ThaiPublica > เกาะกระแส > “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”

“วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”

21 เมษายน 2022


นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ กำลังรณรงค์หาเสียงก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. 2565 นี้อย่างเข้มข้น “ไทยพับลิก้า” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” อดีตที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานครและผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ พูดคุยผ่าโครงสร้างกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่มีแต่การ “อัปเกรด” (upgrade) แต่ไม่ “อัปเดต” (Update) กรุงเทพมหานครนั้นมีโครงสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่แก้ปัญหาเมืองไม่ได้ “พื้นที่สีเขียวที่ต่ำกวามาตรฐาน”, “ปัญหาฝุ่น PM2.5”, “น้ำรอระบาย”, “ขยะ 10,000 ตันต่อวันทำไมไม่เปลี่ยนให้เป็นโรงไฟฟ้าสร้างรายได้, เชื่อมระบบคมนาคมทุกมิติขนคนเข้าเมืองลดปัญหาจราจร ทั้งการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ล้วนรอการ “ซ่อม” อย่างจริงจัง ที่ท้าทายผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ว่าจะซ่อมกรุงเทพฯ ให้ “น่าอยู่และน่าเที่ยว” ได้หรือไม่

ต่อจากตอนที่1

เปลี่ยน “ขยะ” เป็นรายได้

ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ของกรุงเทพมหานครไม่ได้มีแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปัญหาน้ำรอการระบาย หากยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากที่โครงสร้างเมืองที่มีแต่อัปเกรดแต่ไม่อัปเดต จึงต้องเร่งซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่น่าเที่ยว “ไทยพลับลิก้า” ได้พูดคุยกับอดีตที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานคร “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ถึงปัญหาที่ท้าทายผู้ว่าฯ คนใหม่ ซึ่งได้นำเสนอในตอนที่ 1 ไปบางส่วนแล้ว ตอนที่ 2 ยังมีวาระที่ต้องซ่อมอะไรอีกบ้าง

“ขยะ” ทำไมยังอยู่ เป็นปัญหาถาวรที่แก้ไม่ได้ กรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ แบบไหนเข้ามาซ่อมและสร้างเมืองให้สะอาด

อรรถเศรษฐ์มองว่า “ที่ผ่านมา ผู้ว่ากรุงเทพฯ มี 2 แบบ คือ การเมืองกับทหารสลับกันมา แต่ผมคิดว่ากรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นนักพัฒนาและนักบริหาร เพื่อให้ได้มุมมองการสร้างเมืองที่แตกต่างออกไป”

ทำไมยังมีขยะตกค้าง หรือรณรงค์แยกขยะมานานแต่เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ “อรรถเศรษฐ์” มองว่า การแก้ปัญหาขยะเป็นเรื่องยากแม้ว่าตอนนี้จะสามารถสร้างพฤติกรรมให้คนทิ้งขยะลงถังได้ แต่ก็ยังไปไม่ไกลถึงการแยกขยะในครัวเรือนอยู่ดี

จุดอ่อนที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมแยกขยะไม่ได้มาจากนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง และขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้

“อรรถเศรษฐ์” เสนอว่า ควรจะร่วมมือกับภาคเอกชนแต่ละพื้นที่ในการจัดการขยะ โดยให้บริษัทเอกชนร่วมจัดการในแต่ละพื้นที่หรือถนนสายหลัก เพื่อช่วยทำให้บ้านเมืองสะอาดมากขึ้น

“การเก็บขยะที่มีรถขยะ 2,000 คัน ต้องนัดเวลาเก็บที่ชัดเจน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ เช่น กรณีการนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ ชุมชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า กทม. มีวันที่เก็บขยะชิ้นใหญ่ ทำให้ทิ้งขยะลงคลองสาธารณะ”

ควรปรับขึ้นอัตราค่าเก็บขยะ จากเดิมที่กำหนดให้บ้านเรือน จ่าย 40-50 บาทต่อเดือน โดยปรับราคาแบบแยกประเภท เช่น ชุมชนอาจจะต้องเก็บราคาหนึ่ง ส่วนห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร อาจต้องเก็บอีกราคาหนึ่ง หากเป็นอาคารต้องแยกเก็บเป็นยูนิตไม่เหมารวมทั้งอาคาร เพื่อให้สมเหตุสมผลกับปริมาณขยะ

นอกจากนี้ ต้องเปลี่ยนขยะเป็นโรงไฟฟ้า เนื่องจากที่ผ่านมา “กรุงเทพมานครต้องจ้างเอกชนจัดการขยะตันละ 900 บาท และเอกชนนำขยะดังกล่าวไปผลิตไฟฟ้าขายไฟให้กับการไฟฟ้า สร้างรายได้ โดยที่ กทม. ไม่ได้ประโยชน์จากขยะของกทม. และรายได้ค่าไฟฟ้าเลย”

“โรงไฟฟ้าขยะ หลายเมืองที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องไปซื้อขยะ ตั้งแต่ราคาตันละ 200 บาทไปถึง 500-600 บาทต่อตัน แต่ กทม. ต้องจ้างให้เอกชน(โรงไฟฟ้ากำจัดขยะ)กำจัดตันละ 900 บาท แถมเอกชนยังผลิตไฟฟ้าจากขยะและขายไฟฟ้าได้อีก”

ทั้งนี้ อรรถเศรษฐ์เห็นว่า โรงไฟฟ้าขยะคือทางออกในการจัดการขยะของกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันคนกรุงเทพผลิตขยะวันละ 10,000 ตันต่อวัน แต่นำขยะไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 1,000 ตันต่อวัน ยังเหลืออีก 9,000 ตันต่อวัน ที่ผ่านมาสามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้เพียงที่หนองแขมเท่านั้น

“ผมคิดว่าเราไม่ต้องทำวิจัยและพัฒนา แต่เราควรก๊อบปี้และพัฒนาดูจากหลายเมือง เช่น โตเกียวของญี่ปุ่น ที่มีโรงไฟฟ้าขยะในชุมชน เราสามารถนำความสำเร็จ มาพัฒนาในบ้านเราได้ เพียงแต่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้”

“อรรถเศรษฐ์” เสนอให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กรุงเทพมหานครซึ่งทำธุรกิจอยู่แล้ว ปัจจุบันจ้างบีทีเอส เดินรถไฟฟ้า มีธุรกิจผูกขาดใน กทม. เช่น กำจัดขยะติดเชื้อและดูดส้วม มารับผิดชอบในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้า ควรกระจายตามเขตชุมชน เพื่อลดการขนส่งและปัญหาจราจร ไม่ต้องให้รถขยะทุกคันวิ่งเข้ามาที่หนองแขมหรืออ่อนนุช

“เราควรให้กรุงเทพธนาคมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ แทนที่จะให้คนอื่นทำ เพราะอย่างน้อย ถ้ากรุงเทพธนาคมทำ นำรายได้กลับมาที่ กทม. นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาค่าไฟฟ้าที่ กทม. จ่ายมหาศาลในปัจจุบัน แล้วยังสามารถนำรายได้จากการขายไฟฟ้าไปพัฒนาเมืองที่มีปัญหางบประมาณจำกัดได้ด้วย”

เมืองที่ต้องการ “ถนน” ห้ามขุด 10 ปี

แม้การจัดการขยะถือเป็นหัวใจความสะอาดที่ทำให้เมืองน่าอยู่ แต่ปัญหาทางเดิน ทางเท้า และภูมิทัศน์เมือง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาผังเมือง

“อรรถเศรษฐ์” มองว่า ปัญหาผังมืองชั้นในอาจจะแก้อะไรไม่ได้แล้ว แต่ทำได้เพียงการเข้าไปจัดระเบียบ ออกแบบดีไซน์ทางเท้า และเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อความสวยงาม

แต่ปัญหาทางเท้าของกรุงเทพฯ คือเราขุดบ่อยจนทำให้ทางเท้าไม่สวยงามและชำรุด แม้หลายถนนจะเป็นถนนห้ามขุด 10 ปี แต่ผ่านไปได้เพียง 2 ปีก็เริ่มขุดใหม่เพราะเมืองโตขึ้น ต้องขยายสายไฟฟ้า ท่อน้ำประปา

การสร้างฟุตบาทจึงสร้างแบบไม่มั่นคง เพื่อให้ขุดใหม่ รื้อถนน วางท่อใหม่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อรรถเศรษฐ์เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ประปา ไฟฟ้า จะต้องทำ “ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (geographic information system หรือ GIS)” เพื่อให้ได้ข้อมูลเดียวกันและแก้ปัญหาร่วมกันได้

“ที่ผ่านมาทุกหน่วยงาน GIS แต่ก็คนละยี่ห้อ ไม่สามารถดึงข้อมูลมาแชร์กัน เพราะฉะนั้น ควรต้องมาคุยร่วมกันเพื่อให้เกิดการแชร์ข้อมูลได้ รวมถึงข้อมูล electronic drawing แบบแปลนทั้งหมดที่ต้องอยู่ในผังเมือง เพื่อเวลาเกิดปัญหาไฟฟ้า เจ้าหน้าที่สามารถดึงข้อมูลมาใช้ผจญเพลิงได้”

สร้างระบบฟีดเดอร์ ขนคนเข้าเมือง

การเดินทางของเมืองจะต้องสะดวก รวดเร็ว ทำให้คนในชุมชนที่ห่างไกลสามารถเดินทางเข้าเมืองได้ในเวลาที่รวดเร็ว มีค่าใช้จ่ายไม่มาก ซึ่งผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครหลายคนเสนอ “ระบบล้อ ราง เรือ” เพื่อสร้างระบบฟีดเดอร์ ขนคนจากชุมชนมายังรถไฟฟ้าที่กำลังจะเป็นการเดินทางสายหลักแบบครบสมบูรณ์ในปี 2567

แต่ฟีดเดอร์ที่ไม่ตอบโจทย์คือการนำเอาเรือมาขนคนเข้ามาเมือง เช่น เรือคลองแสนแสบ เพราะคลองในกรุงเทพฯ ออกแบบมาเพื่อการระบายน้ำ หากนำมาใช้ขนส่งจะสร้างปัญหาและอุปสรรคกับการระบายน้ำ

“ผมคิดว่าระบบฟีดเดอร์ทางเรือไม่ควรมี เพราะคลองเตรียมไว้สำหรับระบายน้ำ แต่ต้องสร้างฟีดเดอร์เชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าสีรุ้งทั้งหมดที่มีระยะทางรวมกันประมาณ 400 กิโลเมตรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นเรื่องที่ต้องทำ”

ที่ผ่านมา กทม. มีรถเมล์บีอาร์ที ที่มีเป้าหมายเพื่อขนคนเข้ามาส่งรถไฟฟ้า แต่ปัญหาของบีอาร์ทีคือกินพื้นที่จราจร ทำให้ต้องเสียผิวจราจร ซึ่งหาก กทม. เริ่มทำรถบีอาร์ทีอีกครั้ง ควรจะใช้เส้นทางปกติ ไม่แบ่งผิวจราจรจนเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

อรรถเศรษฐ์เสนอให้ “กรุงเทพธนาคม” เข้ามาดำเนินการระบบฟีดเดอร์ โดยต้องเป็นรถขนส่งขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่ใช่ขนาดใหญ่ แต่สามารถขนคนจากชุมชนห่างไกลเข้ามาที่รถไฟฟ้า ซึ่งอาจใช้ระบบตั๋วเดียวที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าได้เลย

  • สถาบันอนาคตไทยศึกษา กาง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ” เมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่
  • วาระกรุงเทพ 2560 (1): งบประมาณ กทม. 7 หมื่นล้าน มากกว่า 13 กระทรวง ภาษีเราทำอะไรบ้าง
  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • เปิดแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ที่ควรลำดับความสำคัญเสียใหม่ก่อนที่จะสาย
  • แนวทางการบริหารจัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำในทางสายกลาง ที่ควรจะเป็น
  • ภัยเงียบคนกรุงเทพ (ตอน 1): เจาะปัญหา ‘น้ำเค็ม’ ภาคครัวเรือนและเกษตรกรรม บริโภคน้ำคุณภาพต่ำทุกปี
  • กทม. พัฒนา “โคกหนองนา” ในเมือง ช่วยชาวนา “หนองจอก” ทำสัมปทานบึงใหญ่ “ฟิชชิ่งปาร์ค” 30 ปี
  • เตรียมเมือง ฟื้นท่องเที่ยว หลังโควิด-19

    การเตรียมเมืองหลังโควิด-19 ก็เป็นอีกประเด็นที่ท้าทาย “ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่” โดยอรรถเศรษฐ์เห็นว่าในช่วง 2 ปีนี้ต้องรีบซ่อม กทม. ทั้งภูมิทัศน์กรุงเทพฯ เพื่อสร้างให้เมืองสวยงาม มีเสน่ห์น่าเที่ยว น่าอยู่

    คลองบางหลวง

    การท่องเที่ยวกรุงเทพฯ อาจต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ เที่ยวเมืองศิวิไลซ์ และเมืองวัฒนธรรม แต่เราควรจะต้องชูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพราะกรุงเทพฯ มีของดี 50 เขต เช่น ชุมชนบ้านบาตร หรือคลองจำนวนมากใน กทม. สามารถปรับเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ ไม่ใช่ทุกที่ของกรุงเทพฯ “เป็นถนนข้าวสาร”

    นอกจากนี้ การสร้างเศรษฐกิจให้เมืองก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน โดยอรรถเศรษฐ์เห็นว่าโรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม. ที่มีสอนทุกอาชีพ แต่ฝึกแล้วต้องสร้างอาชีพได้จริง โดย กทม. ต้องเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน หรือการสร้าง cloud kitchen โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องครัว และช่วยสร้างระบบส่งเชื่อมกับไรเดอร์รับส่งอาหาร เพื่อสร้างอาชีพและสร้างเศรษฐกิจเมือง

    “ผมคิดว่าอีก 2 ปีโควิด-19 หมดไป เราต้องพร้อมที่จะเปิดเมืองที่น่าอยู่ น่าเที่ยว ต้องเตรียม ซ่อมกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ กรุงเทพฯ จึงต้องการผู้ว่าฯ นักพัฒนา นักบริหาร ที่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง สร้างเมืองให้น่าอยู่”