ThaiPublica > เกาะกระแส > “สหภาพแรงงานฯ ขสมก.จี้ ผอ.แจงต่อสัญญาโฆษณาฯล่วงหน้า 7 วัน ไร้คำตอบส่ง ปปช.

“สหภาพแรงงานฯ ขสมก.จี้ ผอ.แจงต่อสัญญาโฆษณาฯล่วงหน้า 7 วัน ไร้คำตอบส่ง ปปช.

22 มีนาคม 2023


สหภาพแรงงาน ฯ จี้ ผอ.ขสมก.แจงปมต่อสัญญาโฆษณาบนรถเมล์ให้กับเอกชนล่วงหน้า – สัญญาจ้างเหมาซ้อมรถ โดยไม่เปิดให้มีการแข่งขัน ขีดเส้นตาย 7 วัน ไม่มีคำตอบส่ง ปปช.

ต่อจากตอนที่แล้ว หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอข่าว “คนขสมก.ถามบอร์ดทำไมเร่งขยายสัญญาโฆษณาบน “รถเมล์” ล่วงหน้า 5 ปี” ล่าสุด สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดย นายบุญเหลือ ขุนพรม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้ทำหนังสือที่ สร.ขสมก./107/2566 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2566 ถึงผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอทราบข้อเท็จจริง 4 ประเด็น ถึงการต่อสัญญาให้กับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ล่วงหน้าไปอีก 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดปี 2570 ขยายออกไปถึงปี 2575

โดยหนังสือของ สร.ขสมก. ระบุว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ลงนามใน บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเยียวยาสิทธิโฆษณาบนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ กับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ให้มีการขยายสัญญาติดตั้งป้ายโฆษณาทั้งภายในและภายนอกรถโดยสารปรับอากาศของ ขสมก.จำนวน 1,500 คัน ออกไปอีก 5 ปี ก่อนที่ “สัญญาหลัก” จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2570 ขยายสัญญาออกไปสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2575 ทำให้พนักงาน และสมาชิกสหภาพแรงงาน ขสมก. มีข้อสงสัยและคำถามตามมาหลายประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ทำไมต้องรีบต่อขยายสัญญาล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่สัญญาหลักสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2570 ยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี ถามว่าการนำทรัพย์สินหน่วยงานของรัฐไปจัดหาประโยชน์ ตามหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของกรมบัญชีกลาง ควรเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเท่าเทียมทุกขั้นตอนหรือไม่

ประเด็นที่ 2 มีข้อสังเกตว่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ ซึ่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเยียวยา ฯ กับบริษัท แพลน บีฯ ตามหนังสือที่ สบก.344/2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นั้น มีคำถามตามมาว่า นายสถาพรมีอำนาจในการลงนามหรือไม่ เนื่องจากสัญญาดังกล่าวนี้มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท และมีระยะเวลาของสัญญาเกิน 3 ปี ตามระเบียบของ ขสมก. ต้องเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ทางพนักงาน ขสมก. และสมาชิกสหภาพแรงงานสงสัยว่า การทำบันทึกข้อตกลงฯ ต่อขยายอายุสัญญาให้บริษัท แพลน บีฯ นั้นผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ขสมก. แล้วหรือยัง เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่ามีการบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการพิจารณา และมีอยู่ในบันทึกการประชุมบอร์ด ขสมก. หรือไม่ ถ้ามีขอให้ ขสมก.เปิดเผยให้สหภาพแรงงานทราบด้วย

ประเด็นที่ 3 การต่อขยายสัญญา ฯ ให้เอกชนล่วงหน้าอีก 5 ปี โดยผู้บริหารของ ขสมก.ให้เหตุผลว่าเป็นการเยียวยาสิทธิโฆษณาบนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศหลังจากเอกชนได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายเรื่องอะไร “ถ้าเป็นการเยียวผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระบาดที่ประชุมบอร์ดของ ขสมก. เคยได้มีการพิจารณาเยียวยาผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับ ขสมก. ไปทั้งหมดแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ ร้านค้า แผงขายของ และถ้าอ้างว่าเป็นการเยียวยา กรณีหยุดเดินรถ เพื่อซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศนั้น ก็มีการบรรจุไว้ในแผนการซ่อมบำรุงตามเอกสารแนบท้ายสัญญาฯ อยู่แล้ว”

เนื่องจากก่อนทำสัญญาฯ ขสมก.มีรถโดยสารปรับอากาศที่ต้องส่งเข้าซ่อมบำรุงประมาณ 320 คัน ตามแผนซ่อมบำรุงได้กำหนดให้มีการนำรถเมล์สลับกันเข้าไปซ่อมบำรุงครั้งละ 10 คันขึ้นไป เฉลี่ยคันละ 3 วัน รวมแล้วใช้เวลาซ่อมบำรุงประมาณ 2-3 เดือนดังนั้น หากมีการหยิบยกผลกระทบเรื่องการซ่อมบำรุงรถ มาเป็นเหตุผลเยียวยาเอกชนโดยการต่อสัญญาล่วงหน้าให้อีก 5 ปี ก็อาจมีน้ำหนักไม่เพียงพอ

ประเด็นสุดท้าย สหภาพแรงงาน ขสมก. ติดใจสงสัยมาก คือ เรื่องการคิดคำนวณมูลค่าความเสียหาย เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาต่อสัญญาล่วงหน้าอีก 5 ปี มีหลักในการคำนวณอย่างไร เยียวยามากเกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่

หากคิดคำนวณจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะในส่วนที่ ขสมก.ได้รับจากการต่อสัญญา 5 ปี โดยนำค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีสุดท้าย (ปี 2570) ที่ ขสมก. จะได้รับจากบริษัท แพลน บีฯ คันละ 9,004 บาท/เดือน (ตามสัญญาหลัก) เป็นฐานในการคำนวณ กับจำนวนรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ติดป้ายโฆษณาประมาณ 1,135 คัน แต่ละเดือน ขสมก.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากบริษัท แพลน บีฯ ประมาณ 10.22 ล้านบาท รวมสัญญาที่ต่อขยาย 5 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 613 ล้านบาทรวมกับอัตราค่าตอบแทนที่บริษัทแพลน บีฯ จ่ายเพิ่มให้อีก 3% และค่าตอบแทนล่วงหน้าที่ต้องชำระ ณ วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ อีก 7,023,174 บาท คิดเป็นมูลค่าไม่น่าจะเกิน 700 ล้านบาท

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

สหภาพแรงงาน ขสมก.มีข้อสงสัย ถึงการต่อขยายสัญญาให้เอกชนล่วงหน้า ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุด สหภาพแรงงาน ขสมก. จึงฝากคำถามไปถึงบอร์ดและผู้บริหารของ ขสมก.ว่ารู้ได้อย่างไร การดำเนินการดังกล่าวนี้ ขสมก. ได้รับประโยชน์สูงสุด ทำไมต้องรีบ ไม่รอสัญญาสิ้นสุดก่อนแล้วเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจดีขึ้นกว่านี้ ธุรกิจโฆษณาขยายตัวเพิ่มขึ้น รายได้ที่ ขสมก. ควรจะได้รับอาจมากกว่านี้ก็เป็นไปได้ ทำไมต้องรีบต่อสัญญากันล่วงหน้า

นอกจากนี้สหภาพแรงงานเห็นว่า การบริหารองค์การ ไม่มีการกระจายอำนาจ ให้กับรองบริหาร หรือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดิน และผู้อำนวยการเขตการเดินรถ ทำให้การดำเนินงานของ ขสมก.ล่าช้าเกินสมควร อีกทั้งการจัดทำสัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาเหมาซ่อม หรือ สัญญาโฆษณาดังกล่าว ควรจะมีการเปิดประมูลแข่งขันกัน เพื่อความโปร่งใส และเพื่อประโยชน์สูงสุดของ ขสมก.

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จึงขอให้องค์การเปิดเผยข้อเท็จจริงให้กับสหภาพแรงงานและพนักงาน ขสมก.ได้ทราบภายใน 7 วัน มิฉะนั้น สหภาพแรงงาน ฯมีความจำเป็นต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 3: สหภาพฯ ค้านจ้างเอกชนเดินรถ
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 2: ฟื้นฟูกิจการ (แบบปลอมๆ)
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 1: ยิ่งแก้ ยิ่งขาดทุน
  • บขส. เตรียมชงบอร์ดฯ เคาะจัดหารถโดยสารไฟฟ้า มิ.ย. นี้
  • อ่าน หนังสือ สร.ขสมก.ขอทราบข้อเท็จจริงการต่อสัญญาโฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศล่วงหน้า ที่นี่