ThaiPublica > เกาะกระแส > ภัยเงียบคนกรุงเทพ (ตอน 1): เจาะปัญหา ‘น้ำเค็ม’ ภาคครัวเรือนและเกษตรกรรม บริโภคน้ำคุณภาพต่ำทุกปี

ภัยเงียบคนกรุงเทพ (ตอน 1): เจาะปัญหา ‘น้ำเค็ม’ ภาคครัวเรือนและเกษตรกรรม บริโภคน้ำคุณภาพต่ำทุกปี

18 กุมภาพันธ์ 2021


ปัญหา ‘น้ำเค็ม’ เวียนกลับมาอีกครั้งเมื่อย่างเข้าช่วงเดือนธันวาคม ลากยาวไปถึงช่วงมีนาคม เป็นเวลากว่า 3-4 เดือนที่คนกรุงเทพฯ ประสบปัญหาน้ำประปามีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบทั้งภาคครัวเรือนในหลายพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถใช้น้ำประปาในการอุปโภค-บริโภค เช่น กรองน้ำดื่มกิน รดน้ำต้นไม้ หรือภาคเกษตรกรรมเองก็ไม่สามารถใช้น้ำในการเพาะปลูกได้

เกณฑ์เครื่องวัดคุณภาพน้ำของกรมชลประทาน กำหนดเกณฑ์เฝ้าระวังความเค็ม ‘น้ำประปา’ ที่ 0.25 กรัมต่อลิตรต่อการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแต่ละจุด แต่ทั้งนี้กรมชลประทานยังได้จัดเกณฑ์ค่าความเค็มสำหรับกิจกรรมอื่นๆ เช่น ค่าความเค็มสำหรับผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร เกณฑ์สำหรับการเกษตรไม่เกิน 2.0 กรัมต่อลิตร เกณฑ์สำหรับปลูกกล้วยไม้ไม่เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร

รายงานสถานการณ์ค่าความเค็มและปริมาณน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 07.00 น. ระบุข้อมูลของแต่ละพื้นที่ พบว่าหลายพื้นที่ ‘ค่าความเค็มสูงกว่ามาตรฐาน’ โดยวัดจากสถานีสูบน้ำแต่ละจุดที่รับน้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง ปราจีนบุรี

เริ่มจากแหล่งน้ำที่สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สถานีประปาสำแล วัดได้ 0.14-0.41 กรัมต่อลิตร สะพานพระนั่งเกล้า 3.12-4.46 กรัมต่อลิตร ท่าน้ำนนทบุรี 3.43-4.99 กรัมต่อลิตร กรมชลประทานสามเสน 4.13-6.18 กรัมต่อลิตร

ถัดมาแหล่งน้ำที่สูบน้ำจากแม่น้ำปราจีน-บางปะกง ได้แก่ บางแตน 5.39-7.34 กรัมต่อลิตร บางกระเจ็ด 12.74-14.09 กรัมต่อลิตร เขื่อนบางปะกง 18.26-20.02 กรัมต่อลิตร วัดแหลมใต้ 19.42-21.74 กรัมต่อลิตร และชลประทานฉะเชิงเทรา 27.88-29.66 กรัมต่อลิตร

ส่วนแหล่งน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ วัดท่าพูด 0.12 กรัมต่อลิตร ปากคลองจินดา 0.13 กรัมต่อลิตร วัดดอนไก่ดี 0.14 กรัมต่อลิตร วัดอ่างทอง 0.15 กรัมต่อลิตร และวัดพันธุวงษ์ 0.20 กรัมต่อลิตร

สุดท้ายแหล่งน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ โพธาราม 1.29 กรัมต่อลิตร ราชบุรี 2.62 กรัมต่อลิตร ปากคลองดำเนินสะดวก 6.27 กรัมต่อลิตร บางคนที 11.05 กรัมต่อลิตร และอัมพวา 12.47 กรัมต่อลิตร

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาน้ำเค็มส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคครัวเรือนและเกษตรกรรม ปัญหาหลักเกิดจากประเทศไทยไม่มีระบบบริหารจัดการค่าความเค็มอย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถทำให้ค่าความเค็มเจือจางลงก่อนจะถึงผู้ใช้น้ำ

ตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานครมีปริมาณการใช้น้ำ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รับน้ำจากแม่น้ำสำคัญ 2 สาย ได้แก่ ฝั่งตะวันตกคือแม่น้ำเจ้าพระยา และฝั่งตะวันออกคือแม่น้ำบางปะกง แต่ก่อนที่น้ำจากต้นทางจะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ จะถูกดึงไปใช้ระหว่างทางทั้งภาคครัวเรือนและเกษตรกรรม เมื่อน้ำถูกดึงไปใช้หลายต่อและไม่ได้มีระบบกรองน้ำตามจุดสำคัญต่างๆ ทำให้คุณภาพน้ำต่ำลงในรูปแบบของ ‘ค่าความเค็ม’

นายอรรถเศรษฐ์ยังกล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อค่าความเค็ม ไม่ว่าจะเป็น อัตราการไหลของน้ำ น้ำทะเลหนุน น้ำแล้ง รวมไปถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยประสบพบเจอทุกปี

“ถ้าเราดูฝั่งบางปะกง จากตำแหน่งของกรมชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา ค่าความเค็มบางวัน 27.65 กรัมต่อลิตร ห่างจากปากน้ำมา 37 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลสุดที่กรมชลประทาน วัดได้ที่บางแตน ซึ่งห่างจากปากน้ำมาทั้งหมด 115 กิโล ค่าความเค็ม 2.60 คือน้ำใช้แทบไม่ได้ ซึ่งน้ำในแม่น้ำบางปะกง 1 ปี สูบน้ำมาใช้ได้แค่ 4 เดือน ไปเก็บที่อ่างเก็บน้ำบางพระ แต่ปีที่ผ่านมา การสูบน้ำไปใช้ไม่น่าจะถึง 4 เดือน เพราะฝนทิ้งช่วงนาน ค่าความเค็มก็สูง สูบน้ำไปเก็บไม่ได้ ผลกระทบตามมาคือ ในภาคตะวันออกตั้งแต่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ที่ต้องอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ล้วนมีปัญหาหมด เราจะได้ยินข่าวทุกปีว่าน้ำที่ออกมาจากท่อประปาชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นสีดำ เกิดจากมีความเค็มไปผสมท่อเหล็กไปกัดกร่อนทำปฏิกิริยา คุณภาพน้ำดื่มกินไม่ได้”

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำ

นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อถึงประเด็นน้ำทะเลหนุนว่า วันหนึ่งๆ น้ำทะเลหนุน 1.10 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือสูงสุดประมาณ 1.5 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะที่เขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยารองรับได้ถึง 3 เมตร แต่ที่น้ำเค็มหนัก เพราะปริมาณน้ำที่ผ่านลงมาก่อนถึงปากอ่าวเพื่อจะทำให้ความเค็มเจือจางลง มีน้อย โดยน้ำที่ถูกปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยา มาถึงบางไทร จ.พระนครศณีอยุธยา ปริมาณน้ำน้อย เนื่องจากอยู่ในสภาวะแล้ง พอมาถึงกรุงเทพฯ ยิ่งน้อยลงไปอีก เมื่อน้ำทะเลหนุนจึงไม่สามารถกระแทก/เจือจางความเค็มออกได้

“โดยวัฏจักรเอลนีโญ-ลานีญา จะปรากฏฝนชุกฝนแล้ง และเราเข้ารอบจะเกิดภาวะแล้งอยู่แล้ว เพราะปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ปีที่แล้วมันน้อยกว่าเกณฑ์มาก พอมันน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สิ่งที่กรมชลฯ ต้องทำคือบริหารจัดการน้ำ เช่น การปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล จะต้องบริหารจัดการน้ำไปแม่น้ำต่างๆ เพื่อเกษตรกรรมก่อน กว่าจะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา ระยะทางมันเท่าไร แล้วระหว่างทาง ถูกดูดไปทำเกษตรกรรม ตั้งแต่อ่างทอง…อยุธยา ดังนั้นจากเจ้าพระยาลงมาถึงบางไทรน้ำก็เหลือน้อย พออัตราการไหลของน้ำมีน้อย ค่าความเค็มมันก็เลยสูง ใกล้อ่าวไทยหรือปากน้ำค่าความเค็มจะสูงมาก”

“ด้วยต้นทุนน้ำในเขื่อนต่างๆ มีเท่าเดิมทุกปี แต่ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ถึงวันหนึ่งก็ไม่พอ ต้องถามว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราต้องยอมรับว่าช่วงระหว่างมกราคมถึงปลายมีนาคมต้องทนสภาพน้ำเค็มนะ เพราะเรามีต้นทุนน้ำอยู่แค่นี้”

ผู้ได้รับผลกระทบในกรุงเทพสามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 กลุ่มคือภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม โดยภาคครัวเรือนและภาคการเกษตรนับว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีศักยภาพในการแก้ปัญหาน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถลงทุนระบบกรองน้ำ-บำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมได้

“ในส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมในกรุงเทพฯ เช่น ทวีวัฒนา พระรามสอง แสมดำ ที่ยังมีการทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วยไม้ ปลูกต้นไม้ มีผลกระทบค่อนข้างเยอะ อีกส่วนที่กระทบมากคือน้ำประปาสำหรับบริโภค เพราะกรุงเทพฯ ใช้น้ำ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน”

นายอรรถเศรษฐ์กล่าวถึงแนวทางแก้ว่า “โดยส่วนตัวผมไม่อยากให้ผู้บริหารทำงานเป็นอีเวนต์ ไม่ใช่น้ำเค็มแล้ว ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเดินลงไปให้กำลังใจ ไปถ่ายรูปออกสื่อ แล้วมันหายเค็มไหม ต้องบอกว่า มาแล้วเป็นยังไงจะแก้ไขอย่างไร ผมว่าทุกคนคิดได้หมด อยู่ที่จะลงมือทำหรือไม่ทำ เพราะน้ำทะเลหนุนไม่ใช่ปัญหา แต่น้ำที่ปล่อยมาเพื่อจะกระแทกหรือไดรูท มันมีน้อยมาก พอน้อยมาก ค่าความเค็มก็ไปไกล คำถามนี้ต้องถามว่ากรมชลประทานที่บริหารจัดการน้ำเขามองอย่างไร ถ้าปีนี้เขามองว่าแล้ง นี่เพิ่งต้นปี เขาอาจจะปล่อยน้ำมาน้อย เพราะต้องเก็บน้ำไว้ พอถึงช่วงทำเกษตรกรรมเยอะๆ ไม่มีน้ำก็เกิดสงครามแย่งน้ำอีก ผมเข้าใจกรมชลฯ ค่อนข้างยุ่งยากในการบริหารจัดการพอสมควร ขณะที่ปัญหาเมืองก็เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค แต่ปัญหาเกษตรกรรมก็ส่วนหนึ่ง เราก็ใช้น้ำเยอะขึ้นทุกปีและไม่ได้มีการรณรงค์เรื่องการใช้น้ำหลายรอบ การนำน้ำมาบำบัดเพื่อกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น”

พร้อมยกตัวอย่างว่า ใน กทม. มีโรงในการบำบัดน้ำเสีย 9 โรง มีกำลังการผลิตประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบม.) กล่าวคือ น้ำเสียเกิดจากน้ำที่ประชาชน/อุตสาหกรรมใช้จากน้ำประปา วันหนึ่งคนใช้น้ำประปา 4-5 ล้านคิว (ลบม.) คิดง่ายๆ คือหนึ่งคน 200 ลิตรต่อวัน กรุงเทพฯ 10 ล้านคนก็ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันสำหรับอุปโภคบริโภค แต่มีน้ำในอุตสาหกรรมอีกรวมกันแล้วประมาณ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งบำบัดได้ 30% (1.2 ล้าน ลบม.) จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงเรื่องการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ที่ยังไม่สามารถเก็บไม่ได้ ซึ่งผลศึกษา กทม. ต้องการโรงบำบัดน้ำเสีย 27 โรง เพื่อบำบัดน้ำเสียทั้ง กทม. อย่าง…โรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่บางซื่อ ทำน้ำรีไซเคิลออกมา เอาไปใช้ในการรดต้นไม้ รดสวน หรือโรงบำบัดน้ำเสียที่ช่องนนทรี นำน้ำที่บำบัดแล้วไปเติมน้ำในคลองเล็ก คลองน้อย ในเมือง เพื่อน้ำในคลองใส ถ้ามีโรงบำบัดน้ำเสียมากกว่านี้ก็จะช่วยได้อีก

พร้อมกล่าวว่า ปัญหาน้ำเค็มนับเป็นปัญหาเรื้อรังที่คนไทยต้องเผชิญทุกปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการลงทุนเปลี่ยนระบบทั้งประเทศจะต้องใช้งบประมาณหลักแสนล้าน ขณะที่ภาครัฐอาจมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มทุนและไม่คุ้มค่า

ดังนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร ตลอดจนหน่วยงานส่วนภูมิภาค ร่วมมือกับภาคเอกชน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย จากการลงทุนระบบต่างๆ เพื่อให้ปัญหาน้ำเค็มที่เกิดขึ้นไม่วนซ้ำกลับมาทุกปี

อ่านแนวทางแก้ปัญหาประปาน้ำเค็มในตอนต่อไป