ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์สร้าง-ซุกหนี้ไว้เท่าไหร่

8 ปี รัฐบาลประยุทธ์สร้าง-ซุกหนี้ไว้เท่าไหร่

3 กรกฎาคม 2022


8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ สร้าง-ซุกหนี้ไว้เท่าไหร่ เปิดหนี้นโยบายรัฐ-กองทุนน้ำมันฯ ค้างจ่ายเงินอุดหนุนราคาน้ำมัน-แก๊สกว่า 120,000 ล้านบาท — กฟผ. แบกรับค่าไฟแทน ปชช. 109,000 ล้านบาท — กปว.อ่วม “เจอ-จ่าย-จบ” อีก 60,000 ล้านบาท – แบงก์รัฐ-รฟท.-ขสมก. เข้าคิวรอรัฐบาลจัดงบฯ ใช้หนี้กว่า 1 ล้านล้านบาท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังไม่ทันจะคลี่คลาย ก็มาเจอสงครามรัสเซียกับยูเครน จนกลายเป็นปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วยาวต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้ม หรือ “LPG” คู่ขนานไปกับการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยครั้งแรกลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 คาดว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้ไปประมาณ 17,100 ล้านบาท ตั้งเป้าดึงราคาตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท ปรากฏว่าเอาไม่อยู่ ต้องขยับเป้าดึงราคาดีเซลขึ้นเป็นลิตรละ 35 บาท ตามมาด้วยการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลครั้งที่ 2 เพิ่มเป็นลิตรละ 5 บาท เริ่มวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ตั้งเป้าตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาท คาดว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้อีก 20,000 ล้านบาท

กองทุนน้ำมันฯค้างจ่ายเงินอุดหนุน “น้ำมัน-แก๊ส” 1.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนจากการที่ราคาสินค้าและค่าขนส่งปรับราคาขึ้นยกแผง จนทำให้สถานะทางการเงินของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” อยู่ในอาการบักโกรก ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีหนี้สินเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยติดค้างจ่ายเงินชดเชยราคาพลังงานให้กับบริษัทผู้ค้าน้ำมัน และแก๊สหุงต้ม หรือ “LPG” เป็นวงเงินรวมกว่า 120,976 ล้านบาท หักลบกับรายได้ที่มีอยู่ 18,930 ล้านบาท ทำให้ฐานะของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 102,586 ล้านบาท

ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อมานาน และส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเกิดความผันผวนจะยุติลงเมื่อไหร่ ล่าสุด มีผู้บริหารของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2565 ว่าน่าจะยืนอยู่ที่ระดับสูงประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล บวกลบ คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 103-104 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

แบงก์เมินปล่อยกู้กองทุนน้ำมันฯ

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำมันแพงของรัฐบาลในเบื้องต้น ใช้วิธีขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันให้ช่วยนำส่งกำไรส่วนเกินเข้ามาช่วยอุดหนุนราคาพลังงาน โดยความสมัครใจเป็นเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงพลังงานก็พยายามหาทางเคลียร์หนี้สินของกองทุนน้ำมันฯ กว่า 120,000 ล้านบาท แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ ตั้งแต่ที่ประชุม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติขยายกรอบวงเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถกู้ยืมเงินได้ภายใต้วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีสถาบันการเงินแห่งไหนปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 ระบุว่า “ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดกู้เงินโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นหรือกฎหมายอื่นใด โดยมิใช่เป็นการกู้เงินจากกระทรวงการคลัง ห้ามมิให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐเข้ารับผิดชอบ หรือค้ำประกันหนี้นั้น หรือตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยกู้ดังกล่าว … ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับการกู้เงินของหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐด้วยโดยอนุโลม

สรุปก็คือ ห้ามรัฐบาลค้ำประกันหนี้และตั้งงบประมาณมาชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องกู้เงินเอง โดยมีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทำหน้าที่จัดหาแหล่งเงินกู้ให้ หากไปดูกระแสเงินสดของกองทุนน้ำมันฯ ปี 2564 มีรายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนประมาณ 29,307 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็มีรายจ่ายในการนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมัน แก๊สหุงต้ม และค่าบริหารจัดการทั่วไปประมาณ 48,288 ล้านบาท

พูดง่ายๆ คือ ขาดทุน หาเงินมาได้เท่าไหร่ก็จ่ายออกไปหมด ไม่พอก็กู้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ หรือเข้าไปรับภาระหนี้จากกองทุนน้ำมันแทนบริษัทผู้ค้าน้ำมันนั่นเอง

เตรียมขึ้นค่าไฟ ช่วย กฟผ. ลดภาระหนี้แสนล้าน

ปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยังส่งผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตาม ประกอบกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยปรับตัวลดลงเกินความคาดหมาย ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศในราคา spot LNG ซึ่งมีราคาแพงกว่าราคา pool gas มาใช้แทน ทำให้ต้นทุนค่าการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า “ค่า Ft” คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้เรียกเก็บค่า Ft ขายปลีกในอัตราคงที่ 15.32 สตางค์ต่อหน่วยตลอดทั้งปี 2564

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ตามนโยบายของรัฐบาล ช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปี 2564 กฟผ. ต้องเข้าไปรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนประมาณ 35,000 ล้านบาท จากนั้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2565 ราคาค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้ายังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก ทำให้ กฟผ. ต้องแบบรับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้ารวมแล้ว 83,000 ล้านบาท ทาง กฟผ. จึงจำเป็นต้องทำเรื่องเสนอ ครม. อนุมัติขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องในปี 2565-2567 ในวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการจัดหาเชื้อเพลิงมาใช้ผลิตไฟฟ้า และรับซื้อกระแสไฟฟ้า

จากปัญหาตามที่กล่าวข้างต้นนี้ หาก กกพ. ยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงภายในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่า กฟผ. ต้องแบกรับภาระแทนประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 109,000 ล้านบาท ล่าสุด เลขาธิการ กกพ. ได้ออกมาสัมภาษณ์ว่าเตรียมข้อมูลเสนอที่ประชุมบอร์ดฯ ให้พิจารณาปรับขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากประชาชนอยู่ที่หน่วยละ 4 บาท

ผลกระทบจากปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติครั้งนี้ คาดว่าประชาชนคนไทยคงต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมัน แก๊ส และค่าไฟแพงไปอีกนาน จนกว่ากองทุนน้ำมัน และ กฟผ. จะเคลียร์หนี้จบ

กปว. อ่วมแบกหนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” กว่า 6 หมื่นล้าน

นอกจากวิกฤติพลังงานแล้ว ช่วงโควิดฯ ระลอกใหม่ระบาดอย่างหนักในปี 2564 ปรากฏว่ามีลูกค้าที่ซื้อประกันภัยโควิด แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ขอเคลมค่าสินไหมกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้บริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง อันได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุน ถูกคณะกรรมการ คปภ. สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการประกันวินาศภัยจนต้องปิดกิจการลง กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่โผล่ขึ้นมาอีกก้อน

ตัวเลขของมูลหนี้ทั้งหมดในขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ต้องรอกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้ชำระบัญชี ปิดรับคำร้องจากเจ้าหนี้และผู้ที่ทำประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทอาคเนย์ฯ และบริษัท ไทยประกันฯ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ในเบื้องต้นนั้นมีเจ้าหนี้มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้แล้วกว่า 7 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนประกันวินาศภัยมีเงินสะสมเหลืออยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาท

ปัญหาคือ ระหว่างที่รอเงินจากกระบวนการชำระบัญชี ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน ถามว่ากองทุนประกันวินาศภัยจะหาเงินจากไหนมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ที่กำลังเดือดร้อน และต้องการใช้เงินด่วนภายใต้กรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นอกจากกู้

หากย้อนกลับไปดูสถานะของกองทุนประกันวินาศภัย จะพบว่ากองทุนประกันวินาศภัยมีฐานะไม่ต่างจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือ เป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 มาตรา 19 ระบุว่า ห้ามไม่ให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นใด เข้าไปรับผิดชอบหรือค้ำประกันหนี้ หรือตั้งงบประมาณรายจ่ายมาชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ภาระทั้งหมดจึงอยู่กับกองทุนประกันวินาศภัยที่จะต้องดำเนินการกู้ยืมเงินเอง โดยมีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ให้

เล็งเสนอคลังเพิ่มเงินนำส่งกองทุนชนเพดาน 0.5%

ถามว่ากองทุนประกันวินภัยมีขีดความสามารถในการชำระหนี้ หากย้อนกลับไปดูรายงานงบการเงินของกองทุนฯ ปี 2564 จะพบว่า กองทุนประกันวินาศภัยมีรายได้หลักจากการเรียกเก็บเงินกับบริษัทประกันวินาศภัยในอัตรา 0.25% ของเบี้ยประกันภัย เมื่อนำมารวมกับรายได้อื่นๆ แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีกำไรเหลือประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี หากกองทุนประกันวินาศภัยทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอความเห็นชอบปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งกองทุนเต็มเพดาน 0.5% ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 มาตรา 80/3 ก็จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว สามารถชำระหนี้คืนได้เร็วขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติอาจใช้วิธีการทยอยกู้ตามความจำเป็นในระหว่างที่รอเงินที่จะได้รับจากการชำระบัญชี ไม่ได้กู้ทีเดียวเต็มจำนวน 60,000 ล้านบาท มากองไว้ให้เสียดอกเบี้ย

เปิดข้อมูลซุกหนี้ประชานิยมกว่า 1 ล้านล้านบาท

นอกจากหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติซ้อนวิกฤติแล้ว ยังมีหนี้นโยบายรัฐทั้งที่เป็นหนี้เก่าและใหม่ เข้าคิวรอรัฐบาลตั้งงบประมาณมาชำระหนี้อีกกว่า 1 ล้านล้านบาท จากข้อมูลที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ให้ไว้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 พบว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 รัฐบาลมีหนี้ที่ยังไม่ได้จ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนที่เป็นการชดเชยค่าใช้จ่าย หรือรายได้ที่สูญเสียจากการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่างๆ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 1,059,429.1 ล้านบาท โดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลติดค้างหนี้ไว้มากที่สุดมีดังต่อไปนี้

อันดับที่ 1 คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีหนี้ที่รอรัฐบาลตั้งงบประมาณมาจ่ายชดเชย 883,826.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 83.42% ของภาระหนี้คงค้างทั้งหมด หากไปดู รายงานงบการเงินของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2564 (ณ 31 มีนาคม 2565) พบว่ายังมีหนี้ที่เกิดจากการดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2551, ปีการผลิค 2552, ปีการผลิต 2554/2555, ปีการผลิต 2555/25556 และปีการผลิต 2556/2557 ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ตั้งงบประมาณมาชดเชยค้างอยู่ประมาณ 296,710.69 ล้านบาท ซึ่งหนี้ก้อนนี้ ธ.ก.ส. ใช้วิธีการบริหารหนี้ โดยใช้เงินของ ธ.ก.ส. เอง 89,828.07 ล้านบาท และกู้ยืมเงินจากสถานบันการเงินอื่นมาหมุน โดยมีรัฐบาลรับภาระในการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยอีกเป็นจำนวน 206,882.62 ล้านบาท

อันดับที่ 2 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ค้างจ่ายอยู่ 97,829.70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.23% ของหนี้คงค้างทั้งหมด, อันดับที่ 3 ธนาคารออมสิน ค้างจ่าย 57,740.30 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.45% ของหนี้คงค้างทั้งหมด, อันดับที่ 4 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ค้างจ่าย 6,176.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.58% ของหนี้คงค้างทั้งหมด, อันดับที่ 5 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ค้างจ่าย 4,744.30 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.45% ของหนี้คงค้างทั้งหมด, อันดับที่ 6 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ค้างจ่าย 4,722.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.45% ของหนี้คงค้างทั้งหมด, อันดับที่ 7 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ค้างจ่าย 2,981.30 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.28% ของหนี้คงค้างทั้งหมด, อันดับที่ 8 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ค้างจ่าย 925.70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.09% ของหนี้คงค้างทั้งหมด และอันดับที่ 9 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ค้างจ่าย 493.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.05%

โดยภาระหนี้ทั้งหมดอยู่ในไปป์ไลน์ รอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาจ่ายชดเชย ส่วนหนี้ที่ยังตกค้างอยู่ที่ รฟท. และ ขสมก. อีกแห่งละแสนกว่าล้านบาท ขณะนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ยังไม่ได้นำมาบรรจุอยู่ในไปป์ไลน์รอรัฐบาลจัดสรรงบมาชดเชย

ส่วนภาพนี้ คือ ผลการจัดสรรงบอุดหนุน และงบชดเชยไปให้กับรัฐวิสาหกิจทั้ง 9 แห่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ 2566 (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566) รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณให้ ธ.ก.ส. รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 84,508 ล้านบาท, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 7,111 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 8,256 ล้านบาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 719 ล้านบาท, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 278 ล้านบาท, การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับงบอุดหนุนค่าโดยสาร 22,727 ล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้งบอุดหนุน 4,074 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 90 ล้านบาท ส่วนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยปีนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล

สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มียอดคงค้างอยู่ที่ 10,046,605 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.81% ของ GDP แบ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงประมาณ 8,204,351 ล้านบาท, หนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถานบันการเงินที่รัฐบาลเข้าไปรับผิดชอบ 685,004 ล้านบาท, หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 896,684 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน โดยรัฐบาลค้ำประกัน 253,847 ล้านบาท และหนี้ที่ค้างอยู่ตามหน่วยงานของรัฐ 6,718 ล้านบาท

หากจำแนกยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด 10 ล้านล้านบาท จะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวประมาณ 8,568,078 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85.28% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และระยะสั้นประมาณ 1,478,527 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.72% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และถ้าแยกตามประเภทของหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศมียอดรวมประมาณ 9,872,209 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 98.26% ของยอดหนี้ทั้งหมด และหนี้ต่างประเทศประมาณ 174,396 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.74%

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะส่วนใหญ่ประมาณ 80% เกิดจากดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุลงบประมาณ เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และยกระดับการพัฒนาของประเทศ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่สาเหตุที่มีการเร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อีก 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเยียวทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างเร่งด่วน ทำให้ในปีงบประมาณ 2565 จึงมีหนี้สาธารณะที่ครบกำหนดประมาณ 1,502,456 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1,042,811 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 69.41% ของหนี้ที่ครบกำหนดชำระทั้งหมด, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินและรัฐบาลค้ำประกัน 280,978 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.70% ของหนี้ที่ครบกำหนดชำระ, หนี้รัฐวิสาหกิจ 122,561 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.16% หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูฯ 55,080 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.67% และหนี้ของหน่วยงานรัฐอีก 1,025% คิดเป็นสัดส่วน 0.07% ของหนี้ที่ครบกำหนด ซึ่งทั้งหมดก็คงต้องใช้วิธีการโรลโอเวอร์หนี้กันต่อไป

ส่วนผลการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น ณ วันที่ 17 มีนาคม 2565 มีโครงการที่ขอใช้เงินกู้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุม ครม. ไปแล้ว 1,118 โครงการ ภายใต้วงเงินรวม 982,373 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ที่ ครม. ยังไม่ได้อนุมัติอีก 17,627 ล้านบาท โดยโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้วได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้ไปประมาณ 947,019 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 96.40% ของกรอบวงเงินกู้ที่ ครม. อนุมัติ

สำหรับผลการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาทนั้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ก็มีโครงการที่ขอใช้เงินกู้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุม ครม. แล้ว 67 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงิน 425,714 ล้านบาท คงเหลือกรอบวงเงินกู้ที่ ครม. ยังไม่อนุมัติอยู่อีก 74,286 ล้านบาท โดยโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้วได้มีการเบิกจ่ายเงินไปประมาณ 339,343 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 79.71% ของกรอบวงเงินกู้ที่ ครม. อนุมัติ

ถึงแม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่รัฐบาลขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จาก 60% เพิ่มเป็น 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังรองรับการกู้ยืมเงินในอนาคตด้วย แต่ผลการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดระดับของหนี้ และใช้เป็นกรอบป้องการไม่ให้มีการกู้ยืมเงินเกินสมควร ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 หนี้สาธารณะต่อ GDP มีสัดส่วนอยู่ที่ 60.58% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ที่ 70% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อประมาณการรายได้อยู่ที่ 26.77% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ 35%, หนี้ต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.79% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ 10% และหนี้ต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกและบริการมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.07% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ 5%