ThaiPublica > เกาะกระแส > “อธิบดีสรรพากร” ออกแบบนโยบายภาษี “เครื่องมือ”ปรับโครงสร้างประเทศรับยุค Disruption (ตอนจบ)

“อธิบดีสรรพากร” ออกแบบนโยบายภาษี “เครื่องมือ”ปรับโครงสร้างประเทศรับยุค Disruption (ตอนจบ)

15 มิถุนายน 2020


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ต่อจากตอนที่1 อธิบดีสรรพากร ชู “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” เพิ่มเงินในมือประชาชนแสนล้าน ฝ่าโควิดฯ (ตอน1)

“เอกนิติ” ยกระดับสรรพากร รับยุค Disruption เข็นมาตรการภาษี จูงใจเอกชนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เล็งแก้ กม.ให้บุคคลธรรมดานำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย – เก็บ VAT แพลตฟอร์มต่างชาติ เดินหน้าคืนภาษีนักท่องเที่ยว

นอกจากการใช้นโยบายภาษีเข้าไปบรรเทาผลกระทบโควิด-19 แล้ว ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรยังดำเนินนโยบายภาษี มุ่งเน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนแนวใหม่ เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “หากประเทศไทยไม่ลงทุนสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ ยังคงใช้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ คงจะแข่งขันกับประเทศอื่นก็ลำบาก”

แต่อย่างไรก็ตาม ภาษีเป็นเพียงเครื่องมือประเภทหนึ่ง แต่เราจะนำมาแก้ปัญหาทุกอย่าง คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมาตรการภาษีมีต้นทุน การที่กรมสรรพากรให้เอกชนหักภาษีได้มากขึ้น น่าหมายถึง กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ (Tax Lost) แต่ก็ต้องยอมเสียบางส่วน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนแนวใหม่ เพิ่มศักยภาพการผลิตและขีดการแข่งขันของประเทศในระยะยาวมากกว่า ซึ่งคนทั่วไปมักจะมองไม่ค่อยเห็น

สิ่งที่กรมสรรพากรพยายามทำ คือ การใช้นโยบายภาษีเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนสมัยใหม่ โดยใช้วิธีเพิ่มแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน ลงทุนระบบ Automation , เทคโนโลยีสมัยใหม่ ,ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และการฝึกอบรมทักษะขั้นสูงให้กับพนักงาน (Reskill) ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถนำมาหักภาษีได้ 2.5 เท่าของที่จ่ายไปจริง

ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้เครื่องมือทางภาษีเป็นแรงจูงใจ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว เราให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย โดยเราก็ยังใช้ Skill คนเดิมอยู่ แต่พยายามเทรนนิ่ง หรือ Reskill ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า “STEM” เข้าไป ค่าใช้จ่ายเหล่านี้นำมาหักภาษีได้มากกว่าปกติ

และเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ กรมสรรพากรร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดทำมาตรการ “Thailand Plus Package” โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Holiday) กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนรายละเอียดนั้น BOI จะเป็นคนดูแล

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรากินบุญเก่า โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นมาได้ มาจากฐานการผลิตที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1980 – 1990 ที่อยู่บริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด โรงงานต่างๆย้ายฐานผลิตมาอยู่บริเวณนั้น แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังล้าสมัย และเรากำลังจะปรับเปลี่ยนให้อุตสาหกรรมบริเวณนั้น พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือ Automation ทั้งในเรื่องบุคลากรและเครื่องจักร”

นี่คือแนวคิดในการออกแบบภาษี เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพยายามสร้างฐานภาษีให้มีความทันสมัย อำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีในระยะปานกลางและระยะยาว โดยการพัฒนาระบบที่เรียกว่า “Digital Transformation” ซึ่งผมเริ่มวางรากฐานมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และยังคงทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น Tax From Home ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบเสียภาษีได้ที่บ้าน ไม่ต้องมาที่กรมสรรพากร รวมทั้ง E-Service ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น E-Registration,E-Filling,E-Payment และ E-Refund เป็นต้น

ถามว่า ทำไมผู้เสียภาษีไม่ยอมยื่นแบบฯผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ ชำระค่าภาษีผ่านบัตรเครดิต นิยมมายื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ คำตอบที่ได้จากผู้เสียภาษี คือ ถ้าจ่ายผ่านธนาคารพาณิชย์จะเสียค่าธรรมเนียมรายการละ 15 บาท กรมสรรพากรจึงหารือกับสมาคมธนาคารไทย ขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ผู้เสียภาษี รวมทั้งพร้อมเพย์ด้วย ซึ่งในขณะนี้ได้รับความนิยมมาก

ปัจจุบันมีผู้เสียภาษี และขอภาษีคืน ผ่านระบบพร้อมเพย์สูงถึง 99% เหตุเพราะเราไปบังคับผู้เสียภาษีในช่วงแรก ซึ่งสรรพากรยอมโดนต่อว่า ถ้าอยากได้เงินภาษีคืนรวดเร็ว ก็ต้องสมัครพร้อมเพย์ แต่ตอนนี้ทุกคนยอมรับว่ามันสะดวกสบายจริง ได้ภาษีคืนรวดเร็วมาก ตอนนี้คืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว 30,000 ล้านบาท

จากนั้นกรมสรรพากรก็ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำระบบพร้อมเพย์ให้กับนิติบุคคล เรียกสั้นๆว่า “นิติบุคคลพร้อมเพย์” หากคืนภาษีในวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ซึ่งปลอดภัยมาก เพราะมันโอนเข้าบัญชีผู้เสียภาษีโดยตรง

นี่คือความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital Transformation

“ถามว่าผมตั้งเป้าหมายในการนำผู้เสียภาษีเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์หรือไม่ ผมตั้งเป้าหมายไว้ทุกตัว อย่าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตอนนี้ใช้พร้อมเพย์แล้ว 99% ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลใช้แค่ 50% ถือว่ายังน้อยอยู่ ผมจึงมอบหมายให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ พยายามไปชักชวนนิติบุคคล ห้างร้านต่าง ๆ ขอคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ เราจะคืนภาษีให้รวดเร็ว เพราะข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ในระบบ ไม่ต้องมาตรวจด้วยกระดาษ หรือ ข้อมูลจะอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้คืนภาษีได้รวมเร็ว”

ถามว่ามีการประเมินผลมาตรการ “เลื่อน-เร่ง-ลด-จูงใจ” หรือไม่ คงต้องมีการประเมินผลแน่นอน แต่สาเหตุที่มาตรการดังกล่าวถูกออกแบบไว้อย่างนี้ เราคาดการณ์ว่าหลังจากรัฐบาลปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ ธุรกิจจะกลับมาเดินได้ตามปกติ อีกด้านหนึ่ง เราก็พยายามดูแลให้มาตรการภาษีทุกอย่างมาสิ้นสุดภายในเดือนกันยายน 2563 เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับฐานะการคลัง อย่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นสุดภายในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเราได้ประสานกับกรมบัญชีกลางและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อยู่ตลอดเวลา

ถามว่าฐานรายได้ของภาคธุรกิจเอกชนในปี 2563 คือฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีหน้า ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บจากการบริโภคทุกเดือน ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้กรมสรรพากรมีกลยุทธ์การจัดเก็บภาษีอย่างไร

ดร.เอกนิติ ยอมรับว่ารายได้ หรือ GDP ในปีนี้ คือฐานภาษีในปีหน้า ส่วนเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในปี 2564 นั้น ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สภาพเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ บริษัท ห้างร้านต่างๆมีทั้งกำไรและขาดทุน แต่ถ้าขาดทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี ก็ต้องยอมรับความจริงว่าการจัดเก็บภาษีคงจะได้รับผลกระทบแน่นอน

แต่สิ่งที่กรมสรรพากรต้องทำในวันนี้ คือ การสร้าง Digital Transformation ขึ้นมา เพื่อใช้ในการขยายฐานภาษี ดึงผู้ที่อยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด เพื่อสร้างความเป็นธรรม

“ยกตัวอย่าง ในสเตปที่ 3 ของกรมสรรพากร คือ เรื่องการขยายฐานภาษี โดยเร่งสร้างระบบ E-Withholding Tax กับ E-Tax Invoice ซึ่งจะเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีที่สำคัญ และทำระบบ Data Analytics ซึ่งผมพยายามทำมาโดยตลอด รวมทั้งพยายามหา Partner มาช่วยด้วยในการขยายฐานภาษี”

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ยอมรับว่าปัจจุบันยังมีคนอยู่นอกระบบภาษีเป็นจำนวนมาก และ มีคนที่โกงภาษีอยู่ด้วย เราจึงต้องพยายามให้บริการกับคนที่อยู่ในระบบให้ดีที่สุด โดยนำระบบ Digital Transform มาใช้ในการคืนภาษีให้เร็วที่สุด

“ที่ผ่านมามีคนที่อยู่ระบบภาษีทำเรื่องร้องเรียนเข้ามาว่า เขาอยู่ในระบบ เสียภาษีตรงไปตรงมา แต่คู่แข่งไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องสร้างความเป็นธรรม มิฉะนั้นคนที่อยู่ในระบบภาษี เขาไม่รู้จะเป็นคนดีไปทำไม ในอดีตเทคโนโลยี อาจจะยังไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้ แต่วันนี้เทคโนโลยีไปไกลมาก นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมต้องมาทำ Data Analytics กับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ภายในกรมสรรพากร เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก ล่าสุดกรมสรรพากรก็เพิ่งจะทำบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี”

ขั้นตอนไป กรมสรรพากรก็จะทำ Data Governance กำหนดนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการบริหารข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ การเข้าถึง และการนำมาใช้งาน อย่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถามว่าทำไมกรมสรรพากรคืนภาษีให้แค่ 95% ของจำนวนผู้ที่ขอคืนภาษีทั้งหมด อีก 5% ทำไมไม่คืนให้ เพราะบางรายมีเจตนาหลบภาษี และอีกส่วนหนึ่งแจ้งรายได้ไม่ครบ แจ้งเพียงแหล่งเดียว ซึ่งอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ Big Data ที่เราไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก ทำให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเห็นข้อมูลรายได้ของผู้เสียภาษีทั้งหมด เราก็แจ้งผู้เสียภาษีไปว่าทำไมไม่นำรายได้ส่วนนี้มายื่นเสียภาษีด้วย เจ้าหน้าที่สรรพากรก็ต้องขอให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเสียงบ่นส่วนใหญ่ที่ว่าคืนภาษีช้า ก็คือคนกลุ่ม 5% นี้ เหตุที่เราทำแบบนี้ได้ เพราะเรามีระบบ Data Analytics

ขณะนี้เรากำลังเร่งพัฒนาระบบ Data Analytics ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา หากทำสำเร็จวางระบบครบสมบูรณ์แบบ กรมสรรพากรจะเห็นข้อมูลของผู้เสียภาษีทั้งหมดว่ามีรายได้จากแหล่งไหน ส่วนไหนหลบเลี่ยง ไม่ได้แจ้ง จริง ๆกรมสรรพากรมีข้อมูลอยู่ในฐานภาษีระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่ไปลงนามกับ DEPA ก็เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลละเอียดลงไปอีก และชัดเจนขึ้น รวมทั้งได้รับการพิสูจน์ยืนยันจากบุคคลที่ 3 ความร่วมมือกับ DEPA ถือเป็นครั้งแรกที่กรมสรรพากรเปิดข้อมูลบางส่วนให้หน่วยงานภายนอก

นำร่อง “วัด”เข้าระบบ E-Donation แล้ว 85%

ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ดำเนินการวางระบบ Digital Transformation และ Data Analytics มาระยะหนึ่ง อย่างเช่นการนำระบบ E-Donation มาใช้ในการบริจาคเงินให้กับวัด ผ่าน QR Code ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้สรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศไปชักชวนให้วัดเข้าระบบ E-Donation ตอนนี้มีวัดเข้าร่วมระบบ E-Donation แล้วประมาณ 85% ของจำนวนวัดทั้งหมด ประชาชนจะบริจาคเงินผ่านตู้รับบริจาคแบบเดิมก็ได้ ไม่บังคับ แต่ถ้าจะหักลดหย่อนภาษีต้องอยู่ในระบบ E-Donation เท่านั้น

ปีนี้ได้มอบหมายให้สรรพากรพื้นที่ไปทำต่อ คือ ไปชักชวนโรงเรียนและโรงพยาบาล เข้าระบบ E-Donation ซึ่งระบบนี้จะช่วยอุดรูรั่วไหล และลดการทำบาปของคนด้วย พูดกันตรง ๆที่ผ่านมา มีบางรายไปขอให้วัดออกใบอนุโมทนาบัตร บางรายก็ไปทำใบอนุโมทนาบัตรมาเขียนเอง ซึ่ง E-Donation นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Transformation ที่เกิดผลเป็นรูปธรรมแล้ว

“ตอนนี้ผมเปิดให้ผู้เสียภาษีสามารถเข้าไปดูข้อมูลภาษีของตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า “My Tax Account” โดยใช้เลขบัตรประจำตัวของตัวเอง เปิดเข้าไปดูได้ว่าเราบริจาคเงินให้กับวัดไปเท่าไหร่ โดยที่คุณไม่ต้องเก็บใบอนุโมทนาบัตรไว้อีก แต่มันจะเก็บไว้ใน E-Donation สามารถเช็คยอดได้ตลอดเวลาระบบหยอดตู้รับบริจาคแบบเดิม คุณตรวจดูไม่ได้”

ขั้นต่อไป กรมสรรพากรจะต้องพยายามวางระบบเข้าไปเชื่อมโยงกับรายการค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเซ็น MOU ไปแล้ว ส่วนบริษัทประกันตอนนี้เชื่อมโยงได้เฉพาะประกันสุขภาพ แต่ประกันชีวิตยากหน่อย เพราะกรมธรรม์ในอดีตเก็บข้อมูลเป็นกระดาษ แต่ในอนาคตก่อนที่จะทำประกันชีวิต ผู้ทำประกันจะต้องเซ็นยินยอมให้บริษัทประกันชีวิตนำข้อมูลส่งกรมสรรพากรได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียภาษีไม่ต้องเก็บเอกสารการชำระค่าเบี้ยประกัน การหักลดหย่อนภาษีจะเป็นแบบอัตโนมัติเหมือนกับวัด

ข้อมูลใน My Tax Account ที่มีอยู่และผู้เสียภาษีสามารถเปิดดูได้ในตอนนี้ คือ ข้อมูล กบข. ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกองทุนต่าง ๆ รวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยด้วย

ลดหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 2% จูงใจยื่นฯผ่านเน็ต-ลดกระดาษ

นายเอกนิติกล่าวต่อว่าแต่ที่สำคัญที่สุด ในเรื่องของการขยายฐานนำคนเข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น คือ E-Withhold Tax กับ Tax E-Tax Invoice ยกตัวอย่าง ระบบ E-Withhold Tax ผมจ่ายเงินให้คุณ 100 บาท ผมต้องหัก 3 บาท นำส่งกรมสรรพากร ทั้งคุณและผมต้องเก็บกระดาษที่จ่ายไป 3 บาท เอาไว้ให้กรมสรรพากรตรวจสอบ แต่ในอนาคตไม่ต้องเก็บเอกสารแล้ว โดยกรมสรรพากรได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว และจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป หลักการคือ กรมสรรพากรจะลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 2% สำหรับผู้ที่จ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบ E-Withhold Tax โดยที่ไม่ต้องเก็บเอกสารไว้รอเจ้าหน้าที่สรรพากรมาตรวจสอบอีกต่อไป แต่จะจ่ายผ่านระบบกระดาษแบบเดิม เสียภาษี 3%และต้องเก็บเอกสารไว้ด้วย ซึ่งผมเตรียมเปิดตัวโครงการนี้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

ส่วนใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Tax Invoice ยากหน่อย ซึ่งผมก็พยายามหาแรงจูงใจช่วยเหลือผู้ประกอบการที่วางระบบนี้ โดยให้นำต้นทุนในการวางระบบมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะให้หักได้เท่าไหร่ และพยายามทำให้ง่ายขึ้น โดยการส่งข้อมูลใบกำกับภาษีและจัดเก็บผ่านทางอีเมล รวมทั้งตั้งทีม Digital RD ภายในกรมสรรพากรหารือกับแบงก์

เตรียมหารือแบงก์ปลดล็อกแฟคตอริ่ง

นอกจากนี้ ในวงการซื้อ-ขายหนี้ทางการค้า หรือ Factoring ใบกำกับภาษีมีค่ามาก แต่ธนาคารไม่เชื่อมั่นว่ามันเป็นใบกำกับภาษีของจริงหรือไม่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรด้วย ยกตัวอย่าง คุณขายสินค้าให้ผม 100 บาท ผมเก็บ 7 บาท นำส่งกรมสรรพากร โดยที่ยังไม่ได้รับเงิน 100 บาทเลย เพราะต้องให้เครดิตแก่ลูกค้า 30- 45 วัน ปรากฏว่าผมขาดสภาพคล่อง อยากได้เงินมาหมุนเวียน ก็เอา Invoice ไปขอกู้แบงก์ แต่แบงก์ไม่ให้กู้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือเปล่า ผมจึงมอบหมายให้ทีม Digital RD หารือกับแบงก์มาช่วยกับวางระบบ E-Tax Invoice โดยให้แบงก์เป็นตัวกลางในการหักนำส่ง VAT แก่กรมสรรพากร แบงก์ก็จะมีข้อมูลลูกค้า สามารถตรวจเช็ดได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีของจริงหรือไม่ ขายสินค้าให้ใคร และลูกค้าเคยนำหนี้การค้าที่จะมาใช้เป็นหลักประกันกู้เงินไปขายลดให้แบงก์ไหนแล้วหรือยัง หากทำระบบนี้สำเร็จต่อไป แบงก์ก็อาจจะแย่งกันปล่อยกู้ลูกค้า

คืน VAT นักท่องเที่ยว ผ่านแอปฯแห่งแรกของโลก

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า “แต่ที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ การนำระบบ Block Chain มาใช้ในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เรียยว่า “VAT Refund for Tourist” ถือเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งผมตั้งใจทำเป็นต้นแบบ แต่บังเอิญมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิดฯ เสียก่อน แต่ตอนนี้วางระบบไว้ทั้งหมดแล้วมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งหมด 60% ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เหลืออีก 40% เป็นรายย่อย หลังผ่านโควิดฯไปแล้วก็จะกลับมาเริ่มกันอีกครั้ง”

ที่ผ่านมาก็มีบริษัทเอกชนต่างประเทศ 2-3 ราย เข้ามาขอเป็นตัวแทนในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว แต่ระบบนี้มันก็ยังช้า และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เวลาเดินทางไปต่างประเทศจะเห็นนักท่องเที่ยวต่อคิวยาว เพื่อกรอบเอกสารขอคืน VAT กรอกเสร็จก็ต้องเตรียมสินค้าให้กรมศุลกากรตรวจสอบ ก่อนผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็ต้องนำเอกสารหย่อนตู้ ถ้าขอคืนภาษีผ่านบัตรเครดิต ก็ต้องส่งมาให้กรมสรรพากรตรวจสอบกว่าจะได้เงินคืนใช้เวลา 2-3 เดือน

กรมสรรพากรจึงนำระบบ Block Chain ใช้เชื่อมโยงข้อมูลกับร้านค้าขนาดใหญ่ ตม.และกรมศุลกากร เวลานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ยื่นพาสปอร์ตข้อมูลการซื้อ-ขายสินค้าและข้อมูลนักท่องเที่ยวจะวิ่งเข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลกลางไปจนถึงผ่านตม.ออกนอกประเทศไปแล้ว ไม่ต้องเขียนเอกสาร ยืนเข้าแถว และก็ไม่ต้องนำเอกสารมาหย่อนตู้ สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และคืนภาษีได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้กรมสรรพากรยังจัดทำโครงการนำร่องที่เรียกว่า “Tax Sanbox” ไว้หลายโครงการ โดยเชิญชวน Start Up มาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สรรพากรเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นให้นำเสนอผลงานประกวดเข้าชิงรางวัล #HACKATAX Thailand’s First Senior-level Hackathon เพื่อตอบโจทย์การให้บริการที่ดีแก่ผู้เสียภาษี กรมสรรพากรได้นวตกรรมและไอเดียการจัดเก็บภาษีใหม่ๆจากผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประมาณ 3-4 ชิ้น กรมสรรพากรนำมาต่อยอด ทำเป็น Sandbox อย่างเช่น เรื่องการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของธุรกิจออนไลน์ ,การจัดทำบัญชีให้กับ SMEs โดยที่ไม่ต้องเก็บเอกสาร ,การจัดทำรายจ่ายต้องห้ามนำมาหักภาษีเป็นระบบดิจิตอล และ การนำระบบ Block Chain มาใช้ในการวางระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดทั้ง Supply chain โดยให้เอกชนมาทำความตกลงกับกรมสรรพากร หากทั้งสายการผลิตเสีย VAT จะได้รับการคืนภาษีอย่างรวดเร็ว

ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีธุรกิจ E-Commerce หลังจากพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) 2562 เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้ได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดส่งข้อมูลการฝากและโอนเงินของลูกค้าที่เกิน 400 รายการ แต่มีมูลค่าเกิน 2 ล้านบาท หรือมียอดฝากและถอนเงินเกินกว่า 3,000 ครั้ง มาให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ต้องขอเรียนว่ามีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องรายงานข้อมูลน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย และรายชื่อที่ธนาคารส่งมา กรมสรรพากรยืนยันว่าไม่ได้ถูกตรวจสอบภาษี ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิด กรมสรรพากรจะมาไปใช้ในการตรวจสอบ ยันกับข้อมูลอื่น ๆ อย่างเช่น ช่วงทอดกฐินมีคนโอนเงินให้คุณ 3,000 ครั้ง หรือ 400 ครั้ง มูลค่าเกิน 2 ล้านบาท ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำเงินที่ได้รับมาเสียภาษีไม่ต้องกลัว เราเอามาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล เพื่อใช้ตรวจยันกับข้อมูลอื่น

เก็บภาษี e-Service “โหลดหนัง-ฟังเพลง” จ่าย 7%

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ประชุม ครม.ก็มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) โดยผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ หรือ แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น การให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์ และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทย ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร เช่นเดียวกับแนวคิดของ OECD ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความง่ายและอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศทำหน้าที่นำส่งภาษีแทน ผ่านระบบบริการจดทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างง่าย (Simplified VAT)

“การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้จากการจัดเก็บ VAT เพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท” ดร.เอกนิติ กล่าว

เตรียมเก็บ VAT สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท

ปัญหาของธุรกิจ E-Commerce ในวันนี้ คือ ผู้ผลิตไทยเสียเปรียบผู้นำเข้า เพราะผู้นำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ผลิตในเมืองไทยต้องเสีย VAT ซึ่งต้องให้เครดิตปลัดกระทรวงการคลังที่มีแนวคิดที่จะให้เก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทด้วย เพื่อให้เกิดคามเป็นธรรมกับผู้ผลิตไทย

ส่วนการจัดเก็บภาษี E-Commerce เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ประเทศชั้นนำอย่าง นิวซีแลนด์ , ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ศึกษาเรื่องนี้มานาน ส่วนของประเทศไทยก็ศึกษาเรื่องนี้มานานเช่นกัน และกำลังจะเสนอที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบเร็วๆนี้ ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ไปหารือกับผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce มาแล้ว ภาคเอกชนบอกว่ายินดีที่จะเสียภาษีให้ถูกต้อง แต่ขอให้ออกเป็นกฎหมาย มีระเบียบชัดเจน เป็นธรรม และง่ายต่อการเสียภาษี ปัญหาคือ ถ้าเราดาวน์โหลดหนังในประเทศ ต้องเสีย VAT แต่ถ้าไปดาวน์โหลดหนังมาจากต่างประเทศ เราจะบังคับให้มาเสีย VAT ได้อย่างไร ซึ่งผมได้หารือกับบริษัทใหญ่ในออสเตรเลีย หรือ สิงค์โปร์ เขายินดีที่จะจ่ายภาษีให้กรมสรรพากร แต่ขอให้เสียภาษีง่ายๆ ซึ่งตอนนี้ผมกำลังให้ทีมกฎหมายกรมสรรพากรศึกษาหาคนกลางมาทำหน้าที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่งกรมสรรพากร

เล็งแก้กม.ให้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายส่งสรรพากร

แต่ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายในปัจจุบัน ผู้ที่จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีนำส่งกรมสรรพากร ทุก ๆครั้งที่จ่ายเงิน ถ้าผู้จ่ายเป็นนิติบุคคลก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าบุคคลธรรมดาก็ไม่ต้องหัก ขณะนี้ผมก็มีแนวคิดและอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนหน้าที่ในการหักภาษีนำส่งกรมสรรพากรใหม่ โดยให้บุคคลธรรมดา หักภาษีนำส่งกรมสรรพากร ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินซื้อบริการ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของกรมสรรพากรบอกว่าทำได้

“จริง ๆเป้าหมายของกรมสรรพากรไม่ได้คิดจะไปไล่เก็บภาษีเอากับรายเล็ก รายน้อย แต่เป้าหมายของเราอยู่ที่รายใหญ่ ถ้ารายย่อยจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการแล้ว หักภาษีนำส่งกรมสรรพากร ผมก็จะมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ โลกของธุรกิจในวันนี้ มันเปลี่ยนไปเร็ว เราก็ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่ หากกฎหมายตามไม่ทัน เราต้องแก้กฎหมาย”

เรื่องปัญหาการจัดเก็บภาษี E-Commerce ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยทีเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาทุกประเทศต้องร่วมมือกัน ประเทศไทยประเทศเดียว คงจะทำอะไรไม่ได้ เช่น อาจจะมีกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ หากกรมสรรพากรไม่มีอำนาจไปขอข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ ก็อาจจะไปขอข้อมูลจากหน่วยงานในประเทศนั้น ๆได้ เป็นต้น

UNDP-OECD แต่งตั้งเป็นบอร์ดคุมตรวจภาษีระหว่างประเทศ

นายเอกนิติเล่าต่อว่า “ช่วงที่ผมเดินทางไปประชุมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ช่วงนั้นก็มีการเปิดรับสมัครผู้ตรวจสอบภาษีระหว่างประเทศ (Tax Inspectors Without Borders : TIWB) เพื่อเข้าไปศึกษาและตรวจสอบภาษีบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจ E-Commerce ใครมีประสบการณ์ทางด้านนี้ก็ขอให้มาช่วยแชร์ประสบการณ์กันหน่อย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิกอยู่ในนั้นด้วย ผมอยากรู้ว่าแต่ละประเทศมีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจ E-Commerce อย่างไร จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิก Tax Inspectors Without Borders ปรากฎว่าผมถูกชักชวนให้เข้ามาเป็นบอร์ดของ UNDP-OECD ร่วมกับกรรมการท่านอื่น ๆ อาทิ อดีตรัฐมนตรีของประเทศแคนาดา,แอฟริกา และเลขาธิการ OECD ผมถามว่าทำไมมาเลือกผม ไม่เลือกตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น หรือ เกาหลี เจ้าหน้าที่ OECD ตอบว่าต้องการคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้าง และจากการติดตามการประชุมในเวทีต่างประเทศเห็นว่าผมแอคทีฟดี จึงเลือกผม บอร์ดชุดนี้เป็นอาสาสมัครไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ มีวาระ 3 ปี และกำลังจะเริ่มประชุมในเดือนตุลาคม 2563”

  • “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” คนแรกเอเชีย นั่ง Governing Board ของ Tax Inspector Without Borders
  • พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่าขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ เมื่อก่อนมีพรมแดน แต่วันนี้ไม่มีพรมแดนแล้ว นับตั้งแต่วันที่ผมเข้ารับตำแหน่งที่ ผมก็พยายามยกระดับกรมสรรพากร อย่าคิดว่าเราไม่ถูก disrupt ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิดฯ ยิ่งถูก disruptหนักขึ้น หากไม่เตรียมตัวไว้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว วันนี้คงจะตามไม่ทัน