ThaiPublica > Sustainability > Contributor > จับตามอง #Extreme Weather 2021

จับตามอง #Extreme Weather 2021

30 สิงหาคม 2021


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Climate_change#/media/File:NORTH_POLE_Ice

สิ่งที่น่าจับตามองและเฝ้าระวังในช่วงหน้าฝนคงไม่พ้นเรื่องของน้ำท่วม ซึ่งประเด็นที่จะต้องติดตามเป็นพิเศษคือเรื่องฝน 1,000 ปี ที่มีการพูดถึงกันในช่วงที่ผ่านมา

หากย้อนดูเหตุการณ์สภาพอากาศของโลกในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2564 พบว่าได้เกิดคลื่นความร้อน (heat wave) ที่อเมริกาเหนือและแคนาดา อุณหภูมิทะลุสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติสูงสุดที่เคยมีมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศขั้นสุดในรอบ 1,000 ปี ที่เราก็ทราบกันดีว่านี่คือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change

ไฟป่าลุกไหม้ใกล้ Mount Shasta รัฐแคลิฟอร์เนีย 28 มิถุนายน 2564 ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/2021_Western_North_America_heat_wave#/media/

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2564 ก็ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ไล่มาตั้งแต่ฝั่งทวีปยุโรป ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นก็เป็นฝั่งเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย พม่า ปากีสถาน ตุรกี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไล่มาเรื่อยๆ โดยในหลายพื้นที่ เช่น เหอหนาน มีปริมาณฝนสูงมากนับเป็นฝน 1,000 ปี

ประเทศไทยเองก็ประสบเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปีนี้เช่นเดียวกัน ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมที่แม่สอดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 จากฝนที่ตกสะสม 3 วัน ประมาณ 250 มม. และล่าสุดที่ชลบุรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกหนักสะสม 1 วัน 109 มม.

พัทยาน้ำท่วม 27ส.ค.2564 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กพัทยาวันนี้ https://www.facebook.com/aroundpattayatoday/photos/pcb.364176848687483/364175812020920

จากการสังเกตเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกเนื่องมาจาก extreme rainfall อาจจะเป็นผลกระทบมาจาก heat wave ที่เกิดขึ้นจาก climate change ทำให้มีการระเหยของมวลไอน้ำขนาดใหญ่ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ และทยอยเคลื่อนตัวตกลงมาเป็นฝนก้อนใหญ่ในหลายประเทศ ทำให้เกิด extreme weather เป็นผลกระทบลูกโซ่ไปทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่พยากรณ์ล่วงหน้าได้ยากว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด และก็ยังไม่ทราบว่าผลกระทบนี้ได้สิ้นสุดไปแล้วหรือยัง

แม้ว่าในปีนี้ ในช่วงเดือน ต.ค. เป็นต้นไป ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากลานีญากำลังอ่อนซึ่งปริมาณน้ำฝนที่คาดการณ์จะไม่ถึงระดับฝน 1,000 ปี แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันจาก extreme weather หน่วยงานต่างๆ ควรจะเตรียมพร้อมรับมือและมีแผนฉุกเฉินเพื่อให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ทันท่วงที รวมถึงประชาชนก็ควรจะต้องติดตามข้อมูลสภาพอากาศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้ทัน

  • คำเตือนสุดท้าย: วิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนต้องรู้จากรายงาน IPCC ฉบับที่6

  • อุณหภูมิของยุโรปปี 2020 สูงถึงระดับที่น่า “หนักใจ”

  • เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสี่ยงเศรษฐกิจเสียหาย 28 ล้านล้านดอลล์จาก Climate Change