ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : จะทำให้คลองกรุงเทพฯ ใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร?

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : จะทำให้คลองกรุงเทพฯ ใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร?

2 พฤษภาคม 2022


คลองโอ่งอ่างหลังปรับปรุงแล้ว https://th.wikipedia.org/wiki/

กรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาทในการพัฒนา “คลองผดุงกรุงเกษม-คลองหลอด-คลองรอบกรุง” ให้สวยใส ขณะที่โรงบำบัดน้ำเสีย 18 แห่งบำบัดน้ำเสียได้เพียง 43% ทำให้คลองใน กทม. อีก 1,161 สายยังต้องรับน้ำเสียที่ไม่ได้บำบัดวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.

น้ำเน่าเสียเป็นอีกประเด็นของกรุงเทพมหานครที่มีความพยายามแก้ไขกันมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่สามารถจัดทำระบบบัดบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครได้ทั้งระบบ

กรุงเทพมหานครมีคู คลอง ลำกระโดง 1,682 สาย ความยาว 2,604 กิโลเมตร สำหรับคลองส่วนใหญ่เป็นคลองขุดเพื่อใช้สัญญจรในสมัยก่อน ปัจจุบันคลองในกรุงเทพฯ กลายเป็นคลองเน่าเหม็น ไม่ชวนให้น่าอยู่น่าเที่ยว

ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการให้คลองใน กทม. กลับมาใสสะอาด ใช่… ทำได้ แต่คุ้มค่าควรทำหรือไม่!!!

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีกระบวนทำให้คลองผดุงกรุงเกษม คลองหลอด และคลองรอบกรุงสวยงาม โดยเฉพาะคลองผดุงกรุงเกษมและคลองรอบกรุงในช่วงคลองโอ่งอาง ที่ได้รับการฟื้นฟูให้สวยใส เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของคนกรุงเทพฯ

กระนั้นก็ตาม ยังมีคำถามถึงกระบวนการทำให้ 3 คลองใส สะอาด สร้างความยั่งยืน และเป็นต้นแบบในการทำให้คลองอีก 1,161 สาย รวมความยาวกว่า 2,272 กิโลเมตร สะอาด สวยงามได้หรือไม่

หลักการที่ทำให้ 3 คลองสะอาด คือ “เอาน้ำดีเข้ามาไล่น้ำเสีย” ด้วยลักษณะคลองผดุงกรุงเกษม คลองรอบกรุง และคลองหลอด ที่มีหัวและท้ายคลองติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สามารถนำเอาหลักการนี้มาใช้ได้

คลองหลอดจะเปิดประตูระบายน้ำที่บริเวณปิ่นเกล้า เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาล้างน้ำเสียในคลอง แล้วปล่อยออกแม่น้ำพระยาบริเวณปากคลองตลาด

เช่นเดียวกับคลองผดุงกรุงเกษม ที่เปิดน้ำจากแม่น้ำพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำเทเวศร์ ไปออกช่วงท้ายน้ำเจ้าพระยา บริเวณหัวลำโพงและเจริญกรุง

ขณะที่คลองรอบกรุงก็จะใช้หลักการเดียวกัน โดยเปิดประตูระบายน้ำบริเวณตลาดบางลำพู แล้วปล่อยออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกฝั่งหนึ่ง

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • เปิดแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ที่ควรลำดับความสำคัญเสียใหม่
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • ที่มาภาพ: อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี
    คลองโอ่งอ่างหลังปรับปรุงแล้ว ที่มาภาพ: อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

    คลองกรุงเทพฯ จะใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร?

    แม้กระบวนการทำให้ 3 คลองใสสะอาด ดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่วิธีการนี้ “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” อดีตที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานคร บอกว่า เสียค่าใช้จ่ายสูงและไม่ยั่งยืน เพราะต้องสูบน้ำเข้าและออก ทำให้มีค่าไฟฟ้าสูงในการดันน้ำมหาศาลเพื่อไล่น้ำเสียในคลอง แต่ละปีกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพื่อการระบายน้ำสำหรับโครงการนี้มากถึง 200-300 ล้านบาท

    การสูบน้ำเข้าออกเพื่อทำให้คลองสะอาดมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องใช้เครื่องสูบน้ำจำนวนมาก นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังไม่มีระบบควบคุมอัตโนมัติที่สามารถคำนวณเวลาน้ำขึ้นน้ำลงให้สอดคล้องกับกรมอุทกศาสตร์ เพื่อให้การเปิดและปิดประตูระบายน้ำสอดรับช่วงเวลาดังกล่าว จะได้เป็นการลดค่าใช่จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้า

    การทำงานของกรุงเทพฯ ยังคงใช้ระบบ “คน” ในการควบคุมระบบเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ซึ่งความผิดพลาดมักจะเกิดขึ้นเสมอๆ เนื่องจากภาวะน้ำรอระบายจากฝนตก หากเป็นช่วงเวลากลางคืน การใช้คนในการควบคุมสถานีระบายน้ำจึงยังมีช่องว่างในการทำงาน เช่น เจ้าหน้าที่อาจจะหลับ หรือไม่อยู่ในสภาพที่ทำงานได้

    กระนั้น รัฐบาลในสมัยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกรุงเทพมหานคร ยังคงทุ่มงบประมาณในการลงทุนเพื่อที่จะให้ทั้ง 3 คลองเป็นคลองสวย น้ำใส อย่างต่อเนื่อง โดยได้ใช้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท เพื่อทำให้บางช่วงของคลองรอบกรุง บริเวณคลองโองอ่าง เป็นคลองสวยน้ำใส ในระยะทาง 700 เมตร

    นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังจะใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาทเพื่อพัฒนาคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณคลองคูเมืองเดิม และปรับปรุงภูมิทัศน์คลองหลอดในช่วงวัดราชนัดดา และคลองหลอดวัดราชบพิธ อีก 64 ล้านบาท

    คำถามคือ ระหว่างการจะใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนา 3 คลองให้เป็นคลองสวยน้ำใส กับการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียทั้งระบบเพื่อให้คลองทั้งกรุงเทพฯ สวยงาม อะไรยั่งยืนกว่ากัน

    คลองแสนแสบ ที่มาภาพ : อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี
    คลองแสนแสบ ที่มาภาพ : อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

    ในเรื่องนี้ “อรรถเศรษฐ์” มองว่า การลงทุนเพื่อทำให้ 3 คลองใสสะอาดเป็นการลงทุนระยะสั้น ไม่มีความยั่งยืน ขณะที่เราสามารถใช้งบประมาณมาลงทุนเพื่อทำให้คลองทั่วกรุงเทพฯ ใสสะอาดได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนได้

    “ทำไมเราไม่มีระบบรวบรวมน้ำเสีย หรือเพิ่มท่อรวบรวมน้ำเสียข้างคลองเพื่อส่งน้ำเข้าโรงบำบัดน้ำเสีย และปิดจุดรั่วการปล่อยน้ำเสียลงคลองของชุมชนริมคลองทั้งหมดระบบก็จะเกิดความยั่งยืน ไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำเข้าออก ทำให้คลองสะอาด ซึ่งหากแก้ไขทั้งระบบให้สามารถทำงานได้ กรุงเทพฯ จะได้คลองใสสวย ไม่ใช่แค่ 3 คลอง”

    “คลองแสนแสบ” เป็นอีกคลองหนึ่งที่รัฐบาลและกรุงเทพมหานครพยายามปรับปรุงให้ใสสะอาดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ค่า BOD (biochemical oxygen demand คือ ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ต้องการนำไปใช้ในการดำรงชีพและการย่อยสลายสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ในน้ำ) ที่บอกความเน่าเสียของน้ำคลองแสนแสบยังเกินกว่ามาตรฐานค่า BOD ที่ต้องไม่เกิน 15 มก./ลิตร

    หากย้อนไปในปี 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูคลองแสนแสบโดยต้องการร่นระยะเวลาการฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จปี 2563

    แต่เมื่อเวลาผ่านไปกระทั่งปี 2564 ยังไม่สามารถฟื้นฟูให้คลองแสนแสบเป็นคลองสวยใสได้ ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ 82,563 ล้านบาทในการฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นระยะเวลา 11 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2574 เพื่อทำให้คลองแสนแสบเป็นคลองแสนสวย

    “อรรถเศรษฐ์” บอกว่า สาเหตุที่ไม่สามารถทำให้ คลองแสนแสบใสสวยแบบเดียวกับ 3 คลองได้ เพราะมีปริมาณน้ำมากกว่า เนื่องจากต้องควบคุมระดับในคลองแสนแสบเพื่อให้เรือโดยสารวิ่งได้ ระยะทางของคลองที่ไกลกว่าทำให้การนำน้ำดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปไล่น้ำเสียทำได้ยาก และยังมีเรือวิ่งทำให้โคลนดินใต้คลองฟุ้งกระจายตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีการทิ้งน้ำเสียลงคลองอย่างต่อเนื่อง

    แต่ทุกคลองใน กทม. สามารถกลับมาสวยใสได้ เพียงแค่ปรับปรุงระบบไม่ให้มีน้ำเสียไหลลงคลอง

    สภาพคลองลาดพร้าวกับการปล่อยน้ำเสียลงคลอง

    โรงบำบัดน้ำเสีย 18 แห่งทำงานแค่ 43 %

    ในแต่ละวัน คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำ 3 ล้าน ลบ.ม./ คิดสัดส่วนที่เป็นน้ำเสียที่ต้องบำบัดประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม./วัน ขณะที่กรุงเทพมหานครมีโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ทั้งหมด 8 แห่ง และมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย 1,112,000 ลบ.ม./วัน แต่บำบัดน้ำเสียได้จริง แค่ 8 66,414 ลบ.ม./วัน หรือแค่ 43 % เนื่องจากไม่มีท่อรวบรวมน้ำเสียเข้าโรงบำบัด

    นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีโรงบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กอีก 12 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสีย 24,800 ลบ.ม./วัน แต่บำบัดได้จริงเพียง 14,589 ลบ.ม./วัน

    ทำให้ในแต่ละวันมีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด 1.2 ล้านลบ.ม./วัน ไหลลงไปยังคลองต่างๆ ของกทม. แล้วกรุงเทพฯ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

    อรรถเศรษฐ์เสนอว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำให้โรงบำบัดน้ำเสียที่ทำงานได้เพียง 43% ให้สามารถทำงานได้ 100% หรือสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1.1 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียทั้งหมดไปยังโรงบำบัดให้ได้ตามเป้าหมาย

    วิธีการที่จะสามารถรวบรวมน้ำเสียได้ สามารถใช้วิธีที่เรียกว่า “ดาดท้องคลอง” ด้วยซีเมนต์ และนำเอาคอนกรีต แบบ “บล็อกคอนเวิร์ส” ไปวางด้านล่าง แบ่งเป็นช่อง 2 ช่องใช้น้ำทิ้ง และช่องรวบรวมน้ำเสียใต้คลอง เพื่อนำน้ำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้

    การใช้ “บล็อกคอนเวิร์ส” สามารถออกแบบได้ตามกายภาพของพื้นที่ โดยหากบางพื้นที่นำไปวางใต้ท้องคลองไม่ได้ ก็สามารถทำข้างคลอง ซึ่งจะช่วยให้ได้ “walkway” หรือทางเดินข้างคลองได้”

    ส่วนปริมาณน้ำเสีย ที่ยังไม่มีโรงระบบบำบัดน้ำเสียรองรับอีกประมาณ 8-9 แสบ ลบ.ม./วัน ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ แต่ให้สร้างระบบน้ำเสียขนาดเล็ก หรือ nano treatment ข้างคลอง ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียแต่ละชุมชนโดยไม่ต้องรวบรวมน้ำเสียเข้าไปยังโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่

    บล็อกคอนเวิร์ส ที่มาภาพ: https://www.ccp.co.th/product/9404-9388/

    อรรถเศรษฐ์บอกว่า กรณีคลองแสนแสบ ที่แก้ปัญหาน้ำเนาเสียกันมานาน สามารถใช้ระบบนี้ได้เลย สร้างระบบ nano treatment ทุก 3 กิโลเมตร พอบำบัดเสร็จปล่อยน้ำลงคลอง หรือสามารถนำน้ำที่บำบัดแล้วไปให้ชุมชนใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ หรืออื่นๆ ได้ และอาจปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่นำน้ำที่บำบัดแล้วมาเป็นม่านน้ำตก ช่วยเพิ่มออกซิเจนในคลอง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้อีก

    การแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียของกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถทำได้แค่ด้วยการทุ่มงบประมาณแก้ไขคลองใดคลองหนึ่ง แต่จะต้องแก้ไขปัญหาทั้งหมด จึงจะสามารถทำให้ทุกคลองในกรุงเทพฯ สะอาดและยั่งยืนได้