ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 2: ฟื้นฟูกิจการ (แบบปลอมๆ)

แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 2: ฟื้นฟูกิจการ (แบบปลอมๆ)

16 พฤษภาคม 2022


เปิดตำนานแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. จากแผนจัดหารถใหม่ 3,000 คัน เหลือจ้างเหมาเอกชนเดินรถ 2 ปี แค่ 224 คัน สามารถฟื้นฟูกิจการได้จริงหรือไม่?

ต่อจากตอนที่1 :

  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 1: ยิ่งแก้ ยิ่งขาดทุน
  • จากการที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ “ขสมก.” เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นมาให้บริการรถโดยสารประจำทางช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง ถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ทำให้การกำหนดราคาค่าโดยสารจึงต้องต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง แม้รัฐบาลจัดงบประมาณมาอุดหนุน แต่ก็ไม่เพียงพอ ทำให้ ขสมก. ต้องไปกู้เงินมาใช้ในการดำเนินกิจการ ทั้งเสริมสภาพคล่องทางการเงิน, จ่ายเงินเดือนพนักงาน, ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าซ่อมบำรุงรถเก่าที่มีอายุใช้งานนานกว่า 20 ปี ซึ่งรถส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ตามมา เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ ขสมก. ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนมีหนี้สะสมเป็นจำนวนมากตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอตอนที่แล้ว

    ในสมัยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้ ขสมก. จัดทำแผนพื้นฟูกิจการ เสนอที่ประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ภายใต้แผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยกลุ่มแรก ประกอบไปด้วยแผนการจัดหารถใหม่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และกลุ่มที่ 2 เป็นแผนการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และบริหารหนี้สิน เพื่อให้ ขสมก. สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ลดภาระภาครัฐ มีรายละเอียดที่สำคัญๆ ดังนี้

    กลุ่มแรก แผนการจัดหารถใหม่จำนวน 3,000 คัน วงเงิน 21,210 ล้านบาท ภายใต้แผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งจำนวน, ประเภทรถ และวงเงินในการจัดซื้อรถโดยสารที่กำหนดไว้ในแผนการกู้เงินเพื่อจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท ซึ่งเคยผ่านการอนุมัติจากที่ประชุม ครม. ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 ถือเป็นการริเริ่มโครงลงทุนขนาดใหญ่ ตามมาตรา 4 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 จึงต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาทบทวนมติ ครม. วันที่ 9 มิถุนายน 2556 ด้วย โดยแผนการจัดหารถโดยสารใหม่มีรายละเอียดดังนี้

      1. แผนการจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน วงเงิน 1,891 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก. ได้ดำเนินการจัดซื้อและรับมอบรถโดยสาร NGV ทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562
      2. แผนปรับปรุงสภาพรถ NGV (เดิม) จำนวน 323 คัน วงเงิน 138 ล้านบาท
      3. แผนจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 35 คัน สถานีอัดประจุไฟฟ้า 1 สถานี รวมวงเงิน 467 ล้านบาท
      4. แผนการเช่ารถโดยสารดีเซล-ไฮบริดจำนวน 400 คัน และเช่ารถโดยสาร NGV จำนวน 300 คัน รวมวงเงิน 7,089 ล้านบาท โดยจ่ายค่าเช่าจากรายได้ค่าโดยสาร
      5. แผนจัดซื้อรถโดยสารดีเซล-ไฮบริด 1,453 คัน วงเงิน 11,624 ล้านบาท

    ส่วนเรื่องการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ ขสมก. ได้แก่ การติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-Ticket”, การติดตั้ง GPS เพื่อติดตามและตรวจสอบการเดินรถ, พัฒนาแอปพลิเคชัน, ติดตั้ง Wi-Fi, ออกตั๋วร่วม, ชำระค่าโดยสารผ่าน QR Code และระบบไร้เงินสด, สร้างระบบการควบคุมภายในป้องกันการรั่วไหล, บริหารค่าตอบแทนพนักงาน, ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ, ปรับปรุงเส้นทางให้ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ และกำหนดเส้นทางใหม่ให้สอดคล้องและรองรับกับจำนวนผู้ใช้บริการ

    กลุ่มที่ 2 แผนการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และบริหารหนี้สิน ได้แก่ การปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดกระชับลง (lean), จัดทำโครงการเกษียณก่อนกำหนด (early retirement), ปรับเปลี่ยนพนักงานเก็บค่าโดยสารมาเป็นพนักงานในสำนักงาน, พัฒนาพนักงานที่มีอยู่ให้มีความรู้เฉพาะด้านที่ขาดแคลนอัตรากำลัง, ลดค่าใช้จ่ายค่าซ่อมบำรุง และค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง ส่วนแผนการเพิ่มรายได้ ก็จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร, ปรับตารางการเดินรถโดยใช้ฐานข้อมูล GPS, เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่ง, ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในการให้บริการสาธารณะ (PSO), เร่งรัดการจัดเก็บค่าตอบแทนจากรถร่วมบริการของเอกชนที่ยังค้างชำระ, พัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจที่อู่บางเขนและอู่มีนบุรี โดยให้รัฐบาลเข้ามารับภาระหนี้สินของ ขสมก. จากข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 ขสมก. มีหนี้สะสมคงค้างอยู่ประมาณ 118,183 ล้านบาท

    หลังจากที่ประชุม ครม. วันที่ 25 มิถุนายน 2562 มีมติเห็นชอบในหลักการแผนฟื้นฟูกิจการฯ ก็ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. จัดทำรายละเอียดและดำเนินการให้ถูกต้อง ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้นำความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ฯ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

    ยังไม่ทันได้ลงมือปฏิบัติตามแผน ก็เปลี่ยนรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 จึงได้มอบนโยบายให้กับ ขสมก. ดำเนินการดังนี้ 1. บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย ประหยัด 2. ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และภาระงบประมาณให้รัฐบาล โดยให้ ขสมก. และรถร่วมบริการ ปรับปรุงรถโดยสารให้เป็นรถปรับอากาศทั้งหมด และนำ e-ticket และระบบตั๋วร่วมมาใช้ในการจัดเก็บค่าโดยสาร รวมทั้งให้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ ไม่ให้มีปัญหาเส้นทางทับซ้อนกัน และไม่ต้องใช้จำนวนรถมากเกินไป โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องไม่เป็นภาระงบประมาณ, บริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ, ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาปากท้อง และทุกโครงการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

    จากนั้นในช่วงปลายปี 2563 ขสมก. ได้จัดทำแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ฉบับปรับปรุงใหม่ ส่งให้กระทรวงคมนาคม เสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบ มีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

      1. ขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่เคยผ่านความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับเดิม) ทั้งนี้ เนื่องจากแผนฟื้นฟูฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการจัดหารถใหม่จำนวน 3,000 คัน (แผนฟื้นฟูเดิม) จาก “ซื้อ” เปลี่ยนมาเป็น “เช่า” รถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถ จำนวน 1,500 คัน (รถโดยสารไฟฟ้า หรือรถโดยสาร NGV)
      2. ขอให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบฯ ปี 2565 มาใช้ในโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดปี 2565 จำนวน 5,301 คน วงเงิน 4,560 ล้านบาท
      3. ขอให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินของ ขสมก. ไปจนกว่าจะมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย (EBITDA ไม่ติดลบวงเงินประมาณ 127,786 ล้านบาท หรือตามที่เกิดขึ้นจริง สำหรับดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯ ให้ ขสมก. เพียงพอกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง
      4. ขอสนับสนุนงบอุดหนุนจากรัฐบาลสำหรับรถปรับอากาศเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2571

    หลังจากกระทรวงคมนาคมส่งเรื่องดังกล่าวไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ทางสำนักเลขาธิการคระรัฐมนตรีได้ต้องส่งเรื่องดังกล่าวไปสอบถามความเห็นรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่ว่า กระทรวงการคลัง, กระทรวงพการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สภาพัฒน์, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

    ปรากฏว่าหน่วยงานต่างๆ มีความเห็นว่า ควรพิจารณาทบทวนเหตุผล ความจำเป็นของแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทาง เช่น ความสอดคล้องกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะระบบต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ความสอดคล้องกับแนวโน้มของการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งที่อยู่อาศัย แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และบทบาทของ ขสมก. ในกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น ส่วนแผนพื้นฟูกิจการฯฉบับปรับปรุงใหม่นั้น เช่น การยกเลิกรถโดยสารธรรมดา (รถร้อน), การจัดหารถใหม่, การจ้างเอกชนเดินรถ, การกำกับดูแต้นทุนค่าใช้จ่าย, การขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ เป็นต้น

    หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาความเห็นของหน่วยงานต่างๆ แล้ว ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรีก็สั่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องดังกล่าวคืนกระทรวงคมนาคม โดยให้กลับไปพิจารณาทบทวนแนวทางปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางและแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ใหม่

    สรุปการจัดหารถโดยสารใหม่จำนวน 3,000 คัน ตามแผนฟื้นฟูฯ ฉบับเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว พอเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยน จากซื้อเปลี่ยนมาเป็นเช่า 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถอีก 1,500 คัน เสนอเข้าที่ประชุม ครม. ก็ถูกตีกลับ ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ขสมก. จึงยังไม่ได้ดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่มาแทนที่รถเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมแต่อย่างใด

    จนกระทั่งมาถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ก็มีมติเห็นชอบให้ ขสมก. ดำเนินการจ้างเหมาเอกชนเดินรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 400 คัน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ระหว่างที่รอแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ฉบับปรับปรุงใหม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. โดยให้ ขสมก. ดำเนินการจ้างเหมาเอกชนเข้ามาให้บริการเดินรถโดยสารปรับอากาศพลังงงานไฟฟ้า เฟสแรก จำนวน 224 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ระยะเวลาการจ้าง 24 เดือน หรือ 2 ปี กำหนดราคากลาง หรือวงเงินในการจ้างเหมาเดินรถเกือบ 954 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นรถโดยสารไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศไทย และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์และประกอบได้ภายในประเทศ คาดว่าจะเริ่มออกประกาศประกวดราคา (TOR) จ้างเหมาเดินรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2565

    หลังจากที่บอร์ด ขสมก. มีมติเห็นชอบให้มีการจ้างเอกชนเข้ามาเดินรถ 400 คัน ก็ทำให้คนในองค์กร ขสมก. เกิดอาการหวั่นไหว และมีคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างเหมาเดินรถ เฉลี่ยวันละ 6,000 บาทต่อคัน ถามว่าแพงไปหรือไม่ ขสมก. จะไปหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าจ้าง ส่วนระยะเวลาในการว่าจ้างเอกชนเข้ามาเดินรถ 2 ปี ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งกำหนดระยะเวลาอนุญาตเอาไว้ 7 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องบรรจุรถใหม่ ตามเส้นทางที่ได้รับการอนุมัติไม่น้อยกว่า 30% ภายใน 1 ปี, ปีที่ 2 ต้องบรรจุรถใหม่ไม่น้อยกว่า 50% ปีที่ 3 บรรจุรถใหม่ 75% และปีที่ 4 ต้องบรรจุรถใหม่ให้ครบ 100%

    เหตุใด ขสมก. ไม่จ้างเอกชนเดินรถให้ครบ 7 ปี ตามที่กำหนดไว้ใน TOR ครั้งแรก ทำไมจ้างแค่ 2 ปี เวลาที่เหลืออีก 5 ปี จะทำอย่างไรต่อไป ไม่ได้พูดถึง ทำให้พนักงานหลายคนเกิดคำถามในใจว่า การจ้างเหมาเอกชนเดินรถ 224 คัน เพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของแพกเกจฟื้นฟูกิจการที่เคยผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และ ฉบับปรับปรุงใหม่ที่รอเสนอ ครม. จะสามารถฟื้นฟูกิจการ เคลียร์ปัญหาหนี้สินของ ขสมก. ได้จริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

    อ่านต่อตอนต่อไป:แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 3: สหภาพฯ ค้านจ้างเหมาเอกชนเดินรถ

    ป้ายคำ :