ThaiPublica > เกาะกระแส > “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”

“วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”

21 เมษายน 2022


นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ กำลังรณรงค์หาเสียงก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.2565 นี้ อย่างเข้มข้น “ไทยพับลิก้า” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” อดีตที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานครและผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ พูดคุยผ่าโครงสร้างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีแต่การ “อัปเกรด” (upgrade) แต่ไม่ “อัปเดต” (Update) กรุงเทพมหานครนั้นมีโครงสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่แก้ปัญหาเมืองไม่ได้ “พื้นที่สีเขียวที่ต่ำกวามาตรฐาน”, “ปัญหาฝุ่น PM2.5”, “น้ำรอระบาย”, “ขยะ 10,000 ตันต่อวัน” ทำไมไม่เปลี่ยนให้เป็นโรงไฟฟ้าสร้างรายได้, เชื่อมระบบคมนาคมทุกมิติขนคนเข้าเมืองลดปัญหาจราจร พัฒนาเมืองท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ล้วนรอการ “ซ่อม” อย่างจริงจัง ที่ท้าทายผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ว่าจะซ่อมกรุงเทพฯ ให้ “น่าอยู่และน่าเที่ยว” ได้หรือไม่

อรรถเศรษฐ์มองว่าความผิดพลาดนี้ไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานแล้ว ปัญหามาจากการสร้าง อัลกอริทึมหรือการวางโปรแกรมแบบผิดๆ มาตั้งแต่เริ่ม ผังเมืองขยายไม่มีรูปแบบตั้งแต่ต้น หากให้เทียบก็ไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนที่มีการ “อัปเกรด” (upgrade) แต่ไม่ “อัปเดต” (update) คือมีเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมากมายแต่เราใช้ประโยชน์เหมือนเดิม

เมื่ออัลกอริทึมผิด ปัญหากรุงเทพฯ ก็เกิดตลอด มีโครงการเมกะโปรเจกต์จำนวนมาก แต่ไม่อัปเดตเรื่องซอฟต์แวร์ ทำให้ปัญหาในเชิงโครงสร้างมีจำนวนมาก ตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่เราสร้างรถไฟลอยฟ้า ซึ่งเขาคิดว่าจะเป็นปัญหาในอนาคตทางด้านมลพิษทางอากาศ เพราะโครงสร้างรถไฟลอยฟ้าจะไปบล็อกอากาศไม่ให้ลอยออกขึ้นไปได้ กลายเป็นปัญหามลพิษตามมา

“มันอัปเกรดแต่ไม่อัปเดต สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กทม. ตลอดเวลา ผมคิดว่าเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 จากโครงสร้างรถไฟฟ้าเกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ และไม่เคยมีการลงทุน กำหนดให้รถไฟฟ้าต้องมีเครื่องพ่นไอน้ำ ทำพัดลมขนาดใหญ่ตามจุดต่างๆ เพื่อพัดให้อากาศลอยขึ้นไปได้ แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น”

ด้วยการวางอัลกอริทึมแบบผิดๆ ทำให้การแก้ปัญหาพื้นที่สีเขียวสร้างปอดให้คนกรุงเทพฯ ตามไม่ทันกับการขยายตัวของเมือง จนทำให้ตกมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แม้นโยบายสร้างพื้นที่สีเขียวเริ่มมีตั้งแต่สมัยพลตรี จำลอง ศรีเมือง ในปี 2528 ก็ตาม

พื้นที่สีเขียว กทม. ไม่เพียงพอต่อสัดส่วนประชากร

เรื่องนี้อรรถเศรษฐ์มองว่า การ “ซ่อมปอด” ให้คนกรุงเทพฯ ทำได้ไม่ยาก ถ้าผู้บริหารเลิกสร้าง “อีเวนต์” แต่หันมาผลักดันนโยบายอย่างจริงจัง เพราะทุกครั้งที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครพูดถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมักจะมองแค่สถิติว่าสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 6 ตารางเมตรต่อคน แต่ไม่เคยมีใครบอกว่าเขตไหนเท่าไหร่ ต้องแก้อย่างไร เพราะถ้าตัดเขตหนองจอกซึ่งมีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากออกไป คนกรุงเทพฯ จะเหลือส่วนพื้นที่สีเขียวแค่ 3 ตารางเมตรต่อคน

“เราไม่เคยมีแผนการสร้างพื้นที่สีเขียวแบบแยกออกมาแต่ละเขตว่ามีสัดส่วนสีเขียวต่อคนเท่าไหร่ และจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น เขตปทุมวัน ต้องปลูกต้นไม้ชนิดไหน เราต้องมีรุกขกรมาบอกว่าปลูกต้นไม้แบบไหนแล้วมีประโยชน์ อายุยืนหรือไม่ วงจรชีวิตยาว ไม่ใช่อายุสั้นแล้วต้องซื้อใหม่ปลูกใหม่ตลอดเวลา ผมคิดว่านี่คือปัญหา เรามักจะจัดอีเวนต์เอาต้นไม้มาโชว์ แต่ไม่ได้ผลักดันในเชิงนโยบายอย่างจริงจัง”

ตัวอย่างเมืองที่สร้างพื้นที่สีเขียวสำเร็จอย่างสิงคโปร์ซึ่งมีสวนแนวดิ่งและมีพื้นที่สีเขียวกระจายจนทำให้พบสวนทุก 5 นาที ซึ่งกรุงเทพฯ ทำได้ไม่ยาก โดยการสร้างแรงจูงใจ เพราะคนไทยชอบโบนัส เช่น การกำหนดให้อาคารขนาดใหญ่ปลูกพื้นที่สีเขียวแล้วสามารถนำมาลดหย่อนได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรต้องกำหนดไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ให้อาคารขนาดใหญ่ต้องมีพื้นที่สีเขียวขนาดเท่าไหร่ เป็นพื้นที่สีเขียวแบบไหน ไม่ใช่แค่ปลูกสนามหญ้า ต้องระบุชนิดต้นไม้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการมีรุกขกร เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีรุกขกรเข้ามาช่วยดู แต่ก็เป็นแค่เครือข่ายเอกชน เช่น กลุ่มบิ๊กทรี ทำให้ไม่มีความต่อเนื่องและสร้างความยั่งยืนไม่ได้

เขายังเห็นว่าความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้เกิดการซ่อมปอดกรุงเทพฯ เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการนำพื้นที่รกร้างมาใช้ประโยชน์ จากเดิมที่เอกชนใช้ปลูกกล้วย มะนาว เพื่อเลี่ยงภาษี ก็ให้ กทม. เข้ามาดูแลเปลี่ยนเป็นสวนสีเขียว โดยอาจจะมีสัญญากับ กทม. 10 ปี พอหมดสัญญาราคาที่ดินขึ้น เอกชนสามารถนำไปขายได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่พื้นที่สีเขียว กทม. มากขึ้น

การสร้างพื้นที่สีเขียวไม่เพียงสร้างเมืองให้ “น่าอยู่” และทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น หากยังสามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งอาจต้องวางแผนการปลูกต้นไม้ที่หลากหลายเพื่อช่วยบดบังทิศทางลม เนื่องจากปัญหาฝุ่นบางส่วนมาจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรมในที่โล่งของประเทศเพื่อนบ้าน และลมพัดเข้ามาในเมืองจนสร้างมลพิษ ซึ่งพื้นที่สีเขียวช่วยลดปัญหาได้

สวนลุมพินี

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง

ฝุ่น PM2.5 ก็เป็นอีกปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยอรรถเศรษฐ์เห็นว่า การแก้ปัญหานี้ควรจะทำอย่างจริงจังตั้งนานแล้ว ถ้าเป็นเมื่อ 2-3 ปีแรกบอกว่าไม่มีข้อมูลก็พอให้อภัยได้ แต่ตอนนี้ 4 ปีแล้ว ข้อมูลเรามากพอที่จะลงมือทำ เพราะปักกิ่งเคยมีปัญหาเดียวกับเราค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน แต่ปัจจุบันเขาแก้ปัญหาได้แล้ว เพราะเขามีหอฟอกอากาศ

แต่กรุงเทพมหานครมีการพูดเรื่องหอฟอกอากาศกันมาตลอด แค่เรายังไม่ทำ และยังไม่มีว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าคนไหนที่บอกว่าจะมีหอฟอกอากาศ เพราะการมีหอฟอกอากาศจะช่วยกรองฝุ่นเปลี่ยนเป็นอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาฝุ่นได้ในช่วงภาวะวิกฤติที่แก้ไขปัญหาได้เลย ขณะที่การปลูกต้นไม้ต้องใช้เวลานาน แต่สามารถทำควบคู่กันไปได้

“ส่วนเรื่องการจราจร ปัญหาเรื่องการสันดาปน้ำมันทำให้เกิดฝุ่น ที่ผ่านมาเราพูดเรื่องมาตรฐาน EURO 5 ต้องมีการปรับปรุงโรงกลั่น แต่เรื่องนี้เราทำจริงๆ หรือยัง ผมคิดว่าต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหา เหมือนที่ผมบอกตั้งแต่แรกว่าอัปเกรดแต่ไม่อัปเดต เรามีเมกะโปรเจกต์มากมาย แต่ขอแค่อัปเดตโครงการที่มีอยู่แล้วให้ทำงานได้มากขึ้นก็พอ”

  • สถาบันอนาคตไทยศึกษา กาง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ” เมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่
  • วาระกรุงเทพ 2560 (1): งบประมาณ กทม. 7 หมื่นล้าน มากกว่า 13 กระทรวง ภาษีเราทำอะไรบ้าง
  • น้ำท่วมวงเวียนหลักสี่ ทั้งๆที่มีวอเตอร์แบงก์ เพื่อหน่วงน้ำระบาย ก็เอาไม่อยู่ (ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2563)

    ละเลย “หัวใจ” ปมใหญ่ปัญหาน้ำท่วมรอระบาย

    การอัปเกรดแต่ไม่อัปเดตยังรวมถึงปัญหาน้ำท่วมขังรอระบาย มาจากการละเลย “หัวใจ” ซึ่งก็คือเครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำ เพราะระบบโครงสร้างของท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอยมีขนาดที่แตกต่างกันตั้งแต่ 40 เมตร, 60 เมตร, 1 เมตร และ 1.2 เมตร ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำแตกต่างกันไป

    การออกแบบท่อระบายน้ำมาจากการคำนวณปริมาณน้ำฝนรอบ 23 ปีเป็นสมมติฐาน ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาปริมาณฝนมีตั้งแต่ 80 มิลิเมตรต่อชั่วโมง และ 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ขนาดท่อระบายน้ำที่ออกแบบมารองรับได้ แต่ปัจจุบันย้อนหลังไป 5 ปี ปริมาณฝนใน กทม. ตกเกิน 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เมื่อปริมาณฝนเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำของ กทม. จึงมีปัญหา ซึ่งไม่ใช่เพียงแส้นเลือดฝอยที่ไม่ได้ขุดลอกแต่ยังมีปัญหาเส้นเลือดขอดจากปัญหาท่อไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเส้นเสือดฝอย ต้องแก้ปัญหาเส้นเลือดขอดด้วย

    “การแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ เรามีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด จากเดิมมีทั้งหมด 24 จุด จุดเฝ้าระวัง 40 จุด ซึ่งสำนักระบายน้ำจะดูแลการระบายน้ำในถนนสายหลัก แต่ในชุมชน 50 เขตที่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง 200 จุดไม่มีใครพูดถึง เนื่องจากสำนักงานเขตดูแลแต่งบประมาณเขต ซึ่งแต่ละเขตได้รับการจัดสรรงบประมาณแค่ 2-5 ล้านบาทเท่านั้น”

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการระบายน้ำอยู่ที่การขาดการดูแลหัวใจ ซึ่งก็คือ เครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำต่างๆ เหมือนกับร่างกายของเรา ถ้าหัวใจไม่ทำงานทุกอย่างก็จบ แต่ไม่มีใครพูดเรื่องหัวใจ ถ้าหัวใจหรือเครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน กรุงเทพฯ ท่วมแน่นอน

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • เปิดแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ที่ควรลำดับความสำคัญเสียใหม่ก่อนที่จะสาย
  • แนวทางการบริหารจัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำในทางสายกลาง ที่ควรจะเป็น
  • ภัยเงียบคนกรุงเทพ (ตอน 1): เจาะปัญหา ‘น้ำเค็ม’ ภาคครัวเรือนและเกษตรกรรม บริโภคน้ำคุณภาพต่ำทุกปี
  • กทม. พัฒนา “โคกหนองนา” ในเมือง ช่วยชาวนา “หนองจอก” ทำสัมปทานบึงใหญ่ “ฟิชชิ่งปาร์ค” 30 ปี
  • สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือการซ่อมบำรุงหัวใจ ให้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะขณะนี้เครื่องสูบน้ำที่ทำงานมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี สามารถระบายได้เพียง 60 เปอร์เซ็นต์หรือ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถ้าเราเอางบประมาณไปดูแลทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำทำงานได้เพิ่มขึ้นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเท่ากับศักยภาพการระบายน้ำของอุโมงค์ยักษ์

    แต่ปัญหาการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำคืองบประมาณในการซ่อมบำรุงประจำปีไม่ต่อเนื่อง เพราะงบประมาณไม่ได้รับทุกปี ต้องเวียนการให้งบประมาณไปสลับให้แต่ละสถานี ซึ่งความจริงแล้วต้องซ่อมบำรุงทุกปี โดยจัดสรรงบประมาณประจำปี

    “เราควรจะดูแลหัวใจมากกว่าเส้นเลือดฝอย แต่ความจริงต้องพัฒนทั้งระบบให้ใช้งานได้ แต่หัวใจดูแลเยอะหน่อยให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ไม่ต้องไปสร้างโครงการใหม่ แค่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเท่ากับหรือใกล้เคียงกับการออกแบบไม่ต้องทำใหม่ก็พอแล้ว”

    สิ่งที่กรุงเทพฯ ต้องการไม่ใช่การสร้างโครงการขนาดใหญ่ แต่ต้องการให้หันกลับมาดูแลสิ่งที่ทำแล้ว “ซ่อม” ให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่น่าเที่ยวแล้ว

    อ่านต่อตอนที่ 2