ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : แผนจัดการขยะกทม. 20 ปี ยังคง ‘ล้นเมือง’ ต่อไป

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : แผนจัดการขยะกทม. 20 ปี ยังคง ‘ล้นเมือง’ ต่อไป

8 พฤษภาคม 2022


ขยะในคลอง ที่กทม.ต้องจัดเก็บทุกวัน

คนกรุงเทพฯยังไม่สามารถลดปริมาณขยะ ตราบใดที่ไม่สามารถคัดแยกขยะต้นทางได้ แผนจัดการขยะ 20 ปี กทม.ยังมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีปริมาณขยะ 10,706 ตันต่อวัน แม้กทม.ตั้งเป้าสร้างโรงไฟฟ้าขยะ 4 แห่ง แต่กำจัดได้เพียง 4,000 ตันต่อวัน กรุงเทพยังเผชิญขยะล้นเมืองต่อไป

ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ( 2556-2575) กรุงเทพมหานคร ต้องลดปริมาณขยะลงเหลือศูนย์ หรือให้เหลือขยะที่จะนำไปกำจัดไม่เกิน ร้อยละ 20 และภายในปี 2566 ต้องเปลี่ยนวิธีการกำจัดขยะจากฝังกลบร้อยละ 80 เหลือเพียงร้อยละ 20 ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มมากขึ้น

มาดูกันว่า แผนการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

ปัจจุบัน ปี 2565 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะ 10,706 ตันต่อวัน คนกรุงเทพสร้างขยะวันละ 2-3 กิโลกรัมต่อวัน

แนวทางจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี ที่เน้นให้ขยะเหลือน้อยที่สุด ไปกระทั่งเหลือศูนย์เพื่อลดภาระในการกำจัดขยะปลายทาง แต่ดูเหมือนว่าตั้งแต่เริ่มแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถคัดแยกขยะให้ได้ตามเป้าหมาย ร้อยละ 80 เพื่อลดการกำจัดขยะที่ปลายทางให้เหลือเพียงร้อยละ 20

แต่ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณขยะของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ลดปริมาณลงตามเป้าหมาย มีเพียงปี 2563-2564 ที่ปริมาณขยะลดลงในช่วงการระบาดของโควิด -19

ขยะ หมื่นตันต่อวัน กทม.กำจัดอย่างไร

ปริมาณขยะในกรุงเทพไม่ลดลงตามเป้าหมาย เพราะคนกรุงเทพไม่รู้จักการแยกขยะ โดยในจำนวนขยะ 10,706 ตันต่อวัน สามารถแยกขยะเพื่อรีไซเคิลได้ประมาณ 3,672 ตันต่อวันเท่านั้น

เมื่อคนกรุงเทพไม่รู้จักแยกขยะทำให้มีขยะที่ต้องนำไปกำจัดมากถึงร้อยละ 90 โดยแบ่งวิธีการจัดการขยะออกเป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

ระยะ1 การจัดการขยะต้นทาง คือการคัดแยกขยะ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในระดับประชาชนทั่วไป แต่จะมีการคัดแยกขยะจากรถซาเล้ง หรือ เจ้าหน้าที่กทม.เก็บขนขยะ แยกภายในรถ ทำให้แต่ละวันสามารถแยกขยะได้ 3,672 ตันต่อวัน แบ่งเป็น ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ 2,845 ตันต่อวัน และขยะอินทรีย์ นำไปทำปุ๋ยได้ 821 ตันต่อวัน

ระยะที่ 2 การจัดการขยะที่กลางทาง เป็นเรื่องของการจัดเก็บขยะ ซึ่ง กทม.จะมีรถเก็บขนมูลฝอยจำนวน 2,140 คัน เป็นรถของกทม. 495 คัน รถเช่า 1,571 คัน เรือเก็บมูลฝอย 111 ลำ มีพนักงานเก็บขนมูลฝอยรวมทั้งสิ้น 10,454 คน ซึ่งการจัดเก็บจะไม่ให้เหลือขยะตกค้างในแต่ละวัน

ระยะที่ 3 การจัดการขยะที่ปลายทาง โดยการจัดการขยะ ปลายทางกรุงเทพฯใช้วิธีการฝั่งกลบ เผา หรือ สร้างโรงไฟฟ้าขยะ และนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์

การจัดการขยะด้วยฝั่งกลบ

กรุงเทพมหานครมีสถานที่ฝังกลบ 2 แห่ง แห่งแรกที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีขยะ 2,400 ตันต่อวัน หรือ ร้อยละ 22 ขนส่งจากสถานีขนส่งสายไหม และอีก 3,400 ตันต่อวัน ร้อยละ 32 ขนส่งจากสถานีขนถ่ายหนองแขม ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ที่ทำสัญญาเมื่อ ปี 2562 ระยะเวลา 4 ปี โดยบริษัท กลุ่ม 79 จำกัด คิดราคาค่ากำจัด 693 บาทต่อตัน และบริษัท วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด ซึ่งรับขนถ่ายขยะมูล ตามสัญญาตั้งแต่ปี 2558 ระยะเวลา 10 ปี ด้วยราคา 800 บาทต่อตัน

ส่วนสถานที่ฝังกลบแห่งที่สอง คือ อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา มีขยะ 2,806 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 26 ขนจากสถานีขนถ่ายอ่อนนุช โดยบริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พานิชย์ จำกัด ที่ทำสัญญาเมื่อปี 2563 ระยะเวลา 4 ปี ด้วยราคาตันละ 717 บาท

การจัดการขยะด้วยวิธีการเผา หรือโรงไฟฟ้าขยะ

การสร้างโรงไฟฟ้าขยะถือเป็นเป้าหมายที่กรุงเทพมหานครต้องการลดการฝังกลบ ในปี 2566 ให้เหลือร้อยละ 30 ทำให้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม แต่ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทั่วไปเพียง 1 แห่งเท่านั้น ที่สถานีขนถ่ายหนองแขม ซึ่งมีความสามารถกำจัดขยะได้เพียง 500 ตัน/วัน

นอกจากนี้มีโรงไฟฟ้าขยะอีก 2 แห่งที่อนุมัติแล้ว คือ โรงไฟฟ้าขยะหนองแขม และโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชมีความสามารถในการกำจัดขยะได้ 1,000 ตัน/วัน และมีแนวคิดที่จะสร้างเพิ่มอีก 1 โรง ที่โรงไฟฟ้าขยะสายไหม ความสามารถในการกำจัดขยะได้ 1,000 ตัน/วันเช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อมูลพบว่าเป้าหมายที่ต้องการลดการฝังกลบลงเหลือ ร้อยละ 30 ในปี 2566 ยังเป็นเรื่องยากเพราะปัจจุบันมีขยะเกือบ 9,000 ตัน ต่อวัน ที่ถูกส่งไปฝังกลบและมีเพียง 500 ตันต่อวัน ที่ถูกส่งไปกำจัดที่โรงไฟฟ้าหนองแขม ขณะที่โรงไฟฟ้า 2 แห่งที่อนุมัติแล้วทั้ง โรงไฟฟ้าอ่อนนุช และ หนองแขมยังไม่สามารถดำเนินการได้

  • “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ของว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : จะทำให้คลองกรุงเทพฯ ใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร?
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : งบประมาณ 79,855 ล้านบาท “50 เขตใช้ทำอะไรบ้าง”
  • “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • โรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์ (Composting)

    นอกจากวิธีฝังกลบและสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว ขยะบางส่วนของกทม.ถูกนำไปทำปุ๋ยที่สถานีขนถ่ายอ่อนนุช มีโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ขนาด 1,600 ตัน/วัน และโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ หรือ Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จากการหมักขยะ จำนวน 3 เมกะวัตต์ ที่สถานีอ่อนนุช อีก 800 ตันต่อวัน หรือ ร้อยละ 8

    ส่วนขยะติดเชื้อและขยะอันตราย เก็บขนและกำจัด โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม วันละ 39 ตันต่อวัน ขยะอันตราย กำจัดโดย บ.กิจการร่วมค้า NIT &W 2.7 ตันต่อวัน

    ศูนย์รวบรวมขยะหนองแขม

    “ขยะ” ยังล้นเมืองต่อไป..

    หากวิเคราะห์จากยุทธศาสตร์การจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร 20 ปี เป้าหมายเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง และปัญหาขยะล้นเมืองของกทม.อาจจะยังคงเป็นไปปัญหาต่อไป เพราะจากปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี แม้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 4 แห่งตามแผนที่วางไว้ก็ตาม

    “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่า แผนการจัดการขยะของกรุงเทพ ยังย้อนแย้ง และไม่เป็นการจัดการขยะที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่สามารถยึดแนวทางลดขยะที่ต้นทาง หรือ ทำให้ประชาชนเกิดการคัดแยกขยะและเหลือขยะเพื่อนำไปกำจัดให้น้อยที่สุด

    ขณะที่แผนการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ดูจะสวนทางกับหลักการดังกล่าว เพราะเน้นวิธีการจัดการด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าที่ต้องการปริมาณขยะจำนวนมากเป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการลดปริมาณขยะ และการคัดแยกขยะ

    สิ่งที่ กทม.ต้องจริงจังและเข้มงวดมากที่สุดคือการแยกขยะต้นทางและลดปริมาณขยะต้นทางเพื่อให้เหลือปริมาณขยะน้อยที่สุด โดย อาจจะออกกฎหมาย ปรับ จับอย่างจริงจัง สำหรับประชาชนที่ไม่แยกขยะ ขณะที่วิธีการจัดเก็บขยะของกทม.อาจต้องชัดเจนในเรื่องการเก็บขยะตามประเภทที่แยกขยะเพื่อให้ประชาชนทิ้งขยะถูกวัน หากบ้านไหนทิ้งขยะไม่ถูกวัน ก็ใช้มาตรการปรับ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีการแยกขยะและลดปริมาณขยะลง

    เพ็ญโฉมเห็นว่า การลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือน้อยที่สุดตั้งแต่ต้นทางเป็นแนวทางที่ในต่างประเทศนำมาใช้เพื่อให้เหลือขยะในการกำจัดน้อยทำให้ต้นทุนในการกำจัดขยะลดลง ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ หรือการฝั่งกลบที่จะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นตามมา

    ขณะที่ “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” อดีตที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เสนอว่า ควรจะมีการแยกขยะเพื่อให้เหลือขยะในการกำจัดน้อยที่สุด แต่ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการแยกขยะ โดยมีการรณรงค์ให้ทิ้งขยะลงถังแต่ไปไม่ถึงการแยกชนิดของขยะ แตกต่างจากในต่างประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแยกขยะเอาไว้ในละคร เช่น ซีรีย์ละครเกาหลี จะเห็นการแยกขยะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของคนเกาหลี แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการณรงค์เรื่องการแยกขยะกันอย่างจริงจัง

    นอกจากนี้ยังเห็นว่า กรุงเทพมหานครควรจะเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเนื่องจากปริมาณขยะที่มีจำนวนมากของ กทม.สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าสร้างรายได้กลับมาที่ กทม. หรือช่วยลดค่าไฟฟ้าที่ กทม.จ่ายมหาศาลในปัจจุบัน หากมีรายได้เหลือยังสามารถนำรายได้จากการขายไฟฟ้าไปพัฒนาเมืองได้อีกด้วย

    ส่วนปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายเป็นห่วงนั้นเชื่อว่า เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถจัดการได้ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่โรงไฟฟ้าขยะสามารถสร้างใกล้กับชุมชน

    อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยเสนอให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทที่กรุงเทพมหานครถือหุ้นร้อยละ 90 มารับผิดชอบในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อให้ กทม.สามารถจัดการรายได้ทั้งหมดได้

    ส่วนพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าควรกระจายตามเขตชุมชน เพื่อลดการขนส่งและปัญหาจราจร ไม่ต้องให้รถขยะทุกคันวิ่งเข้ามาที่หนองแขมหรือ อ่อนนุช ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาดเล็กตามพื้นที่ชุมชนจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย

    ทั้งนี้การแก้ปัญหาขยะของกทม.ยังถือเป็นปัญหาท้าทายของผู้ว่า กทม.คนใหม่ หากไม่สามารถลดขยะต้นทางและปริมาณขยะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โรงไฟฟ้าขยะที่สร้างขึ้น ก็อาจยังไม่เพียงพอและยังทำให้ กทม.มีขยะล้นเมืองเช่นเดิม