ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
9 เดือนครึ่ง หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากความเคลื่อนไหวต่อต้านที่ยังคงปรากฏให้เห็นทุกวันแล้ว สถานการณ์หนึ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือความผันผวนที่เกิดในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะค่าเงินจัตเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
ล่าสุด ธนาคารกลางเมียนมาพลิกนโยบาย จากที่เพิ่งปล่อยให้เงินจัตเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีเมื่อ 3 ปีก่อน เปลี่ยนกลับมาคุมเข้มอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้ง
ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ในเมียนมาจากนี้ไปจะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
……
10 พฤศจิกายน 2564 อู ตาน ญิน ประธานธนาคารกลางเมียนมา (The Central Bank of Myanmar หรือ CBM) ได้ออกประกาศฉบับที่ 46/2021 เรื่องการแก้ไขข้อความในระเบียบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
เนื้อหาในประกาศ อ้างอำนาจตามกฏหมายจัดการเงินตราต่างประเทศ ให้เปลี่ยนแปลงเนื้อความในย่อหน้าที่ 35 โดยข้อความที่ถูกแก้ไขใหม่ กำหนดให้ผู้ซึ่งมีใบอนุญาตซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ต้องตรวจสอบจนแน่ใจเสียก่อนว่า ผู้ส่งออกที่นำเงินดอลลาร์มาขาย ต้องเป็นเงินรายได้จากการส่งออกสินค้าที่ได้รับมาไม่เกิน 3 เดือน ก่อนทำรายการ
แม้เนื้อหากล่าวถึงเงินตราต่างประเทศโดยรวม แต่เป้าหมายของ CBM น่าจะให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินจัตกับเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก
ตีความกว้างๆ ตามประกาศนี้ คือ หลังจากผู้ส่งออกได้รับเงินดอลลาร์จากการขายสินค้าออกไปยังต่างประเทศแล้ว CBM บังคับให้ผู้ส่งออกต้องนำเงินดอลลาร์ที่ได้รับมาขายเข้าระบบภายใน 3 เดือน ไม่ให้ถือครองเงินดอลลาร์ก้อนนั้นไว้นานๆ
ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 อู วิน ต่อ รองประธาน CBM ได้ลงนามแทนประธาน ในท้ายข้อกำหนดฉบับที่ 18/2021 ที่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีซื้อขายกันในแต่ละวัน ต้องยึดตามอัตราอ้างอิงที่ CBM ประกาศในตอนเช้าของทุกวัน โดยให้ซื้อขายกันในราคาที่เปลี่ยนแปลงไปจากอัตราอ้างอิงของ CBM ได้ไม่เกิน 0.5% (+/- 0.5%)
ข้อกำหนดนี้ ให้เริ่มมีผลบังคับใชตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป…
Eleven Media Group มีรายงานว่าช่วงเช้าของวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มใช้ข้อกำหนดใหม่ ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเปิดตลาด อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากวันก่อนหน้า โดยเปิดที่ 1,780 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ ลดลงจากวันก่อนหน้า 170 จัต และปิดในตอนเย็นที่ 1,783 จัต
อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ที่ CBM ประกาศในตอนเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 1,775 จัต
……
ทั้ง 2 ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ CBM แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ผันผวนของเงินจัตที่ยังไม่นิ่ง จน CBM ต้องเปลี่ยนแนวทาง กลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง
แม้ว่าค่าเงินจัตได้แข็งขึ้นมาบ้างแล้วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ หลังจากที่เคยตกลงไปต่ำสุดจนสร้างสถิติใหม่ที่ 2,700-3,000 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ เมื่อปลายเดือนกันยายน 2564
การกลับมาควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะระหว่างเงินจัตกับเงินดอลลาร์ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตทำธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ต้องยึดค่าเงินตามอัตราอ้างอิงของ CBM ที่จะประกาศออกมาทุกๆเช้า ตามประกาศฉบับที่ 46/2021 นั้น เปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับ CBM กำลังย้อนกลับไปใช้วิธีการควบคุมที่คล้ายคลึงรูปแบบดั้งเดิมซึ่งเคยใช้มาก่อนหน้านี้ และเพิ่งผ่อนคลายให้เงินจัตสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ก่อนหน้าวันที่ 14 สิงหาคม 2561 CBM เคยควบคุมความผันผวนของค่าเงิน โดยกำหนดช่วงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจัตในแต่ละวัน ให้ขึ้น-ลงได้ไม่เกิน 0.8% (+/- 0.8%) เมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศแต่ละสกุลของวันก่อนหน้า
ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2561 เป็นต้นมา CBM เริ่มปล่อยให้เงินจัตสามารถเคลื่อนไหวอย่างเสรี โดย CBM เปลี่ยนมาใช้วิธีประกาศอัตราอ้างอิงในตอนเช้าของทุกๆ วันก่อนเปิดตลาด เพื่อเป็นแนวทางกว้างๆ สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
ตามปกติ ค่าเงินจัตตามราคาตลาด มักแตกต่างไปจากอัตราอ้างอิงที่ CBM ประกาศ
เมียนมาก็เป็นเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ที่การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ตลาด ตามสภาพของอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริง
ในตลาดแรก ซึ่งเป็นตลาดในระบบ หรือบางคนอาจเรียกเป็นตลาดบน มีผู้เล่น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์กับร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจาก CBM ค่าเงินต่างประเทศที่ตัวกลางในตลาดนี้รับซื้อ มักมีช่วงห่างจากอัตราอ้างอิงที่ CBM ประกาศไม่มาก
ขณะที่อีกตลาดหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจเรียกเป็นตลาดล่างหรือตลาดมืด มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในราคาที่สะท้อนอุปสงค์ อุปทานจริง ราคาของเงินตราต่างประเทศในตลาดนี้ จึงถ่างกว้างไปจากอัตราอ้างอิงของ CBM และราคาในตลาดบน
ก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เงินจัตเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างดอลลาร์ละ 1,327-1,345 จัต
หลังรัฐประหาร เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ราคาที่ซื้อขายกันในตลาดยังไม่แตกต่างไปจากอัตราอ้างอิงที่ CBM ประกาศมากนัก
จากข้อมูลของ BETV Business สำนักข่าวด้านเศรษฐกิจการเงินในเมียนมา ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 ค่าเงินดอลล่าร์ตามอัตราอ้างอิงที่ CBM ประกาศ อยู่ที่ 1,331.7 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ อยู่ที่ 1,327 จัต และขายที่ 1,334 จัต
ค่าเงินจัตต่อเงินดอลลาร์เริ่มมีสัญญาณผันผวนในเดือนเมษายน
ในวันที่ 29 เมษายน 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,551.1 จัต ธนาคารรับซื้อ 1,520 จัต ขายที่ 1,545 จัต
วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,580 จัต ธนาคารรับซื้อ 1,585 จัต ขายที่ 1,600 จัต
วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,645 จัต ธนาคารรับซื้อ 1,668 จัต ขายที่ 1,677 จัต
ช่วงห่างระหว่างราคาตลาดกับอัตราอ้างอิงของ CBM ถูกถ่างกว้างยิ่งขึ้น หลังรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลเงาที่สถาปนาขึ้นโดยสมาชิกพรรค NLD ประกาศทำสงครามขับไล่รัฐบาลทหารให้ลงจากอำนาจในวันที่ 7 กันยายน 2564
ตลอดทั้งเดือนกันยายน เงินดอลลาร์ที่ซื้อขายกันทั้งในตลาดบนและตลาดล่างมีราคาไม่ต่ำกว่า 2,000 จัต และขึ้นไปสูงสุดที่ 2,700-3,000 จัตในช่วงปลายเดือน ขณะที่ CBM ก็พยายามคงอัตราอ้างอิงไว้ในระดับเฉลี่ย 1,750 จัต ตลอดทั้งเดือนเช่นกัน
วันที่ 13 กันยายน 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,734.3 จัต แต่ธนาคารรับซื้อที่ 2,050 จัต และขายที่ 2,100 จัต
วันที่ 29 กันยายน 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,755 จัต ธนาคารรับซื้อ 1,970 จัต และขาย 1,995 จัต แต่ราคาในตลาดล่างพุ่งขึ้นไปถึง 2,700-3,000 จัต
เดือนตุลาคม CBM จำเป็นต้องขยับอัตราอ้างอิงขึ้นมา โดยวันที่ 8 ตุลาคม 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,965.5 จัต ธนาคารรับซื้อ 2,210 จัต และขาย 2,220 จัต
วันที่ 30 ตุลาคม 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,771 จัต ธนาคารรับซื้อ 1,890 จัต และขาย 1,950 จัต
ล่าสุด หลังมีการประกาศใช้ ข้อกำหนดฉบับที่ 18/2021 ที่ให้ราคาตลาดต้องไม่แตกต่างไปกว่าอัตราอ้างอิงของ CBM เกิน 0.8% เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM อยู่ที่ 1,778.5 จัต ธนาคารรับซื้อ 1,778 จัต และขายที่ 1,786 จัต
……เดือนตุลาคม 2564 เป็นเดือนที่ CBM ได้เข้าแทรกแซงตลาดเงิน ด้วยการขายเงินดอลลาร์เข้าไปในระบบมากที่สุดนับแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา โดยมีการขายดอลลาร์ออกมาถึง 3 ครั้ง เป็นเงินรวม 110 ล้านดอลลาร์
วันที่ 18 ตุลาคม 2564 CBM ขายเงินดอลลาร์ออกมา 50 ล้านดอลลาร์ ในราคาเฉลี่ย 1,820 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ ขณะที่อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ที่ CBM ประกาศในวันนั้น อยู่ที่ 1,830.4 จัต และอัตราที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้ออยู่ที่ 2,040 จัต ขาย 2,100 จัต
วันที่ 22 ตุลาคม 2564 CBM ขายเงินดอลลาร์ออกมาอีก 30 ล้านดอลลาร์ ในราคาเฉลี่ย 1,800 จัต ในวันเดียวกัน CBM ประกาศอัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ที่ 1,820 จัต และธนาคาพาณิชย์รับซื้อที่ 1,990 จัต ขายที่ 2,040 จัต
วันที่ 26 ตุลาคม 2564 CBM ขายเงินดอลลาร์เป็นครั้งที่ 3 อีก 30 ล้านดอลลาร์ ในราคาเฉลี่ย 1,790 จัต อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM วันนั้น อยู่ที่ 1,800 จัต อัตราที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้ออยู่ที่ 1,900 จัต และขายที่ 1,950 จัต
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ก่อนมีข้อกำหนดฉบับที่ 18/2021 และประกาศฉบับที่ 46/2021 CBM เพิ่งขายเงินดอลลาร์ออกมาอีกล๊อต จำนวน 30 ล้านดอลลาร์ ในราคาเฉลี่ย 1,760 จัต โดยอัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ของ CBM ในวันนั้นอยู่ที่ 1,771 จัต อัตราที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อที่ 1,890 จัต และขาย 1,950 จัต…
นับแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 CBM แทรกแซงค่าเงิน ด้วยการขายเงินดอลลาร์เข้าไปในระบบแล้ว 40 ครั้ง เป็นวงเงินรวม 324.8 ล้านดอลลาร์ ตามรายละเอียดดังนี้
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 CBM ขายดอลลาร์ออกมา 1 ครั้ง เป็นเงินรวม 6.8 ล้านดอลลาร์
เดือนเมษายน 2564 ขายออกมา 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 12 ล้านดอลลาร์
เดือนพฤษภาคม 2564 ขายออกมา 6 ครั้ง รวม 24 ล้านดอลลาร์
เดือนมิถุนายน 2564 ขายออกมา 3 ครั้ง รวม 12 ล้านดอลลาร์
เดือนกรกฎาคม 2564 ขายออกมา 12 ครั้ง รวม 39 ล้านดอลลาร์
เดือนสิงหาคม 2564 ขายออกมา 7 ครั้ง รวม 28 ล้านดอลลาร์
เดือนกันยายน 2564 ขายออกมา 5 ครั้ง รวม 63 ล้านดอลลาร์
เดือนตุลาคม 2564 ขายออกมา 3 ครั้ง รวม 110 ล้านดอลลาร์
เดือนพฤศจิกายน 2564 CBM เพิ่งขายออกมา 1 ครั้ง รวม 30 ล้านดอลลาร์
……
แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์ที่ซื้อขายกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ หรือร้านค้าที่มีใบอนุญาตซื้อขายเงินตราต่างประเทศจาก CBM เริ่มขยับเข้ามาใกล้เคียงกับอัตราอ้างอิงที่ CBM ประกาศออกมในแต่ละวัน ตามมาตรการใหม่ที่เพิ่งถูกประกาศใช้ออกมาแล้วก็ตาม
แต่เชื่อว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในเมียนมา “ค่าเงินจัต” ยังคงไม่นิ่ง