ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศาลปกครองกลางสั่ง “ขสมก.” ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 390 คันชั่วคราว-จ่ายเงินให้เบสท์ริน กรุ๊ป

ศาลปกครองกลางสั่ง “ขสมก.” ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 390 คันชั่วคราว-จ่ายเงินให้เบสท์ริน กรุ๊ป

1 เมษายน 2017


เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 เวลา 13.00 น. บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ส่งตัวแทนติดต่อศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ขอนำรถเมล์เอ็นจีวีล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน ผ่านพิธีการศุลกากร

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามคำฟ้องของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ในคดีหมายเลขดำที่ 502/2560 โดยศาลมีคำสั่งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 390 คัน ที่ออกจากด่านกรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบังแล้ว ทั้งนี้ให้ขสมก.ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือ มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

สำหรับสำนวนฟ้องที่บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ไปยื่นต่อศาลปกครองกลาง ขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีขสมก.(ผู้ถูกฟ้องคดี) ไม่ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 390 คัน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายและมีค่าใช้จ่ายค่าในการดูแลรักษารถให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยจนกว่าจะมีการรับมอบรถ โดยบริษัท เบสท์รินฯ อ้างว่า การมายื่นคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนศาลพิพากษาครั้งนี้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลใด หรือ หน่วยงานใด แต่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขสมก.ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 390 คัน และชำระเงินค่ารถตามสัญญาต่อไป รวมทั้ง ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากทางขสมก.กำลังพิจารณาบอกเลิกสัญญา

วันที่ 24 มีนาคม 2560 ศาลปกครองกลางเรียกคู่กรณีมาไต่สวน เริ่มจากบริษัทเบสท์รินฯ ได้ชี้แจงต่อศาลว่า หลังจากบริษัทเบสท์รินกรุ๊ปเป็นผู้ชนะการประมูล โดยเสนอราคาต่ำสุด 3,389 ล้านบาท และต่ำกว่าราคากลาง 632 ล้านบาท ทางบริษัทเบสท์รินฯได้ให้บริษัท ซันลอง (ประเทศไทย) จำกัด ส่งรถเมล์เอ็นจีวีตัวอย่างมาพร้อมทั้งเอกสารนำเข้า หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ให้ขสมก.ตรวจสอบว่าตรงตามข้อกำหนดหรือไม่ โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางบกและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ร่วมตรวจสอบและมีความเห็นว่ารถเมล์เอ็นจีและเอกสารการนำเข้าตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดใน TOR

นอกจากนี้บริษัทเบสท์รินฯได้ชี้แจงต่อว่าวันที่ 30 กันยายน 2559 จึงตกลงทำสัญญาที่ ร.50/2559 ตกลงซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน และว่าจ้างซ่อมแซม บำรุงรักษา กำหนดส่งมอบรถภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559

จากนั้นบริษัทเบสท์รินฯ จึงสั่งซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ต่อมามีผู้กล่าวหารถเมล์เอ็นจีวี ไม่ได้ประกอบในมาเลเซีย กรมศุลกากรไม่ยอมให้บริษัทผู้นำเข้านำรถออกจากด่านศุลกากร เพื่อนำรถมาส่งมอบให้ขสมก. ต่อมาผู้ฟ้องคดีจึงนำเงินไปวางประกันค่าภาษีกับกรมศุลกากรในอัตรา 40% ของราคานำเข้า จึงยอมตรวจปล่อยรถออกจากอารักขา 390 คัน บริษัทเบสท์รินฯได้นำรถทั้งหมดไปติดตั้ง GPS และจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเป็นชื่อของขสมก.แล้ว 292 คัน อีก 98 คัน ขสมก.ไม่ยอมมอบอำนาจให้บริษัทเบสท์รินนำรถเมล์ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอีก ทั้งที่รถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมดพร้อมที่จะส่งมอบ แต่ขสมก.ปฏิเสธการรับมอบรถ โดยอ้างว่าหนังสือตอบข้อหารือจากสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งให้ขสมก. รอกรมศุลกากรตรวจสอบเรื่องถิ่นกำเนิดของรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวก่อน ทั้งที่ในสัญญาซื้อ-ขายฯ ขสมก.มีหน้าที่ตรวจรับรถว่าตรงตามข้อกำหนดใน TOR หรือไม่ ดังนั้น การปฏิเสธตรวจรับรถ โดยอ้างเหตุผลนอกสัญญา จึงไม่ชอบ อีกทั้งรถเมล์เอ็นจีวี 390 คัน ได้ผ่านการตรวจปล่อยจากกรมศุลกากรแล้ว และปราศจากข้อผูกพันใดๆ จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องรอความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดอีก

ขณะเดียวกันใน TOR ซึ่งอาจถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อ-ขายฯ ไม่ได้จำกัดว่าต้องนำรถจากประเทศใดมาส่งมอบก็ได้ ขณะที่ในสัญญาซื้อ-ขายฯ ข้อ 2.1 ระบุว่าต้องเป็นรถเมล์เอ็นจีวีผลิตในประเทศจีน และประกอบในประเทศมาเลเซีย ซึ่งสัญญาอาจมีข้อขัดแย้งกับ TOR แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ขสมก.ก็ยังไม่ทราบว่ารถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดจากประเทศใด ส่วนกรมศุลกากรก็ยังไม่ได้ยืนยันรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดมาเลเซียหรือไม่ ทางขสมก.จึงชะลอการตรวจรับรถไปจนกว่าจะได้รับการยืนยันจากกรมศุลกากรว่ารถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดจากประเทศใด

ขณะที่ขสมก. ในฐานะผู้ยื่นคำร้องคัดค้าน คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ได้ชี้แจงต่อศาลปกครองว่าบริษัทเบสท์รินฯไม่ได้ส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีตามแผนการส่งมอบรถ โดยรถเมล์เอ็นจีวีที่บริษัทเบสท์รินฯนำมาส่งมอบให้ขสมก.มีปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งในสัญญาข้อ 2.1 ระบุต้องเป็นรถเมล์เอ็นจีวีผลิตในจีน ประกอบมาเลเซีย จึงต้องนำประเด็นนี้หารือสำนักงานอัยการสูงสุด ต่อมาทางอัยการสูงสุดทำหนังสือตอบข้อหารือว่า “เมื่อคู่สัญญาทำสัญญาต่อกันแล้ว ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาฯ ซึ่งกำหนดให้นำรถประกอบในมาเลเซียมาส่งมอบ ขณะที่กรมศุลกากรตรวจสอบแล้ว พบว่า รถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าว น่าจะผลิตและประกอบในจีนก่อนที่จะส่งผ่านประเทศมาเลเซียเข้ามายังประเทศไทย ดังนั้น เมื่อประเด็นเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของรถเมล์เอ็นจีวี ยังไม่มีความชัดเจน จึงจำเป็นต้องผลการพิจารณาของกรมศุลกากรให้ได้ข้อยุติก่อนที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากภายหลังพบว่าแหล่งกำเนิดรถไม่เป็นไปตามข้อตกลง ก็จะเป็นเหตุให้มีการบอกเลิกสัญญา หรือ หากปรากฏในชั้นที่สุด บริษัทเบสท์ริน หรือผู้นำเข้า ไม่ยอมชำระภาษี พร้อมค่าปรับ รถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวก็จะถูกริบตามกฎหมายศุลกากร ทำให้ขสมก.ได้รับความเสียหายได้”

นอกจากนี้ หากขสมก.ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 390 คัน ซึ่งไม่ตรงตามสัญญาฯในข้อ 2.1 ข้อ 7 และข้อ 8 ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เจ้าหน้าที่ที่ตรวจรับ อาจถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่คู่สัญญา เป็นเหตุให้ขสมก.ได้รับความเสียหาย

ภายหลังการไต่สวนคู่กรณี ศาลปกครองกลาง มีความเห็นว่า กรณีกรมศุลกากรดำเนินการตรวจสอบรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นประเด็นพิพาทที่ไม่ได้เกี่ยวกับกรณีการปฏิบัติตามสัญญาซื้อ-ขายและว่าจ้างซ่อมบำรุงรถเมลเอ็นจีวีระหว่างบริษัทเบสท์รินฯกับขสมก.แต่อย่างใด เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรอนุญาตให้นำรถเมล์เอ็นจีวีออกจากอารักขาแล้ว จึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นรถเมลฺเอ็นจีวีที่ได้ผ่านการชำระค่าภาษีและพิธีการตามกฎหมายศุลกากรแล้ว แม้ว่ากรมศุลกากรจะมีข้อสงสัยว่าไม่ใช่รถเมล์เอ็นจีวีที่ประกอบมาเลเซีย แต่เป็นรถเมล์เอ็นจีวีที่ประกอบในจีน ก็ไม่มีผลแตกต่างกับในสาระสำคัญที่จะทำให้สัญญาซื้อ-ขายและว่าจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษาฯ ไม่อาจใช้บังคับได้ และประเด็นดังกล่าวยังไม่ปรากฏในชั้นไต่สวน อีกทั้ง เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในส่วนเนื้อหาของคดี และในชั้นนี้ขสมก. ไม่ได้ชี้แจงต่อศาลว่า รถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวมีคุณสมบัติ หรือ คุณลักษณะไม่ตรงตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา หรือ ไม่ตามตามข้อใดกำหนดในสัญญาข้อใดที่เป็นสาระสำคัญ(
อ่านเพิ่มเติมปมเด้ง “สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผอ. ขสมก. ข้อตกลงคุณธรรม “Integrity Pact” บกพร่อง)

ดังนั้น การให้ผู้ถูกฟ้องคดี ตรวจรับรถเมล็เอ็นจีวีดังกล่าวไว้ ศาลปกครองกลางมีความเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในทางตรงข้ามกลับเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า

ศาลปกครองกลาง จึงสั่งให้ขสมก.ดำเนินการตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีที่ออกจากอารักขาของศุลกากรแล้วไว้ชั่วคราว ก่อนศาลมีคำพิพากษา หรือ มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และภายหลังการดำเนินการตรวจรับรถตามข้อสัญญาอื่นๆแล้ว ให้ขสมก.ปฏิบัติตามสัญญาฯต่อไป (อ่านคำสั่งศาลปกครองกลางฉบับสมบูรณ์ ด้านล่าง)

[scribd id=343678273 key=key-v7cRItPtYtDfCUacnWI8 mode=scroll]