ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : “ชัชชาติ” รื้อ “กรุงเทพธนาคม” จาก “หลุมดำ” สู่ธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : “ชัชชาติ” รื้อ “กรุงเทพธนาคม” จาก “หลุมดำ” สู่ธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

23 มิถุนายน 2022


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ธุรกิจแสนล้าน “บริษัทกรุงเทพธนาคม” ธุรกิจของคนกรุงเทพฯ ที่คนกรุงเทพฯ ไม่เคยรู้ “ชัชชาติ” รื้อ ตั้ง “ธงทอง จันทรางศุ” ประธานบอร์ดบริหารชุดใหม่ เปลี่ยนจาก “หลุมดำ” ขึ้นมาบนสปอตไลต์ “ตรวจสอบได้”

ความพยายามที่จะดึง “บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด” ออกมาจากหลุมดำ มาวางไว้กลางสปอตไลต์ ให้คน กทม. มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เป็นสิ่งที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลายเวที

“ชัชชาติ” มองว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ถือเป็นรัฐวิสาหกิจเดียวของกรุงเทพมหานคร แต่เหมือนหลุมดำขนาดใหญ่ ที่ต้องการส่องสปอตไลต์เข้าไป เพื่อให้การดำเนินการเปิดเผยและตรวจสอบได้

ต้องยอมรับว่ากรุงเทพธนาคม ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครกว่า 20 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 14,000 ล้านบาท ไม่นับรวมโครงการขนาดใหญ่ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการจัดการขยะ ที่มีมูลค่ารวมแล้วนับแสนล้านบาท

แต่ที่ผ่านมา ไม่ว่าผู้ว่ากรุงเทพมหานครในยุคสมัยไหน “บริษัทกรุงเทพธรนาคม” ไม่มีเคยมีการรายงานรายได้มายัง กทม. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

นั่นจึงเป็นที่มาของการรื้อโครงสร้างคณะกรรมการ แต่งตั้ง ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ที่แม่นยำในเรื่องกฎระเบียบ การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ เข้ามาเป็นประธานบริษัท และตั้ง ผศ. ดร.ประแสง มงคลศิริ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการเมือง จบการศึกษาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ปริญญาตรีและปริญญาโท จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกด้าน Urban Engineeing จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น มาเป็นกรรมการผู้อำนวยการ

ทุกอย่างดู ถูกที่ ถูกเวลา เหมือนที่ ศ.พิเศษ ธงทอง บอกว่า “อาจารย์ชัชชาติชวนมาร่วมงานและถือเป็นงานท้าทายในชีวิตวัยหลังเกษียณ เมื่อจังหวะมาถึงมือ ผมจะปล่อยผ่านไปอย่างไรได้ ลองดูสักตั้งจะเป็นไรไป”

ขณะที่ ผศ. ดร.ประแสง บอกเช่นกันว่า ถึงเวลาที่จะทำให้การบริหารงานบริษัทกรุงเทพธนาคมอยู่กลางสปอตไลต์ หรือแสงไฟส่องเข้ามาถึง ให้เป็นกิจการของคนกรุงเทพมหานครที่สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบได้

“ผมคิดว่าคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่เลือกผู้ว่าฯ ชัชชาติเข้ามาถือเป็นคำสั่งที่ให้เข้ามาดูแลกิจการของคนกรุงเทพฯ และถึงเวลาที่คนกรุงเทพฯ ควรจะรับรู้ว่าบริษัทกรุงเทพธนาคม บริหารจัดการอย่างไร ดังนั้น หลักในการทำงานคือ การบริหารงานบริษัทกรุงเทพธนาคม ที่คนกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมตรวจสอบได้”

บอร์ดชุดใหม่ “กรุงเทพธนาคม”

หากพิจารณารายชื่อ คณะกรรมการบริหาร “บริษัทกรุงเทพธนาคม” ชุดใหม่ ที่ได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 17 มิถุนายน 65 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนของนักกฎหมาย นักธุรกิจ และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเมืองเอาไว้เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทกรุงเทพธนาคม ที่จะเป็นองค์กรซึ่งดำเนินการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องยั่งยืนและมีประสิทธิผล

สำหรับที่มาของคณะกรรมการบริหารทั้งหมด ประกอบด้วย

1. ดร.ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เชี่ยวชาญกฎระเบียบ กฎหมาย เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ

2. ผศ. ดร.ประแสง มงคลศิริ ผู้เชี่ยวชาญเมืองและสิ่งแวดล้อม จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนจบปริญญาเอกด้าน Urban Engineeing จาก มหาวิทยาลัยโตเกียว ด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbusho)

3. ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการกฤษฎีกา อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย หัวหน้าหมวดกฎหมายมหาชน ปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4. นายธรรดร มลิทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย

5. นางทิพยสุดา ถาวรามร กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ, บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

6. นายพีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล รีท แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย)

7. นายชัยวัฒน์ คลังวิจิตร รองกรรมการผู้อำนวยการสายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัทกรุงเทพธนาคม

ทำไมต้องเปลี่ยนบอร์ดกรุงเทพธนาคม ‘หลุมดำ’ที่ต้องรื้อ

หลังเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การเปลี่ยนบอร์ดกรุงเทพธนาคมจะเกิดขึ้นทุกครั้งจนเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับนโยบายการบริหารงานของผู้ว่าฯ เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

หากจะกล่าวถึงที่มาที่ไปของ “กรุงเทพธนาคม” เกิดจากการที่ “กรุงเทพมหานคร” เข้าซื้อกิจการบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด แต่แทนที่กรุงเทพมหานครจะซื้อหุ้นทั้งหมดเพื่อถือหุ้น 100% กลับถือ 99.98% ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกกิจการโรงฆ่าสัตว์ของบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกรุงเทพธนาคมในปี 2537 เพื่อให้บริการและดำเนินงานด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ

“กรุงเทพธนาคม” จึงถูกใช้ดำเนินธุรกรรมต่างๆ ของ กทม. ตามแต่ละยุคสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกลายเป็น “หลุมดำ” ที่ไม่รู้ว่าทำธุรกิจอะไร มีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร มีรายได้มาจากไหน และรายได้ที่ทำมาหาได้มีการจัดสรรอย่างไร นำส่งกรุงเทพมหานครเพื่อนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน

จากการตรวจสอบในเว็บไซต์กรุงเทพธนาคม ล่าสุด ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ไม่มีการรายงานงบดุลใดๆ ทั้งๆ ที่บริหารโครงการมูลค่ารวมเป็นแสนล้านบาท ขณะเดียวกันแม้แต่ในรายงานประจำปี 2564 ก็มีข้อมูลทางการเงินเพียง 1 หน้าเท่านั้น (ดูภาพประกอบ) เป็นรายงานประจำปีที่แจกให้คณะกรรมการชุดใหม่

รายงานงบดุล ผลประกอบการ บริษัทกรุงเทพธนาคม ที่ไม่ปรากฏในเว็บไซต์บริษัทแต่อย่างใด ที่มาภาพ : รายงานประจำปีที่แจกให้คณะกรรมการชุดใหม่ที่แต่งตั้งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับการเปลี่ยนบอร์ดในแต่ละยุค

ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งนายกนก วงศ์ตระหง่าน เป็นประธานและกรรมการ, นายมานพ พงศทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ และนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ

สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แต่งตั้งนายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ

สมัย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งนายปิยะ พูดคล่อง เป็นประธานกรรมการบริษัท และ ดร.เกรียงพล พัฒนรัฐ เป็นกรรมการผู้อำนวยการ

เปิดธุรกิจแสนล้านของ “กรุงเทพธนาคม” แต่กำไรหลักร้อย

คนกรุงเทพฯ จำนวนมากอาจยังไม่รู้ว่าบริษัทกรุงเทพธนาคมดูแลกิจการอะไรในกรุงเทพฯ บ้าง จะว่าไปแล้ว “กรุงเทพธนาคม” ดูแลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริการ และการดูแลเมืองเกือบทั้งหมด ปัจจุบัน “บริษัทกรุงเทพธนาคม” ดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานครมากกว่า 20 โครงการ ด้วยวงเงินรวมกว่าแสนล้านบาท

“กรุงเทพธนาคม” เริ่มดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะและดูแลเมือง โดยปี 2542 เริ่มดำเนินการเก็บขนขยะติดเชื้อที่ศูนย์อ่อนนุช และในปี 2552 เริ่มเข้ามาดูแลโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่)

1. โครงการเก็บขยะมูลฝอยติดเชื้อ 2 ศูนย์ คือที่ศูนย์หนองแขมและอ่อนนุช นับจากปี 2552 ที่บริษัทเริ่มเข้ามาบริหารจัดการขยะติดเชื้อ จนถึงปัจจุบันยังคงดำเนินการกิจการนี้อยู่ กรุงเทพฯ จ้างดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2568 ด้วยงบประมาณ 1,067 ล้านบาท

2. โครงการบริหารจัดการโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน ที่ศูนย์จัดการขยะอ่อนนุช งบประมาณ 2,090 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 20 ปี เริ่มปีจาก 2563-2583 โดยกรุงเทพธนาคมจ้างผู้รับเหมาดำเนินการชื่อ บริษัท ทู เทคโนโลยี จำกัด

3. โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) เริ่มดำเนินการ ปี 2564 และเปิดเฟสเพิ่มเติมในปี 2566 งบประมาณดูแล 2,080 ล้านบาท

4.โครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร 30 ปี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มูลค่า 13,175 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 สัญญา

  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงไข่แดง 23 สถานี ตั้งแต่หมอชิตถึงอ่อนนุช ระยะ 23.5 กม จ้างบีทีเอสดูแล ตั้งแต่ปี 2542-2572 สัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถ ปี 2572-2585
  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายสายหมอชิต-คูคต 16 สถานี ระยะทาง 19 กม. สัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถ ปี 2572-2585
  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายสายแบริ่ง-สมุทรปราการ 9 สถานี ระยะทาง 13 กม. สัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถ ปี 2572-2585
  • 5. โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ที่กรุงเทพธนาคมได้รับสิทธิ์ดำเนินการประมาณ 2,500 กิโลเมตร รวมมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท

    6. โครงการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมและโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงเกษม จะหมดสัญญากับ กทม. เดือน ก.ย. 2565

    7. โครงการรถโดยสารประจำทางพิเศษบีอาร์ที จำนวน 25 คัน ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร 12 สถานี

    8. โครงการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ระยะเวลา 4 ปี ระหว่างปี 2559-2563

    9. โครงการรถจักรายนสาธารณะกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 สถานี และมีรถจักรยานหมุนเวียนในระบบทั้งสิ้น 363 คัน

    สำหรับผลประกอบการของ “กรุงเทพธนาคม” จากรายงานประจำปี 2564 ที่รายงานข้อมูลทางการเงินเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ระบุรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปี 2564 มีรายได้ 676 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 มีรายได้ 415 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ 336 ล้านบาท

    ในส่วนกำไร ปี 2564 จำนวน 63 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุน 3 ล้านบาท ส่วนปี 2562 กำไร 19 ล้านบาท

    กรุงเทพธนาคมกับภาระหนี้รถไฟฟ้าแสนล้านบาท

    หากไล่เรียงปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว และปัญหา “หนี้” ที่กรุงเทพมหานครต้องแบกรับรวมๆ แล้วกว่า 121,333 ล้านบาท แยกหนี้ออกได้เป็น 3 ก้อนตามรายละเอียดดังนี้คือ

    ก้อนแรก ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท และส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประมาณ 40,000 ล้านบาท รวม 63,000 ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ยกรณีที่ไม่มีการจ่ายไปจนถึงปี 2572 ประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยเจ้าหนี้คือกระทรวงการคลัง

    สำหรับหนี้ก้อนนี้ มติคณะรัฐมนตรี ปี 2561 ให้ กทม. รับโอนการบริหารจัดการและภาระหนี้ จาก รฟม. แต่กระบวนการรับโอนยังไม่เสร็จสิ้น

    ก้อนที่สอง คือ ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 23,884 ล้านบาท เจ้าหนี้คือ บีทีเอส ซึ่งมีกำหนดชำระเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งหากรวมดอกเบี้ยคาดว่าในปี 2572 จะมียอดหนี้รวม 30,000 ล้านบาท

    ก้อนที่สาม ค่าจ้างบีทีเอสในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท (เริ่มติดค้างมาตั้งแต่เมษายน 2560)

    รวมหนี้ทั้ง 3 ก้อนที่ต้องแบกรับกว่า 102,735 ล้านบาท ซึ่งหากรวมยอดหนี้คาดว่าในปี 2572 กทม. จะแบกหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 121,333 ล้านบาท

    ดังนั้น หากกรุงเทพมหานครปรับยุทธศาสตร์ใช้ “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” เป็นหัวหอกในการทำธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อนำรายได้กลับมาสร้างประโยชน์ สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่น่าเที่ยว เปลี่ยน “หลุมดำ” ให้เป็น “ขุมทรัพย์” ใหม่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทยถ้วนหน้า

    เป็นเรื่องที่ทำได้และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างยิ่ง!!!