ThaiPublica > คนในข่าว > “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีสรรพากร กับเป้าหมาย “Digital Transformation” ยกระดับบริการ-การจัดเก็บภาษีที่ทั่วถึงและเป็นธรรม

“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีสรรพากร กับเป้าหมาย “Digital Transformation” ยกระดับบริการ-การจัดเก็บภาษีที่ทั่วถึงและเป็นธรรม

19 พฤศจิกายน 2018


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

กรมสรรพากรเป็นกรมที่จัดเก็บรายได้ให้กับประเทศถึง 80% แต่ก็ยังจัดเก็บได้ไม่ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งเสียงบ่นที่มักจะได้ยินบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากยุ่งในการเสียภาษี ถูกเรียกเงิน คืนภาษีช้า ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ว่า “เรื่องเรียกเงินก็พยายามเอาระบบ/เทคโนโลยีเข้าไปจับ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตต้องเข้าไปทำให้เป็นระบบมากขึ้น ระบบรับเรื่องร้องเรียน ปีหนึ่งตั้งกรรมการตรวจสอบเต็มไปหมด มีคณะกรรมการอยู่ แต่ไม่หนักใจ เพราะที่นี่เป็นองค์กรที่โชคดีที่มีระบบ ยังมีคนเก่งอยู่ งานก็สนุก จริงๆ ผมเริ่มรับราชการกับกรมสรรพากร แต่คนไม่ค่อยรู้ อยู่ได้ 1 ปีกว่าก็ย้ายโอน สศค. (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ผมอยู่กรมสรรพากรเขตปทุมวัน เก็บภาษีบริการผู้เสียภาษีเลย ไปในพื้นที่เลย เริ่มต้นที่สรรพากร อาจจะเป็นพรหมลิขิตให้กลับมาอีกครั้ง”

ดร.เอกนิติกล่าวต่อว่า “สิ่งที่กำลังทำตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง พยายามทำความเข้าใจข้อมูลทั้งหมดของกรมฯ คุยกับทุกสำนัก ตอนนี้คุยกันหมดแล้ว ตกผลึกออกมา 2 แนวทาง ปีหน้าเราแยกเดินเป็นโครงการไป จะเป็นปีวางรากฐานเรื่องเทคโนโลยีของกรมฯ ผมคิดว่าเทคโนโลยีมีอีกหลายตัว แต่คิดว่าอยู่ใน 2 กรอบคือทำให้บริการดีขึ้น และการวิเคราะห์มีประสิทธิภาพขึ้น ก็จะแบ่งทีม เช่น ให้ทีมนี้ดูรายอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเติบโตเท่านี้ แล้วทำไมยอดขายโตต่ำกว่าอุตสาหกรรม จะเริ่มตรวจสอบได้ ซึ่งก็เป็นภาพใหญ่ แล้วก็จะมีภาพย่อยที่ทำระบบขึ้นมาลงไปรายธุรกิจ”

กล่าวคือ ภาษีตั้งอยู่บนธุรกรรมของธุรกิจ tax intelligence จะบอกได้ว่าธุรกิจนี้รายได้มาจากไหนบ้าง เสียภาษีครบหรือไม่ จากรายได้ที่ได้มามันเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเชื่อมโยงได้หมดมันจะพอบอกได้ อย่างตัวอย่างของกรมศุลฯ ผู้ประกอบการที่นำเข้ามา ยอดนำเข้าเทียบกับภาษีซื้อตรงกันหรือไม่ เป็นต้น แล้วก็จะเป็นข้อมูลของกรมที่นำไปสู่นโยบายอื่นๆ ได้ด้วย

“มั่นใจว่าระบบถ้ามันเกิดได้หมด เม็ดเงินภาษีจะมากขึ้น เป็นการวางระบบแต่อาจจะไม่ได้รวดเร็ว เราจะทยอยทำอันไหนเสร็จก็ออกมา ผมถึงวางแผนว่าถ้าไปรอเสร็จท้ังหมดมันจะช้า ก็พยายามดึงโครงการที่เป็น quick-win ขึ้นมาทำการบ้านแล้วว่าอันไหนจะออกมาก่อน”

อย่างไรก็ตามในปีหน้า สิ่งที่เป็นเรื่องภายในที่ต้องทำ เช่น คุณธรรม เดิมกรมฯ ทำไว้ดีแล้ว แต่อยากจะเน้นเรื่องภาคปฏิบัติ honesty, accountability, service mind ก็พยายามทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อยากจะขับเคลื่อนตรงนี้ แล้วจะทำเรื่องประสิทธิภาพองค์กร และเรื่องพัฒนาคน พยายามทำหลักสูตร เป็นความท้าทายที่ราชการต้องเจอคือเรื่องสังคมสูงอายุ คนจะเกษียณเยอะมาก องค์ความรู้ก็หลุดไปหมด รีบจะเอาคนเก่งตรงนี้มาสอนในองค์กร เป็นที่มาตอนที่อยู่ใน สศค. ก็ตั้งโรงเรียน สศค. ไปอยู่ที่ สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ก็ตั้งโรงเรียน คนเราเก่งๆ เยอะไปบรรยายข้างนอก ทำไมไม่มาบรรยายกันเอง คือสร้างคนรุ่นใหม่”

ดร.เอกนิติกล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามาแต่คนก็ยังจำเป็น ต้องอัปเกรดให้ทัน ต้องบอกว่าคนที่มีอยู่ 20,000 คน ระบบการทำงานแบบเดิมอย่างไรก็ไม่พอ รายได้ประเทศ 80% มาจากกรมฯ นี้ มีผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดา 11 ล้านคน นิติบุคคล 6 แสน เทียบกันแล้วคนน้อยมาก ทำงานอย่างไรก็ทำไม่ทัน ก็คิดว่าต้องเอาเทคโนโลยีมาช่วยมากขึ้น

ดร.เอกนิติได้กล่าวต่อถึงสิ่งที่ตั้งใจจะทำว่า จากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป เราสามารถใช้โอกาสจากเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพของกรมฯ ได้เยอะ ยกตัวอย่าง ในอดีตการตรวจสอบภาษีใช้คนตรวจ เข้าไปตรวจบัญชีอย่างมากทีหนึ่งได้คนละ 10 กรณี พอใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็จะมาช่วยตรงนี้ได้เยอะ ถามว่ามาช่วยได้อย่างไร ถ้าเป็นแบบเก่าทำมากได้น้อย ตรวจตั้งเยอะออกมาได้ผลนิดเดียว แต่ระบบใหม่ ทำน้อยได้มากคือกรมสรรพากรเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีทั้งหมดกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศุลกากร ที่มีธุรกรรมของธุรกิจการนำเข้าส่งออกซึ่งเป็นต้นน้ำ ขณะที่สรรพากรเป็นปลายน้ำ สามารถเชื่อมโยงยอดการนำเข้าส่งออกมาที่ปลายน้ำอย่างกรมสรรพากรได้ สามารถตรวจสอบว่ามีการส่งออกเทียมหรือไม่ แล้วข้อมูลกรมสรรพากรหลายอันจะเป็นประโยชน์กับกรมศุลกากรเช่นกัน

“เราจะทำระบบนี้ให้เป็น data analytic พอเชื่อมโยงข้อมูล เราจะทำแบบจำลองของเราดูว่าพฤติกรรมของการโกงจะอยู่ในรูปแบบไหนบ้าง เช่น ในรูปแบบสำแดงต่ำกว่าที่เป็นจริงในเรื่องยอดขาย เราสามารถไปตรวจสอบได้กับยอดสินค้าคงคลัง ขายน้อยแต่ทำไมสินค้าไม่เหลือ ตัวเลขเหล่านี้เราจะทำเป็นระบบขึ้นมา จริงๆ ของสรรพากรเราให้ทำข้อมูลภายใน ทำเป็นรายอุตสาหกรรม รายห่วงโซ่การผลิตลักษณะเดียวกัน ของนิติบุคคลก็จะเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ตัวระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อซื้อขายกัน ข้อมูลจะฟ้องยอดซื้อยอดขาย ไล่ย้อนกลับไปหาเงินได้นิติบุคคลได้ หรือกรณีภาษีบุคคลธรรมดา เวลามียอดภาษีหัก ณ ที่จ่าย พอมาจ่ายภาษีปลายปี ภ.ง.ด.90 อาจจะมีคนตั้งใจหรือไม่ตั้งใจยื่นต่ำกว่าข้อเท็จจริง ระบบจะช่วยบอกได้ จะฟ้องทันทีว่ารายงานมาไม่ครบ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นระบบที่บอกว่าทำ ‘น้อยได้มาก’ ตอนนี้เริ่มวางระบบแล้ว เดิมกรมฯ ทำเป็นแบบแมนนวล ทำมือ แต่ต่อไปจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาจับ”

นอกจากนี้เราจะทำ machine learing ให้เรียนรู้พฤติกรรมคนว่า หากมีการทำแบบนี้ เช่น ยอดบัญชีกระทบยอดแบบนี้เป็นสิ่งผิดปกติ ให้มันเรียนรู้ แล้วให้มันเรียนรู้ว่าตัวเลขแบบนี้มันผิดหมด แต่อันนี้คือเป้าหมายที่อยากเห็นในอนาคต

การจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้ต้องมีอันแรกก่อนคือ data analytic จาก big data ที่มี จากกรมศุลกรกร หรือกรมอื่นๆ ในกระทรวงการคลัง เช่น กรมบัญชีกลาง ซึ่งต่อยอดการจ่ายเงินให้กระทรวงอื่นๆ กับเอกชนที่มารับโครงการภาครัฐทั้งหลาย ก็จะเข้ามาสู่ในระบบ ต่อไปจะต้องเชื่อมโยงกับรัฐวิสาหกิจ ไฟฟ้า ประปา ข้อมูลจะสะท้อนว่าที่คุณรายงานยอดการใช้แค่นี้ แต่ทำไมยอดใช้ไฟฟ้ามันสูงแบบนี้ มันทำให้เกิดระบบแยกคนไม่ดีออกมา

“เทคโนโลยีอีกอันที่ตั้งใจจะทำคือเรื่อง digital transformation ความเชื่อผม เราต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีก่อน ก่อนที่จะให้เทคโนโลยีมาปั่นป่วนเรา ผมจะใช้ดิจิทัลมาทำให้บริการเสียภาษีดียิ่งขึ้น คงเห็นประกาศที่ออกไปแล้วว่าไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน หรือความง่ายของระบบบัญชีที่มีแอปพลิเคชันให้เลือก ปีหน้าพยายามจะเปิด open API คือให้มาเชื่อมต่อกับสรรพากร ผมกำลังประสานกับสภาวิชาชีพบัญชี ตอนนี้เขากำลังพัฒนาระบบบัญชีอยู่แล้วให้เชื่อมโยงกับกรมฯ คือระบบบัญชีสรรพากรกับของสภาวิชาชีพบัญชีมันจะต้องมีตัวแปลงให้เชื่อมโยงกัน สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนคือว่าความง่าย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าเขาวุ่นวายกับการขายของของเขาอยู่แล้ว ที่ผมคุยกับผู้ประกอบการคือเขาไปจ้างสำนักงานบัญชี ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทำไปแต่ท้ายที่สุดเจอที่ดีก็ดีไป เจอไม่ดีก็แย่ไป มาถูกกรมฯ ปรับอีก ต้นทุนก็แพงอีก แต่อนาคตหากมีแอปพลิเคชันในการทำบัญชี ผู้ประกอบการก็จะง่ายขึ้น”

กรมสรรพากรเน้นนโยบายบัญชีเดียว ประโยชน์ที่แท้จริงของการทำบัญชีเดียว การขอสินเชื่อก็จะง่ายขึ้น แล้วตอนนี้ก็มีจะแอปพลิเคชันบัญชีทั้งหลายออกมา โอกาสเติบโตก็ไปไกลขึ้น ทางกรมสรรพากรได้หารือสภาวิชาชีพบัญชีในการทำ open platform ที่จะมาช่วยเรื่องนี้ เนื่องจากทุกวันนี้ปัญหาเกิดมาจากระบบ ทั่วโลกเป็นเหมือนกันคือความยุ่งยากในเรื่องภาษี ทุกคนต้องไปหาสำนักงานบัญชี แต่อนาคตถ้ามี open platform พวกนี้จะเข้ามาทำหน้าที่แทน ไม่ใช่ว่านักบัญชีจะหายไป แต่คนที่เก่งคนที่ดีที่จะคงอยู่ ส่วนคนที่แนะนำให้ผู้เสียภาษีโกงระบบ open platform จะมาช่วยตรวจจับ นักบัญชีที่ไม่ดีก็จะถูกรีวิว ที่ดีก็จะถูกรีวิวดีๆ ดังนั้น open platform จะเข้ามาช่วยเอสเอ็มอี

“open platform ก็คิดว่าอยากทำให้ฟรี กำลังพัฒนาอยู่ เอสเอ็มอีเขาอาจจะไม่มีเงินจ้างนักบัญชี แต่ผมก็บอกสำนักงานบัญชีด้วยว่าไม่ต้องกลัว ธุรกิจทุกอย่างต้องถูกปั่นป่วน กรมฯ ยังถูกปั่นป่วน แล้วนักตรวจสอบแบบเดิมก็ต้องไปตรวจสอบที่ลึกขึ้น แต่ว่าสำนักงานบัญชีก็เหมือนหมอ หมอไม่ได้หายไปจากโลก แต่หมอเก่งๆ จะคงอยู่ได้ โลกมันจะซับซ้อนขึ้น นักบัญชีก็ควรสนับสนุนตรงนี้ เขาก็ต้องเรียนรู้ตลอดกับกรมฯ ผมมองเขาเป็นหุ้นส่วนกัน ทำด้วยกัน ด้วยความที่ทั้งโลกมันยุ่งยากทั้งโลก มันมี tax code ทั้งหลาย มันก็ต้องพึ่งสำนักบัญชี”

ดร.เอกนิติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในเรื่อง digital transformation คือลดข้อจำกัดของกระดาษทั้งหลาย สำเนาต่างๆ ก็ออกประกาศไปแล้ว อันที่ทำไปแล้วและจะทำมากขึ้น พวก e ทั้งหลาย e-donation ก็จะสะดวกมากคือค่าลดหย่อนภาษีที่เวลากรอกภาษีต้องคอยมาเก็บใบอนุโมทนาบัตร สแกนกันเมื่อยเลย แถมหายด้วย แต่ตอนนี้มีระบบที่ให้ธนาคารเชื่อมโยงเข้ามาสรรพากรได้เลย ถ้าคนที่ไม่มี open app ที่วัด ที่โรงเรียน เราก็ให้ติดตั้งระบบได้เลย อันนี้ก็จะสะดวกง่ายกับผู้บริจาคไม่ต้องคอยเก็บใบเสร็จ ลดปัญหาการโกง แล้วจะตั้งใจให้เป็นภาคบังคับ แปลว่าคนที่เคยทำบาปเอาใบอนุโมทนาบัตรปลอม ขอให้พระเขียนให้ นอกจากโกงพระแล้วยังมาโกงประเทศ

“ผมจะช่วยให้ไม่ต้องทำบาป ต่อไปจะใช้ไม่ได้แล้ว อีกหน่อยพอคนคุ้นเคย อะไรที่จะมาลดหย่อนก็จะต้องเข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำความสะดวกสบาย หรือเรื่องกองทุนรวม LTF, RMF ต่อไปจะเชื่อมโยงเข้าระบบเลย ไม่ต้องเอาใบเสร็จเลย ประกันบ้าน อะไรพวกนี้ด้วย จะเชื่อมโยงทำเข้าไป บางอันก็หัก ณ ที่จ่ายส่งอยู่แล้ว ต่อไปก็จะข้อมูลเชื่อมโยงกันเลย”

ดร.เอกนิติกล่าวย้ำว่า ฝัน 2 ด้านที่อยากจะเห็นคือ 1. Machine Learning ผมจะทำฐานในปีนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ส่วน 2. เรื่องดิจิทัล ฝันที่อยากจะเห็นคือการเสียภาษีบุคคลธรรมดา คือทำให้มี fill electronic แทนที่จะทำเป็นกระดาษ สามารถส่งแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ความง่ายคือปลายปีมันจะคำนวณภาษีให้เลย แทนที่จะต้องมากรอกเอง ใส่เอกสารเอง ระบบจะดึงข้อมูลมาให้เอง แต่ฝันนี้จะไม่เกิดถ้าไม่มีกฎหมายบังคับ ก็อยากจะได้กฎหมาย e-payment ที่เสนออยู่ จะมีเรื่องที่ช่วยให้เราสามารถหัก ณ ที่จ่ายส่งข้อมูลมาเลย รู้เลยว่าหักแล้วเท่าไหร่ ทั้งนี้ รอสภานติบัญญัติแห่งชาติปรับออกมาอีกที แต่ว่าตรงนี้ถ้าเราทำได้ มันจะเกิดประโยชน์อย่างมาก คนก็แค่ตรวจสอบยืนยันว่าถูกต้องหรือไม่

“ดังนั้น เรื่องใหญ่ๆ จะมีอยู่ 2 เรื่องนี้ เทคโนโลยีเอามาใช้ ต้องเอามาแยกคนดี คนไม่ดี กับเรื่องของการอำนวยความสะดวกการบริการ อีกตัวหนึ่งที่จะทำแนวคิดคือเอาบล็อกเชนเข้ามาใช้ แต่ว่าอันนี้เรื่องคืนภาษีให้นักท่องเที่ยว ตอนนี้ผมว่าเทคโนโลยีมันช่วยให้เร็วขึ้นได้ในการตรวจสอบ มีที่ต่างๆ เช่น นักท่องเที่ยวเข้ามา เราสามารถให้แต่ละแห่งมีข้อมูลในการตรวจสอบว่าซื้อของจริง ตอนนี้มันตรจสอบด้วยการถือกระดาษไปส่ง กรมศุลฯ ก็มี กรมสรรพากรก็มี แต่เทคโนโลยีมันสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่านี่นักท่องเที่ยวจริงและเวลาคืนภาษีก็จะเร็วขึ้น ตั้งใจว่าจะเป็นโครงการแรกที่จะทำเรื่องบล็อกเชน แต่ตัวระบบต้องมาวางอีกที ก็จะช่วยให้การบริการสะดวกรวดเร็วมากขึ้น”

ดร.เอกนิติเล่าถึงการจัดเก็บภาษี e-commerce ว่า “เทคโนโลยีมันเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนมันจะกระทบมาก แต่เรียนตรงๆ ว่ากฎหมายเป็นตัวสำคัญ คือทุกวันนี้บริษัทที่ทำ e-commerce เขาไม่ได้จดทะเบียนเมืองไทย มันบังคับไม่ได้ เป็นสิ่งที่ลำบาก ตอนนี้ต่างชาติศึกษาว่าจะรับมืออย่างไร สิงคโปร์ออกกฎหมาย Thrid Party Information กรมสามารถสั่งได้ว่าคุณต้องส่งข้อมูลยอดขาย ของเราเข้าใจว่ากฎหมายที่เราเสนอไปลักษณะนั้น ก่อนผมจะมาเสนอร่างแรกเข้าไปคือเหมือนสิงคโปร์เลยว่าสามารถบอกได้ว่าข้อมูลนี้ต้องส่งให้กรม แต่พอผ่านกฤษฎีกามาไม่ได้เป็นรูปแบบนั้น เป็นรูปแบบใช้ธุรกรรมของธนาคารแทน เรื่องนี้ยังอยู่ในสภาอยู่”

“ผมคิดว่าเราก็ต้องคิดเทคโนโลยีขึ้นมา ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าไปตรวจจับ ตอนนี้ซื้อขายไม่ต้องมีหน้าร้าน ก็ลำบากจะไปตรวจสอบ มันเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ตรวจสอบไม่ได้ แต่มันกระทบยอดตรวจสอบกันได้ ถ้ามันไปถึงซื้อขายสุดท้ายได้ สมมติคนหนึ่งซื้อของเข้ามา แล้วไปขายต่อ พอเราเชื่อมกับกรมศุลฯ ก็เห็นการนำเข้ามา ก็จะบอกได้แล้ว นำเข้ามาแล้วไปส่งต่อให้ใคร พอไปส่งให้ใครก่อนจะส่งให้ลูกค้า ก็ดูว่าภาษีซื้อภาษีขายตรงกันหรือไม่ เราก็ต้องไปติดตามว่าภาษีซื้อภาษีขายตั้งแต่เข้ามาจนถึงลูกค้าเป็นอย่างไร อาจจะขายออนไลน์อยู่ แต่อีกด้านที่นำเข้า เราก็ตามตรวจสอบได้”

พร้อมย้ำว่า “ไม่ได้ต้องการที่จะไปจับผิด ไล่จับรายเล็กรายน้อย แต่ผมต้องการให้ระบบเป็นธรรม คือคนที่มีร้านค้าเสียภาษีถูกต้องเขาเสียเปรียบคนที่หลบภาษี เพราะฉะนั้น การที่ทำแบบนี้คือความเป็นธรรมเกิดขึ้น ผมไม่ได้ห้ามไม่ให้ใครไปขายออนไลน์ ผมเชื่อว่าระบบที่มันง่าย ผมเชื่อว่าหลายอย่างมันจะช่วยให้คนเข้าสู่ระบบในที่สุด เพราะผมเชื่อว่าคนไม่อยากโกงหรอก แต่วิธีการทำให้ง่ายอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องมีกฎที่แรงด้วย เหมือนคำโบราณว่าต้องเชือดไก่ให้ลิงดู ต้องเอาผิดคนที่ทำผิด ต้องทำให้เห็นว่าถ้าทำดีก็จะไม่เป็นอะไร คงต้องใช้เวลานิดหนึ่ง แต่จะเป็นเรื่องที่เป็นเป้าหมายสำคัญๆ ของผม”