
การท่องเที่ยวกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ปี 2560 ที่ผ่านมาทะลุ 35 ล้านคนหรือมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศไทยไปแล้ว แต่นักท่องเที่ยวมุ่งไปยังเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เกิดการกระจุกตัวของการกระจายรายได้ ทำให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองขึ้น
จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2558 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29.9 ล้านคน คาดว่าก่อให้เกิดรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท ปี 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 32.5 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 1.6 ล้านล้านบาท ปี 2560 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35.4 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 1.8 ล้านล้านบาท และปี 2561 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37.8 ล้านคน ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนไทย 2 ล้านล้านบาท ตัวเลขล่าสุดช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 13.7 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 730,751 ล้านบาท ขยายตัวในเกณฑ์สูงถึง 12.8% เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพัฒน์ฯ ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ย 4.5% ต่อปี
แต่ที่น่าสนใจ หากนำข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเปรียบเทียบกับข้อมูลของ “กลุ่มบริหารการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว” กรมสรรพากร พบว่าปีงบประมาณ 2558 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “VAT REFUND FOR TOURISTS” นำใบเสร็จรับเงิน มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสำนักงานสรรพากรฯ ตามท่าอากาศยานนานาชาติเกือบ 1.3 ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้ซื้อสินค้าไทยคิดเป็นมูลค่าสินค้าตามที่ระบุในใบกำกับภาษี 25,573.9 ล้านบาท เปรียบเทียบกับรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมแล้วมีสัดส่วนไม่ถึง 2%
ปีงบประมาณ 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขอคืน VAT กับกรมสรรพากร 1.5 ล้านคน โดยซื้อสินค้าไทยคิดเป็นมูลค่าสินค้าตามใบกำกับภาษี 27,772.3 ล้านบาท
ปี 2560 นักท่องเที่ยวต่างชาติขอคืน VAT กับกรมสรรพากร 1.8 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้มาซื้อสินค้าไทยคิดเป็นมูลค่าสินค้าตามใบกำกับภาษี 34,356.9 ล้านบาท
ล่าสุด ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (วันที่ 1 ต.ค. 2560 – 30 เม.ย. 2561) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาขอคืน VAT กับกรมสรรพากรเกือบ 1.6 ล้านคน ซื้อสินค้าไทยคิดเป็นมูลค่าสินค้าตามใบกำกับภาษี 31,705.3 ล้านบาท
ปัจจุบันกรมสรรพากรเปิด “สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ให้บริการคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติกระจายตามท่าอากาศยานนานาชาติทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่, อู่ตะเภา, กระบี่ และสมุย
“สุวรรณภูมิ” ขอคืน VAT มากที่สุด 6.9 แสนคน
ท่าอากาศยานที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาขอคืน VAT มากที่สุด 5 อันดับแรก (ช่วงวันที่ 1 ต.ค.2560 – 30 เม.ย. 2561) ได้แก่
- ท่าอากาศสุวรรณภูมิ 690,626 คน
- ท่าอากาศยานดอนเมือง 397,068 คน
- ท่าอากาศยานภูเก็ต 305,424 คน
- ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 61,990 คน
- ท่าอากาศยานกระบี่ 61,339 คน
“แม่ฟ้าหลวง” โต 758%
ท่าอากาศยานที่อัตราการขอคืน VAT สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,343 คน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมี 506 คน เพิ่มขึ้น 758%
- ท่าอากาศยานอู่ตะเภา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขอคืนภาษี 54,394 คน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมี 7,413 คน เพิ่มขึ้น 634%
- ท่าอากาศยานดอนเมือง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขอคืนภาษี 397,068 คน เปรียบเทียบกับปีก่อน 188,457 คน เพิ่มขึ้น 111%
- ท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขอคืนภาษี 1,180 คน เปรียบเทียบกับปีก่อน 593 คน เพิ่มขึ้น 99%
- ท่าอากาศยานกระบี่ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขอคืนภาษี 61,339 คน เปรียบเทียบกับปีก่อน 31,851 คน เพิ่มขึ้น 93%
แยกตามสัญชาติ – จีน ขอคืนภาษี 1.2 ล้านคน ช็อปสินค้าไทย 2.2 หมื่นล้าน
หากแยกตามสัญชาติของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาขอคืน VAT มีจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้
- อันดับ 1 จีน ขอคืนภาษี 1,240,750 คน
- อันดับ 2 รัสเซีย ขอคืนภาษี 29,040 คน
- อันดับ 3 เวียดนาม ขอคืนภาษี 28,411 คน
- อันดับ 4 อินเดีย ขอคืนภาษี 24,309 คน
- อันดับ 5 ไต้หวัน ขอคืนภาษี 21,962 คน
นักท่องเที่ยวต่างชาติ “ช็อปปิ้ง” สินค้าไทย รวมเป็นมูลค่ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- อันดับ 1 จีน นำใบกำกับภาษีมาขอคืน VAT คิดเป็นมูลค่า 22,266 ล้านบาท
- อันดับ 2 เกาหลีใต้ ขอคืน VAT คิดเป็นมูลค่า 717 ล้านบาท
- อันดับ 3 เวียดนาม ขอคืน VAT คิดเป็นมูลค่า 692 ล้านบาท
- อันดับ 4 รัสเซีย ขอคืน VAT คิดเป็นมูลค่า 671 ล้านบาท
- อันดับ 5 อินเดีย ขอคืน VAT คิดเป็นมูลค่า 607 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากร ให้ขายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 1,670 ราย เปิดกิจการร้านค้าและสาขาภายใต้ตราสัญลักษณ์ “VAT REFUND FOR TOURISTS” จำนวน 9,003 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้จากยอดขายเกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ (LTO) 113 ราย เปิดกิจการร้านค้าและสาขาทั้งหมด 3,886 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 43.2% ของจำนวนร้านค้าทั้งหมด ส่วนผู้ประกอบการที่เหลือ 1,557 ราย เป็นกิจการที่มีรายได้จากยอดขายไม่ถึง 2,000 ล้านบาทต่อปี เปิดกิจการร้านค้าและสาขาทั้งหมด 5,117 แห่ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสรรพากรภาคที่ 1-12 คิดเป็นสัดส่วน 56.8% ของจำนวนร้านค้าทั้งหมด
ล่าสุด กรมสรรพากรเตรียมเปิดบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ จุดขายสินค้าภายในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ ตามข้อเสนอของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเพิ่มยอดการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ไม่ต้องไปยืนรอเข้าคิว ขอคืน VAT ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ
หลักเกณฑ์-เงื่อนไข ขอคืน VAT สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จากการที่กรมสรรพากรได้จัดตั้ง “ศูนย์กลางการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว” (ศคท.) หรือ “VAT REFUND FOR TOURIST OFFICE” เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 เปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 กรมสรรพากรได้เปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นแห่งที่ 5 วันที่ 9 ตุลาคม 2545 กรมสรรพากรได้ยกสถานะ “ศูนย์กลางการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว” เป็นกลุ่มงานด้านมาตรฐาน ด้านเทคนิค และด้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมสรรพากร ขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมสรรพากร และเปลี่ยนชื่อ เป็น “กลุ่มงานบริหารการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (คท.)”
วันที่ 15 กันยายน 2549 เปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
วันที่ 23 ธันวาคม 2552 เปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว ณ ท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานสมุย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 เปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว ณ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี
วันที่ 14 กันยายน 2559 เปิดสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ปัจจุบันกรมสรรพากรเปิดสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวตามท่าอากาศยานนานาชาติทั้งหมด 10 แห่ง
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ผู้ประกอบการต้องมายื่นคำร้องขออนุมัติจากกรมสรรพากร หรือยื่นคำร้องผ่าน เว็บไซต์ เพื่อขอเข้าร่วมโครงการ VAT REFUND FOR TOURIST โดยคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ต้องเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วนคุณสมบัติของนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอคืน VAT ต้องไม่เป็นผู้มีสัญชาติไทย, ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย, ไม่เป็นนักบิน หรือลูกเรือของสายการบินที่เดินทางออกนอกประเทศ, เดินทางออกนอกประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ, ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ VAT REFUND FOR TOURISTS คิดเป็นมูลค่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้านค้าดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อวัน
สินค้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีสิทธิขอคืน VAT ต้องไม่ใช่ค่าบริการ, เป็นสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว,นำ สินค้าออกนอกประเทศพร้อมการเดินทางโดยเครื่องบิน ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ซื้อสินค้า, ไม่เป็นสินค้าต้องห้ามนำออกนอกราชอาณาจักร เช่น วัตถุระเบิด อาวุธปืน อัญมณีที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน, สินค้าต้องผ่านการตรวจจากศุลกากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ
และในกรณีที่ซื้อสินค้าราคาแพงที่กรมสรรพากรกำหนด 5 ชนิด ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน, ทองรูปพรรณ, นาฬิกา, แว่นตา, ปากกา แต่ละชิ้นมีมูลค่าเกิน 10,000 บาทขึ้นไป ต้องนำติดตัวผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อนำมาแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรตรวจและประทับตราลงนามกำกับอีกครั้ง
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเขียนคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.10) แต่ละฉบับที่มียอดซื้อสินค้ารวม VAT มีมูลค่าตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ยื่นให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามท่าอากาศยานนานาชาติ 10 แห่ง ทำการตรวจสินค้า ประทับตรา และลงชื่อกำกับที่ด้านล่างมุมขวาของแบบ ภ.พ.10
กรณีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินไม่เกิน 30,000 บาท สามารถเลือกประเภทการคืนได้ ดังนี้
1. ขอคืนเป็นเงินสด (สกุลเงินบาทเท่านั้น)
2. ขอคืนเป็นดราฟต์ โดยระบุสกุลเงินได้ 4 สกุล ได้แก่ US$, EURO, STERLING, YEN หรือ
3. ขอโอนเข้าบัญชีบัตรเครดิต VISA, JBC, MASTERCARD, DINERSแต่ถ้าขอคืนภาษีเกิน 30,000 บาท สามารถเลือกขอคืนเป็นดราฟต์หรือโอนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตตามข้อ 2 และข้อ 3 เท่านั้น
ขั้นตอนการขอคืน VAT สำหรับนักท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวต้องยื่นเอกสารการขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10 และต้นฉบับใบกำกับภาษี) พร้อมนำสินค้าให้เจ้าพนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ประทับตราและลงชื่อวันเดือนปีกำกับไว้ในแบบ ภ.พ.10 มุมขวาล่าง ช่องสำหรับเจ้าพนักงานศุลกากร กรณีสินค้าที่ขอคืนเป็นสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 5 ชนิด ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา แต่ละชิ้นมีมูลค่าเกิน 10,000 บาทขึ้นไป ต้องนำไปให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจอีกครั้ง
สำรองที่นั่งและ Check-in กระเป๋าเดินทาง ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ยื่นเอกสารการขอคืนภาษี และสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 5 ชนิด (ถ้ามี) ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร เพื่อขอรับเงินภาษีคืน