ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวทางการบริหารจัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำในทางสายกลาง ที่ควรจะเป็น

แนวทางการบริหารจัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำในทางสายกลาง ที่ควรจะเป็น

1 กันยายน 2021


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

บ้านเรือนที่รุกล้ำปลูกอยู่ในคลองลาดพร้าว(ไม่ใช่ริมคลอง)

ปัญหาน้ำรอระบายในกรุงเทพมหานคร มีมาตลอดเวลาด้วยเหตุผลหลายประการ แต่การแก้ไขต้องแก้ให้ถูกวิธีไม่งั้นแล้วผู้บริหาร กทม. จะเอางบประมาณจากภาษีประชาชนไปถมคลองแล้วน้ำยังรอระบายอยู่ ผมจะมาพูดถึงการปรับปรุงคลองสายหลักใน กรุงเทพมหานคร ให้เป็นแนวทางการพัฒนาคลองต่อไป

กรุงเทพมหานคร มีคลองทั้งหมด 1,682 คลอง รวมคลองเล็กคลองน้อยตามการสำรวจของ สำนักการระบายน้ำ แต่ผมขอนำเสนอแนวทางการพัฒนาคลองสายหลักที่สำคัญ 2 คลอง คือคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร เป็นคลองที่มีผู้รุกล้ำพื้นที่คลองเป็นจำนวนมากและเป็นอุปสรรค์การระบายน้ำเป็นอย่างยิ่ง

กทม. ได้เริ่มพัฒนาคลองลาดพร้าวตั้งแต่ปี พ.ศ 2558 และเริ่มพัฒนาคลองเปรมประชากรตั้งแต่ ปี พ.ศ 2563 หากแต่แนวทางการพัฒนานั้นถูกต้องและช่วยลดเวลาน้ำรอระบายได้หรือไม่ เลยอยากให้ประชาชนผู้เสียภาษีได้ตรวจสอบตามการคำนวณที่ผมจะแสดงให้เห็นได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

แนวทางพัฒนาคลองที่ควรจะเป็น 1.ขยายความกว้างคลองให้ได้35เมตร 2.กดระดับคลองให้ลึก-3.5เมตร

พื้นที่ระบายน้ำคลองเปรม + คลองบางซื่อ + คลองบางเขน + คลองลาดพร้าว ประมาณ 205 ตร.กม.

หากฝนตก = 100 มม./วัน ทั้งพื้นที่(ฝนตกภายใน 3 ชม.)จะมีปริมาณน้ำฝนลงมา = 20.5 ล้านลบม.

คิดน้ำท่าไหลออก 70% = 0.7×20.5 = 14.35 ล้านลบม.

คลองเปรมประชากร ยาว 20 กม.
คลองลาดพร้าว ยาว 23.5 กม.
คลองบางเขน ยาว 11 กม.
คลองบางซื่อ ยาว 8.5 กม.

รวมความยาว 63 กม (63,000 เมตร)

กำหนดให้คลองมีความกว้าง 35 เมตร
ความลึก แก้มลิง (-1ถึง+1) 2 เมตร
พื้นที่หน้าตัด = 35×2 = 70 ตรม
ความจุแก้มลิงที่ (-1ถึง+1) 70 x 63000ม = 4.41 ล้านลบม.
ความจุแก้มลิงที่ (-2ถึง+1) 4.41 x 3/2 = 6.60 ล้านลบม.

ปริมาณน้ำฝน-ความจุแก้มลิง (ความจุคลองที่ลึก-2) 14.35-4.41 = 9.94 ล้านลบม.

ปริมาณน้ำฝน-ความจุแก้มลิง (ความจุคลองที่ลึก-3) 14.35-6.6 = 7.75 ล้านลบม.

ถ้าลึก -2 ต้องสูบน้ำออก 9.94 ล้านลบม.
ถ้าลึก -3 ต้องสูบน้ำออก 7.75 ล้านลบม.

เราลองมาคิดถ้าต้องสูบน้ำออกที่คลอง -3 ภายใน 12 ชม. จะต้องสูบออกด้วยอัตราเท่ากับ
7,750,000ลบม./12 x 3,600 วินาที = 179.4 ลบม./วินาที

สิ่งที่ กทม.มี สถานีสูบรวมอุโมงค์ในพื้นที่คลองเปรม คลองบางเขน คลองลาดพร้าว มีกำลังการสูบน้ำทั้งหมด ให้รวมถึงอุโมงค์คลองเปรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 60 ลบม./วินาที รวมเข้าไปแล้วจะมีกำลังการสูบที่ 240 ลบม./วินาที คิดประสิทธิภาพปั๊มที่ 70% = 0.7×240 = 168 ลบม./วินาที

จะเห็นได้ว่าเมื่อทำการขยายคลองออกให้มีความกว้างที่ 35 เมตร ลึกอย่างน้อย 3.5เมตร จะสอดคล้องกับประสิทธิภาพของสถานีสูบและอุโมงค์ระบายน้ำที่มีอยู่ (หมายเหตุ:ได้รวมประสิทธิภาพของอุโมงค์คลองเปรมที่ 60 ลบม./วินาที ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใก้ลไว้ในการคำนวณแล้ว)

ถึงตรงนี้พอจะเข้าใจหลักการณ์ทำไมต้องขยายขนาดคลองให้ถูกต้องกันบ้างแล้วนะครับ เหลือแต่เพียงต้องช่วยกันตรวจสอบไม่ให้ถูกหลอกจากการบริหารโครงการให้ตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมกันด้วย

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • สำรวจคลองลาดพร้าว…สภาพจริงเมื่อคลองไม่ใช่ทางระบายน้ำ แล้วน้ำ(ท่วม)กทม.จะไหลไปไหน