ThaiPublica > สู่อาเซียน > ไทย-มาเลเซียเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code

ไทย-มาเลเซียเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code

18 มิถุนายน 2021


นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท.

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) ได้เปิดตัวนวัตกรรมด้านการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งการเชื่อมโยงในครั้งนี้ ลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศจะสามารถทำรายการชำระเงินและรับเงินระหว่างประเทศผ่าน QR code ได้ทันที

โครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ระยะ และในวันนี้เป็นความสำเร็จของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยแบบทันทีของทั้งสองประเทศในระยะแรกระหว่างระบบพร้อมเพย์ของประเทศไทยกับระบบ Real-time Retail Payments Platform (RPP) ของประเทศมาเลเซีย(ระบบพร้อมเพย์ และระบบ Real-time Retail Payments Platform (RPP) คือ ระบบการชำระเงินรายย่อยที่สามารถจ่ายเงินให้ผู้รับได้ทันที)

ในระยะแรก ลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือสแกน DuitNow QR code (DuitNow QR code คือ มาตรฐาน QR ของมาเลเซีย ที่ร้านค้าสามารถใช้รับชำระเงินจากลูกค้าของธนาคารและผู้ให้บริการ e-wallet ที่ร่วมโครงการ) เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าในประเทศมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงการซื้อขายออนไลน์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ บริการนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการจำนวนมากเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ โดยนักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินได้ด้วยแอปพลิเคชันบนมือถือแทนการใช้เงินสด

ในระยะที่สอง ลูกค้าในประเทศมาเลเซียสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือสแกน Thai QR code(Thai QR code คือ มาตรฐาน QR ของไทย ซึ่งเทียบเคียงได้กับ DuitNow QR ของมาเลเซีย ) เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และในระยะสุดท้ายจะมีการขยายบริการสู่การโอนเงินระหว่างประเทศ (Remittance) ซึ่งลูกค้าทั้งสองประเทศ สามารถโอนเงินข้ามประเทศแบบทันที โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน คาดว่าจะเริ่มให้บริการในไตรมาสที่ 4 ปี 2565

ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาคด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานบริการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งการเชื่อมโยงครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายหลังจากการคลี่คลายของสถานการณ์โรคระบาด

ในโอกาสนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า “ธปท. เห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเชื่อมโยงครั้งนี้เป็นการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของไทย เพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมการชำระเงินรายย่อยระหว่างสองประเทศ ทั้งในช่วงสถานการณ์การเกิดโรคแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในปัจจุบัน และเมื่อกลับสู่ภาวะปกติ อีกทั้งบริการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุน ส่งเสริมการค้าชายแดนและการซื้อขายผ่าน e-commerce ระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตและก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลอีกด้วย”

นายอับดุล ราชีด กาฟโฟร์ รองผู้ว่าการ BNM เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศ โดยจะทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และครอบคลุมการทำธุรกรรมชำระเงินได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งบริการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศให้กับลูกค้าและร้านค้า รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงและการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาค”

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร Public Bank เป็นสองธนาคารแรกที่ให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศในโครงการนี้ และในระยะต่อไปจะมีผู้เข้าร่วมให้บริการเพิ่มเติม เพื่อขยายจำนวนลูกค้าและร้านค้า

ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมถึงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของทั้งสองประเทศ ได้แก่ Payments Network Malaysia (PayNet) และเนชั่นแนลไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) และกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบีที่ทำหน้าที่ชำระดุลระหว่างประเทศ

ซีไอเอ็มบี ไทย เริ่มบริการผ่านแอป CIMB Thai Digital Banking

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศไทยสามารถทำได้แล้ว เกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยแบบทันที ด้วยระบบ RPP/DuitNow ของประเทศมาเลเซีย และระบบพร้อมเพย์ ของไทย โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นผู้ให้บริการรายแรกของประเทศไทย และคาดว่าในระยะต่อไปจะมีธนาคาร และผู้ให้บริการรายอื่น เข้าร่วมให้บริการเพิ่มเติม

“ธนาคารกลางทั้งสองประเทศต่างเห็นความสำคัญและร่วมกันผลักดันโรดแมปการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ขอขอบคุณ ธปท.และธนาคารกลางมาเลเซียที่ให้ความไว้วางใจกลุ่มซีไอเอ็มบี และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโรดแมปสำคัญนี้ และให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการชำระดุล (Settlement Bank) พัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไทย – มาเลเซียในครั้งนี้ ด้วยศักยภาพของโครงข่ายระบบการชำระเงินของกลุ่ม CIMB และเครือข่ายอันแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ และการปักธงก้าวเป็น ‘a Digital-led with ASEAN Reach’ ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย” นายพอล วอง กล่าว

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้แอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ในประเทศมาเลเซีย โดยแอปได้รับการออกแบบมาให้ลูกค้าชำระเงินต่างสกุลแบบง่ายๆ เพียงสแกน QR ลูกค้าจะเห็นยอดชำระเป็นเงินสกุลริงกิต หลังจากนั้นแอปจะทำการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลบาทให้ทันที เพื่อให้ลูกค้าทราบยอดที่ชัดเจนเป็นเงินบาทก่อนทำการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนยังถูกกว่าการใช้บัตรเครดิตอีกด้วย

ส่วนลูกค้าในประเทศมาเลเซียสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือสแกน Thai QR code เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการไตรมาส 4 ปี 2564

การสแกนจ่ายด้วย QR Code สะดวกสบาย ง่าย เร็ว ทั้งลูกค้าและร้านค้า จากสองประเทศ ฝั่งประชาชน ที่เดินทาง ท่องเที่ยว มีทางเลือกของการไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประหยัดค่าธรรมเนียม และอัตราแลกเปลี่ยนถูกกว่าการใช้บัตรเครดิต และช่วยลดการพกพาเงินสด

สำหรับประโยชน์ฝั่งร้านค้า เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อ โดยเพิ่มทางเลือกรับเงินได้หลากหลายมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการขาย ขยายกลุ่มลูกค้า และลดภาระการเก็บเงินสดอีกด้วย

นายพอล วอง กล่าวว่า นับเป็นจังหวะที่ดีของการเตรียมพร้อม รองรับเศรษฐกิจของภูมิภาคที่จะกลับมาเปิดอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าขายชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งสองประเทศ และเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาคด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานบริการชำระเงินระหว่างประเทศ