ThaiPublica > คนในข่าว > โยก 2 อธิบดี ปั้น “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดคนต่อไป

โยก 2 อธิบดี ปั้น “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดคนต่อไป

5 พฤษภาคม 2022


เบื่องหลังโยกสลับอธิบดีกรม ‘สรรพากร-สรรพสามิต’ ยกระดับ “ลวรณ แสงสนิท” ขึ้นแคนดิเดต ชิงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังปีหน้า

หลังจากที่ประชุม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โยกย้ายสลับตำแหน่งอธิบดี 2 กรมหลักในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยให้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต ส่วนนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ย้ายมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร

หากวัดกันตามขนาดและบทบาทภาระกิจแล้ว กรมสรรพากรถือเป็นกรมใหญ่ที่สุดในกระทรวงการคลัง อย่างในปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรได้รับมอบเป้าหมายให้จัดเก็บภาษี 1,876,100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.2 % ของประมาณการรายได้ของรัฐบาล 2.4 ล้านล้านบาท ถัดมาจะเป็นกรมสรรพสามิตได้รับมอบหมายให้เก็บภาษี 597,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.9% ส่วนกรมศุลกากรได้มอบหมายให้จัดเก็บภาษี 100,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.1%

และถ้าย้อนกลับไปดูผลงานของนายเอกนิติช่วงที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร 4 ปีที่ผ่านมา นายเอกนิติ สร้างผลงานเด่น ๆเอาไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกระดับบริการผู้เสียภาษีผ่านช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ , การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านแอปพลิเคชันครั้งแรกของโลก , การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” และการกำหนดแนวทางการจัดเก็บภาษีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยให้มีความชัดเจน เสมอภาค เป็นธรรม และโปร่งใส รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องการลงบันทึกรายได้ หรือ กำไรของบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศที่ส่งบริษัทลูกเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ป้องกันปัญหาการทำ “Transfer Pricing” ผลของมาตรการเหล่านี้ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 101,695 ล้านบาท

ถามว่าผลงานดีขนาดนี้ ทำไมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เสนอ ครม.ต่อวาระให้นายเอกนิติเพิ่มอีก 1 ปี หลังจากที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรครบวาระ 4 ปี แต่กลับย้ายนายเอกนิติลงมาอยู่กรมสรรพสามิต ทำให้คนในกระทรวงการคลัง มองข้ามช็อตไปถึงปีหน้าว่า การโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนอธิบดีในสังกัดกระทรวงการคลังครั้งนี้ ถือเป็นการวางตัวให้นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีสรรพสามิต ได้ไปสั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้งานกรมจัดเก็บภาษีเพิ่มอีก 1 กรม ก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังต่อจากนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในปี 2566 ใช่หรือไม่

ตามประเพณีปฏิบัติของกระทรวงการคลัง เรื่องการนับความอาวุโสในทางราชการ ที่ผ่านหลักจะพิจารณากันอยู่ 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง พิจารณากันตรงที่ใครขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีก่อนกัน ถัดมาจะเป็นเรื่องประสบการณ์ในการบริหารงาน พิจารณากันที่การถูกเวียนย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง ยิ่งผ่านการบริหารงานมาแล้วหลายกรมยิ่งดี โดยเฉพาะกรมจัดเก็บภาษี

หากพิจารณาตามหลักการดังกล่าวนี้ เดิมทีในกระทรวงการคลังก็จะมีข้าราชการระดับสูงที่เป็น “แคนดิเดตว่าที่ปลัดกระทรวงการคลัง” อยู่ 2 คน คือ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ กับนายพชร อนันตศิลป์ โดยนายเอกนิตินั้นได้รับการแต่งตั้งจาก ครม.ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ส่วนนายพชร ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์แทนนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 และนายลวรณ แสงสนิท ได้รับการแต่งตั้งจาก ครม.ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ตามลำดับ

แต่ถ้าพิจารณากันเรื่องประสบการณ์ในการบริหารงาน โดยเฉพาะเรื่องการเวียนย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง นายพชร จะมีประสบการณ์มากกว่า เคยผ่านงานบริหารในตำแหน่งอธิบดีมาแล้ว 3 กรม คือ อธิบดีกรมธนารักษ์ , อธิบดีกรมสรรพสามิต และอธิบดีกรมศุลกากร ขณะที่นายเอกนิติ เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีมาแล้ว 2 กรม คือ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กับ อธิบดีกรมสรรพากร ส่วนนายลวรณ ผ่านงานในตำแหน่งอธิบดีมาแล้ว 2 กรมเช่นกัน คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กับ อธิบดีกรมสรรพสามิต

การโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร กับ อธิบดีกรมสรรพสามิตครั้งนี้ จึงทำให้คนในกระทรวงการคลังมองว่า เป็นการยกระดับนายลวรณ ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังในปีหน้าอีกคน ทำให้ทั้ง 3 ท่าน มีประสบการณ์เคยผ่านงานในตำแหน่งอธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงการคลังมาแล้ว คนละ 3 กรมเท่าเทียมกัน โดยเป็นกรมจัดเก็บภาษีคนละ 2 กรม และกรมสนับสนุนอีกคนละ 1 กรม

แต่ถ้าวัดกันที่อายุราชการที่เหลืออยู่ นายลวรณจะอายุมากที่สุด เกษียณปี 2570 ส่วนนายเอกนิติ กับนายพชร อายุเท่ากัน เกษียณปี 2573 ทั้ง 3 ท่านนี้ หากคนใดคนหนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังก่อน หมายความอีก 2 ท่านที่เหลือ ก็อาจจะไม่ได้เป็นปลัดกระทรวงการคลัง เพราะเกษียณก่อน

การปรับโครงการผู้บริหารของกระทรวงการคลังครั้งนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่นายอาคมกำลังวางตัวให้นายลวรณขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลังคนต่อไป ส่วนนายเอกนิติกับนายพชร ให้ไปชิงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังกันอีกครั้งในปี 2570 เพราะยังเหลืออายุราชการอีก 8 ปี

  • อธิบดีสรรพากร ชู “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” เพิ่มเงินในมือประชาชนแสนล้าน ฝ่าโควิดฯ (ตอน1)
  • “อธิบดีสรรพากร” ออกแบบนโยบายภาษี “เครื่องมือ”ปรับโครงสร้างประเทศรับยุค Disruption (ตอนจบ)
  • “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” คนแรกเอเชีย นั่ง Governing Board ของ Tax Inspector Without Borders
  • ลงทุน “คริปโทฯ” เสียภาษีอย่างไร เช็คได้ที่นี่!
  • “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีสรรพากร กับเป้าหมาย “Digital Transformation” ยกระดับบริการ-การจัดเก็บภาษีที่ทั่วถึงและเป็นธรรม
  • คืน VAT นักท่องเที่ยว ชาติไหนช็อปเก่ง ไปเที่ยวที่ไหน ช็อปอะไร !!
  • กรมสรรพากรผนึกพันธมิตรใช้ Blockchain คืนภาษีนักท่องเที่ยวประเทศแรกของโลก
  • โยกคนคลังนั่งปลัดพลังงาน จาก “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ถึง “กุลิศ สมบัติศิริ” หมากเกมนี้กับว่าที่ปลัดคลังคนใหม่
  • ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (13): ตั้ง “ลวรณ แสงสนิท” ประธานฯ สอบคดีเว้นภาษีเชฟรอน 3 พันล้าน ยัน “ทำตรงไป-ตรงมา-ไม่มีใบสั่ง”