ThaiPublica > เกาะกระแส > ลงทุน “คริปโทฯ” เสียภาษีอย่างไร เช็คได้ที่นี่!

ลงทุน “คริปโทฯ” เสียภาษีอย่างไร เช็คได้ที่นี่!

31 มกราคม 2022


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

สรรพากร ออกคู่มือภาษี “คริปโทฯ-โทเคนดิจิทัล” ยกเว้น “หัก ณ ที่จ่าย-VAT” ขาดทุนหักภาษีอย่างไร เช็คได้ที่นี่!

ตามที่กรมสรรพากรได้มีการหารือกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย , สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย , สมาคมฟินเทคประเทศไทย , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 จนได้ข้อสรุปการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” 3 แนวทาง คือ

    1. การคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้น ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอให้มีการออกกฎกระทรวง เพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น
    2. ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
    3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

  • สรรพากร ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย “คริปโทฯ”-ขาดทุนหักภาษีได้
  • และล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 กรมสรรพากรได้จัดทำคู่มือ หรือ คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่ลงทุนใน “คริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล” โดยมีรายละเอียดดังนี้