ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะงบบุคลากรภาครัฐ ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี ‘บำเหน็จ-บำนาญ’ แซง ‘เงินเดือน’ ขรก.

เจาะงบบุคลากรภาครัฐ ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี ‘บำเหน็จ-บำนาญ’ แซง ‘เงินเดือน’ ขรก.

11 สิงหาคม 2023


เจาะงบเงินเดือน-สวัสดิการบุคลากรภาครัฐ ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ แซงเงินเดือนข้าราชการ ปี’65 ต้องควักเงินคงคลังโปะงบรักษาพยาบาล-บำเหน็จบำนาญ-ค่าเล่าเรียนบุตร 23,597 ล้านบาท

ต่อจากตอนที่แล้ว

  • เจาะฐานะการคลัง รับรัฐบาลใหม่… ‘ไม่มีเงิน’ จริงหรือ?
  • จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (aged society) มาตั้งแต่ปี 2565 โดยมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าประชากรกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 28% ในปี 2574 กลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลต่อๆไป ที่จะต้องจัดหางบประมาณมาดูแลคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไป แต่ละปีใช้งบประมาณกว่า 8 แสนล้านบาท นำมาจัดระบบสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินช่วยเหลือบุตร รวมทั้งจัดระบบสวัสดิการดูแลประชาชน เช่น จัดระบบรักษาพยาบาลผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินอุดหนุนกองทุนประกันสังคม จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยเอดส์ ค่าเลี้ยงดูบุตร เงินอุดหนุนที่ต้องสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนประชารัฐฯ) ค่าอาหารกลางวันเด็ก และนมโรงเรียน เป็นต้น

    ขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ เกือบทุกพรรคต่างชูนโยบายรัฐสวัสดิการ เช่น นโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงิน 560,000 ล้านบาท ถามว่าจะหาเงินมาจากไหน ถ้าไม่กู้เพิ่ม ก็ต้องปรับขึ้นภาษี ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ซึ่งก็ได้เงินมาไม่มากอย่างที่ต้องการใช้

    ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการหารายได้และลดรายจ่าย โดยเตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีทั้งการปรับโครงสร้างภาษี 22 รายการ ขยายฐานการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เช่น ภาษีซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยุบรวมรายการค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและกำหนดวงเงินสูงสุดใหม่ ปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปรับลดภาษีเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจสีเขียว ส่วนมาตรการด้านการปรับลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยพุ่งเป้าไปที่การทบทวนสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย

    ยังไม่ทันได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 มีตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม และตัวแทนผู้สูงอายุ รวมตัวกันมายื่นหนังสือคัดค้านแนวความคิดดังกล่าวต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    ในข้อเท็จจริง หากนำค่าใช้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐแล้ว ต้องถือว่าน้อยมาก โดยในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งงบฯเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 78,530 ล้านบาท ใช้ดูแลผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน ส่วนงบฯ เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ เงินบำเหน็จลูกจ้างประจำ เงินช่วยพิเศษข้าราชการบำนาญที่เสียชีวิต และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ รายจ่ายส่วนนี้บรรจุไว้ในงบกลางมีประมาณ 322,790 ล้านบาท ดูแลบุคลากรภาครัฐประมาณ 3 ล้านคน ซึ่ง 2 รายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายที่ยากแก่การตัดทอน นับวันก็จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

    ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี งบ “บำเหน็จ-บำนาญ” แซง “เงินเดือน” ขรก.

    จากข้อมูลในรายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคน และแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นำเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ได้ทำประมาณการค่าใช้ด้านบุคลากรภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2564 ระบุว่า…

    “งบประมาณรายจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 10.82% ต่อปี ขณะที่งบบุคลากร ประเภทเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 1.73% ต่อปี และจากการประมาณการในเบื้องต้น คาดว่างบฯ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี”

    ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งงบบุคลากรเตรียมไว้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ วงเงิน 614,448 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท

    ส่วนงบฯ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ, บำเหน็จลูกจ้างประจำ, เงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง, เงินทดแทนข้าราชการวิสามัญ, ค่าทดแทนสำหรับผู้ที่ได้รับอันตรายจากการรักษาความมั่นคงของประเทศ, เงินช่วยพิเศษข้าราชการบำนาญที่เสียชีวิต และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งเอาไว้ในงบกลาง 322,790 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.13% ของวงเงินงบประมาณปีนี้และในอนาคตกำลังจะเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เท่าตัว วิ่งแซงงบฯ เงินเดือนบุคลากรภาครัฐ

    ถามว่ากระทรวงการคลัง และสำนักงาน ก.พ. ได้เตรียมแผนรับมือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไว้เสนอรัฐบาลชุดใหม่ไว้หรือไม่ อย่างไร

    นอกจากรายจ่ายด้านเงินเดือน เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของบุคลากรภาครัฐแล้ว ยังมีค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐและครอบครัวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ จากปีงบประมาณ 2557-2560 ตั้งงบฯ รักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐเอาไว้ที่ 60,000 ล้านบาท พอปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเป็น 63,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 70,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเป็น 71,200 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มเป็นปีละ 74,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 เพิ่มเป็น 76,000 ล้านบาท ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ค่ารักษาพยาบาลของบุคลากรภาครัฐมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 4.08% ต่อปี

    ปี ’65 ควักเงินคงคลัง 23,597 ล้าน โปะงบรักษาพยาบาล-บำเหน็จบำนาญ

    จากข้อมูล บางปีตั้งงบฯ ไว้ไม่พอใช้จ่าย ก็ต้องเบิกเงินคงคลังมาใช้ก่อน อย่างในปีงบประมาณ 2565 ยืมเงินคงคลังมาใช้จ่าย 23,597 ล้านบาท แบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐ 7,650 ล้านบาท เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญบุคลากรภาครัฐ 15,041 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐอีก 906 ล้านบาท

    ถัดมาเป็นรายจ่ายที่รัฐบาลตั้งไว้ในงบกลางเป็นเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยในปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายประเภทนี้เอาไว้ที่ 47,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ปรับลดลงมาเหลือ 45,411 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 46,053 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงเหลือ 45,924 ล้านบาท จากนั้นก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเป็น 47,623 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 54,845 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเป็น 62,780 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 69,707 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 เพิ่มเป็น 72,370 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 เพิ่มเป็น 75,980 ล้านบาท ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายส่วนนี้มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 8.86% ต่อปี

    ลำดับถัดมาเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ในงบกลาง เพื่อปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการประจำปี เลื่อนขั้นเลื่อนระดับ ปรับวุฒิ หรือได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ในระหว่างปี โดยในปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายส่วนนี้เอาไว้ 15,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเป็น 16,500 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 16,930 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงเหลือ 10,465 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 ลดลงเหลือ 9,939 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 11,490 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงเหลือ 10,465 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 15,500 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 11,547 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 ลดลงเหลือ 10,000 ล้านบาท ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 19.45%

    รายการถัดมาเป็นเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร และเงินพิเศษกรณีเสียชีวิตระหว่างรับราชการ ในปีงบประมาณ 2557 ตั้งงบฯส่วนนี้เอาไว้ 4,740 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเป็น 5,025 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 5,258 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560-2561 ลดลงมาเหลือปีละ 5,255 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ลดลงเหลือ 5,235 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงเหลือ 4,940 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 5,008 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 4,360 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 ลดลงมาเหลือ 4,200 ล้านบาท

    ตัวสุดท้าย เป็นรายจ่ายที่รัฐบาลตั้งไว้เป็นเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำ โดยในปีงบประมาณ 2557 ตั้งงบประมาณรายจ่ายส่วนนี้เอาไว้ 914 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ลดลงเหลือ 806 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 842 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงเหลือ 819 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 ลดลงเหลือ 720 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ลดลงเหลือ 700 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงเหลือ 670 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 640 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 570 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 ลดลงเหลือ 500 ล้านบาท โดยรายจ่ายส่วนนี้ช่วง 7 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 7.08% ต่อปี

    รวมค่าใช้จ่ายเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ 2557 ตั้งงบเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐเอาไว้ที่ 865,800 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเป็น 889,674 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 942,312 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงมาเหลือ 931,962 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเป็น 943,940 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 992,507 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเป็น 1,051,293 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 1,106,725 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 1,094,822 ล้านบาท และในปี 2566 เพิ่มเป็น 1,103,918 ล้านบาท โดยรายจ่ายกลุ่มนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 3.13% ต่อปี

    เรื่องนี้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบดีว่าฐานะการคลังของประเทศตอนนี้เป็นอย่างไร ช่วงพรรคการเมืองออกแคมเปญรณรงค์หาเสียง นายกรัฐมนตรีจึงแนะนำพรรคการเมืองบางพรรคให้ไปดูงบประมาณปี 2567 มีเงินเหลือเท่าไหร่

  • นายกฯชี้ “เพื่อไทย” แจกเงินดิจิทัล ให้ดูงบฯปี’67 – มติ ครม.อนุมัติ 200 ล้าน ชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน กรณีซื้อหุ้น IFC – IBRD
  • คลังชง ครม.ชุดใหม่ รื้อลดหย่อนภาษี-ตัดสิทธิคนรวยรับ “เบี้ยคนชรา”