ThaiPublica > สู่อาเซียน > ธันวาคม2565 นี้…เสียงหวูด “รถไฟลาว-จีน” ดังสนั่น

ธันวาคม2565 นี้…เสียงหวูด “รถไฟลาว-จีน” ดังสนั่น

14 เมษายน 2021


รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

เส้นทางรถไฟจากสถานีต้นทางนครหลวงเวียงจันทน์ ในเมืองไซทานีขึ้นไปยังเมืองนาซายทอง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

ธันวาคมนี้…เสียงหวูด “รถไฟลาว-จีน” ดังสนั่น

ท่ามกลางเรื่องราวหลากหลายที่ปรากฏขึ้นบนภาคพื้นภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดึงดูดความสนใจจากผู้คนจำนวนมากให้เฝ้าติดตามได้ในแต่ละวัน

แต่โครงการหนึ่งซึ่งไม่ยอมหยุดชะงัก ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องไปตามกำหนดการ นั่นคือ เส้นทางคมนาคมข้ามประเทศ…“รถไฟลาว-จีน”

30 พฤษภาคม 2564 หรืออีกประมาณ 1 เดือนครึ่งนับจากนี้ รางรถไฟจากต้นทาง สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ที่บ้านไซ เมืองไซทานี จะถูกวางยาวไปถึงปลายทาง สถานีบ่อเต็น เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เสร็จสมบูรณ์ครบทั้ง 100%

จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2564 บริษัททางรถไฟลาว-จีน ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟสายนี้ จะเริ่มนำหัวรถจักรและตู้โดยสารเข้ามาจากจีน เพื่อเริ่มทดลองวิ่งตลอดเส้นทาง ก่อนเปิดให้บริการจริงตามกำหนดการที่วางไว้ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันชาติครบรอบ 46 ปี การสถาปนา “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”

เส้นทางรถไฟจากสถานีต้นทางนครหลวงเวียงจันทน์ ในเมืองไซทานีขึ้นไปยังเมืองนาซายทอง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว
ต้นทางรถไฟที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง `ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 คณะสื่อมวลชนลาวและจีน ได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรับผิดชอบงานวางรางรถไฟตลอดเส้นทางโครงการนี้ ที่ไซส์งานของบริษัทในเมืองไซทานี จากนั้นได้ทดลองนั่งหัวรถจักรจากจุดก่อสร้างสถานีต้นทางนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังบ้านสงเปือย เมืองนาซายทอง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร

หู ปิน ประธานบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเหล่านั้นว่า บริษัทสามารถวางรางรถไฟจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านแขวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง เข้าไปยังพื้นที่แขวงอุดมไซได้แล้ว คิดเป็นระยะทาง 80% ของความยาวรางรถไฟทั้งหมด 422.4 กิโลเมตร และเชื่อว่าในวันที่ 30 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะสามารถวางรางทั้งหมดได้ครบ 100%

ประธานบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 บอกว่า งานวางรางรถไฟในโครงการทางรถไฟลาว-จีน ถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะต้องดำเนินไปท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีอุปสรรคในการทำงานมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักร บุคลากร และแรงงาน แต่งานทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าได้ตามกำหนด…

หู ปิน ประธานบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93
พนักงานขับรถไฟ ของบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว
เจ้าหน้าที่ของของบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93

บริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 ได้เริ่มวางรางรถไฟจากต้นทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563

วันที่ 29 กันยายน 2563 มีรายงานความคืบหน้าว่า สามารถวางรางจากนครหลวงเวียงจันทน์ ขึ้นไปได้แล้ว 148 กิโลเมตร หรือเท่ากับ 32%

วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่สถานที่ก่อสร้างสถานีรถไฟหลวงพระบาง มีพิธีฉลองความสำเร็จในการวางรางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบาง ระยะทาง 240 กิโลเมตร คิดเป็น 57% ของความยาวของรางทั้งหมดได้ ภายในเวลา 9 เดือน

งานวางรางรถไฟของบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 ในแขวงหลวงพระบาง ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93

คำนวณศักยภาพการวางรางของบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 สามารถทำได้เฉลี่ยวันละ 1.5 กิโลเมตร!!!

ทางรถไฟลาว-จีน เป็น 1 ในโครงข่ายคมนาคมทางรางขนาดใหญ่ที่จีนกำลังก่อสร้างตามข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง(Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่จีนนำมาใช้เชื่อมเศรษฐกิจ การค้ากับประเทศในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก

จุดเริ่มต้นของทางรถไฟลาว-จีน อยู่ที่นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน โดยจีนได้วางรางรถไฟจากเมืองยวี่ซี ผ่านเมืองผูเอ่อร์ เชียงรุ่ง(สิบสองปันนา) ลงมาถึงชายแดนจีน-ลาวที่เมืองบ่อหาน(ตรงข้ามบ่อเต็น)

ยวี่ซีอยู่ทางใต้ของนครคุนหมิง ประมาณ 90 กิโลเมตร นอกจากเป็นต้นทางของรถไฟจีน-ลาวแล้ว ยังเป็นต้นทางรถไฟจีน-เวียดนามอีกด้วย

การเริ่มต้นวางรางจากยวี่ซีลงมายังบ่อหานเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93

เส้นทางจากยวี่ซีลงมาถึงบ่อหาน ยาว 508 กิโลเมตร การรถไฟของจีนเริ่มต้นวางรางจากยวี่ซีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 หรือ 11 วัน หลังเริ่มวางรางที่นครหลวงเวียงจันทน์

หากเป็นไปตามกำหนดการ รางรถไฟทั้ง 2 เส้นจะถูกวางมาเชื่อมต่อกันที่ชายแดนลาว-จีน บ่อเต็น(แขวงหลวงน้ำทา)-บ่อหาน(สิบสองปันนา) ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564

ตรงจุดบรรจบของรางรถไฟจาก 2 ประเทศ เป็นอุโมงค์ลอดภูเขายาว 9.68 กิโลเมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อหานในฝั่งจีน ลอดทะลุภูเขามาออกยังเมืองบ่อเต็นในฝั่งลาว เส้นทางในอุโมงค์อยู่ทางฝั่งจีน 7.17 กิโลเมตร ฝั่งลาว 2.51 กิโลเมตร อุโมงค์แห่งนี้ถูกตั้งชื่อว่า “อุโมงค์มิตรภาพ”

จีนได้เริ่มระเบิดภูเขาเพื่อเจาะอุโมงค์มิตรภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 สามารถเจาะทะลุตลอดแนวได้สำเร็จ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

การวางรางลอดอุโมงค์แห่งแรกของทางรถไฟลาว-จีน ที่เมืองแสนขุม แขวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ที่มาภาพ :สำนักข่าว Xinhua

โครงการทางรถไฟลาว-จีน เริ่มมีการสำรวจ-ออกแบบมาตั้งแต่ปี 2553 ผ่านการทำบทวิพากษ์ทางเศรษฐกิจจากสภาแห่งชาติลาวในปี 2555

วันที่ 2 ธันวาคม 2558 ในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติครบรอบ 40 ปี สปป.ลาว พล.ท.จูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาวในขณะนั้น และจาง เต๋อเจียง ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางรถไฟลาว-จีนอย่างเป็นทางการ ที่บ้านไซ เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์

พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางรถไฟลาวจีน ที่นครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

แต่การก่อสร้างจริงเริ่มในอีก 1 ปีถัดมา โดยวันที่ 25 ธันวาคม 2559 มีพิธีเปิดการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการที่แขวงหลวงพระบาง โดยทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน

มูลค่าก่อสร้างทางรถไฟสายนี้สูงถึง 37,400 ล้านหยวน หรือ 5,965 ล้านดอลลาร์ 60% ของเงินลงทุน เป็นเงินกู้ที่รัฐบาลจีนให้แก่ลาวภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรน ที่เหลืออีก 40% เป็นเงินลงทุนของบริษัททางรถไฟลาว-จีน บริษัทร่วมทุนที่มีฝ่ายจีนถือหุ้น 70% อีก 30% ถือโดยรัฐบาลลาว

โครงการนี้เป็นทางรถไฟรางเดี่ยวขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ความกว้างของราง 1.435 เมตร ใช้ควบคู่กันระหว่างรถไฟขนส่งสินค้าซึ่งกำหนดความเร็วไว้ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กับรถไฟขนส่งผู้โดยสารที่กำหนดความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อุโมงค์เชียงเงินหมายเลข 3 แขวงหลวงพระบาง อุโมงค์รถไฟที่เจาะทะลุสำเร็จเป็นลำดับท้ายสุด เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93

อย่างไรก็ตาม ระบบได้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับการเดินทางในพื้นราบ ตั้งแต่วังเวียงถึงเวียงจันทน์ ให้สามารถวิ่งได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เนื่องจากพื้นที่ทางภาคเหนือของลาวเป็นเทือกเขาสูง ทำให้ 41% ของทางรถไฟต้องถูกสร้างเป็นทางยกระดับเป็นระยะทางรวมประมาณ 175 กิโลเมตร มีการสร้างสะพาน 167 แห่ง เป็นสะพานสูงข้ามหุบเหว 154 แห่ง ระยะทางรวม 67.15 กิโลเมตร หรือ 16% ของทางรถไฟทั้งหมด

มีการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา 75 แห่ง ระยะทางเฉพาะที่เป็นอุโมงค์รวมมากกว่า 190 กิโลเมตร หรือ 45% ของทางรถไฟทั้งหมด ใน 75 แห่ง มีอุโมงค์ที่ยาวเกิน 7 กิโลเมตร 7 แห่ง อุโมงค์ที่ยาวที่สุด ยาว 9.5 กิโลเมตร

อุโมงค์แห่งแรกที่ได้มีการวางรางรถไฟลอดผ่านหลังเจาะทะลุสำเร็จ อยู่ในเมืองแสนขุม แขวงเวียงจันทน์ บริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 เริ่มวางรางรถไฟเข้าไปในอุโมงคแห่งนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563

วันที่ 29 กันยายน 2563 อุโมงค์ทั้ง 75 แห่งถูกเจาะทะลุครบทั้งหมด อุโมงค์สุดท้ายที่เจาะทะลุสำเร็จในวันนั้น คืออุโมงค์เชียงเงินหมายเลข 3 แขวงหลวงพระบาง

พิธีฉลองความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์รถไฟทะลุครบทั้งหมด 75 แห่ง ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93

ตลอดแนวเส้นทางรถไฟลาว-จีน ต้องใช้พื้นที่รวมทั้งสิ้น 3,058 เฮคต้า(19,112.5 ไร่) พื้นที่ริมข้างทางรถไฟด้านละ 50 เมตรจะถูกล้อมรั้วไว้เพื่อความปลอดภัย

ทางรถไฟสายนี้มีสถานีทั้งสิ้น 32 แห่ง แบ่งเป็นสถานีขนส่งสินค้า 22 แห่ง สถานีสำหรับรับ-ส่งผู้โดยสาร 10 แห่ง ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ , โพนโฮง , วังเวียง , กะซิ , หลวงพระบาง , งา , ไซ , นาหม้อ , นาเตย และบ่อเต็น ในนี้เป็นสถานีหลัก 5 แห่ง คือนครหลวงเวียงจันทน์ , วังเวียง , หลวงพระบาง , นาเตย และบ่อเต็น

3 กรกฎาคม 2563 เป็นวันเริ่มต้นก่อสร้างสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ต้นทางของทางรถไฟลาว-จีน ที่บ้านไซ เมืองไซทานี

พิธีเริ่มต้นการก่อสร้างสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ สถานีต้นทางรถไฟลาว-จีน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93

สถานีนครหลวงเวียงจันทน์มีพื้นที่ 150 เฮคตา(937.5 ไร่) อาคารสถานีมีพื้นที่ใช้สอย 14,543 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2,500 คน

วันเดียวกับการเริ่มก่อสร้างสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างท่าเรือบกและศูนย์ขนถ่ายสินค้า ของบริษัทเวียงจัน โลจิสติก พาร์ค ที่ท่านาแล้ง เมืองหาดทรายฟอง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของโครงข่ายคมนาคมทางรางของลาว กับโครงข่ายทางรถไฟของไทย ที่มีต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟหนองคาย ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง

ต้นแบบของสถานีรถไฟหลวงพระบาง ที่มาภาพ : เพจ AeroLaos


การก่อสร้างสถานีหลวงพระบาง ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคืบหน้าไปแล้ว 45% ที่มาภาพ : เพจ AeroLaos

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 AeroLaos เพจที่นำเสนอข้อมูลด้านการคมนาคม-ขนส่ง ในลาว ได้เผยแพร่ภาพการก่อสร้างสถานีรถไฟหลวงพระบาง และภาพต้นแบบของสถานีที่ได้มีการออกแบบเอาไว้

เพจ AeroLaos ระบุว่าเป็นความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งการก่อสร้างสถานีหลวงพระบางคืบหน้าไปแล้ว 45% และตามกำหนดการ จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาวได้สัมภาษณ์จันทะจอน แก้วนะคอน ผู้ประสานงาน โครงการทางรถไฟลาว-จีน แขวงหลวงน้ำทา ถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างในพื้นที่

จันทะจอน แก้วนะคอน ผู้ประสานงาน โครงการทางรถไฟลาว-จีน แขวงหลวงน้ำทา ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

เส้นทางรถไฟลาว-จีน ส่วนที่มาจากชายแดนจีนถึงสถานีบ่อเต็น ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

จันทะจอนให้รายละเอียดว่า โครงการทางรถไฟลาว-จีนส่วนที่อยู่ในแขวงหลวงน้ำทา มีระยะทางรวม 16.9 กิโลเมตร มีการสร้างสะพานรถไฟ 7 แห่ง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา 3 แห่ง ระยะทางเฉพาะอุโมงค์รวม 10,051.5 เมตร การก่อสร้างทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้วทั้ง 100%

ในพื้นที่หลวงน้ำทา มีสถานีรถไฟ 2 แห่ง แห่งแรกได้แก่สถานีบ่อเต็น ซึ่งเป็นสถานีสำรับขนส่งผู้โดยสาร และเป็นต้นทางของทางรถไฟส่วนที่อยู่ในลาว จึงเป็นจุดที่ใช้ทำพิธีการตรวจคนเข้าเมืองด้วย โดยการก่อสร้างตัวอาคารสถานีขณะนี้คืบหน้าไปแล้ว 45%

อีกแห่งหนึ่งคือ สถานีนาเตย ซึ่งนอกจากใช้ขนส่งผู้โดยสารแล้ว ยังมีลานขนถ่ายตู้สินค้าคอนเทนเนอร์รวมอยู่ด้วย การก่อสร้างตัวสถานีคืบหน้าแล้ว 73%


การก่อสร้างสถานีรถไฟบ่อเต็น ซึ่งคืบหน้าแล้ว 45% ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างระบบระบายน้ำภายในสถานีทั้ง 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ 100% ในเดือนตุลาคมนี้

การก่อสร้างอีกส่วนหนึ่ง คือโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีรถไฟ และระบบเดินรถ ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 76% คาดว่าในเดือนมิถุนายนจะเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 100%

สำหรับผู้ที่อยู่ในลาว ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป จะสามารถเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปยังนครคุนหมิงโดยทางรถไฟได้แล้ว

  • ภาระหนี้ของรัฐบาลลาว จากทางรถไฟลาว-จีน