ThaiPublica > เกาะกระแส > กทม.จับมือ ม.เกษตรฯ ทดสอบเครื่องกรองฝุ่นพิษ PM 2.5 หน้าลานศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

กทม.จับมือ ม.เกษตรฯ ทดสอบเครื่องกรองฝุ่นพิษ PM 2.5 หน้าลานศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

10 ตุลาคม 2019


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ขวามือ) พร้อมผู้บริหารระดับสูงของ กทม. ตรวจเยี่ยมการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องกรองฝุ่น “PM 2.5” บริเวณลานด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนางบุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ให้การต้อนรับ

กทม.จับมือ ม.เกษตรฯ ทดสอบเครื่องกรองฝุ่นพิษ PM 2.5 หน้าลานศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. , นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และ นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยสำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ “PM 2.5” บริเวณลานด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนางบุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด , นายนพชัย วีระมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้การต้อนรับและร่วมตรวจเยี่ยม

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชน ทดลองติดตั้งหอสูงฟอกอากาศ จำนวน 1 ชุด บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการลดปัญหาฝุ่นและมลพิษจาก PM 2.5 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกรุงเทพมหานครได้ติดตั้งเครื่องดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และเริ่มเปิดเดินเครื่องตั้งแต่เวลา 06.00 น. ที่ผ่านมา โดยจะเปิดเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับหอสูงฟอกอากาศ มีลักษณะเป็นเสาสูง 4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม ใช้หลักการทำงานของพัดลมขนาดใหญ่ที่มีปริมาณลมสูง (Air Volume) และ กำลังการดึงลมสูง (Air Pressure) ดึงอากาศให้ไหลผ่านแผ่นกรองฝุ่น 2 ชั้น โดยใช้แผ่นกรองชนิด HEPA Filter ขนาด 1 ไมครอน สามารถฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้ไม่น้อยกว่า 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร เครื่องดังกล่าวจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ โดยใช้กำลังไฟฟ้า 3.5 กิโลวัตต์

“ในวันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเก็บข้อมูลปริมาณความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในช่วงเช้าก่อนเปิดเครื่องฟอกอากาศวัดค่าได้ 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หลังจากที่เปิดเดินเครื่องแล้ววัดค่าได้ 28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม กทม.คงต้องใช้เวลาทดสอบเครื่องประมาณ 2-3 เดือน โดยจะมีการประเมินผลประสิทธิภาพการใช้งานแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น 24 ชั่วโมง , ระยะกลาง 3 วัน และระยะยาว 30 วัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบความเข้มข้นของฝุ่นและมลพิษ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องว่าสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่ นอกจากนี้ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการค้า หรือ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อซื้อเครื่องฟอกอากาศมาติดตั้งบริเวณศูนย์การค้า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนที่มาใช้บริการ โดยกรุงเทพมหานครจะช่วยดูแลและบำรุงรักษา” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศครั้งนี้ เป็นเพียงมาตรการเสริมในการดูแลสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับมาตรการต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งรวมไปถึงประชาชนด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศ 54% เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการท่อไอเสียและการเผาไหม้ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจในการดำเนินชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้น บำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ปลูกต้นไม้ป้องกันฝุ่นและดูดซับมลพิษ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดฝุ่น ปลอดภัย น่าอยู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยประชาชนสามารถติดตามผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ แบบ Real Time ได้ทางเว็บไซต์www.bangkokairquality.com และเฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร