ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ผลลัพธ์” จากสงคราม “ลับ” ในลาว

“ผลลัพธ์” จากสงคราม “ลับ” ในลาว

26 พฤศจิกายน 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เหล่าเรือหางยาวที่ประยุกต์มาจากถังน้ำมันสำรองของเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามลับในลาว ที่มาภาพ : เพจ Sourioudong Sundara

สงคราม “ลับ” ที่สหรัฐอเมริกาเคยมีปฏิบัติการอยู่ในลาว จบสิ้นไปแล้ว 46 ปี

แต่เสียง “ความลับ” ของสงคราม กลับดังให้ได้ยินโดยตลอด และยังคงดังต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ทั้ง “เสียง” และ “ซาก” จากสงคราม ที่คนรุ่นหลังกำลังพยายามจัดการ บ่งบอกชัดเจนว่า “สงคราม” เพียงเพื่อผลประโยชน์ของประเทศหนึ่ง ในดินแดนของอีกประเทศหนึ่งนั้น ไม่ได้ส่งผลดีแต่อย่างใด

……

17 พฤศจิกายน 2564 “สุลิอุดง สุนดาลา” รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว ได้โพสต์ภาพชุดหนึ่งลงในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเขียนบรรยายว่า…

“อัศจรรย์ใจ” ถังน้ำมันสำรองของเครื่องบินทิ้งระเบิดช่วงสงคราม “ลับ” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและประเทศบริวารภายในดินแดนลาว (1963-1973) กลับกลายมาเป็นเรือข้ามแม่น้ำ สำหรับการเดินทางเยี่ยมเยือนเพื่อ “สันติภาพ” ที่บ้านแก้วแสนคำ เมืองคำเกิด แขวงบ่อลิคำไซ

ภาพในโพสต์ของท่านสุลิอุดง เป็นกลุ่มเรือหางยาวรับจ้าง มีทั้งที่กำลังจอดรอรับผู้โดยสารอยู่ริมฝั่งน้ำ และกำลังแล่นนำผู้โดยสารไปส่ง

เรือทุกลำไม่ได้สร้างขึ้นจากไม้ แต่ประยุกต์ด้วยการนำถังน้ำมันสำรองของเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ถูกใช้ในสงครามอินโดจีนมาผ่าครึ่ง ติดตั้งเครื่องยนต์ตรงช่วงท้าย ทำให้แล่นในน้ำได้เหมือนกับเรือหางยาว(โปรดดูภาพประกอบ)

……

สหรัฐอเมริกา “ไม่ได้ประกาศสงคราม” กับลาว ในช่วงสงครามอินโดจีน แต่เพื่อ “ผลประโยชน์” ที่ต้องการเอาชนะเวียดนามคู่สงครามตัวจริง สหรัฐอเมริกาจึงส่งทหารรับจ้างจากหลายประเทศรวมทั้งจากไทย เข้าไปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ต่างๆของลาว โดยมีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ที่เมืองล่องแจ้ง ในแขวงไซสมบูน ทางตอนเหนือของเวียงจันทน์

อ่าน “ล่องแจ้ง”…แปลงสนามรบเป็นแหล่งรายได้

สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับลาวในตอนนั้น บางคนเรียกเป็น “สงครามที่ไม่ได้ประกาศ” หลายคนเรียกสั้นๆว่า “สงครามลับ”

แต่ปฏิบัติการทางทหารในภาคพื้นดินยังไม่น่าสะพรึงกลัวเท่ากับการโจมตีทางอากาศ ที่สหรัฐอเมริกานำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดปูพรมในภูมิภาคต่างๆของลาว เพื่อหวังผลในชัยชนะ

ระเบิดตกค้างที่นำมาแสดง ในพิธีมอบระเบิดให้กระทรวงป้องกันประเทศนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงพิษภัยของสงคราม ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ประชากรทั่วประเทศลาวในช่วงที่กำลังมีสงครามอินโดจีน มีอยู่เพียงประมาณ 1 ล้านคน!!!

“ลาวเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดหนักที่สุดในโลก เมื่อเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร ในช่วงสงครามอินโดจีน ระหว่างปี 1964 ถึง 1973(พ.ศ.2507-2516) ลาวกลายเป็นสมรภูมิสู้รบที่ร้ายแรง ทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศ จักรวรรดิอเมริกาได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ดินแดนของลาวถึง 580,000 เที่ยว มีการทิ้งระเบิด 1 เที่ยว เฉลี่ยทุก 8 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 9 ปี มีระเบิดถูกทิ้งลงมามากกว่า 2 ล้านตัน ในนั้นเป็นระเบิดลูกหว่าน(Cluster Bomb) มากกว่า 270 ล้านลูก และคาดว่ามีประมาณ 30% หรือ 80 ล้านลูก เป็นระเบิดบ่ทันแตกที่ยังคงตกค้างอยู่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 87,000 ตารางกิโลเมตร เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของลาว มาจนถึงทุกวันนี้”

เนื้อหาข้างต้น ถอดความโดยตรงจากคำกล่าวของโจมแยง แพงทองสะหวัด หัวหน้าสำนักงาน คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดบ่ทันแตก(ระเบิดตกค้าง) อยู่ในลาว ซึ่งได้รายงานต่อหน้าแขกเหรื่อที่เป็นบุคคลสำคัญจำนวนมาก ที่ได้รับเชิญมาร่วมในพิธีส่งมอบระเบิดตกค้างและสรรพาวุธที่ปลดชนวนแล้ว ให้แก่กระทรวงป้องกันประเทศ

พิธีนี้เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยมีใบคำ ขัดติยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นตัวแทนผู้มอบ และ พลโททองลอย สิลิวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ เป็นผู้รับมอบ

มีระเบิดหลายลูกถูกนำมาแสดงในพิธีส่งมอบครั้งนี้

พิธีส่งมอบระเบิดตกค้างให้แก่กระทรวงป้องกันประเทศ ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ระเบิดลูกที่ใหญ่ที่สุด เป็นระเบิดขนาด 3,000 ปอนด์(1,360.7 กิโลกรัม) จำนวน 1 ลูก ระเบิดขนาดนี้หากถูกทิ้งลงมาแล้วเกิดระเบิดขึ้น จะมีรัศมีการทำลายล้างกว้างถึง 500 เมตร ส่วนใหญ่กองทัพสหรัฐอเมริกา บรรทุกระเบิดขนาดนี้ไปกับเครื่องบินบี 52 เพื่อนำไปทิ้งในภาคเหนือของลาวและเวียดนาม

ระเบิดลูกที่ย่อมลงมาเป็นระเบิดขนาด 2,000 ปอนด์(907 กิโลกรัม) จำนวน 1 ลูก ระเบิดขนาดนี้ เมื่อถูกทิ้งลงมามีอานุภาพทำลายล้างสูง ถึงขนาดทำให้หมู่บ้านขนาดเล็กละลายหายไปได้ทั้งหมู่บ้าน

ส่วนระเบิดลูกที่เบากว่า มีระเบิดขนาด 750 ปอนด์ 3 ลูก ขนาด 500 ปอนด์ 6 ลูก ขนาด 250 ปอนด์ 1 ลูก รวมถึงสรรพาวุธอื่นๆ เช่น จรวด ลูกปืนใหญ่ กระสุนปืนครก ตลอดจนเอกสารหลักฐานสำคัญ ได้แก่ แผนที่และข้อมูลการทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาในลาว แผ่นป้ายแสดงข้อมูลของ Cluster Bomb แผ่นป้ายข้อมูลความเสี่ยงของระเบิดตกค้าง แผนที่ปฏิบัติงานขององค์การปฏิบัติงานเพื่อมนุษยธรรมแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้าง และวิดีโอการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้างฯลฯ

หลังรับมอบแล้ว กระทรวงป้องกันประเทศจะนำระเบิดและสรรพาวุธทั้งหมด ไปวางแสดงยังหอพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กองทัพประชาชนลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา เรียนรู้ถึงพิษภัยของสงคราม รวมถึงปลุกจิตสำนึก เกี่ยวกับการต่อสู้อันกล้าหาญของกองทัพประชาชนปฏิวัติลาวในอดีต

ระเบิดขนาด 750 ปอนด์ ที่สหรัฐอเมริกาทิ้งลงยังแขวงหัวพันเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน เพิ่งถูกทำลายเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้ที่อาจจะไปเจอ ที่มาภาพ : UXO LAO

……

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ทีมงานเก็บกู้วัตถุระเบิดตกค้าง จากโครงการเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติ(Lao National Unexploded Ordnance Programe : UXO LAO) ได้เข้าทำลายระเบิดขนาดใหญ่ หนัก 750 ปอนด์ ที่ได้ถูกดินกลบมิดอยู่ที่บ้านน้ำนาด เมืองหัวเมือง แขวงหัวพัน

กองทัพสหรัฐอเมริกาได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดลูกนี้ไว้เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่ระเบิดกลับไม่ระเบิด ตัวลูกระเบิดยังคงจมอยู่ในดินและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ที่อาจสัญจรผ่านไป-มา แม้ว่าสงครามจบสิ้นลงไปแล้ว

เนื่องจากเป็นระเบิดลูกใหญ่และมีฟิวส์อันตราย ไม่สามารถเคลื่อนย้ายระเบิดไปที่อื่นได้ จำเป็นต้องทำลาย ณ ที่ซึ่งระเบิดตกค้างอยู่ในผืนดิน

ขั้นตอนการทำลายต้องทำอย่างละเอียดอ่อน ระมัดระวัง และต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ(โปรดดูภาพประกอบ)

UXO LAO เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ ทั้งด้านเงินทุน บุคลากร และอุปกรณ์สำหรับใช้เก็บกู้ระเบิด เริ่มปฏิบัติการในลาวมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ภารกิจการเก็บกู้ระเบิดตกค้างของเจ้าหน้าที่ลาว ได้เริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

จนถึงทุกวันนี้ หลายพื้นที่ของลาวยังคงมีระเบิดตกค้างอีกหลายลูกที่ยังคงรอให้เก็บกู้

รัฐบาลลาวถือว่าระเบิดตกค้างเหล่านี้คืออุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หลายพื้นที่ซึ่งมีระเบิดตกค้างอยู่ใต้ดิน ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน เพราะไม่รู้ว่าระเบิดเหล่านั้นอาจเกิดระเบิดขึ้นได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

……

สงครามอินโดจีนจบสิ้นลง 46 ปีมาแล้ว เมื่อกองทัพเวียดนามเหนือเข้ายึดกรุงไซง่อนได้สำเร็จ ในวันที่ 30 เมษายน 2518 หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนามก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน

สงคราม “ลับ” ในลาว ก็สิ้นสุดลงพร้อมกัน

ในปี 2559 บารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา มีกำหนดเดินทางมาเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ลาวเป็นเจ้าภาพ

โอบามาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้มาเยือนลาวขณะดำรงตำแหน่ง และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้เข้ามาในลาวหลังจากสงคราม “ลับ” จบสิ้นลงเมื่อ 41 ปีก่อน

ก่อนหน้านั้นเกือบ 1 ปี วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เว็บไซต์ laopost.com มีบทความหัวข้อ “ลาวจะได้อะไรจากการมาเยือนของบารัค โอบามา ?” เนื้อหาแสดงความชื่นชมต่อการเดินทางมาเยือนลาวของโอบามา แบบเมื่อได้อ่านแล้ว หลายคนอาจรู้สึก “เจ็บๆ คันๆ”

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวสุนทรพจน์ที่หอประชุมวัฒนธรรมแห่งชาติลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 โดยจะให้ความช่วยเหลือลาวเก็บกู้วัตถุระเบิดตกค้างเป็นเงิน 90 ล้านดอลลาร์ ที่มาภาพ : สำนักข่าว Reuters

ถอดความเนื้อหาบทความชิ้นนี้ได้ว่า…

“…ขปล. แหล่งข่าวไทยเปิดเผยผ่านวิทยุตอนเช้า เวลา 7.30 น. ของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2015 นี้ว่า ท่านบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีแผนจะมาเยี่ยมเยียน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ในปี 2016 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมรอบข้าง ที่ สปป.ลาวจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ลาวที่ไม่เคยมีมาก่อน และพร้อมส่งสัญญานถึงความสัมพันธ์ ความร่วมมือที่มีหลายสีหลายสันของทั้ง 2 ฝ่าย

เวลานั้น ท่านบารัค โอบามา อาจได้มีโอกาสที่ดี ได้ไปเยี่ยมชมชนบทน้อยใหญ่ ตามพื้นที่ป่า และภูเขาของลาว โดยเฉพาะแขวงเชียงขวางที่เต็มไปด้วยมรดกบาป หรือเรียกว่าเศษเหล็กระเบิดที่ยังไม่ทันแตก และแตกแล้ว

พร้อมนี้ ยังได้พบปะพูดคุยกับประชาชน และเด็กเล็กที่พิการจากลูกระเบิดไม่ทันแตกในเขตชนบท ที่บรรดาต่างประเทศรับรู้และเข้าใจว่าเป็นที่อันตราย ที่ประชาชนไม่สามารถดำเนินการผลิตกสิกรรม และทำกิจกรรมต่างๆได้สะดวก เพราะกลัวระเบิดที่ฝังอยู่ในดินระเบิดใส่

ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้น ได้สร้างความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และเป็นการยากที่จะแก้ไขความทุกข์ยากได้

ถ้านับถอยหลังไปในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแต่สหรัฐอเมริกาได้มีความจริงใจช่วยเหลือทุนรอนให้แก่ลาว เพื่อแก้ไขป้ญหาระเบิดที่ตกค้างอยู่ แต่หากบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ก็ยังมีความกระตือรือร้นและเอาใจใส่เป็นพิเศษในการช่วยเหลือลาวแบบทางตรง และทางอ้อม ซึ่งพวกเราไม่สามารถนับได้อย่างครบถ้วน

ฉนั้น การมาเยี่ยมเยียนครั้งนี้ สายสัมพันธ์ ความร่วมมือ และฐานะบทบาทระหว่าง สปป.ลาว และสหรัฐฯอาจถูกยกขึ้นในเวทีสากล สูงกว่าที่ผ่านมา พร้อมเดียวกันนั้น บรรดาประเทศต่างๆทั่วโลก จะหันหน้ามอง สปป.ลาวในหลายแง่มุม ที่แตกต่างกันในด้านการเมือง การลงทุน การค้า และอื่นๆ…”

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เดินทางมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ในวันที่ 5 กันยายน 2559

วันแรกในลาว โอบามาได้ประกาศมอบความช่วยเหลือแก่ลาวคิดเป็นเงิน 90 ล้านดอลลาร์ ตลอด 3 ปีถัดจากนั้น(2560-2562) เพื่อจัดการผลกระทบจากระเบิดที่ยังคงตกค้างอยู่ในลาว และยังไม่ระเบิด

โอบามา ได้กล่าวสุนทรพจน์ในนครหลวงเวียงจันทน์ ต่อหน้าคณะผู้แทนที่ประกอบด้วย ผู้นำพรรคประชาชนปฏิวัติลาว นักศึกษา และพระสงฆ์ ว่า สหรัฐอเมริกามีพันธะทางจริยธรรมในการช่วยเหลือเยียวยาลาว และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลาวแล้ว คิดเป็นเงินรวม 100 ล้านดอลลาร์

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งตกค้างจากสงคราม ยังคงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในลาว ชาวอเมริกันจำนวนมากยังไม่ทราบถึงการทิ้งระเบิดปูพรมนี้ และตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีชาวลาวหลายพันคนเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเหล่านี้…

สำนักข่าว AFP มีรายงานในช่วงนั้นว่า ระหว่างที่โอบามากล่าวสุนทรพจน์ นักรณรงค์ชาวลาว-อเมริกันผู้หนึ่ง จากองค์กร Legacies of War ที่เรียกร้องให้วอชิงตันเพิ่มงบประมาณในการเก็บกู้ระเบิดในลาว ถึงกับแสดงความรู้สึกตื่นเต้นอย่างมากต่อคำประกาศของโอบามา เพราะเป็นก้าวสำคัญไปสู่การเยียวยารักษาบาดแผลของสงคราม และเพิ่มความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและลาวมากยิ่งขึ้น

AFP ยังมีรายงานว่า นอกจากการเพิ่มเงินสนับสนุนการเก็บกู้ระเบิดตกค้างแล้ว การเดินทางเยือนลาวครั้งแรกของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน 2559 สหรัฐอเมริกาได้พยายามผลักดันให้เจ้าหน้าที่ลาว ช่วยเหลือ ชี้พิกัดศพของเหล่าทหารที่สูญหายไปในช่วงปฏบัติการสงคราม “ลับ”

AFP ให้ข้อมูลว่า ทำเนียบขาวได้ระบุว่ามีศพของทหารอเมริกัน 273 นาย ได้รับการชี้พิกัดและพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลแล้ว แต่ยังมีทหารอเมริกันอีก 301 นาย ที่อยู่ในรายชื่อบุคคลสูญหาย

……

ภาพเครื่องบิน C-17 และทหารอเมริกันที่สนามบินวัดไต ซึ่งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสื่อออนไลน์ของลาว ตลอดช่วงบ่ายวันที่ 28 เมษายน 2564

วันพุธที่ 28 เมษายน 2564 ครบรอบ 46 ปี ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไปจากอินโดจีน

ชาวนครหลวงเวียงจันทน์ต่างพากันตื่นเต้น เมื่อเห็น C-17 เครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา บินมาลงยังสนามบินนานาชาติวัดไต จากนั้นพบเห็นทหารอเมริกันจำนวนมาก สะพายเป้สนามเดินเรียงแถวลงมาจากประตูด้านใต้หัวเครื่องบิน ไปขึ้นรถบัสที่จอดรออยู่ด้านข้างลานบิน

สังคมออนไลน์ของลาว ต่างวิพากษ์กันไปต่างๆนาๆ เพราะอยู่ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดระลอกใหม่ ทุกคนต่างสงสัยว่าทหารอเมริกันเหล่านี้เข้ามาทำไมในลาว?

เพจสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ถึงกับต้องออกมาชี้แจงต่อสังคมถึง 2 รอบ ครั้งแรกเวลา 14.30 น. ได้เผยแพร่บทความหัวข้อ “ความเป็นจริงที่คณะวิชาการสหรัฐอเมริกาเดินทางเข้ามา สปป.ลาว” เนื้อหาสรุปว่า

ทหารอเมริกันทั้ง 65 นาย มาจากทีมงาน MIA (Missing in Action) เดินทางเข้ามาในลาวด้วยเครื่องบิน C-17 ในวันที่ 28 เมษายน 2564 เพื่อปฏิบัติภารกิจ “ค้นหากระดูกทหารอเมริกันเพื่อมนุษยธรรม” โดยภารกิจนี้ ได้เคยมีการปฏิบัติร่วมกับฝ่ายลาวมาแล้ว และการเข้ามาของทหารชุดนี้ ก็ทำตามมาตรการของคณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทุกคนต้องถูกกักตัว 14 วันก่อนเริ่มต้นทำงาน

เพจโทละโข่งที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ชี้แจงข่าวที่แพร่สะพัดในสังคมออนไลน์ของลาว เกี่ยวกับภาพทหารอเมริกันที่สนามบินวัดไต

“การมาของคณะทหารชุดนี้ ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ไปต่างๆนาๆ ทั้งทางบวกและทางลบ คณะคุ้มครองสื่อมวลชนร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงได้สอบถามข้อมูลเพื่อนำมาอธิบาย ขอให้สังคมอย่าแตกตื่น เสพข่าวอย่างมีสติ และติดตามแหล่งข่าวที่เป็นทางการเท่านั้น” วิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ระบุ

ต่อมาเวลา 21.00 น. มีการชี้แจงอีกครั้ง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การค้นหาศพของทหารอเมริกัน 573 นาย ที่เสียชีวิตในช่วงสงครามในลาว เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศที่ทำร่วมกันมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้ค้นพบศพ หรือชิ้นส่วนศพทหารอเมริกัน ที่ได้ผ่านการชันสูตรและส่งคืนแก่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว 287 ศพ หรือมากกว่า 50% ปัจจุบันยังคงเหลืออีก 286 ศพ ที่สหรัฐอเมริกาต้องการความร่วมมือจากลาว เพื่อค้นหาต่อให้ครบ

เพจสถานทูตสหรัฐอเมริกาในเวียงจันทร์ โพสต์ไว้ในตอนเที่ยงของวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ว่ากำลังจัดส่งอุปกรณ์ต่อสู้โควิด-19 มาช่วยลาว พร้อมกับเครื่องบิน C-17

สำหรับแผนความร่วมมือค้นหาครั้งที่ 4 ได้มีการตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ได้ถูกเลื่อนออกมาหลายครั้ง เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 คณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 ของลาว ได้อนุมัติปฏิบัติการนี้ในเดือนเมษายน สหรัฐอเมริกาจึงได้ส่งทีมงานพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือมาถึงลาวในวันที่ 28 เมษายน 2564

ตามแผนที่กำหนดไว้ ปฏิบัติการค้นหาครั้งที่ 4 จะทำระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม-21 มิถุนายน ที่เมืองบัวละพา แขวงคำม่วน ทีมงานที่เพิ่งเดินทางมาถึงชุดนี้ จะถูกกักตัวอยู่ภายในนครหลวงเวียงจันทน์เป็นเวลา 14 วัน ก่อนจะเริ่มการขุดค้นจริงในวันที่ 13 พฤษภาคม และค้นหาต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 18 มิถุนายน และทีมงานทั้งหมด จะเดินทางออกจากลาวในวันที่ 21 มิถุนายน 2564

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2564 ชาวนครหลวงเวียงจันทน์ ได้เห็นเครื่องบิน C-17 ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา บินมาลงยังสนามบินนานาชาติวัดไต อีกครั้ง

ภารกิจของ C-17 ลำนี้ คือส่งมอบอุปกรณ์สำหรับใช้ป้องกันการระบาดของโควิด-19 มูลค่า 71,000 ดอลลาร์ ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลลาว

ความช่วยเหลือมูลค่า 71,000 ดอลลาร์ ที่ได้โหลตขึ้นเครื่อง C-17 จากฮาวายในตอนเช้าวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ก่อนบินมาส่งยังสนามบินวัดไต และรับเจ้าหน้าที่ MIA กับชิ้นส่วนศพทหารอเมริกันที่ขุดพบ กลับบ้าน

จากนั้น ก็รับเหล่านายทหารจากทีมงาน MIA จำนวน 65 คน ที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจ “ค้นหากระดูกทหารอเมริกันเพื่อมนุษยธรรม” พร้อมกับนำ “ส่วนที่เหลือของทหารอเมริกัน” ที่ขุดค้นพบ…กลับบ้าน