ThaiPublica > เกาะกระแส > สถาบันอนาคตไทยศึกษา กาง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ” เมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่

สถาบันอนาคตไทยศึกษา กาง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ” เมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่

30 ตุลาคม 2015


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ”

กว่า 200 ปีแล้วที่กรุงเทพฯ ยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงของไทย ไม่เพียงเท่านั้น กรุงเทพฯ ได้รับการโหวตจากบรรดานักท่องเที่ยวให้คว้ารางวัล “เมืองน่าเที่ยว” ถึง 4 ปีซ้อน แต่เมื่อมีการจัดอันดับ “เมืองน่าอยู่” โดย The Economist Intelligence Unit กรุงเทพฯ กลับตกไปอยู่ในอันดับที่ 102 จาก 140 เมืองทั่วโลก

“บ่อยมากที่กรุงเทพฯ ได้รับการประเมินจากนิตยสารท่องเที่ยวต่างๆ ให้เป็นเมืองน่าเที่ยว แต่กลับได้รับการจัดอันดับจาก The Economist กลายเป็นอยู่ท้าย จึงเกิดคำถามว่าทำไมกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ แล้วมีอะไรบ้างที่เราจะทำได้เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

จากคำถามข้างต้น ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า ตอนที่เรามองดูการตรวจสอบต่างๆ เรามักมุ่งเน้นไปที่รัฐบาลกลาง แต่เรื่องท้องถิ่นไม่ค่อยมีใครจับตามอง ไม่ค่อยมีการตรวจสอบประเมินผลนโยบายหรือเรื่องต่างๆ ที่ทำ แต่หากนึกถึงสิ่งที่กระทบชีวิตประจำวันจริงๆ หลายเรื่องมาจากรัฐบาลท้องถิ่น และสิ่งเหล่านี้กระทบชีวิตของเรามากกว่านโยบายในระดับมหภาคเสียอีก

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า รายงานนี้ปกติมีการส่งไปถึงผู้บริหารของ กทม. อยู่แล้ว แต่จะคาดหวังให้ผู้บริหารอ่านแล้วทำตามเลยนั้น ในโลกความจริงคงไม่ใช่ วิธีเดียวที่จะสร้างแรงกระตุ้นได้คือเสียงตอบรับจากประชาชน

“เหตุผลที่เราเรียก 10 ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ 10 ข้อเสนอก็เพราะเราเชื่อจริงๆ ว่าข้อเสนอที่ดีมันไม่ได้มาจากเรา หรือนักวิชาการ หรืออัศวินม้าขาวที่ไหน แต่มาจากประชาชนเอง ก็หวังว่าการทำแบบนี้จะช่วยฉุดความคิด สร้างสรรค์ข้อเสนอให้เกิดการถกเถียงกัน และในที่สุดก็หวังว่าจะนำไปสู่การกำหนดสิ่งที่เราเรียกว่า “วาระกรุงเทพฯ” (Bangkok Agenda)ให้สิ่งนี้ไปกำหนดมาตรฐานของทีมบริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ คนปัจจุบันหรือคนใหม่ เสมือนเครื่องตรวจสอบว่าได้ทำตามที่ประชาชนต้องการหรือไม่ เพื่อให้ชีวิตประจำวันที่เป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่านี้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ปัญหาจราจร – ขนส่งมวลชน

นอกจากนี้ การเดินทางที่ต้องเผื่อเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง บีบให้คนกรุงเทพฯ ต้องตื่นเช้าไปเผชิญปัญหาจราจร รายงานชิ้นนี้ยกผลสำรวจจากคาสตรอล แมกเนติก Start-stop index บงชี้ว่า ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ที่วิ่งบนถนนสายหลักของ กทม. ในช่วงเช้า อยู่ที่ 16 กม./ชม. ซึ่งพอๆ กับความเร็วของจักรยานที่แนะนำให้ปั่นในเมือง และ 36% ของเวลาเดินทางคนกรุงเทพฯ เป็นการหยุดนิ่งอยู่กับที่

ปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นนำไปสู่

ข้อเท็จจริงที่ 1: มี 37 หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร หน่วยงานต่างๆ ต่างมีหน้าที่แก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อาทิ กทม. เป็นผู้สร้างและซ่อมสัญญาณไฟจราจร แต่ผู้มีหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟคือตำรวจจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจรเป็นผู้กำหนดเส้นทางการเดินรถเมล์และรถไฟฟ้า ขณะที่ กทม. เป็นผู้ให้สัมปทาน

ข้อเท็จจริงที่ 2: ลงทุนสูงในระบบขนส่งมวลชนที่คนใช้ไม่มาก ตามรายงานระบุว่าแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีการลงทุนสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท กลับมีผู้โดยสารใช้เพียง 17 ล้านคน/ปี ด้าน BRT มีการลงทุนอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาท มีผู้โดยสารใชบริการ 6 ล้านคน/ปี ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารในคลอดแสนแสบ ได้งบประมาณเพียง 70 ล้านบาทในการดูแล ทั้งที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 29 ล้านคน/ปี

ทางเท้าที่เดินไม่ได้

ขณะเดียวกัน อีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ปัญหาทางเท้า ที่มีสภาพทรุดโทรม มีแผงลอย ป้ายโฆษณา และป้ายอื่นๆ จำนวนมาก ซึ่งบางครั้งก็เป็นป้ายโฆษณาของ กทม. เอง เป็นสิ่งกีดขวางทางเดิน รวมไปถึงอันตรายจากมอร์เตอร์ไซค์ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า กทม. มีป้ายโฆษณากว่า 1 แสนป้าย ขณะที่ กทม. มีรายได้จากภาษีป้ายเพียง 778 ล้านบาท ปัญหาเหล่านี้คงต้องมองย้อนไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งนำไปสู่อีก 2 ข้อเท็จจริงต่อมา

ข้อเท็จจริงที่ 3: กทม. มีเจ้าหน้าที่เทศกิจมากถึง 3,200 คน ในขณะที่ กทม. มีพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร โดยเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่เทศกิจสามารถลงพื้นที่ได้ 2 คน/1 ตารางกิโลเมตร

ข้อเท็จจริงที่ 4: งบประชาสัมพันธ์ที่ กทม. ได้รับปีละ 377 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำไปใช้ประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ของ กทม. อาทิ โครงการ กรุงเทพฯ มหานครแห่งความสุข ใช้งบประชาสัมพันธ์ 30 ล้านบาท โครงการรักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ใช้งบประชาสัมพันธ์ 20 ล้านบาท โครงการกรุงเทพฯ มหานครแห่งอนาคต ใช้งบประชาสัมพันธ์ 8 ล้านบาท

ปัญหาที่อยู่อาศัย ข้อมูลพื้นที่สีเขียวลวง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กทม. เป็นแหล่งที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาตลอด ไม่ว่าจะเพื่อหางานทำ หรือเพื่อการศึกษา ในขณะที่ราคาที่ดิน และที่อยู่อาศัยใน กทม. ปรับตัวสูงขึ้นทุกๆ ปี ราคาคอนโดมีเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มปีละ 8% จากปี 2551-2558 ขณะที่อัตราเฉลี่ยค่าจ้างแรงงานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นปีละ 4% โดยเฉลี่ยแล้วเงินเดือนพนักงานออฟฟิศอยู่ที่ประมาณ 24,000 บาท/เดือน สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนผ่านข้อเท็จจริงประการต่อมา

ข้อเท็จจริงที่ 5: ชีวิตใน กทม. แพงจนคนต้องออกไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น ข้อมูลรายได้ข้างต้นทำให้ผู้คนสามารถซื้อคอนโดมีเนียมได้ตั้งแต่เขตรอบนอก กทม. เป็นต้นไป การที่ที่อยู่อาศัยไกลออกไปค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ยิ่งสูงขึ้น ซึ่งสำหรับ กทม. แล้วค่าโดยสารรถไฟฟ้า เมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วถือว่าแพงกว่าเมืองอื่นๆ อาทิ แพงกว่าที่โตเกียว 1.4 เท่า หรือแพงกว่าที่เซียงไฮ้ ถึง 4 เท่า

ขณะที่ประชากรใน กทม. เพิ่มขึ้น มีประชากรอาศัยอยู่ตามสำมะโนประชากรประมาณ 9 ล้านคน แต่พื้นที่สีเขียวสำหรับให้ประชาชนผักผ่อนและใช้ประโยชน์ร่วมกันมีน้อยมาก

ข้อเท็จจริงที่ 6: กทม. มีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้และใช้ได้จริงเพียง 2.2 ตารางเมตร/ประชากร ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ กทม. ประกาศไว้ ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมได้ทำการรวบรวมพื้นที่สีเขียวใน กทม. ทั้ง 50 เขต พบว่ามีพื้นที่ 34 ล้านตารางกิโลเมตร โดยนับรวมพื้นที่ของเอกชน ต้นไม้บนทางเท้า หรือกระทั่งเกาะกลางถนน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้กว่า 40% ใช้ประโยชน์และเข้าถึงไม่ได้ และจำนวนคนที่นำมาคำนวณเป็นตัวเลขประชากรตามทะเบียนราษฎร์ที่มีเพียง 5 ล้านคน ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ผิดเพี้ยนไป

ความจริงที่ควรรู้ เกี่ยวกับ กทม.

นอกจากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นแล้วข้อเท็จจริงอีก 4 ข้อสุดท้ายเกี่ยวกับหน่วยงานของ กทม. ก็เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ควรรับรู้

ข้อเท็จจริงที่ 7: กทม. มีข้าราชการและลูกจ้างกว่า 97,000 คน คิดเป็น 2 เท่าของจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของกรุงโซล และคิดเป็น 1.5 เท่า ของกรุงจาการ์ตา ซึ่งทั้งสองเมืองมีประชากรราว 10 ล้านคน ขณะที่ กทม. มีประชากร 9 ล้านคน

ทั้งนี้ รายงานระบุว่าข้าราชการของ กทม. ในจำนวน 97,000 คน เป็นครู 14,331 คน พนักงานเก็บขยะ 10,221 คน เทศกิจ 3,200 คน หมอและพยาบาล 2,608 คน อีก 66,932 ไม่ได้ถูกจำแนกออกมาชัดเจน

จากจำนวนครูที่ประจำในโรงเรียนในสังกัด กทม. กว่า 1 หมื่นคน ได้สะท้อนข้อเท็จจริงของการศึกษาใน กทม. ว่า ข้อเท็จจริงที่ 8: เกือบ 2 ใน 3 ของเด็กนักเรียนสังกัด กทม. ตกวิชาเลขที่จัดสอบโดย PISA โดยผลคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ ปี 2555 พบว่า 65% ของนักเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่นักเรียนในสังกัดเทศบาล และอบต. ทั่วประเทศ ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์น้อยกว่า (57%)

ทั้งนี้ ผลของปัญหาที่เกิดขึ้นได้สะท้อนผ่านข้อเท็จจริงที่ 9: ทุกหน่วยงานของ กทม. มีผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับ “ดีมาก” ทำให้ได้รับการจัดสรรงบโบนัส 2.3 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบราว 200 ล้านบาท/ปี ในการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ และได้รับงบดูงานทั้งในและต่างประเทศ 66 ล้านบาท

ข้อเท็จจริงที่ 10: ค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรของอาคารศาลาว่าการ กทม. 2 สูงกว่าค่าก่อสร้างอาคารมหานคร ตึกที่สูงที่สุดใน กทม. ที่ตั้งของ Ritz – Carlton เรสซิเดนเซส ซึ่งการสร้างศาลาว่าการ กทม. แห่งใหม่ได้ดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว ใช้งบก่อสร้างรวมเป็นเงิน 9,957 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 97,000 ตารางเมตร เฉลี่ยเป็นเงิน 103,717 บาท/ตารางเมตรพื้นที่ใช้สอย ขณะที่มูลค่าการก่อสร้างอาคารมหานครอยู่ที่ 86,855 บาท/ตารางเมตรพื้นที่ใช้สอย

ชี้ปม กทม. อยู่ที่ระบบการจัดการ

ใน 10 ข้อเท็จจริงข้องต้น ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า ปัญหาเรื่อง “การบริหารจัดการ” คือประเด็นที่ท้าทาย และจำเป็นจะต้องแก้ไขโดยด่วน หลักๆ แม้บางเรื่องจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เมืองรองไม่ค่อยมีทำให้คนไหลเข้ามาแต่ที่นี่ แต่หลายๆ เรื่องก็เป็นเรื่องของปัญหาการจัดการ ตรงนี้ก็คิดว่าเป็นความท้าทาย

“ถามว่าการจัดการมันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ไหม ผมคิดว่าควรที่จะทำได้ด้วยทรัพยากรที่ กทม. มี เพราะถ้าไปดู กทม. มีงบประมาณ 8 หมื่นกว่าล้านบาท มีเจ้าหน้าที่กว่า 9.7 หมื่นคน มากกว่ากรุงโซล 2 เท่า มากกว่าจาการ์ตา 1.5 เท่า ซึ่งล้วนเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าไทย ดังนั้น ด้วยทรัพยากร คนและเม็ดเงินเท่านี้ถามว่าเราควรที่จะได้คาดหวังเรื่องของคุณภาพชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ดีกว่านี้ไหม ผมว่าควร แต่ว่ามันก็อยู่ในเรื่องนี้เรื่องปัญหาการจัดการ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ กทม. จะสามารถหยิบยกมาแก้ไขได้เป็นอันดับแรกคือ เรื่องการใช้งบประมาณ ซึ่งอาจจะฟังแล้วเป็นตัวอย่างเล็กๆ แต่อะไรที่ต้นทุนต่ำมากยังไงก็เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย โดยให้ข้อเสนอถึงการจัดการปัญหาป้ายโฆษณากีดขวางทางเท้าหรือบดบังทัศนียภาพ ด้วยการจัดการกับงบประชาสัมพันธ์ของ กทม. เสียใหม่

“กทม. ใช้งบประมาณทำประชาสัมพันธ์ปีละ 377 ล้านบาท คิดง่ายๆ เลย แค่เลิกทำประชาสัมพันธ์ของ กทม. เองก็ลดจำนวนป้ายได้ไม่น้อย และเอาเงินที่ประหยัดนี้ไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ เช่น ลดจำนวนป้ายโฆษณา แล้วนำเงินส่วนนี้มาทดแทนภาษีป้ายที่สูญเสียไป หรือนำงบที่เหลือไปจ้างพนักงานกวาดถนนเพิ่ม ซึ่งสามารถจ้างเพิ่มได้ถึง 3,500 คน หรือสร้างจุดบริการขนส่งมวลชนเพิ่ม ซึ่งสร้างเพิ่มได้อีกประมาณ 100 จุด อันนี้อาจฟังดูเป็นตัวอย่างเล็กน้อย แต่ผมว่ามันสะท้อนกลับมาเรื่องเดิม”

“เรื่องการจัดการ เรื่องการจัดสรรงบประมาณต่างๆ ว่าตอบโจทย์ของประชาชนจริงหรือไม่ อันหนึ่งที่เห็นชัดไม่ใช่เฉพาะปัญหาของ กทม. แต่เป็นปัญหาเรื่องการจัดการขนส่งของไทย คือ เราชอบใช้เงินเยอะกับโครงการขนส่งมวลชนที่คนใช้น้อย เช่น แอร์พอร์ตลิงค์ กับ BRT แต่จำนวนคนที่ใช้น้อยกว่าคนที่ใช้เรือ แต่งบที่ใช้น้อยกว่า 100 ล้านบาทเสียอีก แต่ทำไมไม่จัดสรรงบประมาณไปช่วยเหลือบริการที่คนใช้มากๆ เขาจะได้รับประโยชน์มากกว่านี้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

10factsbkk Final