ThaiPublica > คอลัมน์ > น้ำรอระบาย เขตลาดกระบัง “เกาไม่ถูกที่คัน”

น้ำรอระบาย เขตลาดกระบัง “เกาไม่ถูกที่คัน”

8 กันยายน 2021


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

น้ำรอระบาย หรือที่คนส่วนใหญ่ประสบคือน้ำท่วมขัง (นาน) กลายเป็นวิถีปกติสำหรับคนกรุงเทพฯ

ทุกครั้งที่ฝนตกจึงต้องลุ้นว่า น้ำรอระบายรอบนี้จะนานแค่ไหน

เป็นคำถามที่คาใจคนกรุงเทพฯ ว่า ผู้บริหาร กทม. แต่ละยุคสมัย แก้ไม่ได้จริงๆ หรือ!!!

หลายวันที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่คลองลำผักชี 124.5 มิลลิเมตร (มม.) และที่จุดวัดคลองประเวศ ได้ที่ 106.5 มม. จากปริมาณน้ำฝนที่สะสม จึงทำให้ระดับน้ำในคลองประเวศล้นตลิ่ง ชาวบ้านข้างคลองในเขตลาดกระบังได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ จนชาวบ้านต้องทำใจกับชะตากรรมในยามที่เกิดฝนตกในพื้นที่ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 6-8 กันยายน 2564

การที่น้ำรอระบาย จากการที่ปริมาณน้ำเต็มคลองเช่นนี้ สำนักการระบายน้ำหรือสำนักงานเขตลาดกระบัง รวมถึงผู้บริหาร กทม. ทำไมถึงแก้ไม่ตกสักที

เรามาดูกันครับ เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมน้ำถึงล้นคลองเป็นเวลานาน

คลองประเวศประจบกับคลองพระโขนง มีความยาวทั้งสิ้น 20.5 กิโลเมตร (เฉพาะเขตกรุงเทพฯ) มีพื้นที่การรับน้ำ 190.39 ตร.กม. (เขตลาดกระบัง + เขตประเวศ + เขตพระโขนง) โดยมีสถานีสูบน้ำพระโขนงเป็นสถานีหลักในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 51 เครื่อง กำลังการสูบรวม 173 ลูกบาศเมตร (ลบ.ม)/วินาที

จากปริมาณฝนสูงสุดสุดที่คลองลำผักชี วัดได้ 124.5 มม. ถ้าคำนวณมีปริมาณน้ำไหลลงสู่คลองในพื้นที่ 190.39 ตร.กม. x 120 มม.(ปริมาณน้ำฝน) x 0.7(ปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงคลองประมาณ 70%) = 16.59 ล้านลบ.ม

ขณะที่กำลังการสูบน้ำที่สถานีพระโขนง ในกรณีปริมาณฝน 124.5 มม. หากต้องสูบน้ำทั้งสิ้น 16.59 ล้าน ลบ.ม ด้วยกำลังการสูบของเครื่องสูบน้ำที่ 173 ลบ.ม/วินาที จะต้องใช้เวลา 26.63 ชั่วโมง

  • มาดูกันสถานีสูบน้ำพระโขนง ที่มีเครื่องสูบน้ำ 51 เครื่อง ที่กำลังการสูบรวม 173 ลบ.ม/วินาที จะสามารถเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพได้หรือไม่
  • คลองประเวศมีความกว้าง 22-45 เมตร เรามาคิดกันที่เฉลี่ย 35 เมตร ที่ความลึก -3.5 ม.รทก. (ระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นการอ้างถึงความสูงของพื้นที่ต่างๆ โดยใช้ระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์) และยอมให้น้ำขึ้นปริ่มคลอง +1.0 ม.รทก. จะมีพื้นที่การไหลของน้ำ 140 ตรม. หากคิดความเร็วในการไหล 0.5 ม./วินาที จะได้ปริมาณการไหล =70 ลบ.ม/วินาที จะเห็นว่าความสามารถของคลองจะน้อยกว่าขีดความสามารถของสถานีสูบน้ำที่มี (ปริมาณการไหลของน้ำในคลอง 70 ลบ.ม/วินาที ขณะที่เครื่องสูบน้ำสูบได้ 173 ลบ.ม/วินาที)
  • สรุปคือแม้ว่าสถานีสูบน้ำจะมีกำลังสูบมากเพียงใด หากน้ำไม่สามารถไหลในอัตราที่พอเหมาะกับกำลังสูบ ก็ไม่มีประโยชน์อันใด ในกรณีของคลองประเวศ จะเห็นได้จากกราฟน้ำไหลเข้าสถานีสูบน้อยมาก จนเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 51 เครื่องทำงานได้เพียง 12 เครื่องเท่านั้นตามรูป
  • ดังนั้น ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ต้องแก้กันด้วย “ข้อมูล” และนำเทคโนโลยีมาใช้

    เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ ในลักษณะเช่นนี้ น้ำจะไหลได้ช้ามาก จำเป็นต้องทำให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น วิธีการที่สากลคือเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ โดยส่วนใหญ่จะทำอาคารยกน้ำในคลองเป็นระยะๆ หรืออีกรูปแบบที่ต่างประเทศนิยมใช้กันคือ ปั๊มเกต คือเป็นปั๊มน้ำแนวนอนในทิศทางการไหลของน้ำ ช่วยเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ

    ถึงเวลาที่เราต้องออกแบบระบบจัดการและบริหารน้ำในกรุงเทพฯ ใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่น้ำรอระบาย โดยที่ผู้บริหาร กทม. ไร้ความรู้แล้วลงพื้นที่ไปแก้ไขแบบผิดๆ และขอไปที

    อ่านเพิ่มเติม

  • จับตามอง #Extreme Weather 2021
  • แนวทางการบริหารจัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำในทางสายกลาง ที่ควรจะเป็น
  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”