ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลาวประกาศเปิดเสรีธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า

ลาวประกาศเปิดเสรีธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า

9 ตุลาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ลาวได้เปรียบที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ทั่วประเทศ หลังประกาศนโยบายชัดเจนเรื่องรถไฟฟ้าออกมา ค่ายรถจากหลายประเทศน่าจะคัดสรรสินค้ามาเปิดตลาดในลาวมากขึ้น ที่มาภาพ: เพจ BYD Laos

2 ปีเต็มแล้ว ที่ลาวดำเนินมาตรการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อพัฒนาการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ

เริ่มจากการจัดสัมมนาระดับชาติเพื่อระดมสมอง ต่อด้วยการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับผู้ชำนาญการจากประเทศต่างๆ

เมื่อเห็นแนวทางที่ชัดเจน ล่าสุด รัฐบาลลาวก็ได้ประกาศนโยบายที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศออกมา

จากนโยบายนี้ ลาวในฐานะประเทศผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของอาเซียน ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 ในจำนวนรถยนต์ทุกคันที่วิ่งอยู่ในลาว มากกว่า 30% ต้องเป็นรถไฟฟ้า

……

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ประกาศนโยบายที่เป็นรูปธรรม เรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายใน สปป.ลาว

นโยบายนี้ เป็นการขยายผลวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขความยุ่งยากด้านเศรษฐกิจ-การเงิน โดยเฉพาะมาตรการประหยัด มัธยัสถ์ โดยเน้นการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ลดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ยานพาหนะ ลดมลพิษจากการใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน

ที่สำคัญ เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งลาวมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้ามาใช้เองในประเทศ และเป็นผู้ส่งออกพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ ขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน…

ด้วยนโยบายนี้ ลาวกำลังเปิดเสรีสำหรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

เริ่มตั้งแต่การเปิดเสรีการนำเข้า การจำหน่าย การลงทุนสร้างโรงงานประกอบหรือผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ การลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ตลอดจนตั้งหรือพัฒนาสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าในทุกเมือง ตามแนวทางหลวงแห่งชาติ

รัฐบาลลาวตั้งเป้าหมายว่าปี 2568 จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่วิ่งอยู่ในประเทศ ต้องเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างน้อย 1% และเมื่อถึงปี 2573 สัดส่วนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในลาวต้องมีมากกว่า 30% ของจำนวนรถที่ใช้อยู่ทั้งหมด

พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

รายละเอียดของนโยบายนี้ มี 4 มาตรา แบ่งเป็น 11 หัวข้อ แต่ละหัวข้อยังมีรายละเอียดปลีกย่อย แยกออกไปอีกนับสิบประเด็น (รายละเอียดดูได้ในภาพประกอบ)

ใจความสำคัญของนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าของลาว สามารถสรุปเป็นหัวข้อได้ดังนี้…

มาตราที่ 1 ข้อ 1.2 นโยบายต่อผู้นำเข้าและจำหน่ายรถไฟฟ้า

1. ในการสนับสนุนธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถไฟฟ้า รัฐจะไม่จำกัดโควต้าการนำเข้ารถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันราคาตามกลไกตลาด

2. รถไฟฟ้าที่จะนำเข้ามาขายในลาว ต้องรับประกันคุณภาพ ความปลอดภัยด้านเทคนิคตามมาตรฐานสากล มีศูนย์บริการหลังการขาย ศูนย์ซ่อมบำรุง เปลี่ยนถ่ายอะไหล่ รวมถึงมีระบบกำจัด-จัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมคุณภาพ ขยะและชิ้นส่วนที่เหลือจากกิจการรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเป็นระบบ

3. ต้องมีป้ายหรือเครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะสำหรับรถไฟฟ้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป สามารถจำแนกความแตกต่างกับรถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงได้ง่าย

มาตราที่ 1 ข้อ 1.3 นโยบายสำหรับผู้ผลิตและประกอบรถไฟฟ้า

1. รัฐจะส่งเสริมให้บุคคล นิติบุคคล ทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ อะไหล่ และโรงงานประกอบ (ผลิต) รถไฟฟ้า เพื่อสนองความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ

2. รัฐจะให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมด้านภาษี อากรนำเข้าสำหรับการนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วน อะไหล่ สำหรับโรงงานประกอบรถไฟฟ้า

3. ผ่อนผันอากรกำไร และค่าเช่าสัมปทานที่ดินของรัฐ ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยภาษี กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองส่วยสาอากร รวมถึงกฎหมายและระเบียบการอื่นที่เกี่ยวของของลาว

เนื้อหาของนโยบายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564

มาตราที่ 1 ข้อ 1.4 นโยบายต่อผู้ให้บริการด้านต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า

1. รัฐมีนโยบายส่งเสริมบุคคล นิติบุคคล ทั้งภายในและต่างประเทศ ที่จะลงทุนสร้างหรือพัฒนาสถานีให้บริการชาร์จไฟให้กับรถไฟฟ้า ดังนี้

1.1 ยกเว้น หรือผ่อนผันภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ และระบบสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า

1.2 กำหนดโครงสร้างราคาค่าไฟสำหรับสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า อย่างสมเหตุสมผล ที่สะท้อนให้เห็นต้นทุนและความคุ้มค่าในการลงทุน ของผู้ใช้บริการ

1.3 ให้ความสะดวกในการตั้งสถานีหรือติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟให้กับรถไฟฟ้าแต่ละประเภท อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในตัวเมืองใหญ่ ในชนบท และตามเส้นทางหลวงแห่งชาติ ทั่วประเทศ

1.4 สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง ให้หันมาพัฒนาเป็นสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า ทีละขั้นตอน

2. รัฐมีนโยบายด้านโครงสร้างราคาไฟฟ้า สำหรับสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า ดังนี้

2.1 กำหนดโครงสร้างต้นทุนรายจ่ายสำหรับผู้พัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า ประกอบด้วย

– ค่าบำรุงรักษาและค่าบูรณะทางหลวง (กองทุนถนน)
– กองทุนส่งเสริมและพัฒนาพลังงาน
– ต้นทุนและค่าบริหารของผู้ประกอบการ สำหรับไฟฟ้าระบบกระแสสลับ และระบบชาร์จกระแสตรง
– ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โครงสร้างต้นทุนเหล่านี้ ต้องถูกกำหนดไว้ตามความเหมาะสม

2.2 ให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) กำหนดโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่จะจ่ายให้แก่ผู้พัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า ในราคาตามฤดูกาล (ฤดูฝนต้องถูกกว่าฤดูแล้ง)

3. รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้บุคคล นิติบุคคล สร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายอะไหล่รถไฟฟ้า โดยผู้ที่จะลงทุนในธุรกิจศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายอะไหล่รถไฟฟ้า ต้องมีระบบบริหารจัดการขยะ เศษสิ่งที่เหลือจากการเปลี่ยนถ่ายอุปกรณ์ของรถไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่เสื่อมคุณภาพแล้ว ให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบการที่กำหนดไว้

มาตราที่ 1 ข้อ 1.5 นโยบายต่อผู้ใช้รถไฟฟ้า

1. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เป็นผู้บริการติดตั้งไฟฟ้าสำหรับเครื่องชาร์จไฟฟ้าตามบ้าน ที่อยู่อาศัย สำนักงาน หรือองค์การ เพื่อรับประกันความปลอดภัยทางด้านเทคนิค และได้รับยกเว้นไม่เสียค่ามิเตอร์ ณ สถานที่ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า

2. ผู้ใช้รถไฟฟ้าจะเสียค่าธรรมเนียมทางประจำปี ต่ำกว่าผู้ที่ใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน อย่างน้อย 30%

3. ได้สิทธิพิเศษสำหรับสถานที่จอดรถไฟฟ้าตามจุด หรือสถานที่บริการชาร์จไฟฟ้า ในพื้นที่สาธารณะ

มาตราที่ 2 เป้าหมายการใช้รถไฟฟ้าในระยะทดลอง

1. รัฐบาลจะเป็นผู้นำ และเป็นต้นแบบสำหรับการนำรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามาใช้งาน โดยเฉพาะจะเริ่มจากรถของผู้บริหารรัฐ รถประจำตำแหน่งที่จะซื้อใหม่ จะต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด จากนั้นจะผลักดันให้บรรดารัฐวิสาหกิจ รถขนส่งสาธารณะเปลี่ยนมาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ทีละขั้นตอน

2. ส่งเสริมและผลักดันให้องค์การจัดตั้ง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ที่อยู่ตามตัวเมืองใหญ่ ชานเมือง และตามเส้นทางหลวงแห่งชาติ เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ตามเงื่อนไข ศักยภาพของแต่องค์กร หรือแต่ละคน

มาตราที่ 3 ทิศชี้นำแนวทางปฏิบัติโดยรวม

1. ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องเป็นเจ้าภาพ รับผิดชอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ สร้างนิติกรรม แผนการหรือโครงการโดยละเอียด เพื่อส่งเสริม ควบคุม อำนวยความสะดวกให้แก่กิจการที่จะเปลี่ยนไปใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ตามสิทธิ หน้าที่ และภาระบทบาทของแต่ละหน่วยงานดังนี้

1.1 ให้กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ เป็นศูนย์กลาง สมทบกับภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการวางนโยบายและแผนแม่บทสำหรับปฏิบัติงานจริง ในการ

  • เปลี่ยนการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
  • สร้างนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จไฟฟ้า
  • กำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย และการชาร์จไฟฟ้าแบบสาธารณะ ให้แก่ผู้ลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าและผู้ใช้
  • ส่งเสริมและจูงใจเพื่อให้การใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง

1.2 ให้กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เป็นเจ้าภาพในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การค้นคว้า ร่างระเบียบการ และกำหนดมาตรฐาน เกี่ยวกับเทคนิคและความปลอดภัยของรถไฟฟ้าที่สอดคล้องกับภาคพื้นและสากล ที่ลาวได้เข้าร่วมเป็นภาคีในแต่ละระยะ
  • รับรองมาตรฐานเทคนิคสำหรับการนำเข้า และการประกอบ (ผลิต) รถไฟฟ้าภายในประเทศ
  • กำหนดกลไกการขึ้นทะเบียน การตรวจสภาพ เทคนิค รวมถึงการออกแบบป้ายทะเบียนหรือเครื่องหมายของรถไฟฟ้า
  • 1.3 ให้กระทรวงการเงินเป็นแกนกลาง ประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระเบียบการและกลไก ในการให้นโยบายด้านภาษี อากร และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวพันธ์กับการส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟฟ้า และสถานีชาร์จไฟฟ้า รวมถึงการนำเข้าอุปกรณ์ ชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถไฟฟ้า

    1.4 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เป็นเจ้าภาพในการกำหนดนิติกรรมและกลไกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ที่จะทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่าย รถไฟฟ้า อุปกรณ์รถไฟฟ้า และผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริม ควบคุม ตรวจตรา การนำเข้า การจำหน่าย ผลิตชิ้นส่วน ประกอบรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ สถานีบริการชาร์จไฟฟ้า รวมทั้งควบคุมราคาจำหน่ายรถไฟฟ้าภายในประเทศ

    1.5 ให้กระทรวงป้องกันความสงบเป็นเจ้าภาพ ประสานสมทบกับกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ในการผลิตและติดป้ายของรถไฟฟ้า หรือเครื่องหมายสำหรับรถไฟฟ้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่และสังคมจำแนกได้ง่าย รวมถึงการควบคุมการจราจรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่

    1.6 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ ประสานสมทบกับแขนงการที่เกี่ยวข้อง

    • กำหนดข้อชี้แนะสำหรับการกำจัด จัดการกับแบตเตอรี่ที่เสื่อมคุณภาพ ขยะและเศษสิ่งที่เหลือจากกิจการรถไฟฟ้า
    • อำนวยความสะดวกให้กับกิจการพัฒนารถไฟฟ้า และสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่มีความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนที่เกี่ยวพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ การพัฒนาสีเขียว และการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด

    2. มอบให้ทุกแขนงการที่เกี่ยวข้อง เร่งออกคำแนะนำ หรือระเบียบการตามการแบ่งความรับผิดชอบในข้อ 1 ให้เสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่นโยบายนี้มีผลในทางปฏิบัติ

    3. ให้แต่ละกระทรวง องค์กรของรัฐที่เทียบเท่ากระทรวง นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงต่างๆ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องรับรู้และให้ความร่วมมือ พร้อมปฏิบัติตามนโยบายนี้ให้ปรากฏผลเป็นจริง

    4. มอบให้รองนายกรัฐมนตรี ผู้ชี้นำงานด้านเศรษฐกิจ เป็นผู้ติดตาม ผลักดัน การปฏิบัติตามนโยบายนี้ของแต่ละหน่วยงาน และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบเป็นระยะ

    มาตราที่ 4 ให้นโยบายนี้มีผลศักดิ์สิทธิ์ นับแต่ได้มีการลงลายมือชื่อเป็นต้นไป
    ……

    รัฐบาลลาวเริ่มวางแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศ มาเป็นเวลามากว่า 2 ปี

    เริ่มจากการจัดสัมนาใหญ่ในหัวข้อ Laos National Electric Vehicle Summit 2019 ขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค แม่โขง ริเวอร์ไซด์ นครหลวงเวียงจันทน์

    จากนั้น หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับภาคธุรกิจจากประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในลาวทีละจุด จนได้ข้อสรุป และประกาศเป็นนโยบายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศครั้งนี้…

  • “แนวทางพัฒนา การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในลาว”
  • ท่ามกลางบรรยากาศโดยรวมค่อนข้างเงียบเหงา อันเป็นผลพวงของโควิด-19 แต่จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ ลาว เลือกจัดงานเปิดตัวรถ Jaguar I-PACE อย่างยิ่งใหญ่ ในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ: เพจ Jaguar Laos
    จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ ลาว จัดงานเปิดตัวรถ Jaguar I-PACE อย่างยิ่งใหญ่ ในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ: เพจ Jaguar Laos

    อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นโยบายอันเป็นรูปธรรมจะถูกประกาศออกมา ธุรกิจยานยนต์ในลาว ได้เดินหน้าเรื่องนี้ไปแล้วในระดับหนึ่ง

    วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ขณะที่ธุรกิจการค้าในลาวต้องประสพกับความเงียบเหงา จากการระบาดของโควิด-19 บริษัทจากัวร์ แลนด์โรเวอร์ ลาว จัดงานเปิดตัวรถ Jaguar I-PACE รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของค่ายจากัวร์ จากอังกฤษ งานนี้จัดที่หอประชุมแห่งชาติลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีสีมาวา สุพานุวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ และ John Pearson เอกอัคราชทูตอังกฤษ ประจำ สปป.ลาว ไปร่วม

    ก่อนหน้านั้นเดือนเศษ วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 BYD Laos ค่ายรถจากจีนที่เข้ามาทำตลาดในลาวตั้งแต่ปี 2552 ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่น e2 รถซีดานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100%

    ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2564 ได้มีการแนะนำรถ BYD Yuan ev รถ SUV ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยใช้จุดขายในคุณลักษณะที่เหมาะสมกับถนนในลาว

    ถัดจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ BYD ก็ได้แนะนำรถรุ่น TANG EV รถไฟฟ้าเอนกประสงค์ในตลาดลาว เพิ่มออกมาอีกรุ่น

    BYD จากจีนที่เข้ามาทำตลาดรถยนต์ในลาวมานานกว่า 10 ปี เป็นแบรนด์ที่รุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของลาวอย่างมาก ที่มาภาพ: เพจ BYD Laos
    ……

    ในด้านพลังงานไฟฟ้าแล้ว ลาวมีความได้เปรียบหลายประเทศ ตรงที่มีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

    หลังรัฐบาลลาวประกาศนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศออกมาในครั้งนี้ จึงน่าจะดึงดูดค่ายรถ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป คัดสรรสินค้ามาเปิดตัวในลาวมากขึ้น…