” นายพอล วอง กล่าว

Mr. Tigor M. Siahaan, President Director & Chief Executive Officer, PT Bank CIMB Niaga Tbk เปิดเผยว่า “การขยายตัวของการชำระเงินด้วย QR Code ในอาเซียนสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการบูรณาการทางการเงินระดับภูมิภาคผ่านนวัตกรรมดิจิทัลที่มองไปข้างหน้า และเป็นความภาคภูมิใจที่ ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า ซีไอเอ็มบี ไทย และสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่มซีไอเอ็มบีได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้บริการลูกค้าของเราได้ดียิ่งขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน”

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับเลือกให้เป็นผู้ให้บริการ QR payment ระหว่างประเทศไทย และมาเลเซีย จากความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารแห่งประเทศไทย

อนึ่ง กลุ่มซีไอเอ็มบี มีเครือข่ายครบทั้ง 10 ประเทศอาเซียน ทั้งการเป็นสาขาเต็มรูปแบบ สำนักงานตัวแทน และเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงความเป็นอาเซียน อาทิ BizChannel@CIMB Mobile app ที่ให้ลูกค้าธุรกิจสามารถบริหารจัดการทุกบัญชี CIMB ทั่วอาเซียนได้ในแอปเดียว สำหรับลูกค้ารายย่อยผู้ถือบัตรเดบิต ของกลุ่มซีไอเอ็มบี สามารถกดเงินข้ามประเทศผ่านตู้ ATM ของกลุ่มซีไอเอ็มบีโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม