ThaiPublica > คอลัมน์ > เปิดแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ที่ควรลำดับความสำคัญเสียใหม่ก่อนที่จะสาย

เปิดแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ที่ควรลำดับความสำคัญเสียใหม่ก่อนที่จะสาย

23 กันยายน 2021


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

บทความก่อนหน้านี้ได้พูดถึงการแก้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครในบางประเด็นปัญหาที่แก้ไม่ถูกจุด

จากปัญหาดังกล่าว ขอนำมาสู่การมองภาพใหญ่ในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำกรุงเทพมหานครเกี่ยวข้องกับแผนจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเริ่มจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยแผนดังกล่าวกำหนดไว้ 6 ด้าน

    1. ด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค
    2. ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม)
    3. ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย
    4. ด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
    5. ด้านอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน
    6. ด้านการบริหารจัดการ

โดยแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำกรุงเทพมหานครเกี่ยวข้องกับแผนจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ

จากแผน 3 ด้านที่ต้องดำเนินการ กรุงเทพมหานครมีเป้าหมายหลัก ดังนี้

  • พัฒนาคลองระบายน้ำสายหลัก เพื่อเป็นแก้มลิง และระบายน้ำฝน และน้ำหลาก และช่วยลำเลียงน้ำเข้าสู่อุโมงค์ระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น
  • พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ โดยก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่
  • พัฒนาปรับปรุงคลองฝั่งตะวันตก เพื่อนำน้ำจากพื้นที่ฝั่งธนบุรีระบายลงสู่โครงการแก้มลิง คลองสนามชัย-คลองมหาชัย
  • แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์
  • พัฒนาขีดความสามารถของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่กล่าวมาเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ กทม. เสนอเข้าไปอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ 20 ปี

มาดูกันว่าผ่ามมาแล้ว 4 ปี กทม. ทำอะไรไปบ้างกับแผนยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติ

เริ่มกันที่การพัฒนาคลองสายหลักที่ กทม. มีแผนพัฒนาออกแผนระยะเร่งด่วน 9 คลอง เป็นคลองระบายน้ำหลักที่มีผลต่อการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ สูงมาก ได้แก่ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองพระโขนง คลองประเวศบุรีรมย์คลองสามวา คลองลาดบัวขาว และคลองพระยาราชมนตรี

แผนดำเนินการระยะถัดไป 34 คลอง เป็นคลองระบายน้ำหลักที่มีผลต่อการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานครสูง

แผนดำเนินการระยะปกติ 1,118 คลอง จะดำเนินการบริเวณคลองที่มีผลกระทบต่อปัญหาอุทกภัยรองลงมาจากแผน 2 ระยะแรก
ในระยะเวลาเร่งด่วนผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี กทม. ยังดำเนินการไม่ไปถึงไหน โดยเริ่มที่คลองลาดพร้าว จากวันเริ่มต้นสัญญาจนถึงปัจจุบันกว่า 5 ปี งานดำเนินการได้ไม่ถึง 70% ของงานทั้งหมด

เมื่อปี 2562 เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาคลองเปรมประชากรโดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะด้วยกัน โดยปัจจุบันระยะแรกที่มีความยาว 500 กว่าเมตร ได้พัฒนาจนแล้วเสร็จ ต่อด้วยการพัฒนาในระยะที่ 2 ในปี 2564 เพิ่งจะได้ลงนามว่าจ้าง กว่าจะครบทั้ง 4 ระยะเราคงต้องรอกันต่อไปอีกยาวๆ และคงไม่ต้องกล่าวถึงคลองที่เหลือยังไม่ได้เริ่ม ที่พัฒนาแผนพัฒนาคลองเร่งด่วนคงไม่บรรลุตามเป้าที่วางไว้ในยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี

สภาพคลองลาดพร้าวที่มีการบุกรุกปลูกบ้านเรือนในคลอง
สภาพคลองลาดพร้าวที่มีการสร้างเขื่อนและเอาบ้านเรือนที่บุกรุกขึ้นจากคลอง

หันกลับมาดูการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์น้ำกันบ้าง ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งาน 8 แห่ง ความยาวรวม 25.40 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 215.50 ลบ.ม./วินาที ดังนี้

  • อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 26 อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของอุโมงค์ 1.00 ม. ยาวประมาณ 1.10 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำ 4 ลบ.ม./วินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสุขุมวิทระหว่างซอยสุขุมวิท 22-28 ในซอยสุขุมวิท 26 และบริเวณใกล้เคียง
  • อุโมงค์ระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 ม. ยาวประมาณ 1.88 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ บางเขน และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม.
  • อุโมงค์ระบบระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.40 ม. ยาวประมาณ 6.79 กม. และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 ม. ยาวประมาณ 1.90 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำ 4.50 ลบ.ม./วินาที แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงจากซอยพหลโยธิน 5-11 และถนนพระราม 6 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ตร.กม.
  • สถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 36 อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 ม. ยาวประมาณ 1.32 กม. มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในถนนสุขุมวิทและบริเวณซอยสุขุมวิท 36
  • อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 42 อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 ม. ยาวประมาณ 1.10 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในถนนสุขุมวิทและซอยสุขุมวิท 42
  • อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง) อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.00 ม. ยาวประมาณ 5.11 กม. มีประสิทธภาพการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม.
  • อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 ม. ยาวประมาณ 5.98 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำ 45 ลบ.ม./วินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม.
  • อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยาอุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 เมตร ยาวประมาณ 6.40 กม. สถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกียกกายกำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที พร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้า 1 แห่ง อาคารรับน้ำ 3 แห่ง คือ อาคารรับน้ำถ.รัชดาภิเษก, อาคารรับน้ำ ถ.วิภาวดีรังสิต และอาคารรับน้ำ ถ.กำแพงเพชร อาคารสำนักงาน 1 แห่ง พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 6 เขต ประมาณ 56 ตร.กม. ได้แก่ ดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และห้วยขวาง

ในอนาคตมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพื่มเติมอีก 6 แห่ง

  • ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 4 แห่ง โครงการบึงหนองบอน โครงการอุโมงค์คลองเปรมประชากร โครงการอุโมงค์คลองแสนแสบถึงลาดพร้าว 130 โครงการต่อขยายอุโมงค์คลองบางซื่อจากรัชดาถึงคลองลาคพร้าว
  • ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) โครงการอุโมงค์คลองทวีวัฒนา โครงการอุโมงค์คลองพระยาราชมนตรี
  • ทั้ง 6 โครงการจะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ความยาวรวมทั้งสิ้น 37.625 กิโลเมตร ในงบประมาณ 26,580 ล้านบาท

    จะเห็นได้ว่าการก่อสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่จะต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากแล้วจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ถ้าน้ำไม่เดินทางไปยังอุโมงค์ หากเราไม่พัฒนาคลองสายหลักให้มีอัตราการไหลของน้ำเข้าสู่อุโมงค์ได้ต่อเนื่อง และต้องให้อุโมงค์ที่ลงทุนไปนั้นเดินเครื่องสูบน้ำได้เต็มประสิทธิภาพถึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน

    บ้านเรือนที่รุกล้ำคลองลาดพร้าว

    อย่างที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำเมื่อฝนตกลงมาน้ำในคลองสายหลักเต็มคลอง อุโมงค์ที่มีอยู่แล้วไม่สามารถดึงน้ำเข้าสู่อุโมงค์ได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

    … คลองถูกบ้านเรือนรุกล้ำ ถูกสิ่งปลูกสร้างเข้ามาแทนที่จนทำให้คลองมีขนาดแคบลง หรือไปกีดขวางการไหลของน้ำ ทำให้การไหลของน้ำตามธรรมชาติช้าลง

    ปัจจุบันมีปัญหารุกล้ำ พื้นที่คลองสายหลักและสายย่อยกว่า 500 คลอง มีบ้านรุกล้ำกว่า23,500 หลังคาเรือน โดยมีคลองสายหลัก 9 คลอง ที่มีการรุกล้ำมากและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน

    ฝากไว้พิจารณาเราควรพัฒนาคลองสายหลักทั้ง 9 คลอง ให้มีอัตราการไหลให้ดีก่อน เร่งแก้ไขบ้านเรือนรุกล้ำ กีดขวางทางระบายน้ำก่อนจะดีกว่าไหมครับ

    เมื่อคลองดีแล้วยังมีการระบายน้ำได้ไม่ดี ถึงจะเป็นทางเลือกของการสร้างอุโมงค์รับน้ำในลำดับต่อไป หรือแม้กระทั้งท่อระบายน้ำในชุมชนที่มีขนาดเล็กยังไม่ได้รับการขยายให้ใหญ่ขึ้นการสร้างอุโมงค์ก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะไม่สามารถลำเรียงน้ำไปยังอุโมงค์ได้