ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คลังเตรียมขึ้นภาษียาสูบ คาดบุหรี่เถื่อนทะลัก-ยอดขายยาเส้นกระฉูด

คลังเตรียมขึ้นภาษียาสูบ คาดบุหรี่เถื่อนทะลัก-ยอดขายยาเส้นกระฉูด

27 กันยายน 2021


คลังชง ครม. ขึ้นภาษียาสูบ-เพิ่มราคาบุหรี่ตลาดล่าง นักวิชาการหวั่นบุหรี่เถื่อนทะลัก แนะรัฐบาลปรับภาษียาเส้นขั้นต่ำ 15%

4 ปี หลังจากที่กรมสรรพสามิตนำระบบภาษีแบบผสมมาใช้ในการจัดเก็บภาษีบุหรี่ โดยกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ เสียภาษีสรรพสามิตทั้งคำนวณจากปริมาณและมูลค่ารวมกัน บุหรี่ไม่ว่าจะมวนเล็กหรือมวนใหญ่ ยี่ห้ออะไรก็ตาม หากนำออกมาขายต้องเสียภาษีตามปริมาณมวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาทก่อน จากนั้นให้ใช้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” ที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งกรมสรรพสามิตมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีตามมูลค่าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมี 2 อัตรา กล่าวคือ ถ้าผู้ประกอบการตั้งราคาขายปลีกซองละ 60 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีที่อัตรา 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ แต่ถ้าตั้งราคาขายต่ำกว่าซองละ 60 บาท เสียภาษี 20% โดยการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว หลังจากนั้นให้ปรับขึ้นภาษีบุหรี่ที่แจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่า 60 บาท จากอัตรา 20% เป็น 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ เพื่อทำให้โครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่เหลือเพียงอัตราเดียว

หลังจากโครงสร้างภาษีบุหรี่มีผลบังคับใช้มาได้ 2 ปี ปรากฏว่าอุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หรือ “โรงงานยาสูบ” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปีงบประมาณ 2560 ยสท. เคยที่มีกำไรสุทธิ 9,343 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลัง 5,173 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 (หลังปรับโครงสร้างภาษี) ยสท. เหลือกำไรสุทธิแค่ 843 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลังแค่ 50 ล้านบาท ทำให้ ยสท. ต้องลดต้นทุนด้วยการไปตัดโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลง 50% ติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปี

โครงสร้างของราคาบุหรี่ที่วางขายตามท้องตลาดแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ตามโครงสร้างภาษีที่มี 2 อัตรา คือ กลุ่มบุหรี่ตลาดล่าง วางขายซองละ 60 บาท กับกลุ่มบุหรี่ตลาดบน ขายซองละ 90-165 บาท ส่วนบุหรี่ที่เคยวางขายกันอยู่ในช่วงราคา 61-89 บาท/ซอง ปัจจุบันไม่มีขายในตลาด ขณะเดียวกันก็เกิดช่องว่างราคาระหว่างบุหรี่ที่ถูกกฎหมายกับสินค้าทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มผู้สูบบุหรี่ตลาดล่างปรับตัว หันไปบริโภคบุหรี่เถื่อนหรือยาเส้นซึ่งมีราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว ครบกำหนด 2 ปี ปรากฏว่ากรมสรรพสามิตประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตลาดล่างเป็น 40% ออกไป 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี ซึ่งกำลังจะครบกำหนดปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตลาดล่างเป็น 40% อีกครั้งในวันที่ 1 เดือนตุลาคม 2564 ตามมติ ครม.

ล่าสุด นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ส่งสรุปแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว คาดว่ากระทรวงการคลังจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันอังคารที่ 28 กันยายน 2564 ก่อนที่โครงสร้างภาษีบุหรี่ตามมติ ครม. เดิมจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยผู้ประกอบการยาสูบคาดการณ์กันว่าจะมีการขึ้นภาษีบุหรี่ตลาดล่างมากกว่า 20% อย่างแน่นอน แต่คงไม่ถึง 40% ของราคาขายปลีก ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาบุหรี่ตลาดล่างมีราคาแพงขึ้นซองละ 6-10 บาท บรรดาผู้ค้าบุหรี่จึงทยอยสั่งซื้อบุหรี่มากักตุนไว้เป็นเดือน เพื่อเตรียมไว้ขายหลังจากที่โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่มีผลบังคับ ขณะที่บุหรี่เถื่อนที่โพสต์ขายกันบนอินเทอร์เน็ตก็มีการปรับราคาขึ้นคอตตอนละ 30-50 บาท (10 ซอง) ด้วยเช่นกัน

การพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งนี้ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยันว่า ต้องตอบโจทย์ใน 4 เรื่อง คือ 1. รายได้รัฐต้องไม่ลดลงต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท 2. ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชน 3. ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท. และเกษตรกรผู้ปลูกใบยามากเกินไป 4. ลดปัญหาการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษี

ก่อน ครม. จะเคาะโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ก็มีเครือข่ายสุขภาพเสนอให้กระทรวงการคลังปรับอัตราภาษีกลุ่มบุหรี่ตลาดล่างให้มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ซองละ 68-70 บาท วันที่ 23 กันยายน 2564 นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ พร้อมตัวแทนชาวไร่ ภาคียาสูบแห่งประเทศไทย จึงไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คัดค้านแนวความคิดของเครือข่ายสุขภาพและเอ็นจีโอที่เสนอให้กระทรวงการคลังขึ้นภาษีบุหรี่ตลาดล่างเพิ่มขึ้นซองละ 8-10 บาท ถือว่าแพงเกินไปในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้น กดดันให้ผู้สูบบุหรี่กลุ่มนี้หันไปบริโภคสินค้าทดแทน เช่น ยาเส้น บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่เถื่อน ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ที่เสียภาษีถูกต้องหลายเท่าตัว และถ้าหากรัฐบาลตัดสินใจปรับขึ้นภาษีบุหรี่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ในที่สุดก็ต้องไปปรับลดโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลงอีก

รวมผลกระทบจากโครงสร้างภาษีใหม่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ ยสท. มีรายได้ลดลงจนแทบไม่มีเงินนำส่งกระทรวงการคลัง รวม 4 ปี รัฐบาลสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไปประมาณ 34,000 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบขาดรายได้กว่า 900 ล้านบาท ทางสหภาพแรงงานการยาสูบและเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมสรรพสามิต พิจารณาผลกระทบต่างๆ ให้รอบด้าน ไม่ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพแต่เพียงด้านเดียว

  • สหภาพยาสูบบุกคลัง ค้านขึ้นภาษีบุหรี่ เฟส 2 ดันราคาเพิ่มซองละ 8-10 บาท
  • โดยก่อนหน้านี้ก็มีนักวิชาการหลายสำนัก เคยจัดทำข้อเสนอแนะส่งให้กรมสรรพสามิตนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่เอาไว้หลายแนวทาง แต่ทุกแนวทางยังคงหลักการจัดเก็บภาษีในรูปแบบผสมเหมือนเดิม (เก็บภาษีตามปริมาณและมูลค่ารวมกัน) โดยแนวทางแรก เสนอให้เลื่อนการจัดเก็บภาษีบุหรี่ตลาดล่างในอัตรา 40% ออกไป ซึ่งแนวทางนี้มีข้อดี ราคาบุหรี่ไม่เพิ่มขึ้น ปัญหาบุหรี่เถื่อนไม่ขยายตัว ข้อเสีย ไม่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ปัญหาเกษตรกรถูกลดโควตารับซื้อใบยาสูบ ไม่ได้รับการแก้ไข เสมือนเป็นการซื้อเวลา

    แนวทางที่ 2 ไม่เลื่อนการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตลาดล่างจาก 20% เป็น 40% ทำให้โครงสร้างภาษีบุหรี่เหลือเพียงอัตราเดียว แนวทางนี้จะทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่เกือบทั้งตลาดปรับตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด อาจเกิดปัญหาบุหรี่เถื่อนตามมา หากไม่มีมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษี อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมยาสูบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และกรมสรรพสามิตด้วย

    แนวทางที่ 3 เสนอให้ยุบรวมอัตราภาษีบุหรี่ตามมูลค่าเหลืออัตราเดียว โดยกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภค จากนั้นให้ทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีตามปริมาณ ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้น ซึ่งแนวทางนี้ ศ. ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ก่อนหน้านี้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ตามหลักการทั้ง 4 ข้อ ของกรมสรรพสามิตมากที่สุด และสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก ที่เสนอให้ใช้รัฐบาลจัดภาษีบุหรี่อัตราเดียว (uniform tax rate), จัดเก็บภาษีตามปริมาณมากกว่ามูลค่า (relying more on specific tax), จัดเก็บภาษีในสินค้าทดแทนที่มีอันตรายเหมือนกันในอัตราที่เท่ากัน (equally taxing substituted tobacco products) และปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้นสอดคล้องกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของรายได้ (frequent increase and inflation adjustment)

    โดย ศ. ดร.อรรถกฤต เสนอให้กรมสรรพสามิตยุบรวมอัตราภาษีบุหรี่ที่เก็บตามมูลค่าให้เหลือเพียงอัตราเดียว แต่ไม่เกิน 30% ของราคาขายปลีกแนะนำ และยังคงเก็บภาษีตามปริมาณต่อไป ยกตัวอย่าง ในช่วงที่โควิดฯ ระบาดอาจกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าที่ 23% ของราคาขายปลีกแนะนำ และเก็บภาษีตามปริมาณมวนละ 1.20 บาท แนวทางนี้จะทำให้ราคาบุหรี่ในตลาดล่างซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดปรับราคาเพิ่มขึ้นซองละ 3-4 บาท

    ข้อดีคือ สนับสนุนนโยบายลดการบริโภคยาสูบ ขณะที่ราคาบุหรี่ไม่แพงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดฯ จนทำให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปบริโภคสินค้าทดแทนเพิ่มขึ้น เช่น บุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่ไฟฟ้า และยังช่วยเพิ่มความหลากหลายด้านราคา แก้ปัญหาผู้ประกอบการลดราคาบุหรี่ลงมาขายแข่งกันที่ซองละ 60 บาท ขณะเดียวกัน กรมสรรพสามิตก็มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการขายใบยาสูบของเกษตรกรและการยาสูบแห่งประเทศไทย ส่วนกลุ่มบุหรี่ตลาดบนตอนนี้เสียภาษีตามมูลค่าที่ 40% ก็จะได้รับอานิสงส์จากการลดภาษีไปด้วย แต่บุหรี่กลุ่มนี้มียอดขายไม่มาก จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก

    โดย ดร.อรรถกฤต กล่าวย้ำว่า “การปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ 23% นั้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงการคลังหรือกรมสรรพสามิตต้องทำตามข้อเสนอของตน การพิจารณากำหนดอัตราภาษีบุหรี่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง อาจกำหนดอัตราภาษีบุหรี่ตามมูลค่าให้สูงกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 30% ของราคาขายปลีกแนะนำ” และหลังจากที่ยุบรวมอัตราภาษีตามมูลค่าเหลืออัตราเดียวแล้ว ให้กระทรวงการคลังทยอยปรับอัตราภาษีตามปริมาณขึ้นไป เพื่อเพิ่มสัดส่วนของอัตราภาษีตามปริมาณต่อภาระภาษีทั้งหมด ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก รวมทั้งทยอยปรับอัตราภาษียาเส้นขึ้นไป เพื่อลดช่องว่างทางภาษีระหว่างบุหรี่สำเร็จรูปกับยาเส้นมวนเอง ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างกันถึง 17 เท่า ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ 1% ควรมีการปรับขึ้นภาษียาเส้นอย่างน้อย 15.3% ไปพร้อมกัน

    แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวว่า สำหรับแนวทางการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิตนั้นมีหลักการใกล้เคียงกับที่นักวิชาการเคยนำเสนอ แต่ยังมีบางส่วนเห็นต่างกัน ตรงข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีบุหรี่ตลาดบน โดยกรมสรรพสามิตเห็นว่าควรจะคงอัตราการจัดเก็บไว้ที่ 40% ของราคาขายปลีกเหมือนเดิม เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการทยอยปรับอัตราภาษีบุหรี่ตลาดล่างขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันกับบุหรี่ตลาดบน ส่วนในเบื้องต้นนั้นจะมีการปรับอัตราภาษีบุหรี่ตลาดล่างจาก 20% ขึ้นมาเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี แต่ถ้าปรับขึ้นภาษีมากเกินไป ก็จะทำให้ผู้สูบบุหรี่หันไปบริโภคสินค้าทดแทน โดยเฉพาะบุหรี่หนีภาษีหรือบุหรี่ปลอมที่ลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนหรือตามแนวชายฝั่งทะเล อย่างในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตร่วมกับกรมศุลกากรและตำรวจน้ำเข้าตรวจค้นเรือที่เข้าจอดเทียบท่าในพื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ยึดของกลางเป็นบุหรี่ต่างประเทศได้ 32,000 ซอง รวมค่าปรับคิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาท บุหรี่หนีภาษีเหล่านี้ หากปล่อยให้หลุดเข้าในประเทศได้ ก็จะนำมาโพสต์ขายตามเว็บไซต์ เพียงแค่คีย์ชื่อยี่ห้อบุหรี่ใน GOOGLE ก็จะพบว่ามีหลายร้านที่เปิดขายกันทางอินเทอร์เน็ต ตกลงราคา จ่ายเงินกันเรียบร้อยก็จะมีการจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ ซึ่งปราบปรามยากกว่าในอดีตที่แอบวางขายกันตามร้านค้า

  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (1): สำรวจตลาดบุหรี่เมืองไทย ทำไมมีแค่ 2 ราคา?
  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (2): 3 ปี ภาษีบุหรี่ 2 อัตรา ใครกระทบบ้าง?
  • รื้อโครงสร้างภาษียาสูบ (3): แนะทางรอดยาสูบ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ