หลังจากนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในประกาศองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วันที่ 25 เมษายน 2560 ให้กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน อันประกอบด้วย 1. บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด 2. บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี 3. บริษัท รถยนต์ เซินหลง (เซียงไฮ้) จำกัด 4. บริษัท พลังงานใหม่เป่ยฟ้ง กวางโจว เป็นผู้ทิ้งงาน ขสมก. เนื่องจากกลุ่มบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้กับ ขสมก. ข้อ 2.1 ไม่มีเอกสารยืนยันว่ารถเมล์เอ็นจีวีที่จำนำมาส่งมอบผลิตที่ประเทศจีนประกอบที่โรงงานมาเลเซีย และผิดสัญญาข้อ 7 ไม่สามารถส่งมอบรถเมล์ 489 คัน ได้ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา ปรากฏว่ามีผู้บริหาร ขสมก. ออกมาทักท้วงว่าการออกประกาศ ขสมก. ดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ขสมก. จึงยกเลิกประกาศดังกล่าว เพื่อเริ่มต้นดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามขั้นตอน โดยแจ้งให้บริษัทเบสท์รินฯ รับทราบ เปิดโอกาสให้บริษัทเบสท์รินฯ มาชี้แจง ก่อนที่จะส่งความเห็นของ ขสมก. ไปให้กรมบัญชีกลางพิจารณาออกประกาศเป็นผู้ทิ้งงาน แจ้งไปยังส่วนราชการทั่วประเทศ
การปลดบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ออกจากบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน (Black List) ครั้งนี้ ขึ้นในช่วงที่ ขสมก. จัดประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารจำนวน 489 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Aution) ครั้งที่ 3 วงเงิน 3,389 ล้านบาท (ราคากลาง) กำหนดยื่นเอกสารประกวดราคาวันที่ 24 สิงหาคม 2560 และเข้าร่วมเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 8 กันยายน 2560 เวลา 10.30 น. ปรากฏว่ามีชื่อบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เข้ามาซื้อซองประกวดราคาครั้งนี้ด้วย เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องตอบคำถามสื่อต่อกรณี ขสมก. ปลดบริษัทเบสท์รินฯ ออกจากบัญชีดำและมาซื้อซองประมูล ว่า “หากบริษัท เบสท์รินฯ มีความผิดแล้วปล่อยให้ผ่านการคัดเลือกจนได้เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งกรรมการ ขสมก. และคนจัดการประมูล ต้องถูกลงโทษทั้งหมด แบบล้างบางไปเลย”
แหล่งข่าวจาก ขสมก. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT” ได้ลงนามหนังสือที่ อตล.062/2560 เรื่อง ข้อสังเกตของคณะผู้สังเกตการณ์อิสระในโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ส่งให้อธิบดีกรมบัญชีกลาง และประธานกรรมการ คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. นำไปพิจารณา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
เนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 106 วรรค 1 และวรรค 2 ระบุว่า “ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอเข้ามาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐนั้น ให้หน่วยงานของรัฐประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ โดยพิจารณาถึงความสามารถในการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาของคู่สัญญาเป็นสำคัญ”
สำหรับในกรณีของบริษัท เบสท์รินฯ คณะผู้สังเกตการณ์มีความกังวลใจดังนี้
1. บริษัทฯ จะมีความสามารถปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาที่เปิดประมูลหรือไม่ด้วยเหตุผลดังนี้
- จากการตรวจสอบข้อมูลสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2560 พบว่าบริษัทส่งงบการเงินให้กับสำนักงานทะเบียนบริษัทกรุงเทพมหานครในปี 2558 แจ้งว่าบริษัทมีกำไรสุทธิเพียง 5 ล้านบาท ส่วนในปี 2559 ยังไม่ได้ส่งงบการเงินให้สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีความผิดตามประมวลรัษฎากร และทำให้ ขสมก. ไม่สามารถประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการได้
- ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ว่าบริษัท เบสท์รินฯ มีพฤติการณ์ที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอากรขาเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 จริง โดยสำแดงราคารถยนต์โดยสารเป็นเท็จ ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงพิพากษาให้บริษัทเบสท์รินฯ จ่ายภาษี พร้อมดอกเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้กรมศุลกากรกว่า 230 ล้านบาท
- ขสมก. ได้บอกเลิกสัญญาฯกับบริษัทเบสท์รินฯ เนื่องจากคณะกรรมการตรวจรับรถมีความเห็นว่า บริษัทเบสท์รินฯ ไม่สามารถพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าและไม่สามารถส่งมอบรถเมล์ NGV ทั้งหมด 489 คัน ได้ทันตามกำหนดเวลา ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นผู้ทิ้งงานอย่างถูกต้องตามขั้นตอน แต่ก็มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในเรื่องศักยภาพของบริษัทที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้หรือไม่ หากได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาของ ขสมก.
- จากข้อ 1.3 บริษัทไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามสัญญา ขสมก. ได้ดำเนินการคิดค่าปรับกรณีส่งมอบรถล่าช้ารวมเป็นเงินค่าปรับ 780 ล้านบาท ขณะที่บริษัทเบสท์รินฯ มีหลักประกันตามหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตาทสัญญาเพียง 338 ล้านบาท อันเป็นเหตุควรเชื่อว่าบริษัทมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก น่าเชื่อว่าบริษัทเบสท์รินฯ อาจไม่มีสภาพคล่องทางการเงินที่จะมาเป็นคู่สัญญากับ ขสมก. ได้อีก
- บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี ประเทศมาเลเซีย (เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญากับ ขสมก.) ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกรณีถูกกรมศุลกากรตรวจสอบและแจ้งข้อกล่าวหาสำแดงเท็จ ปัจจุบันรถเมล์ NGV ทั้งหมด 489 คันได้ถูกส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว แต่ไม่สามารถส่งมอบให้ ขสมก. ได้ เพราะยังติดปัญหาค้างชำระภาษีและค่าปรับอีกเป็นจำนวนมาก
- นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทเบสท์รินฯ ได้ฟ้องเป็นคดีอยู่ที่ศาลแพ่ง ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ ประเภทลีสซิ่ง 9 คดี คิดเป็นค่าเสียหายกว่า 850 ล้านบาท ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง
- ในระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2560 สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการ สำนักงานบริการข้อมูลธุรกิจ 5 ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2554, วันที่ 11 เมษายน 2554, วันที่ 8 เมษายน 2558, วันที่ 28 พฤษภาคม 2558 และวันที่ 27 มกราคม 2560 ให้ทำการระงับการชำระบัญชี ระงับการขีดชื่อออกจากทะเบียน เพื่อประกอบการพิจารณาในการฟ้องเรียกหนี้ค่าภาษีอากรจากบริษัทเบสท์รินฯ ตรงนี้อาจเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาศักยภาพของบริษัทเบสท์รินฯ ที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้หรือไม่ หากได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาของ ขสมก.
2. ในส่วนความเห็นของพนักงานอัยการที่ระบุว่า “การประกาศให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 นั้น ให้ ขสมก. ดำเนินการตามขั้นตอนของแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงานให้ครบถ้วนนั้น” คณะผู้สังเกตการณ์เห็นว่า หาก ขสมก. ได้ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนแล้ว บริษัทเบสท์รินฯ ก็จะตกเป็นผู้ทิ้งงานตามกฎหมาย และขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลงาน ดังนั้นสมควรให้ ขสมก. มีมาตรการในการพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีฝ่าฝืนต่อกฎหมายในภายหน้า
3. คณะผู้สังเกตการณ์ตรวจพบว่า บริษัทเบสท์รินฯ ได้เป็นผู้ร่วมประมูลงานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 2 โครงการ มูลค่าโครงการหลายพันล้านบาท หากบริษัทฯ ถูกประกาศเป็นผู้ทิ้งงานจะทำให้ขาดคุณสมบัติ การเป็นผู้เข้าร่วมประมูลงานในทุกโครงการ และถ้าหากบริษัทเบสท์รินฯ เป็นผู้ประมูลงานได้ทุกโครงการ ก็น่าเชื่อว่าบริษัทอาจจะไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานทุกโครงการให้สำเร็จลุล่วงได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทเบสท์รินฯ เคยลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (IP) ได้รับทราบเงื่อนไขใน TOR ในการยื่นซองประกวดราคาต่อ ขสมก. มาก่อนแล้ว ตามข้อตกลงคุณธรรมในข้อ 2.1 ผู้เข้าร่วมเสนอราคาต้องปฏิบัติตามมาตรการ และวิธีการดำเนินงานที่จำเป็น เพื่อป้องกันการทุจริตภาครัฐและสนับสนุนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม จึงไม่สมควรแสดงข้อมูลในซองประกวดราคาไม่ตรงกับความเป็นจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า แหล่งผลิตรถยนต์ NGV ที่บริษัทเบสท์รินฯ จะส่งมอบกับ ขสมก. นั้น ไม่ตรงกับ TOR อันเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญ อาจแสดงถึงพฤติการณ์ และเจตนาของบริษัทเบสท์รินฯ ที่ ขสมก. ควรนำมาประกอบการพิจารณาในการประกวดราคาครั้งนี้ด้วย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00-11.00 น. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเปิดให้ผู้ที่ซื้อซองประมูลนำเอกสารประกวดราคามายื่นต่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของ ขสมก. ครบกำหนดเวลา ไม่มีผู้มายื่นซองประกวดราคาแม้แต่รายเดียว ทำให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ และเริ่มต้นกระบวนการจัดทำเอกสารประกวดราคาและปรับเพิ่มราคากลาง เนื่องจากไม่มีผู้สนใจ คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน 2 เดือน