ThaiPublica > คนในข่าว > “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” คนแรกเอเชีย นั่ง Governing Board ของ Tax Inspector Without Borders

“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” คนแรกเอเชีย นั่ง Governing Board ของ Tax Inspector Without Borders

13 มิถุนายน 2020


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ในโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน ธุรกิจที่เปลี่ยนรูปแบบไปทำให้สรรพากร หน่วยงานจัดเก็บภาษีสำคัญของประเทศ ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานและการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดรับกัน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร จึงขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ 2 ด้าน คือ “Digital Transformation” และ “Data Analytic” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษีให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เสียภาษี

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ดร.เอกนิติ จึงได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการกว่า 20,000 คนของกรมสรรพากรว่า กรมสรรพากรมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล และตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงานของกรมสรรพากรทุกกระบวนการ หรือ “Digital Transformation” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษี ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการเป็น “กรมสรรพากรดิจิทัล” หรือ “Digital RD” ภายในปี 2563

“เอกนิติ” ชู Digital RD ยกเครื่องกรมสรรพากร ปี ’61 ลดเป้าฯ รีดภาษี 40,000 ล้าน

ดร.เอกนิติ มีนโยบายที่จะนำระบบวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytics มาใช้บริหารจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรทุกด้าน เช่น การประมาณการรายได้ การวิเคราะห์และติดตามผลการจัดเก็บภาษี, บริหารความเสี่ยง และตรวจสอบภาษี เช่น การนำระบบคัดเลือกผู้เสียภาษี เพื่อกำกับ และตรวจสอบ (risk-based audit system) ที่ช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบ ตลอดจนส่งเสริมให้ข้าราชการกรมสรรพากรทุกคนมีความรู้ และทักษะทางด้านดิจิทัล

“ผมพูดกับคนที่สรรพากรตลอดเวลาตั้งแต่วันแรกที่มาว่า อย่าคิดว่าสรรพากรไม่โดนดิสรัปต์ มีการดิสรัปต์แน่นอน และการระบาดของโควิด-19 ทำใหดิสรัปต์หนักขึ้น ดีที่เราเตรียมพร้อมไว้หลายอย่าง มิฉะนั้นปรับไม่ทัน จึงได้นำ Digital Information กับ Data Analytic มาใช้ และตอนนี้ก็เริ่มออกดอกออกผลทันการณ์ เช่น e-service ทั้งหลาย หรือเทคโนโลยีบล็อกเชนที่นำมาใช้กับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวหรือ VAT refund for tourist” ดร.เอกนิติกล่าว

  • กรมสรรพากรผนึกพันธมิตรใช้ Blockchain คืนภาษีนักท่องเที่ยวประเทศแรกของโลก
  • ดร.เอกนิติยังมุ่งเน้นการพัฒนากฎหมายและกระบวนการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อทำให้ระบบภาษีมีความชัดเจน แน่นอน และสะดวก ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนแก่ผู้เสียภาษี ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

    ดร.เอกนิติได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศ เช่น OECD เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และข้อมูลภาษีอากร พร้อมกับสมัครเป็นสมาชิกโครงการ Tax Inspectors Without Borders (TIWB) หรือผู้ตรวจสอบภาษีระหว่างประเทศ เพื่อเข้าไปศึกษาและตรวจสอบภาษีบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจ e-commerce และธุรกิจอื่นๆ

    “TIWB เป็นความร่วมมือของ OECD กับ UNDP มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้มีผู้ตรวจสอบภาษีระหว่างประเทศ Tax Inspector Without Border ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิกอยู่ในนั้นด้วย ผมเห็นว่ามีโครงการนี้จึงไปสมัคร และผมอยากรู้ว่าแต่ละประเทศมีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจ e-commerce อย่างไร เพื่อที่จะได้มีข้อมูลและประสบการณ์การจัดเก็บภาษีจากต่างประเทศในด้านใหม่ๆ เช่น e-commerce หรือธุรกิจอื่นๆ” ดร.เอกนิติกล่าว

    จากการสมัครเป็นสมาชิก TIWB และจากการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในเวทีการประชุมระหว่างประเทศหลายครั้ง ส่งผลให้ ดร.เอกนิติได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก Governing Board ของ TIWB โดยได้รับการแจ้งจาก TIWB ในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้เข้าเป็น Governing Board ของ TIWB

    Tax Inspectors Without Borders เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 องค์กร คือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Programme: UNDP)

    “ผมถามว่าทำไมมาเลือกผม ทำไมไม่เลือกตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลี เขาตอบว่าจากการติดตามการเข้าประชุมในเวทีต่างประเทศของผม เห็นว่าผมแอกทีฟดี มีส่วนร่วม เพราะเวลาผมไปประชุมต่างประเทศผมก็พยายามแสดงความคิดเห็น บอกเขาว่าเราคิดอย่างไร” ดร.เอกนิติกล่าว

    Governing Board เป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทน มีวาระการทำหน้าที่ 3 ปี และกำลังจะเริ่มประชุมในเดือนตุลาคม 2563

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า ขณะนี้ทั้งโลกเจอปัญหาเดียวกันคือเก็บภาษีธุรกิจประเภทสตรีมมิง หรือ e-commerce ไม่ได้ แต่ในระยะต่อไปจะมีกฎหมายทั่วโลกให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ หากบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้ไม่ให้ข้อมูลแก่ประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ ประเทศที่บริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจอยู่ก็สามารถไปขอข้อมูลจากประเทศที่บริษัทเหล่านี้จดทะเบียนได้ ก็ต้องให้ข้อมูลมา โลกยุคใหม่ต้องเป็นแบบนี้ และไม่ใช่ปัญหาไทยประเทศประเทศเดียวที่เก็บภาษีพวกนี้ไม่ได้

    ในการให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าก่อนหน้านี้ ดร.เอกนิติกล่าวถึงแนวคิดการจัดเก็บภาษี e-commerce ว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนจะกระทบมาก แต่ว่ากฎหมายเป็นตัวสำคัญ คือทุกวันนี้บริษัทที่ทำ e-commerce เขาไม่ได้จดทะเบียนเมืองไทย บังคับไม่ได้ เป็นสิ่งที่ลำบาก ตอนนี้ต่างชาติศึกษาว่าจะรับมืออย่างไร สิงคโปร์ออกกฎหมาย Thrid Party Information สามารถสั่งได้ว่าคุณต้องส่งข้อมูลยอดขาย ของเราเข้าใจว่ากฎหมายที่เราเสนอร่างแรกเข้าไป คือ เหมือนสิงคโปร์เลยว่า สามารถบอกได้ว่าข้อมูลนี้ต้องส่งให้กรม แต่พอผ่านกฤษฎีกามาไม่ได้เป็นรูปแบบนั้น เป็นรูปแบบใช้ธุรกรรมของธนาคารแทน เรื่องนี้ยังอยู่ในสภาอยู่”

    “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีสรรพากร กับเป้าหมาย “Digital Transformation” ยกระดับบริการ-การจัดเก็บภาษีที่ทั่วถึงและเป็นธรรม

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า สิ่งนี้ต้องทำร่วมกันทุกประเทศ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำให้เต็มใจที่จะจ่าย ซึ่งเห็นจากตัวประเทศอื่น บริษัทเหล่านี้จ่ายภาษีทั้งหมดเพราะไม่คุ้มกับการเสียชื่อเสียงหากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ กระบวนการหรือขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า โลกธุรกิจเปลี่ยนเร็วมาก เดิมไม่มีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยตรง มีเพียงการนำเข้าในลักษณะขนาดใหญ่ปริมาณเยอะ แต่ปัจจุบันมีการสั่งสินค้าจากต่างประเทศทำเป็นธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง เข้าตรงที่แพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มเชื่อมโยงกันหมด

    “นี่เป็นปัญหาภาษีของทั้งโลก เพราะโลกยุคใหม่เชื่อมโยงกันหมด แต่ก่อนมี border แต่ตอนนี้ไม่มี border ก่อนนี้เคยซื้อซีดี เป็นของนำเข้า เดี๋ยวนี้มาจากไหนไม่รู้สตรีมมิงทั้งหมด อยู่ที่ไหนไม่รู้ นอกจากนี้สต็อกก็ไม่มี มีตัวกลาง โลกธุรกิจเปลี่ยนไปสรรพากรก็ต้องปรับให้ทัน ที่สำคัญคือกฎหมาย เราเขียนมานานแล้ว ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เช่น e-service ซึ่งได้จัดทำร่างกฎหมายเรียบร้อยแล้ว รอนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และส่งสภา ซึ่งหวังว่าสภาจะพิจารณาเร็ว” ดร.เอกนิติกล่าว

    โครงการ Tax Inspectors Without Borders มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีการช่วยเหลือและสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิคการปฏิบัติงาน พัฒนาประสิทธิภาพด้านการตรวจสอบภาษี ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และเสริมสร้างความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศ โดยการประสานหน่วยงานของประเทศที่มีความพร้อมให้มีการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมโครงการผ่านกระบวนการทำงานร่วมกัน

    คณะกรรมการ TIWB Governing Board มีประธานร่วมคือ เลขาธิการของ OECD และผู้บริหารระดับสูงของ UNDP ประกอบกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่างๆ รวม 12 รายที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการหรือ Governing Board ของโครงการ TIWB เพื่อกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การดำเนินการของ TIWB ให้ข้อเสนอแนะแนวทางและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวข้องกับกิจการและโครงการต่างๆ ของ TIWB ให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

    Governing Board ของ TIWB กรรมการจะมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงสมาชิกจากรัฐบาลของประเทศเจ้าภาพ ประเทศพันธมิตรและ/หรือภาคเอกชน และแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความสนใจการพัฒนาระหว่างประเทศ การคลังและ/หรือการเก็บภาษี

    คณะกรรมการนี้มีเป้าหมายที่จะรักษาความสมดุลระหว่างภูมิภาคและเพศ แต่ละรายมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 3 ปีแต่มีความเป็นได้ที่จะได้รับการต่ออายุ สมาชิกของคณะกรรมการจะไม่ได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ แต่อาจจะมีค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายต่อวันให้กรณีที่ไปเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ

    คณะกรรมการจะประชุมประจำปีหนึ่งครั้ง แต่อาจจะมีการประชุมเพิ่มเพิ่มหากจำเป็น

    TIWB จะช่วยเหลือในด้านการถ่ายทอดความรู้และทักษะการตรวจสอบภาษีให้กับหน่วยงานด้านบริหารภาษีของประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้แนวทาง การเรียนรู้จากการลงมือทำ ผู้ตรวจสอบภาษีที่มีประสบการณ์จะทำงานด้านการตรวจสอบภาษีและประเด็นภาษีระหว่างประเทศควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ด้านภาษีในแต่ละประเทศที่ได้ขอความช่วยเหลือมา ภายใต้โครงการ TIWB ซึ่งจะทำให้มีการแบ่งปันประสบการณ์และทักษะ

    ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือจากTIWB ด้านการตรวจสอบภาษี สามารถยื่นความประสงค์ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการของ TIWB จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมจากเครือข่ายฝ่ายบริหารพันธมิตรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีให้

    โครงการของ TIWB มีความยืดหยุ่นและปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศ ซึ่งครอบคลุ่มการประเมินความเสี่ยงก่อนการตรวจสอบและการคัดเลือกตรวจสอบเป็นรายกรณี เทคนิคในการสืบค้น กรณีที่เกี่ยวข้องกับการที่คู่สัญญาทำธุรกรรมระหว่างกัน โดยกำหนดราคาซื้อ-ขาย สินค้าหรือให้บริการที่แตกต่างไปจากราคาตลาด เป็นต้น