ThaiPublica > สู่อาเซียน > ต้นตอการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ในลาว เมื่อคนไทยลักลอบข้ามโขง

ต้นตอการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ในลาว เมื่อคนไทยลักลอบข้ามโขง

29 เมษายน 2021


รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีลาว ไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลมิตรภาพ 150 เตียง ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ก่อนเทศกาลสงกรานต์ สปป.ลาวเกือบได้เป็นประเทศ “ปลอดโควิด-19” แห่งเดียวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอยู่แล้ว

ณ วันที่ 10 เมษายน 2564 ทั่วประเทศลาว เหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังรักษาตัวอยู่เพียง 2 ราย และนับแต่โควิด-19 เริ่มระบาดในลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ลาวมียอดผู้ป่วยสะสมเพียง 49 ราย รักษาหายแล้ว 47 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

ก่อนวันที่ 10 เมษายน ลาวไม่มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 28 วันติดต่อกัน ผู้ป่วยใหม่ที่ตรวจพบก่อนหน้านั้น พบเพียง 1 คน ในวันที่ 13 มีนาคม 2564 เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และพบในสถานกักตัวของรัฐ

แต่หลังจากวันที่ 10 เมษายน สถานการณ์โควิด-19 ในลาว เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ!!!

ที่สำคัญ ต้นตอของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในลาว มีคนไทยร่วมเป็นตัวแปรในการแพร่เชื้ออยู่ด้วย และมิใช่เพียงครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง 2 ครา ติดต่อกัน

วันที่ 11 เมษายน 2564 ดร.พอนปะดิด สังไซยะลาด หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์และระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว แถลงข่าวการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ลำดับที่ 50

ไทม์ไลน์ที่ถูกเปิดเผยในการแถลงข่าว ระบุว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นคนไทย อาชีพนักธุรกิจ ไม่เคยเดินทางออกจากลาวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ติดเชื้อโดยการสัมผัสกับ “คนไทย” ที่เข้าไปในดินแดนลาว “อย่างไม่ถูกต้องตามกฏหมาย”

หลังการแถลงข่าว สื่อออนไลน์ในลาวหลายแห่ง ต่างตื่นตัว ติดตามสืบหาไทม์ไลน์โดยละเอียดของผู้ป่วยรายนี้ จากนั้นได้นำไทม์ไลน์มาเปิดเผย โดยระบุว่าผู้ป่วย เป็นชายชาวไทย อายุ 41 เป็นเจ้าของร้านเกม และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ อยู่บ้านโพนต้อง เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์

ผู้ป่วยรายนี้สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว แต่ติดอยู่ในลาวตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดรอบแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยอีกเลย

วันที่ 3 เมษายน 2564 ผู้ป่วยเดินทางไปยังบ้านท่าเดื่อ เมืองหาดซายฟอง และพบกับคนไทย 3 คน ที่ลักลอบนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงจาก อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มายังฝั่งลาว ที่บริเวณใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จากการพูดคุยกัน ทราบว่าคนไทยทั้ง 3 พักอยู่ในกรุงเทพ แถวถนนสุขุมวิท 1 ใน 3 คนนั้น พูดลาวได้ คาดว่าอาจเป็นคนภาคอิสาน

เมื่อผู้ป่วยเห็นว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน จึงได้ซื้อเบียร์มานั่งดื่มกินด้วยกันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยไม่ได้เข้าไปนั่งดื่มในร้าน ใช้เวลานั่งดื่มกันประมาณ 30-40 นาที ค่อยแยกย้ายจากกัน จากนั้นไม่ทราบว่าคนไทยทั้ง 3 เดินทางต่อไปที่ไหน

วันที่ 6-7 เมษายน ผู้ป่วยพักอยู่ชั้น 2 ของร้านอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ลงมาพบปะกับผู้ใด ภายในร้านมีพนักงานประมาณ 5 คน ต่อมาวันที่ 8 เมษายน เริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไอและเจ็บคอ

วันที่ 9 เมษายน ได้ออกไปเยี่ยมบ้านแฟนสาว พบปะกับผู้คนประมาณ 5 คน แต่ผู้ป่วยยืนยันว่าในวันนั้นได้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

วันที่ 10 เมษายนได้ไป Admit ที่โรงพยาบาลมิตรภาพ 150 เตียง เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลตรวจออกมาเป็นบวก

กระทรวงสาธารณสุขลาว ได้ติดตามบุคคลที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายนี้ จำนวน 10 คน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจยังห้องแล็ป ผลตรวจเบื้องต้นออกมาเป็นลบ

หลังมีผลยืนยันออกมาว่าผู้ป่วยรายนี้ติดโควิด-19 ได้สร้างความหวั่นวิตกแก่ชาวเวียงจันทน์อย่างแพร่หลาย เพราะร้านเกมและอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เป็นแหล่งรวมของเด็กและเยาวชน ทำให้เกรงกันว่าอาจมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขยายออกไปได้อีกเป็นวงกว้าง

มีการสั่งปิดร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทุกแห่งในเมืองจันทะบูลีและทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ ตามมาด้วยคำสั่งปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง ในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ลาวหรือเทศกาลสงกรานต์

เช้าของวันที่ 13 เมษายน พูวง วงคำซาว รองเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ลงนามแทนเจ้าครองฯ ในหนังสือเลขที่ 009/จนว เสนอถึงรัฐมนตรีและหัวหน้าสำนักงานนายกรัฐมนตรี ขออนุมัติล็อกดาวน์ ปิดการเดินทางท่องเที่ยว เข้า-ออกนครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายน 2564 เพื่อเป็นมาตรการสูงสุด ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากนครหลวงเวียงจันทน์ออกไปยังแขวงอื่น

จดหมายขออนุมัติล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันทน์ระหว่างวันที่ 13-30 เมษาย หลังพบผู้ป่วยลำดับที่ 50

ในหนังสือให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้ป่วยลำดับที่ 50 ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ป่วยมีความเคลื่อนไหวในขอบเขตกว้างขวาง หลายแห่ง หลายสถานที่ และช่วงเวลานั้น ชาวนครหลวงเวียงจันทน์อยู่ระหว่างเตรียมฉลองวันบุญปีใหม่ คาดว่าจะมีผู้เดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ออกไปเที่ยวยังทุกแขวงทั่วประเทศ และจะมีนักท่องเที่ยวภายในจากทั่วประเทศ เข้ามาเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์

เย็นวันเดียวกัน(13 เม.ย.) สำนักงานนายกรัฐมนตรีลาว มีหนังสือเลขที่ 368/หสนย ตอบกลับข้อเสนอล็อกดาวน์ของรองเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ โดยอ้างถึงผลสอบสวนประวัติความเคลื่อนไหวของผู้ป่วยลำดับที่ 50 และการประเมินความเสี่ยงของคณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 ขั้นศูนย์กลาง เห็นว่าสถานการณ์ขณะนั้นยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

“สำนักงานนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยที่จะมีการปิดการเดินทางเข้า-ออก นครหลวงเวียงจันทน์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อสังคม”หนังสือระบุเหตุผล

จดหมายจากสำนักงานนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันทน์

กรณีของผู้ป่วยลำดับที่ 50 ซึ่งติดเชื้อต่อจากคนไทยที่ลักลอบเข้าไปในลาวชุดแรก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง ยังไม่ได้กระจายไปในวงกว้างเท่าใดนัก นับจากวันที่ 11 เมษายนจนถึงวันที่ 20 เมษายน ลาวตรวจพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มเพียง 11 คน

ณ วันที่ 20 เมษายน ลาวมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 60 คน รักษาหายแล้ว 49 คน มีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ 11 คน

แต่หลังเกิดกรณีคนไทยชุดที่ 2 ลักลอบเข้าไปเที่ยวตามสถานบันเทิงหลายแห่งในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายตัวออกไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ

วันที่ 20 เมษายน 2564 คณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 แถลงข่าวพบผู้ป่วยใหม่ 2 ราย เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 59 และ 60 แต่หลังมีการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ป่วยลำดับที่ 59 ออกมาแล้ว หลายคนต้องตกใจ!!!

ผู้ป่วยลำดับที่ 59 เป็นเพศหญิง ชาวลาว อายุ 25 ปี เป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ และยังเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อ Funny 89 บ้านท่าสะหว่าง เมืองไซทานี

ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยลำดับที่ 59 มีดังนี้…

8 เมษายน-เพื่อนของผู้ป่วย 3 คน เดินทางจากแขวงสะหวันนะเขตมาเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์ 1 ในนั้นเป็นคนลาว เพศหญิง แต่อีก 2 คน เป็นคนไทย เพศชาย

หนุ่มไทยทั้งคู่ได้ลักลอบนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงจากจังหวัดมุกดาหาร ฝั่งไทย ไปยังแขวงสะหวันนะเขต จากนั้นทั้ง 3 คน ได้ขึ้นรถโดยสารจากสะหวันนะเขต ตอนหัวค่ำของวันที่ 7 เมษายน มาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน

เมื่อมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ในตอนเช้า ทั้ง 3 ได้ไปที่ร้าน Karaoke 8118 บ้านฮ่องไก่แก้ว เมืองจันทะบูลี ก่อนเข้าพักยังโรงแรมเจือง 2 ในเขตบ้านสีบุนเฮือง ที่อยู่ในเมืองจันทะบูลีเช่นกัน

ตกตอนเย็นผู้ป่วยลำดับที่ 59 ได้ไปพบกับเพื่อนทั้ง 3 คน ที่โรงแรมเจือง 2 จากนั้นทั้งหมดได้ไปกินข้าวกันที่ร้าน Funny 89 ซึ่งเป็นของผู้ป่วย

9 เมษายน-เวลา 15.00 น.-16.00 น. ผู้ป่วยไปรับเพื่อนจากโรงแรมเจือง 2 เพื่อพาไปวัดสีเมือง และส่งทั้ง 3 กลับไปยังโรงแรมเจือง 2 จากนั้นผู้ป่วยได้ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ Vientiane College จนถึง 18.30 น. จึงกลับบ้าน

เวลา 20.00 น. ผู้ป่วยไปรับเพื่อนทั้ง 3 ที่โรงแรมเจือง 2 อีกครั้ง เพื่อพากันไปกินข้าวที่ร้าน Funny 89 และอยู่ที่ร้านนี้จนถึงเวลาปิด 24.00 น. จึงพากลับไปส่งที่โรงแรม

10 เมษายน-ผู้ป่วยไปหาเพื่อนทั้ง 3 คนที่โรงแรมเจือง 2 แต่ไม่พบ และไม่รู้ว่าเพื่อนทั้ง 3 คนเดินทางไปไหน

11 เมษายน-ผู้ป่วยไม่ได้พบกับเพื่อนทั้ง 3 คน แต่ทราบว่าทั้ง 3 ได้ไปเที่ยวยังร้าน What Club และอยู่ที่นี่จนร้านปิดในเวลา 24.00 น. แล้วพากันไปเที่ยวต่อที่ร้าน Karaoke 8118

เหตุที่ทราบเพราะเพื่อนทั้ง 3 ได้ส่งรูปมาให้ผู้ป่วยดู จากในรูปพบว่ามีผู้ร่วมเที่ยวเป็นเพศหญิงเพิ่มเข้าไปด้วยอีก 1 คน รวมเป็นทั้งหมด 4 คน

12 เมษายน-เวลา 13.00 น. ผู้ป่วยไปรับเพื่อนทั้ง 3 คนที่โรงแรมเจือง 2 พบว่าเพื่อนคนไทย 1 คน เริ่มมีอาการป่วย จึงไม่ได้ออกมาด้วย

เวลา 15.00 น. ผู้ป่วยพร้อมกับเพื่อนทั้ง 3 คน ได้พากันไปนวดที่ร้าน 1111 อยู่ใกล้กับธนาคารอินโดไชน่า จากนั้นทั้งหมดได้พากันไปเที่ยวอยู่หลายสถานที่ จนตอนค่ำ เพื่อนอีก 1 คนก็เริ่มมีอาการป่วย

13 เมษายน-เพื่อนทั้ง 3 คน ของผู้ป่วยมีอาการไม่สบาย จึงไม่ได้เจอกัน

14 เมษายน-สถานบันเทิงทุกแห่งถูกปิด ตามคำสั่งของเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ จกกรณีของผู้ป่วยลำดับที่ 50

แต่สำหรับผู้ป่วยลำดับที่ 59 วันนี้เธอเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัว

16 เมษายน-เพื่อนของผู้ป่วยทั้ง 3 คน ได้ลักลอบนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงจากนครหลวงเวียงจันทน์ กลับมายังอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

17 เมษายน-เวลา 6.30 น. เพื่อนของผู้ป่วยโทรศัพท์มาบอกว่า ทั้ง 3 คนที่ได้ไปเที่ยวด้วยกัน ป่วยเป็นโควิด-19 และ 1 ในนั้น มีอาการหนัก

16.00 น. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้และปวดท้อง จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลลาวเวียด แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร จึงจัดยาให้และกลับมาพักฟื้นที่บ้าน

18 เมษายน-ผู้ป่วยอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปไหน

19 เมษายน-เวลา 15.00 น. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย จึงได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลมิตรภาพ 150 เตียง ผลตรวจออกมาในเวลา 19.50 น.ว่าติดเชื้อโควิด-19

แพทย์ได้ตรวจสอบหาผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 59 พบว่ามีทั้งสิ้น 35 คน

ยอดผู้ป่วยยืนใหม่ในลาวพุ่งพรวดขึ้นทันทีหลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์

วันที่ 21 เมษายน สีสะหวาด สุดทานีละไซ รองหัวหน้ากรมควบคุมโรคติดต่อ แถลงข่าวการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นวันเดียวถึง 28 คน เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 61-88

ผู้ป่วย 28 คน ที่เพิ่มขึ้นใหม่ ตรวจพบในแขวงจำปาสัก 2 คน เป็นแรงงานชาวลาวที่เดินทางกลับจากประเทศไทยโดยผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฏหมาย และได้เข้ากักตัวอยู่ในสถานที่ซึ่งรัฐจัดให้ ก่อนเก็บตัวอย่างไปตรวจและพบว่าติดโควิด-19 ส่วนอีก 26 คน ตรวจพบในนครหลวงเวียงจันทน์ ทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์แหล่งบันเทิงที่ติดเชื้อต่อเนื่องจากผู้ป่วยลำดับ 59

อย่างไรก็ตาม มีการระบุชัดเจนในการแถลงข่าวครั้งนั้นว่า ต้นตอที่แท้จริงของคลัสเตอร์นี้ มาจากชายไทย 2 คน ที่แอบเข้าไปเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์อย่างผิดกฏหมาย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ผู้ป่วยที่ตรวจพบในนครหลวงเวียงจันทน์ 26 คน มาจากร้านนวด 1111 จำนวน 3 คน ร้าน Diamond Karaoke 2 คน ร้าน Marina Night Clup 3 คน ร้าน Funny 89 ร้านข้าวเปียกไก่ผู้โอก และร้าน Bar and Karaoke 8118 ร้านละ 1 คน ที่เหลืออีก 15 คน เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในอู่ซ่อมรถโพนต้อง ชุมชนบ้านโพนทัน บ้านหนองทาใต้ บ้านสีไค บ้านหนองพะยา และบ้านสะพานทองใต้ ซึ่งมีประวัติเคยไปเที่ยวยังแหล่งบันเทิงต่างๆข้างต้น


หลังมีคำสั่งห้ามเดินเรือในแม่น้ำโขงโดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้ลาดตระเวนอย่างเข้มงวด ทั้งในลำน้ำและชายฝั่ง ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบข้ามประเทศ ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว หน่วยงานหลายแห่งในลาวต่างประกาศใช้มาตรการคุมเข้ม อาทิ

  • ห้ามเดินเรือทุกชนิดตลอดแนวแม่น้ำโขง และประกาศลงโทษอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่ฝ่าฝืน พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ลาดตระเวนอย่างละเอียด ทั้งตามลำน้ำ และตามชายฝั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบข้ามแดนเกิดขึ้นอีก
  • ล็อกดาวน์บ้านนาแก เมืองวิละบูลี แขวงสะหวันนะเขต ห้ามบุคคลเข้า-ออก เป็นเวลา 14 วัน
  • งดการเรียนการสอนในโรงเรียนทุกแห่งทั่วนครไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564
  • งดกิจกรรมทางศาสนาทุกประเภทในวัดสีเมือง และปิดประตูวัด ห้ามผู้ที่ไม่มีกิจจำเป็น เข้า-ออก เป็นเวลา 14 วัน
  • คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว สั่งงดการเรียนการสอน ให้นักศึกษาทุกคนเรียนผ่านระบบออนไลน์
  • ปิด Vientiane College งดการเรียนการสอน ห้ามบุคคลเข้า-ออก เป็นเวลา 14 วัน
  • ปิดสถานบันเทิงทุกแห่งในนครหลวงเวียงจันทน์ โดยเฉพาะสถานที่ซึ่งผู้ป่วยลำดับที่ 59 และเพื่อนทั้ง 3 คน เคยไปเที่ยว ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน 2564
  • เย็นวันที่ 21 เมษายน 2564 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ลงนามในคำสั่งฉบับที่ 15/นย. เรื่อง “การเพิ่มทวีมาตรการสกัดกั้น ควบคุม และการเตรียมความพร้อมรอบด้าน เพื่อต่อต้านโรคโควิด-19” เนื้อหาหลักของคำสั่งฉบับนี้ คือการสั่งล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันทน์ และนำมาตรการคุมเข้มมาใช้ อาทิ การห้ามออกจากบ้าน ให้พนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำงานอยู่ในบ้าน งดการเดินทางระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์กับพื้นที่ต่างๆ

    จากพื้นที่ควบคุมเบื้องต้นเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ ในเวลาต่อมามาตรการเหล่านี้ ได้ถูกประกาศใช้ในแทบทุกแขวงของลาว


    จำนวนผู้ป่วยสะสมของลาวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 เท่า ในเวลาเพียงไม่กี่วัน

    วันที่ 22 เมษายน 2564 คณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 แถลงข่าวการพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 6 คน โดย 2 ใน 6 คนนี้ อยู่ในคลัสเตอร์สถานบันเทิงในนครหลวงเวียงจันทน์ หลังจากนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างในลาว ได้เกิดขึ้น

    -23 เมษายน 2564 ลาวพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นรวดเดียว 65 คน
    -24 เมษายน 2564 พบเพิ่มอีก 88 คน
    -25 เมษายน 2564 พบเพิ่มอีก 76 คน
    -26 เมษายน 2564 ยอดผู้ใหม่ของลาว เพิ่มถึง 3 หลักเป็นครั้งแรก โดยพบเพิ่มขึ้น 113 คน
    -27 เมษายน 2564 ยอดผู้ป่วยใหม่ชลอลงเล็กน้อย พบเพิ่มขึ้น 75 คน

    จากที่เกือบได้เป็นประเทศ “ปลอดโควิด-19” แห่งเดียวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 10 เมษายน เพียง 17 วันถัดมา สถานการณ์โควิด-19 ของลาว เปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

    ณ วันที่ 27 เมษายน 2564 ลาวมีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 511 คน รักษาหายแล้วเพียง 49 คน ยังคงรักษาตัวอยู่ 462 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต

    นายกรัฐมนตรีลาว ไปตรวจความเหมาะสมของอินดอร์สเตเดียม ศูนย์กีฬาล้านช้าง บ้านดอนกอย เมืองสีสัดตะนาก ช่วงบ่ายวันที่ 24 เมษายน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

    จากที่ลาวเคยพบโควิด-19 กระจุกตัวอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์เป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะนี้ยอดผู้ป่วยได้แพร่กระจายไปเกือบทั่วประเทศ โดยในพื้นที่ 17 แขวง กับอีก 1 นครหลวงเวียงจันทน์ พบผู้ป่วยแล้ว 14 พื้นที่ มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่เรียงตามลำดับได้ดังนี้

      -นครหลวงเวียงจันทน์ มีผู้ป่วย 331 คน
      -แขวงจำปาสัก 70 คน
      -แขวงสะหวันนะเขต 19 คน
      -แขวงบ่อแก้ว 14 คน
      -แขวงเวียงจันทน์ 8 คน
      -แขวงสาละวัน 6 คน
      -แขวงหลวงน้ำทา 4 คน
      -แขวงหลวงพระบาง อุดมไซ และผ้งสาลี แขวงละ 2 คน
      -แขวงไซยะบูลี เซกอง บ่อลิคำไซ คำม่วน และเชียงขวาง แขวงละ 1 คน

    คงเหลือแขวงหัวพัน , ไซสมบูน และอัตตะปือ เพียง 3 แขวง ที่ยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่

    ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดในลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2564 ประชาชนลาวได้รับการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 160,518 คน จากประชากรรวม 7 ล้านคน

    ประชาชนลาว 201,618 คน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เพิ่งฉีดเข็มแรก 140,938 คน และผู้ที่ได้ฉีดเข็มสองแล้ว 60,680 คน

    ณ วันที่ 26 เมษายน 2564 สปป.ลาวได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆแล้ว รวมทั้งสิ้น 1,535,000 โดส

    จีนเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือลาวมากที่สุด โดยส่งวัคซีน Sinopharm ให้แล้วทั้งสิ้น 1,402,000 โดส นอกจากนี้ลาวยังได้รับวัคซีนจากโครงการ COVAX ล็อตแรกแล้ว 132,000 โดส จากโควต้าทั้งหมดที่จะได้รับ 480,000 โดส เป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ COVAX ได้ว่าจ้างสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียเป็นผู้ผลิต และรัสเซียได้ส่งวัคซีน Sputnik V ล็อตแรกแก่ลาว 1,000 โดส จากแผนการช่วยเหลือของรัสเซียที่จะให้วัคซีนแก่ลาว 2 ล้านโดส

    วัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากจีนล๊อตล่าสุด 300,000 โดส เดินทางมาถึงลาวเมื่อตอนเย็นวันที่ 26 เมษายน และมีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น ที่มาภาพ :สำนักข่าวสารประเทศลาว

    ช่วงค่ำของวันที่ 23 เมษายน 2564 พ.ต.ท.พีรภัทร์ ปรมพุฒิ รองผู้กำกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดหนองคาย ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองคาย เพื่อกล่าวโทษชายไทย 2 คน ชื่อชิตพล(สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด และธนกฤต(สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ในข้อหาเป็นบุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้ามาและออกไปนอกราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านเขตท่า สถานี ตามประกาศในกฎกระทรวง และไม่ผ่านการตรวจจากเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำเส้นทางนั้น และจงใจปกปิด บิดเบือนไทม์ไลน์ของตนเองต่อเจ้าพนักงาน

    ผู้ต้องหาที่ชื่อชิตพล ยังถูกกล่าวโทษว่าให้ความช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือให้ความช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายให้พ้นจากการถูกจับกุม อีกข้อหาหนึ่ง

    นอกจากนี้ ยังได้มีการกล่าวโทษหญิงชาวลาว อายุ 26 ปี อีก 1 คน ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

    ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน กำลังป่วยเป็นโควิด-19 และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหนองคาย เจ้าหน้าที่ได้อายัดตัวทั้ง 3 คนไว้แล้ว เพื่อดำเนินคดีทันทีหลังจากหายป่วย

    วันที่ 24 เมษายน 2564 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว เผยแพร่ข่าวการกล่าวโทษผู้ต้องหาทั้ง 3 คน โดยระบุว่า ตั้งแต่พบการระบาดของโควิด-19 จากคลัสเตอร์แหล่งบันเทิงในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ป่วยลำดับที่ 59 ตำรวจลาวและไทยได้มีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง จนได้พบตัวผู้ที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาด และมีการอายัดตัวผู้กระทำผิดไว้แล้ว ถือเป็นความร่วมมืออย่างดีระหว่างตำรวจ 2 ประเทศ

    สำหรับผู้ต้องหาหญิงที่เป็นชาวลาวนั้น ข่าวของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาวบอกว่า ให้ได้รับโทษตามกฏหมายไทยไปก่อน หลังจากนั้นจึงจะส่งตัวเพื่อกลับมารับโทษในลาวต่อไป