ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : เมืองที่ “ขาดแผนฯ-ขาดคนลงมือทำ-ตั้งโจทย์ผิด”

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : เมืองที่ “ขาดแผนฯ-ขาดคนลงมือทำ-ตั้งโจทย์ผิด”

17 พฤษภาคม 2022


เกวลี จุติปัญญา นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขนส่งและจราจร

การซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ปัญหารถติดไม่ได้มีคำตอบแค่การสร้างถนนเพิ่ม แต่ปัญหาของกรุงเทพฯ คือเมืองที่ขาดแผน-ขาดคนลงมือทำและตั้งโจทย์ผิด

ใกล้จะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ ต่างเสนอนโยบายเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องปัญหาขยะ น้ำเสีย การจราจร หรือกระทั่งการจัดระเบียบทางเท้า หรือภูมิทัศน์เมือง เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่และน่าเที่ยว

แล้วต้องทำอย่างไร…

นักวิศวกรรมที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่าง “เกวลี จุติปัญญา” นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขนส่งและจราจร ได้บอกกับ “ไทยพับลิก้า” ในวันที่ชวนคุยว่าจะซ่อมกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่อย่างไร

“จะซ่อม รื้อ หรือจะสร้างใหม่ดี” เกวลีตอบแบบยิ้มๆ ก่อนที่จะบอกว่า คำถามนี้ตอบได้หลายมุมมอง หากตอบแบบนักการเมืองคงต้องหยิบยกเอาปัญหาการจัดการขยะขึ้นมาก่อน เพราะเราบริหารจัดการเรื่องขยะมานานกว่า 10 ปี แต่ยังไม่สามารถทำให้คนกรุงเทพฯ รู้จักแยกขยะก่อนทิ้งลงถังได้เลย

แล้วจะทำให้ขยะในกรุงเทพฯ น้อยลงได้อย่างไร จะนำขยะไปสร้างโรงไฟฟ้า หรือนำขยะไปฝังกลบเพื่อเอา “ไบโอแก๊ส” หรือก๊าซชีวภาพมาใช้

นอกจากนี้ นักการเมืองอาจต้องหยิบเอาประเด็น ปัญหาเรื่องการจราจร ที่มีปัญหารถติด โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสัญญาณไฟให้สามารถประสานกันระหว่างทางแยก เพื่อให้สัญญาณไฟทุกแยกรู้จังหวะการปิดเปิดไฟเขียว ไฟแดง เพื่อไม่ให้รอกันนานเกินไป

แต่หากตอบแบบนักวิชาการ “เกวลี” บอกว่า ต้องใช้ transformation theory หรือ ทฤษฎีว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงเข้ามาแก้ไขแบบองค์รวม

อันดับแรก หากต้องการแก้ไขปัญหาจราจร ต้องเริ่มต้นจาการเก็บข้อมูลการใช้รถและการเดินทางของคนกรุงเทพฯ เพื่อจะได้มีข้อมูลจำนวนคนที่ใช้ถนน และเพื่อรู้ว่าจะย้ายคนเหล่านี้ไปยังขนส่งมวลชนสาธารณะได้อย่างไร

อันดับที่สอง คือ ปัญหาการจราจรสามารถแก้ไขเชิงโครงสร้างได้หรือไม่ ซึ่งหลักการง่ายๆ มีรถจำนวนมาก แต่ถนนไม่พอก็สร้างถนนเพิ่ม แต่ในความจริง ไม่ใช่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเดียว แต่เราอาจจะต้องมีการกำหนดนโยบายหรือกติกา เพื่อให้สามารถย้ายคนจากถนนไปยังขนส่งมวลชนสาธารณะ เช่น กรณีที่ลอนดอน กำหนดเวลาไม่ให้รถส่วนตัวเข้าเมืองบางช่วงที่รถติด ซึ่งหากเข้าไปในช่วงเวลาดังกล่าวจะโดนปรับในอัตราที่สูง

กรุงเทพฯ เมืองที่ขาด “คนลงมือทำ”

“เกวลิน” บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นคำตอบแบบนักวิชาการหรือนักการเมือง สิ่งที่สำคัญสำหรับปัญหาคนกรุงเทพฯ คือ “ใครทำ”

มีแต่คนมาบอกว่าทำแบบนั้นทำแบบนี้ แต่ไม่รู้ว่าใครทำ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ไม่มีความรู้ หรือไม่ใช่ไม่มีนโยบาย แต่ปัญหาของเราคือไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

เนื่องจาก “ผู้ว่าฯ กทม.” ที่เข้ามาบริหารส่วนใหญ่จะนึกถึงโครงการที่ทำแล้วสามารถคิดเป็นผลงานของตัวเอง แต่ไม่มีใครมอง “องค์รวม” ของปัญหา หรือไม่มีใครยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพอไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง การแก้ไขปัญหาทุกอย่างก็สะเปะสะปะไปหมด หลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้

“เกวลิน” ยังเห็นว่า ปัญหาใหญ่ในการบริหารงานกรุงเทพฯ คือเรื่องของการ ซิงโครไนซ์หรือการประสานงาน ที่ต้องร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการประสานการทำงานไม่ใช่เรื่องการเอื้อเฟื้อ หากเป็นเรื่องการทำแผนงานที่ร่วมกันทำงานอย่างจริงจังตามโรดแมป ที่ต้องมีการวางแผนกันยาวเกิน 4 ปี หรือเดินตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ร่วมกัน

“สรุปคือ ต้องมีคนทำและต้องทำงานแบบ ‘ซิงโครไนซ์’ ระหว่างหน่วย อย่างเช่นกรณีการแก้ปัญหารถติด เคยเสนอแนวทางปฏิบัติไปแล้วแต่ไม่ได้ทำ เพราะว่าทำยากมาก เช่น กรณีแยกอโศก สุขุมวิท เพชรบุรี เสนอให้ขยายถนนหรือสร้างสะพาน หรือการทำอุโมงค์ลอดใต้ดินก็มีปัญหาต้องผ่านสายไฟของการไฟฟ้าและท่อประปา ต้องประสาน มีคนบอกทำให้วิวมองลงมาจากตึกไม่สวย จนทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้”

ปัญหาของกรุงเทพมหานครสำคัญมากคือการขาดแผนยุทธศาสตร์ หรือการสร้างโรดแมปที่มากกว่า 4 ปี เพื่อประสานงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานเพื่อให้ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่แผนที่ขาดอำนาจในการดำเนินการ

“ซ่อม” กรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ “ต้องใจถึง”

สำหรับผู้ว่าฯ คนใหม่ หากต้องการซ่อมเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ จะต้องมีคุณสมบัติ “ใจถึง-มีวิสัยทัศน์-เพื่อน” ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา เพราะผู้ว่าฯ ต้องฟังเสียงประชาชน และสามารถประสานการทำงานกับทุกหน่วยงานเพื่อให้แผนปฏิบัติได้จริง

“ผู้ว่าฯ จะต้องมีวิสัยทัศน์ กล้าทำ กล้าเริ่ม กล้าลงมือ แม้ว่าจะเป็นวาระที่อาจล้มเหลว แต่ต้องเริ่ม แม้ว่าอาจจะไม่สำเร็จในสมัยการทำงานของตัวเอง แต่ควรจะเริ่มต้น ไม่ใช่คิดเพียงแค่ผลงานที่จะสร้างสำเร็จในสมัยการทำงานของตัวเองเท่านั้น”

เกวลินอยากเห็นผู้ว่าฯ คนใหม่ เอาตำรวจออกจากการแก้ปัญหาจราจร เพราะทักษะของตำรวจเรื่องเปิดปิดสัญญาณไฟจราจรเป็นมากกว่าการระบายรถติดในถนนเส้นหนึ่ง แม้อาจทำให้ถนนอีกเส้นหนึ่งต้องรอการระบายรถนานมากขึ้นก็ตาม ดังนั้น เรื่องของสัญญาณไฟจราจรจึงเป็นเรื่องของตัวเลขที่มากกว่าการระบายรถยนต์

“ตำรวจไม่รู้เรื่องจราจร เพราะการเปิดสัญญาณไฟจราจรเพื่อล้างท่อรถยนต์อีกฝั่งหนึ่ง ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งรถติดมากกว่า การจราจรต้องคิดตัวเลขมากกว่านั้น เช่น การบริหารการจอดรถข้างถนนซึ่งจอดรถแค่ 1 นาที ทำให้รถติดไป 30 คัน ซึ่งอาจจะต้องหาจุดจอดรถที่เหมาะสมมากกว่าข้างถนน”

นอกจากนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ ต้องทำในเรื่องปัญหาการจราจร หรือการเดินทางของคนกรุงเทพฯ คือ การเชื่อมโยงการเดินทางทั้งหมด รวมไปถึงระบบฟีดเดอร์ สร้างการเดินทางแบบ “บีอาร์ที” เพื่อขนคนไปยังรถไฟฟ้า หรือยกระดับรถขนาดเล็กที่คนขนจากซอยในชุมชน เช่น รถตุ๊กตุ๊ก รถมอเตอร์ไซค์ ให้เป็นการขนส่งของเมือง โดยอาจเชื่อมโยงบัตรโดยสารเป็นบัตรใบเดียว หรือบัตรแมงมุมก็ได้

“ผู้ว่าฯ ต้องทำให้ค่าโดยสารในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ มีราคาสมเหตุสมผล เพราะปัจจุบันการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องเป็นคนชั้นกลางระดับสูงหน่อยที่จะมีเงินจ่ายค่าโดยสารไปกลับราคา 100 บาทได้”

ถึงเวลาที่ “กรุงเทพฯ” ต้องมีเป้าหมายทำให้คนกรุงเทพฯ เดินทางด้วยขนส่งมวลชนสาธารณะตามยุทธศาสตร์คมนาคม โดยต้องตั้งโจทย์ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้การเดินทางสะดวกและราคาถูก

การ “ซ่อม” กรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เรื่องของโครงสร้างอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการมีแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ซึ่งแน่นอนว่า ต้องอาศัยความกล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครในการบริหารจัดการ