ThaiPublica > สู่อาเซียน > แนวคิด 3 สตาร์ทอัปเด่นปี 2564 ของลาว

แนวคิด 3 สตาร์ทอัปเด่นปี 2564 ของลาว

25 ธันวาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พิธีเปิดเทศกาลสตาร์ทอัปลาวประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ Lao Startup Fest

แม้ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ทุเลา แต่ลาวก็ไม่หยุดยั้งการเฟ้นหาบริษัทสตาร์ทอัปที่มีความโดดเด่นของปีนี้

ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2564 ได้มีประกาศผลการแข่งขันนำเสนอแนวคิดทางธุรกิจของสตาร์ทอัปลาว 12 ทีม ภายในงานเทศกาลสตาร์ทอัปลาวประจำปี 2564

มีสตาร์ทอัป 3 ทีมที่ได้รับรางวัลโดดเด่นประเภทต่างๆ

ทั้ง 3 ทีม เป็นใคร มีแนวคิดอย่างไรบ้าง…มาทำความรู้จักกัน

……

ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2564 กรมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง(กสว.) ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า , กระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร สปป.ลาว และสมาคมการค้าไอซีทีลาว(LICA) ได้ร่วมกันจัดเทศกาลสตาร์ทอัพลาวประจำปี 2564(Lao Startup Fest 2021)ขึ้น ที่นครหลวงเวียงจันทน์

เทศกาลสตาร์ทอัปลาวถูกจัดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แต่ปีนี้เป็นการจัดในระบบออนไลน์ด้วยการ Live สดจากโรงแรมลาว พลาซ่า ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Lao Startup Fest และเพจทางการของ สกว. กับ LICA

มีหน่วยงานซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของการจัดเทศกาลสตาร์ทอัปลาวประจำปี 2564 ประกอบด้วย “โครงการเข้าถึงแหล่งทุนของจุลวิสาหกิจ , วิสาหกิจขนาดเล็กและกลาง เพื่อรับมือกับผลกระทบและฟื้นฟูจากโควิด-19” ของธนาคารโลก(MSME A2F-ESR) , “โครงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจลาว” ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ(USAID Laos Business Environment) , กลุ่มบริษัท AIF , บริษัทลาวโทละคม , ธนาคารมารูฮาน แจแปน ลาว ฯลฯ

การสัมมนาหัวข้อ “SME ผ่านผ่าวิกฤติโควิด-19 และเติบโตในธุรกิจดิจิตัล” ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ Lao Startup Fest

เนื้อหาของเทศกาลสตาร์ทอัปลาวประจำปีนี้ นอกจากการสัมมนาในหัวข้อ “SME ผ่านผ่าวิกฤติโควิด-19 และเติบโตในธุรกิจดิจิทัล” ซึ่งจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 17 ธันวาคม 2564 แล้ว ยังมีจุดเด่นอยู่ที่การแข่งขันนำเสนอแนวคิด แผนงาน และรูปแบบธุรกิจของทีมสตาร์ทอัปลาว 12 ทีม เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเลิศประจำปี และรางวัลประเภทต่างๆ โดยมีการประกาศผลตัดสินในวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน

ก่อนหน้าการจัดงาน มีทีมสตาร์ทอัปในลาวเสนอแผนงานเข้ามาเพื่อร่วมแข่งขันถึง 64 ทีมด้วยกัน คณะกรรมการได้คัดกรองจนเหลือ 12 ทีม ที่จะได้เข้าแข่งขันในรอบสุดท้าย โดยทั้ง 12 ทีม ประกอบด้วย

1.ทีม Juttrip
2.ทีม NorMallao
3.ทีม Lailaoland – One Stop E-Commerce
4.ทีม Application Internet of Things(App IoT)
5.ทีม VARI Drinking Water Delivery Platform
6.ทีม AIo-X
7.ทีม Kongdee
8.ทีม Re-Craft Laos
9.ทีม Wayha Booking
10.ทีม Co-farming by bangfaitech
11.ทีม Khongkhuan
12.ทีม Chainland

ผลการแข่งขันซึ่งถูกประกาศในวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ทีมชนะเลิศที่ได้รับรางวัล Lao Startup Award ประจำปี 2564 ได้แก่ทีม Wayha Booking นอกจากนี้ยังมีรางวัล Best Creative Solution ได้แก่ทีม Re-Craft Laos และรางวัล Best Innovative Startup ได้แก่ทีม Co-farming by bangfaitech

พิธีมอบรางวัลเงินสด 100 ล้านกีบ(ประมาณ 3 แสนบาท) ให้แก่ ไซสักดา วิไลสุก ผู้สร้าง Wayha Booking ซึ่งชนะเลิศได้รางวัล Lao Startup Award ประจำปี 2564 ที่มาภาพ : เพจ Lao Startup Fest

สตาร์ทอัปลาวที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 ทีม ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว เป็นคนรุ่นใหม่ของลาว พวกเขาและเธอ มีที่มา แรงบันดาลใจ แนวคิดและแผนธุรกิจอย่างไรบ้าง ลองมาทำความรู้จักกัน…

Wayha Booking เป็นแอพพลิเคชั่นจองซื้อตั๋วโดยสารครบวงจร ทั้งตั๋วรถโดยสาร ตั๋วเครื่องบิน และตั๋วรถไฟ ทั้งในลาวและต่างประเทศ จุดเด่นของ Wayha Booking คือช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตั๋วโดยสารของลูกค้า ทั้งการจอง ซื้อ และจ่ายเงินค่าตั๋วโดยสารทุกชนิด โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางออกไปซื้อตั๋ว หรือรับตั๋ว ณ สถานที่ขายตั๋ว

Wayha Booking สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยทีมงานจากบริษัทเวหา เทคโนโลยี บริษัทผู้ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ รวมถึงโซลูชั่นต่างๆ ฯลฯ

เวหา เทคโนโลยี มีสำนักงานอยู่ในเมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ก่อตั้งโดยไซสักดา วิไลสุก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กับสะหวัด ไซปะดิด ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค

ไซสักดาเป็นชาวแขวงสาละวัน เขาเริ่มมองเห็นโอกาสจากประสบการณ์สมัยที่ยังเป็นเด็กต่างแขวง ซึ่งต้องเข้ามาเรียนหนังสือในนครหลวงเวียงจันทน์ ทำให้เขาต้องใช้บริการรถโดยสารระหว่างแขวงเป็นประจำในช่วงหลายปีที่เรียนหนังสือ

ไซสักดามองว่าการซื้อตั๋วรถโดยสารอาจถูกมองเป็นเพียงปัญหาเล็กๆของคนในสังคม ที่ทุกคนต้องเจอ แต่มันเป็นการเดินทางที่ซ้อนอยู่ในการเดินทาง เพราะการจองหรือซื้อตั๋ว ผู้โดยสารก็ต้องเดินทางไปยังห้องจำหน่ายตั๋ว แม้ระยะหลังสามารถจองซื้อผ่านโทรศัพท์ได้ก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาก็ยังต้องเดินทางไปรับตั๋วก่อนออกเดินทางเช่นเดิม

ไซสักดาตั้งโจทย์กับตนเองว่า ถ้าต้องการให้ผู้คนสามารถเข้าถึงตั๋วโดยสารได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปซื้อยังห้องขายตั๋วเลยนั้น ต้องทำอย่างไร?

ไซสักดา วิไลสุก(คนนั่งกลาง) ผู้สร้าง Wayha Booking ดาววะดี มะหาไซ(คนนั่งขวา) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Re-Craft Laos และกิละติ ปันยาปิติโสพน(คนนั่งซ้าย) ผู้คิดค้น Co-farming by bangfaitech รับรางวัลหลังการประกาศผล Lao Startup Award ที่มาภาพ : เพจ Lao Startup Fest

ปลายปี 2562 ไซสักดาเริ่มสร้างแพลตฟอร์มจองตั๋วรถโดยสารที่เดินทางระหว่างแขวงผ่านระบบออนไลน์ขึ้น จากนั้นได้ขยายต่อไปยังการจองตั๋วการเดินทางที่หลากหลายประเภทมากขึ้น และในที่สุด จากแพลตฟอร์มได้ปรับมาสู่การสร้างแอพพลิเคชั่น Wayha Booking ที่ผู้คนเข้าถึงง่ายกว่า

ไซสักดาตั้งเป้าหมายอนาคตของ Wayha Booking ไว้ว่า จะเป็นช่องทางสำหรับการเข้าถึงตั๋วโดยสาร ในทุกประเภทของการเดินทางได้ ภายในจุดเดียว

ล่าสุด เขากำลังวางแผนให้ Wayha Booking เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้กับการจองซื้อตั๋วโดยสารรถไฟลาว-จีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 อีกด้วย

และในอนาคต Wayha Booking จะขยายบทบาทออกไปครอบคลุมบริการอื่นๆในหมวดการเดินทาง ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่น การจองโรงแรม เป็นต้น

……

Re-Craft Laos เป็นตัวกลางที่จะรวบรวมเศษผ้าซึ่งเหลือมาจากร้านตัดเสื้อ จากผู้ผลิตงานหัตถกรรม รวมถึงจากบุคคลทั่วไป แล้วสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษผ้าเหล่านั้น โดยนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตชิ้นงานซึ่งเป็นสินค้าหัตถกรรมประเภทใหม่ๆออกมาอีก

ดาววะดี มะหาไซ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Re-Craft Laos เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้ว เธอจึงได้เห็นและรับรู้ข้อมูลมาตลอดว่า การตัดเสื้อผ้าแต่ละชุด ต้องมีเศษผ้าเหลือมากถึง 15-20% ของผืนผ้า

ที่ผ่านมาเศษผ้าเหล่านี้คือขยะที่ต้องถูกกำจัดทิ้ง ซึ่งนอกจากเป็นการไม่เห็นถึงคุณค่าของผ้าผืนที่ต้องใช้ทั้งฝีมือ ทั้งมีขั้นตอน และใช้เวลานานกว่าจะทอได้สำเร็จ 1 ผืนแล้ว การทิ้งเศษผ้าเหล่านั้น ยังเท่ากับเป็นการร่วมทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย

เพื่อคงประโยชน์ของเศษผ้าเหล่านั้นเอาไว้ ดาววะดีจึงได้คิดรูปแบบธุรกิจของ Re-Craft Laos ขึ้นมา โดยวางบทบาทเป็นตัวกลาง รวบรวมเศษผ้าเหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ซ้ำ เป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างชิ้นงานหัตถกรรมใหม่

ดาววะดีเริ่มสร้างแอพพลิเคชั่น เพื่อใช้เป็นช่องทางและเครื่องมือสำหรับสื่อสารให้เข้าถึงแหล่งของเศษผ้า และผู้ผลิตชิ้นงานหัตถกรรม

ดาววะดีเริ่มต้นธุรกิจของ Re-Craft Laos มาแล้วประมาณ 3 เดือน ปัจจุบันมีชุมชนทอผ้าที่บ้านผาสุก หลวงพระบาง มาเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเธอแล้ว 1 แหล่ง และกำลังอยู่ระหว่างการสร้างชิ้นงานหัตถกรรมใหม่ คาดว่าในเร็วๆนี้ จะเปิดตัวสินค้าและแอพพลิเคชั่น Re-Craft Laos ออกสู่สาธารณะได้

……

Co-farming by bangfaitech เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัทบั้งไฟเทค กับชาวนาผู้ปลูกข้าวในลาว โดยผลิตข้าวสารขายตรงส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้ทำให้ชาวนามีรายได้จากการขายข้าวเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคจะได้รับข้าวสารที่มีคุณภาพในราคาที่คุ้มค่า

กิละติ ปันยาปิติโสพน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบั้งไฟเทค เป็นผู้คิดค้น และสร้างสรรค์รูปแบบความร่วมมือนี้

บริษัทบั้งไฟเทค ทำธุรกิจรับจ้างบินโดรนพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำให้กับเกษตรกร ด้วยธุรกิจนี้ กิละติจึงมีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิดกับชาวนาหลายคนที่ปลูกข้าวอยู่ในลาว

เขาพบว่าแต่ละปี ชาวนาเหล่านี้มีรายได้น้อยมาก เพราะยังยึดรูปแบบและกระบวนการผลิตดั้งเดิม คือใช้แรงงานเป็นหลัก ปลูกข้าวเพื่อขายเป็นข้าวเปลือกส่งให้กับโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง ไม่ได้ผลิตเป็นสินค้าขายโดยตรงให้กับผู้บริโภค ส่วนต่างของราคาผลผลิตที่ชาวนาได้รับจึงน้อย

ความที่อยากช่วยยกระดับรายได้ให้กับชาวนาเหล่านี้ ด้วยการนำเทคโนโลยี่เข้าไปช่วยในกระบวนการผลิต โดยที่ชาวนาเหล่านั้นไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษาเทคโนโลยี่ใหม่ๆ กิละติจึงคิดรูปแบบความร่วมมือในการผลิตสินค้าระหว่างบั้งไฟเทคกับชาวนาขึ้น

กิละติได้ชักชวนชาวนาให้มาร่วมเป็น Co-farming กับบั้งไฟเทค แปรรูปข้าวเปลือกที่เป็นผลผลิตของชาวนาออกมาเป็นข้าวสาร และขายตรงถึงมือของผู้บริโภค โดยที่บั้งไฟเทคจะรับผิดชอบด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่าย

ด้วยรูปแบบความร่วมมือนี้ จะทำให้ชาวนาได้รับส่วนต่างของราคาผลผลิตที่สูงกว่า ซึ่งหมายถึงรายได้ที่ชาวนาจะได้รับ ต้องมากขึ้นกว่าเพียงการขายเป็นข้าวเปลือกเหมือนแต่ก่อน

ปัจจุบัน ชาวนาในลาว มีอย่างน้อย 22 ครอบครัวแล้ว ที่ตัดสินใจมาร่วมธุรกิจกับบั้งไฟเทคในเฟสแรก

……

บุนเถิง ดวงสะหวัน รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้กล่าวในพิธีเปิดเทศกาลสตาร์ทอัปประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ว่า การสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัป เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาจุลวิสาหกิจ , วิสาหกิจขนาดเล็กและกลาง 2564-2568 ที่รัฐบาลลาวให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการเสริมสร้างธุรกิจริเริ่มใหม่ให้แก่บรรดาวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง(SME) ซึ่งเป็นวาระของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ภายใต้กรอบนโยบาย “แผนแม่บท ศึกษา ผลักดัน และพัฒนาธุรกิจริเริ่ม ในระยะการก้าวสู่ธุรกิจดิจิทัล” ที่รัฐบาลได้รับรองอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2564

รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า บอกว่า วัตถุประสงค์ในการจัดเทศกาลสตาร์ทอัปลาวประจำปี 2564 เนื่องจากรัฐบาลต้องการรวบรวมเหล่าธุรกิจเกิดใหม่ หรือสตาร์ทอัปที่มีความโดดเด่น มาแสดงทักษะ ความรู้ และความสามารถ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการแก้ไขความยุ่งยากด้านเศรษฐกิจและการเงิน ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้แล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมสตาร์ทอัปให้เข้าถึงตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปด้านกฏหมายและระเบียบการ

……

สุลิโย วงดาลา ผู้ก่อตั้ง Loca ได้มาร่วมออกบูธภายในเทศกาลสตาร์ทอัปลาวปีนี้ด้วย ที่มาภาพ : เพจ Lao Startup Fest

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 Forbes นิตยสารธุรกิจที่มีผู้อ่านมากที่สุดฉบับหนึ่งในหลายประเทศ ได้จัดให้ Loca เข้าไปเป็น 1 ทำเนียบ “100 บริษัทในเอเซียที่ต้องจับตา”

Loca เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้เรียกรถแท็กซี่ ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นสตาร์ทอัr ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นโดยสุลิโย วงดาลา นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ของลาวเมื่อปี 2561 และได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว และยังคงเติบโตได้ภายใต้ภาวะกดดันของการระบาดของโควิด-19 ในลาว

ในวันนี้ Wayha Booking , Re-Craft Laos และ Co-farming by bangfaitech รวมถึงสตาร์ทอัปอีก 9 ทีม ที่ได้เข้าร่วมแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจรอบสุดท้ายภายในเทศกาลสตาร์ทอัปลาวประจำปี 2564 มีโอกาสในอนาคตไม่ด้อยไปกว่า Loca ขึ้นอยู่กับแต่ละทีมจะพัฒนาสินค้าและบริการของแต่ตนอย่างไร

อนาคตของสตาร์ทอัปเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่าเฝ้าติดตาม…

  • “Loca สตาร์ทอัปลาว ในทำเนียบระดับโลก Forbes Asia 100 to Watch”