ThaiPublica > สู่อาเซียน > “LoudChat” การขับเคลื่อนเทคโนโลยี่ของคนลาว

“LoudChat” การขับเคลื่อนเทคโนโลยี่ของคนลาว

23 เมษายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สุลิไซ ไซยะสาน(ซ้าย) ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสิริจะเลินไซ เซ็นสัญญากับพูขง จิดรูบโลก(ขวา) หัวหน้าสำนักงาน กระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร ในโครงการพัฒนาศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ

วันที่ 11 เมษายน 2565 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค แม่โขง ริเวอร์ไซด์ นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีเปิดตัว “LoudChat” แอพพลิเคชั่นสำหรับการสนทนาและติดต่อสื่อสาร(Instant Messaging App) แอพแรกของชาวลาว ที่คิดค้นขึ้นโดยคนลาว ในนามบริษัทสิริจะเลินไซ จำกัด

ผู้ร่วมในพิธี ประกอบด้วย พล.ท.สุวอน เลืองบุนมี รองประธานสภาแห่งชาติ บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร กับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

“แอพลาวแชท” ( LoudChat) มีการทำงานคล้ายคลึงกับแอพสำหรับการสื่อสารอื่นๆ เช่น Whatsapp หรือ WeChat ที่มีฟังชั่นพื้นฐานในการรับส่งข้อความเป็นตัวหนังสือ , ข้อความเสียง , รูปภาพ และวิดีโอ สามารถโทรศัพท์คุยกันด้วยเสียง วิดีโอ หรือสนทนาทางโทรศัพท์แบบเป็นกลุ่ม แบ่งปันเอกสาร(File Sharing) และสถานที่ตั้ง(Share Location)” เป็นรายละเอียดของแอพ “ลาวแชท” ตามข่าวที่นำเสนอโดย “ข่าวสารประเทศลาว” สำนักข่าวทางการของรัฐบาลลาว เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565

สุลิไซ ไซยะสาน ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสิริจะเลินไซ กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น “ลาวแชท” เป็นแอพเพื่อการติดต่อสื่อสารของคนลาวเอง เพื่อลดการพึ่งพาแอพของต่างประเทศ ซึ่งเก็บฐานข้อมูลไปไว้ในต่างประเทศ ในอนาคต บริษัทจะพัฒนาและเพิ่มบริการต่างๆเข้าไปในแอพลาวแชทให้มากขึ้น เช่น บริการจองโรงแรม ร้านอาหาร จองตั๋วรถโดยสารกับตั๋วเครื่องบิน ลงทะเบียนเพื่อรับบัตรแรงงาน รวมถึงการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆทั้งของรัฐและเอกชนใด้ครบถ้วนภายในแอพเดียว

“ในอนาคต แอพลาวแชทของพวกเรา จะสามารถพัฒนาได้เทียบเท่าแอพสากล ที่มีการใช้อยู่ในประเทศอื่นๆ เช่น Whatsapp , LINE หรือ WeChat ซึ่งจะเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนลาวที่มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี่ดิจิตัล” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสิริจะเลินไซ กล่าว

ตามเนื้อข่าว ไม่ได้ให้ข้อมูลความเป็นมาของบริษัทสิริจะเลินไซ หรือสุลิไซ ไซยะสาน แต่จากการค้นข้อมูลข่าวย้อนหลังไปก่อนหน้านั้นหลายปี พบว่าสุลิไซ เคยเป็นผู้บริหารบริษัทในกลุ่มดวงจะเลิน มาก่อน…

สุลิไซ ไซยะสาน ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสิริจะเลินไซ

กระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสารได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ(MOU) ให้บริษัทสิริจะเลินไซ พัฒนาแอพ “ลาวแชท” ขึ้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 และบริษัทสามารถพัฒนาแอพได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และตรงกับความคาดหมาย จากนั้นเริ่มมีการให้คนได้โหลดไปทดลองใช้จริงในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อนจัดพิธิเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 เมษายน

ในวันเดียวกับที่มีพิธีเปิดตัวแอพ “ลาวแชท” กระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร ยังได้จัดพิธีเซ็นสัญญากับบริษัทสิริจะเลินไซ ในโครงการพัฒนาลาวแชทและระบบรหัสสุขภาพ(Lao Green Code) รวมถึงเซ็น MOU ให้บริษัทสิริจะเลินไซศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของภาครัฐภายในประเทศ(Government Data Exchange : GDX)

ผู้ลงนามในสัญญาและ MOU ได้แก่ พูขง จิดรูบโลก หัวหน้าสำนักงาน กระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร กับ สุลิไซ ไซยะสาน ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสิริจะเลินไซ

Lao Green Code เป็นแอพย่อย (Mini App) ที่อยู่ในแอพลาวแชท ใช้เพื่อการป้องกันและสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 มีการทำงานคล้ายคลึงกับระบบที่กำลังมีใช้อยู่ในหลายประเทศ เช่น Trace Together ของสิงคโปร์ หรือ Green Code ในแอพ WeChat ของจีน

ส่วนการพัฒนาศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภาครัฐ เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการของหน่วยงานต่างๆที่เป็นองค์กรของรัฐบาลลาวเข้าด้วยกัน เช่น การเข้าหาระบบรหัสสุขภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุขผ่านแอพ LaoKYC , การเสียภาษีที่ดิน , การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว , การขนส่ง และบริการอื่นๆ

พูขง จิดรูบโลก หัวหน้าสำนักงาน กระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร กล่าวว่า เทคโนโลยี่เป็นสิ่งสำคัญและมีบทบาทอยู่ในการทำงานของทุกแขนงการ ดังนั้น การปรับระบบการทำงานให้ทันสมัย จึงเป็นภารกิจที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวและรัฐบาลลาวให้ความสำคัญ เห็นได้จากมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11 ของพรรคฯ เมื่อเดือนมกราคม 2564 รวมถึงมติที่ประชุมสภาแห่งชาติในเดือนเมษายน ได้มีการรับรองวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัลแห่งชาติ ระยะ 20 ปี, ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัลแห่งชาติ ระยะ 10 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัลแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ครั้งที่ 1 เอาไว้

พูขง จิดรูบโลก

ที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสารได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อผลักดันและส่งเสริมภารกิจนี้ รวมถึงความร่วมมือกับบริษัทสิริจะเลินไซในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น“ลาวแชท” ก็ถูกจัดความสำคัญไว้เป็นลำดับเบื้องต้นสำหรับภารกิจปรับระบบการทำงานของรัฐให้ทันสมัยด้วย

……

การมุ่งพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายที่สำคัยของลาวที่มีความน่าสนใจ และมีความโดดเด่นไม่น้อยกว่าวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” ที่ถูกประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ที่จะปรับตำแหน่งประเทศลาวจาก Land Lock ให้เป็น Land Link หรือทำประเทศให้เป็น“แบตเตอรี่แห่งอาเซียน”

เมื่อไม่นานมานี้ ที่รัฐบาลลาวเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนอันเป็นผลจากพัฒนาการของเทคโนโลยี่ออกมาหลายเรื่อง เช่น การผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า(Electric Vehicle : EV) ภายในประเทศทดแทนการใช้รถยนที่ใช้น้ำมัน การเปิดเสรีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถ EV รวมถึงการออกเงินดิจิตัลสกุลกีบ และการสนับสนุนให้ลาวเป็นศูนย์กลางการขุดเหมืองบิทคอยน์ โดยใช้จุดเด่นที่ลาวมีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศและเป็นผู้ส่งออกพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน

  • ลาวประกาศเปิดเสรีธุรกิจรถรถยนต์ไฟฟ้า
  • แนวทางพัฒนา การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในลาว
  • ลาวเปลี่ยนนโยบาย เริ่มทดลองใช้เงินคริปโต
  • แนวคิด 3 สตาร์ทอัปเด่นปี 2564 ของลาว
  • Loca สตาร์ทอัปลาวในทำเนียบระดับโลก “Forbes Asia 100 To Watch”
  • นอกจากบทบาทของกระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร ในการร่วมมือกับภาคเอกชนให้นำเทคโนโลยี่มาใช้พัฒนาระบบการทำงานของทุกภาคส่วนให้ทันสมัยขึ้นแล้ว รัฐบาลลาวยังได้มอบบทบาทให้กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ในการสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนแก่บุคคลที่สามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่มาสามารถสร้างสรรค์นวตกรรมใหม่ ๆ สำหรับใช้พัฒนาประเทศ

    เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีลาว ได้ออกดำรัสเลขที่ 681/ลบ. ว่าด้วย กองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่

    ดำรัสฉบับนี้แบ่งเป็น 5 หมวด มีทั้งหมด 28 มาตรา โดยมีหลักการสำคัญเพื่อสรรหาแหล่งเงินทุนที่มั่นคง ที่ระดมมาจากทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการค้นคว้าและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ และนวตกรรม ที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว

    ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2565 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ลงนามในข้อตกลงนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 21/นย. ว่าด้วยการแต่งตั้ง “คณะสภาบริหารกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่” จำนวน 11 คน ประกอบด้วย

    1.พุด สิมมาลาวง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เป็นประธาน
    2.พูทะนูเพ็ด ไซสมบัด รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน เป็นรองประธาน
    3.สุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เป็นรองประธาน และผู้ประจำการ
    4.ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นกรรมการ
    5.ขันลาสี แก้วบุนพัน รองประธานสถาบันวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ
    6.สมจัน บุนพันมี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เป็นกรรมการ
    7.พิมพา อุดทะจัก หัวหน้าสถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์ และนวตกรรม กระทรวงศีกษาธิการและกีฬา เป็นกรรมการ
    8.ลัดสะหมี เสียงสุนทอน หัวหน้าสถาบันสาธารณสุขศาสตร์ และการแพทย์เขตร้อน กระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ
    9.ใจ บุนพะนุไซ หัวหน้าสถาบันค้นคว้ากสิกรรม ป่าไม้ และพัฒนาชนบท กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ เป็นกรรมการ
    10.อ่อนแก้ว นวนนะวง หัวหน้าสถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เป็นกรรมการ
    11.แก้วไพวัน ดวงสะหวัน หัวหน้าสำนักงาน สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เป็นกรรมการ

    สภาบริหารกองทุนฯชุดนี้ มีหน้าที่ดูแลการระดมเงินทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศ เพื่อตั้งเป็นกองทุน ดูแลการใช้เงินในกองทุนให้ตรงกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ควบคุมและบริหารเงินกองทุนอย่างเป็นเอกภาพและรวมศูนย์ ติดตามและประเมินผลการใช้เงินกองทุน โดยต้องมีการสรุปและรายงานผลต่อรัฐบาล อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

    ……

    ด้วยความต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้ลาวจำเป็นต้องพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนมิตร อย่างจีนและเวียดนาม

    แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ของลาว ที่ได้รับการศึกษาและเติบโตขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของเทคโนโลยี่ดิจิตัล คนกลุ่มนี้มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง และพร้อมใช้ความรู้ที่ได้รับมา พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเพื่อหวังลดการพึ่งพิงประเทศภายนอกให้กับลาว

    การขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆของคนกลุ่มนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อย…