ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
การเล่าเรื่องตลาดทุนลาว น่าจะเริ่มจากการทำความรู้จักสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ลาว (LSX) เสียก่อน
สินค้าหรือบริษัทจดทะเบียนแห่งแรกที่อยากนำเรื่องราวมาบอกเล่า ได้แก่ บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน หรือ EDL-Gen
แต่ก่อนไปถึงยังเนื้อหาของ EDL-Gen ยังมีเรื่องราวน่าสนใจที่น่ากล่าวถึงก่อนอีกเช่นกัน นั่นคือเรื่องของเขื่อนผลิตไฟฟ้า “น้ำงึม 1” ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญแหล่งหนึ่งของ EDL-Gen
“น้ำงึม 1” เป็นเขื่อนที่มีประวัติผูกพันกับประเทศไทยมานาน เรื่องราว ความเป็นมาของเขื่อนน้ำงึม 1 มีสีสัน ซับซ้อน สะท้อนภาพความสัมพันธ์ของประเทศในภูมิภาคนี้ในหลายมิติ
….
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อาศัยจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่อุดมด้วยแม่น้ำ ลำคลองหลากหลายสาย วางตำแหน่งประเทศให้เป็น “หม้อไฟ” หรือแบตเตอรี่ของอาเซียน มีการศึกษาพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่ามีจุดที่สามารถสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ได้มากว่า 140 แห่ง
ข้อมูลล่าสุดจากเวทีสัมมนาเรื่อง “ราคาไฟฟ้า และไฟฟ้าลาว ปี 2021-2025” ที่ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9,972 เมกะวัตต์ จากแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศ 78 แห่ง
ใน 78 แห่ง เป็นเขื่อนสำหรับผลิตไฟฟ้า 67 แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 6 แห่ง
ยังมีเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าอีกหลายแห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เตรียมผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของลาว หลังจากนี้
วิสัยทัศน์ “หม้อไฟของอาเซียน” เป็นผลพวงจากความพยายามของรัฐบาลลาว ที่ต้องการจะผลิตไฟฟ้าให้ได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการน้ำงึม 1 “หม้อไฟ” หรือเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของลาว
แต่เนื่องจากโครงการนี้มีขนาดใหญ่ ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากเกินความต้องการ จึงมีแผนส่งออกไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้ในประเทศ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) เป็นลูกค้ารายแรก และเป็นลูกค้าหลักมาถึงปัจจุบัน
แนวคิดที่จะสร้างเขื่อนน้ำงึม เริ่มมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2505 พร้อมๆ กับการเริ่มต้นของสงครามสงครามเวียดนาม และสงครามภายในประเทศ ระหว่างพรรคประชาชนปฏิวัติลาวกับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
ในสงครามเวียดนาม ลาวไม่ได้เป็นคู่สงครามโดยตรง แต่เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นเส้นทางเดินทัพของทหารเวียดนามเหนือ สหรัฐอเมริกาจึงได้มีปฏิบัติการที่เรียกกันว่า “สงครามที่ไม่ได้ประกาศ” มีการทิ้งระเบิดปูพรมนับล้านๆ ลูกในลาว
กองทัพไทย ก็ได้ส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการในลาว ร่วมกับทหารอเมริกันด้วย
คนเก่าคนแก่ในลาวมักเล่าให้ฟังเสมอว่า ในช่วงนั้น…
“ทั้งๆ ที่มีความตึงเครียดทั่วบ้านทั่วเมือง แต่การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ก็ยังเดินหน้า”
และ…
…“ทั้งๆ ที่มีเสียงปืนและระเบิดดังกึกก้องไปทั่ว แต่น้ำงึม 1 ก็ไม่เคยหยุดส่งไฟฟ้าให้กับไทย แม้แต่วันเดียว”
น้ำงึม 1 เป็นเขื่อนไฟฟ้าที่สร้างกั้นแม่น้ำงึม ลำน้ำสาขาขนาดใหญ่สายหนึ่งของแม่น้ำโขง
ที่ตั้งของเขื่อนอยู่ที่บ้านแสงสะหว่าง เมืองแก้วอุดม แขวงเวียงจันทน์ ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร
เดือนธันวาคม 2505 รัฐบาลลาวเสนอผลศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากั้นแม่น้ำงึมเป็นครั้งแรก เพราะต้องการให้ลาวสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองได้ สนองความต้องการของประชาชน
พ.ศ. 2509 ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ธนาคารโลก และองค์การสหประชาชาติ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนน้ำงึม 1 ขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการนี้
พ.ศ. 2511 สงครามเวียดนามทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมๆ กับแผนก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ได้ข้อสรุปและเริ่มเดินหน้า
วันที่ 16 ธันวาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา แห่งราชอาณาจักรลาว เสด็จลงไปยังปะรำพิธีซึ่งสร้างเป็นแพอยู่กลางแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ในพิธีเปิดใช้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจัน
ถือเป็นวันแรกของลาวและไทย ที่ได้เชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างกันข้ามประเทศ
ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ลาวจำเป็นต้องนำเข้าไฟฟ้าจากไทย เพื่อใช้ในการก่อสร้างและบริโภคภายใน
พัฒนาการของเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 มี 3 ระยะ
ปี 2511 เริ่มการก่อสร้างเขื่อนในแบบคอนกรีตถ่วงน้ำหนัก (concrete gravity) และติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง คือเครื่องจักรเบอร์ 1 และเบอร์ 2 กำลังการผลิตเครื่องละ 15 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 30 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มี 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ให้การสนับสนุน
การก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2514
ไฟฟ้าที่ผลิตได้ ส่วนที่เกินจากการใช้ภายในประเทศ ถูกส่งเข้าระบบสายส่งแรงสูงขนาด 115 Kv วงจรเดียว จากเขื่อนสู่สถานีโพนต้อง นครหลวงเวียงจันทน์ และส่งต่อเข้าสู่ระบบสายส่งแรงสูงขนาด 115 Kv ของ EGAT ที่สถานีหนองคาย
ปี 2516 สงครามกลางเมืองในลาวยุติลงหลังจากสหรัฐอเมริกาและฝ่ายราชอาณาจักร ยอมลงนามในสัญญาเวียงจันกับพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและเริ่มกระบวนการปรองดองในลาว มีการตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวแห่งชาติ และจัดตั้งคณะมนตรีผสมการเมืองแห่งชาติ
รัฐบาลลาวได้นำเสนอผลศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตของเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการยอมรับจากธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซียในปีถัดมา
ปี 2518 สงครามเวียดนามยุติ ในลาวมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ขณะนั้นในลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าอยู่ 3 แห่ง คือเขื่อนน้ำงึม 1 กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นเขื่อนขนาดเล็ก 2 แห่ง คือเขื่อนน้ำดง ในแขวงหลวงพระบาง และเขื่อนเซละบำ ในแขวงสาละวัน มีกำลังการผลิตเพียงแห่งละ 1 เมกะวัตต์
ปี 2519 เขื่อนน้ำงึม 1 เริ่มขยายกำลังการผลิตด้วยการติดตั้งประตูระบายน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่ม ติดตั้งเครื่องจักรเบอร์ 3 และเบอร์ 4 กำลังการผลิตเครื่องละ 40 เมกะวัตต์
การขยายกำลังการผลิตใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 49 ล้านดอลลาร์ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศต่างๆ 13 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
การขยายกำลังการผลิตแล้วเสร็จในปี 2521 กำลังการผลิตของเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 เพิ่มเป็น 110 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่ม ถูกส่งไปยังสถานีโพนต้อง และส่งต่อเข้าสู่ระบบสายส่งแรงสูงขนาด 115 Kv ของ EGAT ที่สถานีอุดร 2
ปี 2523 รัฐบาลลาวเสนอผลการศึกษาเพื่อขยายกำลังการผลิตของเขื่อนน้ำงึม 1 ครั้งที่ 2 และเริ่มขยายในปี 2526 โดยติดตั้งเครื่องจักร์เบอร์ 5 กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 20 ล้านดอลลาร์ การติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2527
นับจากสงครามเวียดนามยุติลงในปี 2518 ทั่วโลกเกิดเป็นสงครามเย็นระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ค่ายโลกเสรี มีการปิดชายแดนไทย-ลาว ยาวตั้งแต่ปี 2518 ถึงปี 2530 เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด
12 ปีที่พรมแดนปิด คนห้ามผ่าน แต่ไฟฟ้ายังถูกส่งข้ามจากฝั่งลาวมาสู่ฝั่งไทย ทุกวัน!!!
จากจุดเริ่มต้นก่อสร้างและขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเขื่อนน้ำงึม 1 มีกำลังการผลิตรวม 155 เมกะวัตต์ มีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเฉลี่ย 1.025 GWh ต่อปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมกว่า 97 ล้านดอลลาร์
ทุกวันนี้ประมาณ 77% ของไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนน้ำงึม 1 ถูกใช้ในประเทศ ที่เหลืออีก 23% ส่งขายให้กับประเทศไทย
…
พื้นที่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนน้ำงึม 1 กว้าง 370 ตารางกิโลเมตร
หลายปีมาแล้ว ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวลาว และชาวต่างประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย
บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำ มีแพร้านอาหารเรียงรายอยู่โดยรอบ มีบริการเรือนำเที่ยวชมทัศนียภาพหน้าเขื่อน รอบๆ อ่างเก็บน้ำ แล่นขึ้นเหนือไปตามแนวลำน้ำงึม
บนเนินเขาทางทิศใต้ค่อนมาทางตะวันตกของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาควาย มีแหล่งบันเทิงที่นักเสี่ยงโชคคนไทยรู้จักดีกันในนาม “แดนสวรรค์” สถานที่นี้ก่อตั้งโดยการร่วมทุนของนักธุรกิจชาวมาเลเซียกับนักธุรกิจลาว แต่ได้ขายให้กับนักธุรกิจจีนไปแล้วในภายหลัง
ก่อนที่โควิด-19 จะเริ่มระบาด เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ The Laotian Times เสนอข่าวว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 47 ล้านดอลลาร์ แก่แขวงเวียงจัน นำไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเมืองวังเวียง และรอบอ่างเก็บน้ำของเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 เพื่อยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ
ตามแผนพัฒนา จะมีการสร้างท่าเรือ ที่จอดรถ ตลาดชุมชน หมู่บ้านชาวประมง สถานที่กำจัดขยะ ฯลฯ รวมถึงสร้างถนนยาว 6 กิโลเมตร เชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 10 (เวียงจันทน์-ท่าง่อน-ทุละคม-ท่าลาด-โพนโฮง) เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับการเดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 1
ตามข่าว บอกว่าแผนพัฒนาทั้งหมด เริ่มต้นก่อสร้างในต้นปีนี้ (2563)
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวและบริษัท Hangzhou Safefound Technology จากจีน ได้เซ็นสัญญาเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ “เทิงหน้าน้ำงึม 1”
โรงไฟฟ้าเทิงหน้าน้ำงึม 1 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,200 เมกะวัตต์ จะสร้างเป็นโซลาฟาร์มลอยน้ำบนพื้นที่รวม 1,500 เฮกตาร์ (ประมาณ 9,300 ไร่) กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 1 บริเวณบ้านโพนสะหว่าง เมืองล่องซาน แขวงไซสมบูน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว
โครงการนี้รัฐบาลลาวถือหุ้น 20% เอกชนถือ 80% อายุสัมปทาน 25 ปี ผู้ลงทุนได้เซ็น MOU กับรัฐบาลลาวไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นมีการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนในครั้งนี้
การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเริ่มสร้างปลายปีนี้ กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 900 เมกะวัตต์จะสร้างในปี 2566
โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในลาวได้ จึงยังไม่มีข้อมูลว่าทั้ง 2 โครงการ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วอย่างไร
…
ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของเขื่อนไฟฟ้า “น้ำงึม 1” หม้อไฟใบแรกของ สปป.ลาว และแหล่งรายได้สำคัญของ EDL-Gen
คราวหน้า เนื้อหาจะลงไปในรายละเอียดของ EDL-Gen มากขึ้น…