ThaiPublica > สู่อาเซียน > แนวทางพัฒนา การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในลาว

แนวทางพัฒนา การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในลาว

30 กรกฎาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ความต้องการให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ทำให้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในลาว เป็นตลาดที่มีสีสันน่าสนใจ ที่มาภาพ: เพจ EVLao

20 กว่าปีก่อน ลาวเริ่มต้นวางตำแหน่งประเทศให้เป็นแบตเตอรี่ของอาเซียน ทุกวันนี้ทั่วประเทศลาวมีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขึ้นมากกว่า 100 แห่ง กำลังการผลิตเกือบ 10,000 เมกะวัตต์

เพื่อให้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จึงมีความพยายามผลักดันให้นำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในลาวให้มากขึ้น

รถยนต์ไฟฟ้าในลาว กำลังเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีสีสันน่าสนใจ

……

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน ได้มีพิธีส่งมอบรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าชุดแรกที่จีนให้ความช่วยเหลือแก่ลาว ตามโครงการความร่วมมือ “ใต้-ใต้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศ”

ตัวแทนฝ่ายจีนประกอบด้วย Jiang Zhaoli รองหัวหน้าแผนกรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ กระทรวงนิเวศน์วิทยาและสิ่งแวดล้อม Chen Peng รองผู้ว่าราชการเมืองฉางซา และ Ye Chenghui ผู้อำนวยการฝ่ายขาย รถยนต์ BYD Asia Pacific ส่วนตัวแทนฝ่ายลาวมี บุน อินทะยันดิด กงศุลใหญ่ลาว ประจำเมืองฉางซา กับสุละเดด สุกจะเลิน รองหัวหน้าแผนกแผนการและการเงิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พิธีส่งมอบรถไฟฟ้า 28 คัน ที่ผลิตจากโรงงาน Changsha BYD เพื่อนำมาใช้ทดสอบในลาว เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคมที่ผ่านมา ที่มาภาพ: เพจ BYD Laos

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงนิเวศน์วิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน ในโครงการความร่วมมือ “ใต้-ใต้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศ” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยคัดเลือกเอาเขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการนี้

จีนได้มอบรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ายี่ห้อ BYD ล็อตแรก จำนวน 28 คัน ที่ผลิตโดยโรงงานของบริษัท Changsha BYD ประกอบด้วย รถเก๋ง EV รถเมล์ไฟฟ้า 12C8 และรถบรรทุกไฟฟ้า 8T5D ทั้งหมดจะถูกนำไปวิ่งใช้งานในเขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถา เพื่อทดสอบแผนการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

มีการคาดหมายว่า การนำรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในลาว จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 1,243 ตันในแต่ละปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 100,000 ต้น

รถไฟฟ้า BYD 3 รุ่น ที่กำลังจะนำมาทดลองวิ่งในเขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถา ที่มาภาพ: เพจ BYD Laos
รถไฟฟ้า BYD 3 รุ่น ที่กำลังจะนำมาทดลองวิ่งในเขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถา ที่มาภาพ: เพจ BYD Laos

BYD เป็นรถยนต์สัญชาติจีนแบรนด์แรกที่ได้เข้าไปทำตลาดในลาวตั้งแต่เมื่อปี 2552 ปัจจุบัน ในลาวมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันของ BYD วิ่งอยู่ประมาณ 2,000 คัน และรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอีกประมาณ 100 คัน

รถยนต์ไฟฟ้า รุ่น e2 ที่ BYD Laos เพิ่งนำมาเปิดตัวในตลาดลาว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มาภาพ: เพจ BYD Laos

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา BYD Laos เพิ่งเปิดตัวรถรุ่น e2 รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% คุณสมบัติเด่นของรถรุ่นนี้ที่ BYD นำมาโฆษณาคือความประหยัด เพราะเมื่อชาร์จไฟเต็มที่แล้วสามารถวิ่งได้ไกลถึง 305 กิโลเมตร ด้วยต้นทุน 28,000 กีบ หรือประมาณ 85 บาท คิดเป็นอัตราการสิ้นเปลือง 90 กีบ หรือไม่ถึง 25 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร

……

เขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถาหรือเขตพัฒนากวมลวมไซเสดถา เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพียงแห่งเดียวของจีนในนครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยการร่วมทุนระหว่างองค์การบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ กับบริษัทลงทุนต่างประเทศมณฑลยูนนาน ตั้งเป็นบริษัทร่วมลงทุนลาว-จีน ขึ้นเพื่อทำนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้

บริษัทลงทุนต่างประเทศมณฑลยูนนาน เป็นบริษัทลูกในกลุ่มบริษัทก่อสร้างและลงทุนมณฑลยูนนาน ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านหยวน มีสินทรัพย์ 1.6 หมื่นล้านหยวน และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

เขตพัฒนาครบวงจรไซเซดถาตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,149 เฮกตาร์ หรือ 7,181.25 ไร่ ตรงช่วงรอยต่อระหว่างเมืองไซเสดถากับเมืองไซทานี เกือบใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว ใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดรับนักลงทุนจากทุกประเทศที่ต้องการเข้ามาตั้งโรงงาน

ปัจจุบัน มีกิจการ 86 แห่งจาก 7 ประเทศเข้าไปตั้งโรงงานในเขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถาแล้ว เช่น บริษัท Hoya จากญี่ปุ่น, บริษัทยาสูบ ลาว-จีน, บริษัทความหวังใหม่, บริษัทโกลเด้นลาว, บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลาว-จีน ต่งหย่านฯลฯ

ใกล้ๆ กับเขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถา ยังเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจเฉพาะบึงทาดหลวง โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ขนาดใหญ่ บนพื้นที่ 365 เฮกตาร์ หรือ 2,281.25 ไร่ ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับบริษัทหว่านเฟิง เซี่ยงไฮ้ จากจีนอีกเช่นกัน

……

ลาวมีเป้าหมายจะใช้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เองในประเทศให้มากที่สุด แม้ว่าโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่หลายแห่งปัจจุบัน ทั้งเขื่อนและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นการลงทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคต เมื่อสัมปทานโครงการเหล่านี้หมดอายุลง กรรมสิทธิ์ในเขื่อนและโรงงานผลิตไฟฟ้าทุกแห่ง ก็ต้องตกเป็นของรัฐบาลลาว

ข้อมูลล่าสุดจากเวทีสัมมนาเรื่อง “ราคาไฟฟ้าและไฟฟ้าลาว ปี 2021-2025” ที่ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ระบุว่าปัจจุบันลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9,972 เมกะวัตต์ จากแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศ 78 แห่ง

ใน 78 แห่ง เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 67 แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 6 แห่ง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ส่วนใหญ่ส่งขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าอีกหลายแห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เตรียมผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของลาวอีกในอนาคตอันใกล้…

พิธีเซ็น MOU ระหว่าง Geely Technology Group รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว และบริษัทกริดติพง กรุ๊ป เพื่อรวมพัฒนาการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในลาว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าว Xinhua

เมื่อวันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีเซ็น MOU ระหว่าง Geely Technology Group กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) และบริษัทกริดติพง กรุ๊ป

เนื้อหาใน MOU ระบุให้คู่สัญญาทั้ง 3 ฝ่ายร่วมกันศึกษาเพื่อพัฒนาการนำยานยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในลาว การจัดตั้งศูนย์บริการ สถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะตามสถานที่ต่างๆ เช่น ในอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ตลาด และในชุมชนต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร รวมถึงกลไกสนับสนุนจากภาครัฐ

เป้าหมายของ MOU ที่ทั้ง 3 ฝ่ายร่วมกันเซ็นครั้งนี้ เพื่อต้องการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และลดมลพิษในอากาศ ด้วยการนำพลังงานสะอาดมาใช้สำหรับยานพาหนะ

คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ของลาวขณะนั้น ซึ่งได้มาเป็นประธานในการเซ็น MOU กล่าวว่า ลาวเป็นประเทศซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากธรรมชาติ การพัฒนายานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 2025 และวิสัยทัศน์ประเทศ 2030 มีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม และสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวต่อว่า ทั้ง Geely, EDL และกริดติพง กรุ๊ป ได้ใช้เวลาในการหารือเกี่ยวกับโครงการนี้มาระยะหนึ่งแล้วจนได้ข้อสรุป นำมาซึ่งการเซ็น MOU ร่วมกันในครั้งนี้

Geely Technology เป็นบริษัทในเครือ Zhejiang Geely Holding Group บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของจีน ที่มีฐานอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง

Geely ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 ในปี 2553 Geely ขยายตัวครั้งใหญ่ด้วยการซื้อกิจการ Volvo ค่ายรถยนต์จากสวีเดนด้วยมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเซ็นสัญญาออนไลน์ แต่งตั้งมะนียม โอโต กรุ๊ป เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเครือ Geely ในลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มาภาพ: เพจ Geely Laos

รถยนต์ Geely เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในตลาดรถของลาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้แต่งตั้งบริษัท มะนียม โอโต กรุ๊ป เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเครือ Geely ในลาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้มะนียม ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับรถอีกหลายแบรนด์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Geely ได้แก่ Volvo, Lynk & Co, Zeekr, Lotus, Polestar, Proton Cars, Smart, Geometry และ LEVC

มะนียม โอโต กรุ๊ป ก่อตั้งเมื่อประมาณปี 2544 โดยสุกสะหมอน สีหะเทพ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

สุกสะหมอนเริ่มต้นธุรกิจจากร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์ แต่ด้วยความเป็นคนที่ชื่นชอบในรถยนต์ จึงค่อยๆ สร้างธุรกิจนี้ด้วยการซื้อรถยนต์ใช้แล้วมาปรับสภาพใหม่ และจอดติดป้ายขายอยู่หน้าร้านมินิมาร์ทของตนเอง

ด้วยทิศทางเศรษฐกิจของลาวขณะนั้นที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จากจุดเริ่มต้นขายรถยนต์มือสองหน้าร้านมินิมาร์ท เริ่มขยับฐานะขึ้นเป็นผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ เน้นที่รถหรูและราคาแพง จนได้กลายเป็นผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายใหญ่ที่สุดของลาวในอีก 10 ปีต่อมา

ปี 2554 มะนียมได้เป็น Exclusive Distributor ทำหน้าที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ Chevrolet แต่เพียงผู้เดียวในลาวให้กับ General Motors (GM) รวมถึงได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่อง จักรหนักให้กับ Hyundai Heavy Industries และตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกใหญ่ของ Tata Daewoo Commercial Vehicle จากเกาหลีใต้ แต่เพียงผู้เดียวในลาวด้วยเช่นกัน

ส่วนกริดติพง กรุ๊ป เริ่มต้นธุรกิจจากรับเหมาก่อสร้าง เมื่อประมาณปี 2548 และค่อยๆ ขยายตัวออกมาเรื่อยๆ ในปี 2552 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจากกริดติพง ก่อสร้าง เป็นบริษัทกริดติพง กรุ๊ป และขยายธุรกิจออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษาการลงทุน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว

……

อีวี ลาว ได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ในโครงการนำร่องสร้างสถานีชาร์จไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้า ตามจุดสำคัญๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ก่อนเป็นพื้นที่แรก ที่มาภาพ: เพจ EVLao

ลาวได้ประกาศเจตนารมย์จะนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในประเทศตั้งแต่เมื่อปี 2562 เริ่มจากการจัดสัมนาใหญ่ในหัวข้อ Laos National Electric Vehicle Summit 2019 ขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค แม่โขง ริเวอร์ไซด์ นครหลวงเวียงจันทน์

ระหว่างงานสัมมนา รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ได้เซ็น MOU กับบริษัทอีวี ลาว ในโครงการนำร่องระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ใน MOU นี้ อีวี ลาว จะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขึ้นตามจุดสำคัญๆ ทั่วประเทศลาว เริ่มจากในนครหลวงเวียงจันทน์ก่อนเป็นพื้นที่แรก

บริษัทอีวี ลาว เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Chosen Energy จากประเทศไทย กับบริษัทหลวงปะเสิด ก่อสร้าง มีบุนเลิด หลวงปะเสิด เป็นประธาน

หลังเซ็น MOU อีวี ลาว วางเป้าหมายที่จะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ขึ้นอย่างน้อย 20 แห่ง ในนครหลวงเวียงจันทน์

คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวในพิธีเซ็น MOU ว่า รัฐบาลลาวมีแผนจะนำรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในเขตเมืองขนาดใหญ่ เพื่อลดการนำเข้านำมันและลดการสร้างมลพิษ จึงต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการศึกษา วางโครงสร้างระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมศูนย์ซ่อมบำรุงและอะไหล่ ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านั้น

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ บอกว่า ปี 2561 ลาวได้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 2,000 ล้านลิตร ทำให้ต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศไปมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่ลาวอุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีศักยภาพอย่างมาก สามารถผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติเหล่านี้ได้ถึง 26,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ปัจจุบันลาว กลับพัฒนาพลังงานไฟฟ้าได้เพียง 20% ของศักยภาพที่มีอยู่

ปัจจุบัน ในนครหลวงเวียงจันทน์สามารถพบเห็นสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ของอีวี ลาว ได้แล้วอย่างน้อย 9 แห่ง ได้แก่ ที่กระทรวงพลังงานและบ่อแร่, สำนักงานใหญ่ EDL, สำนักงาน EDL ที่เมืองสีโคดตะบอง, สำนักงานใหญ่ของอีวี ลาว ที่เมืองจันทะบูลี, ร้านอาหาร Mark Two, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1, สำนักงานสภาการค้าและอุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และโชว์รูมของบริษัท MG City

จุดชาร์จไฟที่กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ที่มาภาพ: เพจ EVLao
จุดชาร์จไฟที่ด่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ที่มาภาพ: เพจ EVLao

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 บริษัทอีวี ลาว ได้เซ็น MOU กับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบชำระเงินค่าชาร์จไฟด้วยบัตรสมาร์ทการ์ดของ BCEL สำหรับอำนวยความสะดวกกับผู้ที่ใช้รถยนต์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในลาว โดยผู้ถือบัตรสมาร์ทการ์ดของ BCEL สามารถชำระเงินค่าชาร์จไฟฟ้าได้โดยการตัดยอดเงินในบัตรสมาร์ทการ์ด

พิธีเซ็น MOU ระหว่างบริษัทอีวี ลาว กับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบชำระเงินค่าชาร์จไฟด้วยบัตรสมาร์ทการ์ด ที่มาภาพ: เพจ EVLao

……

ลาวเริ่มวางตำแหน่งประเทศให้เป็นแบตเตอรี่ของอาเซียนตามวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” ของลุงไกสอน พมวิหาน ในทศวรรษ 2530 จากนั้นอีก 20 กว่าปี ทั่วประเทศลาวมีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขึ้นมากกว่า 100 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้งสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์

การผลักดันให้นำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้มากขึ้นในลาว เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยได้แรงสนับสนุนที่ได้รับจากประเทศจีน น่าจะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของลาวเป็นตลาดหนึ่งที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง

แต่ผู้เล่นในตลาดนี้ ไม่ได้มีจากจีนเพียงประเทศเดียว…

การเซ็นสัญญาแต่งตั้งให้บริษัทพงซับทะวี เป็นผู้ทำตลาดให้กับ VinFast รถยนต์สัญชาติเวียดนามในลาว เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 น่าจะเป็นการเพิ่มผู้เล่นที่จะสร้างความคึกคักให้กับตลาดนี้ได้มากขึ้นอีก เพราะผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ VinFast คือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

ยานยนต์ไฟฟ้าในลาว น่าจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีสีสันน่าสนใจ…