ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 3: สหภาพฯ ค้านจ้างเอกชนเดินรถ

แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 3: สหภาพฯ ค้านจ้างเอกชนเดินรถ

23 พฤษภาคม 2022


สหภาพฯ ค้านจ้างเอกชนเดินรถโดยสาร 2 ปี 400 คัน กางรายได้ ขสมก. 8 เขต เก็บค่าโดยสาร-ค่าโฆษณา-อื่นๆ รวม 7 ล้านบาท/วัน เฉลี่ยคัน 2,489 บาท/วัน ถามคมนาคม-ขสมก. เอาเงินที่ไหน จ่ายค่าจ้างเอกชนวันละ 6,000 บาทต่อคัน

หลังจากที่ประชุม ครม. ตีกลับแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ “ขสมก.” ฉบับที่มีการปรับปรุงใหม่ ตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ขสมก. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่ส่วนที่เหลือ ทั้งวิธีการเช่ารถโดยสาร 2,511 คัน หรือ จ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คันแต่อย่างใด

จนกระทั่งมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ก็มีมติเห็นชอบให้ ขสมก. ดำเนินการจัดหารถใหม่จำนวน 400 คัน โดยใช้วิธีจ้างเหมาเอกชนเดินรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า เฟสแรก จำนวน 224 คัน เป็นระยะเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี กำหนดวงเงินในการจ้างเหมาเอาไว้เกือบ 954 ล้านบาท (ราคากลาง) โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญๆ คือ รถที่จะนำมาวิ่งในเส้นทางที่ ขสมก. ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ต้องเป็นรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าที่ประกอบและใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่า โดยให้นับรวมค่าประกอบและค่าดำเนินการต่างๆ ด้วย คาดว่าจะประกาศประกวดราคา (TOR) ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 1: ยิ่งแก้ ยิ่งขาดทุน
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 2: ฟื้นฟูกิจการ (แบบปลอมๆ)
  • ขสมก. เปิดเส้นทางใหม่ สาย 2-36 “ไทรน้อย-ศูนย์ราชการฯ” เริ่มวันนี้
  • บขส. เตรียมชงบอร์ดฯ เคาะจัดหารถโดยสารไฟฟ้า มิ.ย. นี้
  • สหภาพฯ คัดค้านจ้างเอกชนเดินรถ 2 ปี 400 คัน

    หลังจากเรื่องนี้กลายเป็นกระแสข่าวขึ้นมา วันที่ 18 เมษายน 2565 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดด้าน ไม่เห็นด้วยกับกรณี ขสมก. จ้างเอกชนเดินรถ 400 คัน จ่ายค่าจ้างแบบเหมาวันละ 6,000 บาทต่อคัน จึงมีคำถามตามมาหลายประเด็น เช่น ขสมก. จะหาเงินจากไหนมาจ่ายให้เอกชน, ทำไมรัฐบาลไม่จัดหารถใหม่ 400 คัน มาให้ ขสมก. เดินรถเอง และทำไม ขสมก. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่เห็นชอบให้ ขสมก. จัดหารถใหม่มาทดแทนรถเก่าจำนวน 3,000 คัน ทั้งที่มติ ครม. ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ วันที่ 20 เมษายน 2565 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จึงไปยื่นหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม (คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง)

    แถลงการณ์สหภาพแรงงาน ขสมก. คัดค้านจ้างเหมาเอกชนเดินรถ 400 คัน

    สหภาพแรงงาน ขสมก. หารือที่ปรึกษา รมว.คมนาคม

    จี้ รมว.คมนาคมจัดหารถใหม่ 3,000 คัน ตามมติ ครม. ปี ’62

    จากนั้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. จึงรวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยให้ ขสมก. จัดหารถใหม่จำนวน 3,000 คัน ซึ่งผลจากการที่ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว ทำให้ ขสมก. ต้องสูญเสียเส้นทางการเดินรถไปให้เอกชน 28 เส้นทาง เพราะไม่มีรถใหม่มาบรรจุ ตามเงื่อนไขของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่ง ต้องนำรถใหม่มาบรรจุเข้าเส้นทางที่ได้รับอนุญาตไม่น้อยกว่า 30% ภายใน 1 ปี ทาง สร.ขสมก. จึงขอให้กรมการขนส่งทางบกชะลอการบังคับใช้ประกาศกำหนดดังกล่าวออกไป

    นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก. )

    ชี้แจงเหตุผล-ทำไมต้องจ้างเอกชนเดินรถ

    วันพรุ่งขึ้น นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชี้แจงถึงความจำเป็นในการจัดหารถใหม่ โดยวิธีการจ้างเหมาเอกชนเดินรถ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ ขสมก. ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม, ไม่ต้องกู้เงิน และไม่เป็นภาระงบประมาณ แต่ถ้าใช้วิธีการซื้อรถหรือเช่ารถ ต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณ และใช้เวลาการพิจารณาอนุมัตินาน อาจทำให้ ขสมก. บรรจุรถใหม่เข้าในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตไม่ทัน และเสียสิทธิการเดินรถในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก

    จ้างเอกชนวันละ 6,000 บาท/คัน เอาเงินจากไหน

    ส่วนประเด็นที่สหภาพฯ ถามว่า ขสมก. จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าจ้างให้เอกชนเดินรถวันละ 6,000 บาทต่อคัน ผู้อำนวยการ ขสมก. ชี้แจงว่ามาจาก 3 ส่วน คือ รายได้จากค่าโดยสาร, ส่วนต่างค่าน้ำมันเชื้อเพลิงกับพลังงานสะอาด และค่าซ่อมบำรุงที่ลดลง เชื่อว่าเพียงพอที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าจ้าง โดยเอกชนจะเป็นผู้จัดหารถใหม่พร้อมพนักงานขับรถ รับผิดชอบค่าจ้างพนักงาน, ค่าเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุง และถ้าทำไม่ได้ก็ถูกปรับ

    ยกตัวอย่าง รถโดยสารธรรมดาสีครีม-แดงมีค่าน้ำมันดีเซลเฉลี่ยวันละ 2,600 บาทต่อคัน ค่าซ่อมบำรุงเฉลี่ยวันละ 1,400 บาทต่อคัน และค่าจ้างพนักงานทั้งคนขับ และพนักงานเก็บเงินวันละ 3,000 บาทต่อคัน รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 6,000 บาทต่อคัน หากพิจารณาต้นทุนน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.50 ต่อกิโลเมตร เชื่อว่าการจ้างเหมาเอกชนเดินรถจะทำให้ ขสมก. ลดต้นทุนและลดปัญหาขาดทุนได้

    จากคำชี้แจงของผู้อำนวยการ ขสมก. ก็มีแหล่งข่าวจาก ขสมก. ออกมาตั้งคำถามต่อว่า ทำไมผู้อำนวยการ ขสมก. ยกตัวอย่างรถโดยสารสีครีม-แดงที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมาเปรียบเทียบกับรถโดยสารไฟฟ้า หรือ “รถ EV” ทำไมไม่นำมาเปรียบเทียบกับรถโดยสาร NGV ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดเหมือนกัน ราคาตัวรถ NGV ก็ถูกกว่ารถ EV ถึง 2 เท่า ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า รถโดยสาร NGV วิ่งในระยะทาง 300 กิโลเมตรขึ้นไปมีค่าเชื้อเพลิงวันละ 1,800 บาทต่อคัน แต่ถ้าวิ่งแค่ 200 กิโลเมตร ค่าเชื้อเพลิงจะลดลงมาเหลือ 1,400 บาทต่อคัน ส่วนค่าซ่อมบำรุงวันละ 900 บาท เป็นค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ ไส้กรอง ผ้าเบรก และยางรถ ถามว่ารถ EV วิ่งทั้งวันทั้งคืนต้องเปลี่ยนผ้าเบรก ยางรถ และครบ 5 ปี ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือไม่ ทำไมไม่เอามารวมด้วย

    และที่สำคัญการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) จะยอมลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.50 บาทต่อ KWH ให้กับเอกชนที่มารับจ้าง ขสมก. เดินรถ หรือไม่ รถโดยสาร 1 คัน ถ้าอัดประจุไฟฟ้าเต็ม เฉลี่ยคันละประมาณ 300 KW/H คูณ 224 คัน จะมีขนาดใกล้เคียงกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้า ยูนิตละ 6-7 บาทใช่หรือไม่

    กางข้อมูลรถเมล์ 1 คัน มีรายได้ 2,489 บาท เอาเงินที่ไหนจ่าย 6,000 บาท?

    และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันทยอยเปิดให้บริการจนเกือบจะเต็มรูปแบบ ทั้งรถโดยสาร, รถตู้, เรือ, รถไฟชานเมือง และรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ส่งผลทำให้ปริมาณผู้โดยสารของ ขสมก. มีแนวโน้มลดลง หากไปดูข้อมูลรายได้ของ ขสมก. ณ วันที่ 27 เมษายน 2565 พบว่า ขสมก. มีรายได้จากค่าโดยสารและค่าโฆษณารวมทั้ง 8 เขต มีรายได้ประมาณ 7,082,036 บาท หรือ เฉลี่ยต่อคันอยู่ที่ 2,489 บาท เท่านั้น หากต้องจ่ายค่าจ้างเหมาเอกชนเดินรถวันละ 6,000 บาทคัน ส่วนต่างกว่า 3,000 บาท ขสมก. จะไปหาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เอกชน เป็นประเด็นที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ถามผู้บริหารของ ขสมก. ก่อนหน้านี้

    ชี้กำหนดเวลาจ้าง 2 ปี ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง

    ประเด็นสุดท้าย แหล่งข่าวจาก ขสมก. กล่าวว่า เป็นเรื่องระยะเวลาในการจ้างเหมาเอกชนเดินรถ กำหนดเอาไว้แค่ 2 ปีนั้น ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทั้งในแง่จุดคุ้มทุนของเอกชน และอายุใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งของ ขสมก. ที่มีระยะเวลา 7 ปี ยกตัวอย่าง เอกชนที่เข้ามารับงานนี้ลงทุนซื้อรถไฟฟ้าคันละ 7-8 ล้านบาท (ยังไม่นับค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า ค่าเช่าอู่จอดรถและอื่นๆ) แต่มีรายได้ค่าจ้างเดินรถ วันละ 6,000 บาท/คัน ใน 1 ปี มี 365 วัน หักวันหยุดซ่อมบำรุงหรือพักรถ 5 วัน คิดแค่ 360 วัน รถโดยสารไฟฟ้า 1 คัน จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการคันละ 2.16 ล้านบาทต่อปี ถ้า ขสมก.จ้าง 2 ปี ผู้ประกอบการจะมีรายได้จากค่าจ้างเหมาเดินรถ คันละ 4.32 ล้านบาท ได้เงินที่ลงทุนซื้อรถโดยสารไฟฟ้ามาแค่ครึ่งเดียว ขณะที่ใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งมีอายุ 7 ปี แต่ ขสมก. กำหนดระยะเวลาการจ้างแค่ 2 ปี ระยะเวลาที่เหลืออีก 5 ปี ทำอย่างไร ขสมก.จะต่อสัญญาจ้างเอกชนเดินรถต่อไป หรือ เปิดประมูลใหม่ ก็ควรกำหนดไว้ใน TOR ให้ชัดเจน จะได้ไม่มีปัญหาข้อพิพาทตามมาในอนาคต….