ThaiPublica > สู่อาเซียน > Laos Logistics Link เป้าที่ไกลกว่า Land Link…ทางออกสู่ทะเล

Laos Logistics Link เป้าที่ไกลกว่า Land Link…ทางออกสู่ทะเล

15 มีนาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาว

“ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าทีมงานจากลาวจะได้เข้าบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ในเดือนกรกฎาคมนี้”

เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่จันทอน สิดทิไซ กล่าวรายงานต่อไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาว ซึ่งนำคณะไปดูงานด่านสากล, ท่าบก (dry port) ท่านาแล้ง และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร ของบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565

จันทอน สิดทิไซ นอกจากเป็นประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค แล้ว ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม กิจการร่วมทุนระหว่างกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว มหาชน ในสัดส่วน 51:49 และรัฐบาลลาวกับเวียดนาม เห็นชอบให้เข้าไปบริหารและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

จันทอน สิดทิไซ (ซ้าย) ให้การต้อนรับไซสมพอน พมวิหาน (ขวา) ประธานสภาแห่งชาติลาว ที่ไปเยี่ยมชมกิจการ เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่มาภาพ : เพจทางการ เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค

ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว เป็นบริษัทในกลุ่มพงสะหวัน ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันครบวงจรภายใต้เครื่องหมายการค้า PLUS และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ในโอกาสนำคณะเดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี ลาว และฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรี เวียดนาม ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ลาว-เวียดนาม 9 ฉบับ

หนึ่งในนี้ เป็นเอกสารรับรองข้อผูกพันการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลาวใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company จากเดิม 20% ขึ้นเป็น 60%

จันทอนกล่าวว่า ขณะนี้ทีมงานลาวและเวียดนาม กำลังทำงานร่วมกันในเรื่องการโอนหุ้นที่ได้เพิ่มสัดส่วนจาก 20% เป็น 60% เมื่อขั้นตอนนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทีมงานของลาวก็จะเข้าไปบริหารท่าเรือแห่งนี้เต็มตัว

จันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค และผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม

……

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง และเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เป็น 2 ใน 3 องค์ประกอบหลัก ของยุทธศาสตร์ Laos Logistics Link (LLL) อีกองค์ประกอบหนึ่ง ได้แก่ เส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม

LLL เป็นการขยายบทบาทยุทธศาสตร์เดิมที่ต้องการปรับตำแหน่งของลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlock) ให้เป็นดินแดนเชื่อมต่อของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค (land-linked)

LLL อาศัยทำเลที่ตั้งอันเป็นจุดเด่นของลาว พัฒนาลาวขึ้นเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าของประเทศบนภาคพื้นทวีป กับนานาประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือทวีปอื่นๆ

การได้เข้าไปบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จึงไม่เป็นเพียงการเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับลาวเท่านั้น!!!

จันทอนกล่าวว่า ที่ผ่านมาลาวเป็นเพียงทางผ่าน ไม่ได้เป็นจุดเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ LLL จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และจะเป็นหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจของลาวนับจากนี้ คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าเคลื่อนผ่านลาวถึง 5 ล้านตู้ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล

ที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

……

3 องค์ประกอบของ Laos Logistics Link เคยถูกเขียนถึงไปบ้างแล้วแบบกระจัดกระจาย เมื่อทุกอย่างเริ่มมีภาพที่ชัดเจนขึ้น ขอนำข้อมูลมาเรียบเรียงนำเสนอใหม่ให้เป็นระบบ เพื่อให้เห็นความต่อเนื่อง ดังนี้…

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

อยู่ในจังหวัดฮาติงห์ จังหวัดชายทะเลภาคกลางค่อนมาทางเหนือของเวียดนาม อยู่ใต้กรุงฮานอยลงมาประมาณ 340 กิโลเมตร และอยู่ทางเหนือของจังหวัดกว๋างบิ่ญ (โปรดดูแผนที่ประกอบ)

ปี 2540 รัฐบาลเวียดนามวางแนวทางพัฒนาเมืองหวุงอ๋างตามแผน “เหนือกว๋างบิ่ญ ใต้ฮาติงห์” โดยการสร้างเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก จากนั้นปี 2549 ได้สถาปนา “เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง” ขึ้นบนพื้นที่ 227.81 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 142,400 ไร่ บริเวณเชิงเขาทางเหนือของเทือกเขาหว่าญเซิน ในอำเภอกี่อาญ

นอกเหนือจากที่ดินซึ่งเตรียมไว้ให้นักลงทุนสร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างที่เป็นแม่เหล็กสำคัญดึงดูดเม็ดเงินลงทุน

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างยาว 1.5 กิโลเมตร อยู่บนร่องน้ำลึก 9.5 เมตร รองรับเรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกได้ 46,000 เดทเวทตัน

ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน 2560 ทีมเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของไทย เดินทางไปสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ ไทย-ลาว-เวียดนาม ตั้งแต่จังหวัดมุกดาหาร ข้ามเข้าแขวงสะหวันนะเขต ขึ้นไปถึงกรุงฮานอย และได้เขียนรายงานเกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างไว้ว่า มีท่าเทียบเรือ 3 แห่ง ได้แก่

  • ท่าเทียบเรือ 1 ยาว 185 เมตร กว้าง 28 เมตร มีคลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 13,000 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ 2 ยาว 270 เมตร กว้าง 31 เมตร คลังสินค้ากว้าง 5,000 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 24,000 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ 3 ยาว 225 เมตร กว้าง 95 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 30,000 ตารางเมตร

  • ที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

    รายงานระบุว่า ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างถูกใช้เพื่อส่งออกสินค้าเป็นส่วนใหญ่ 80-90% และนำเข้าเพียง 10-20% สินค้าที่ส่งออกผ่านท่าเรือแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ เช่น เครื่องจักร ปูน หิน ทราย แร่ และถ่านหิน…

    เดือนเมษายน 2553 รัฐบาลลาวและเวียดนามร่วมจัดตั้งบริษัท Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้น มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านด่ง ฝ่ายเวียดนามถือหุ้น 80% ลาว 20% เพื่อร่วมกันพัฒนาและบริหารท่าเรือหวุงอ๋างให้เป็นท่าเรือสำหรับส่งออกสินค้าที่ผลิตได้จากลาว

    ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2560 ขณะนำคณะเดินทางเยือนลาวอย่างเป็นทางการ เหวียน ซวน ฟุก และทองลุน สีสุลิด ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของเวียดนามและลาว ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลงร่วม 2 ประเทศ 9 ฉบับ

    หนึ่งในนั้น ได้แก่ ข้อตกลงระหว่างกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว กับกระทรวงคมนาคมและขนส่ง เวียดนาม ว่าด้วยการร่วมลงทุน ควบคุมและบริหารท่าเรือหวุงอ๋าง (ท่าเทียบเรือ 1, 2 และ 3) เพื่อให้เป็น “ท่าเรือลาว-เวียด”

    วันที่ 1 มิถุนายน 2562 หลังเสร็จสิ้นการประชุม “The Future of Asia” ครั้งที่ 25 ที่กรุงโตเกียว ระหว่างเดินทางกลับลาว เครื่องบินของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด แวะพักที่กรุงฮานอย ช่วงสั้นๆ และได้เข้าประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก

    การประชุมครั้งนั้น นายกรัฐมนตรี 2 ประเทศ เห็นพ้องผลักดันแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำคัญ 3 โครงการ ได้แก่

    • การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง
    • การก่อสร้างทางรถไฟสายเวียงจันทน์-หวุงอ๋าง
    • การสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย
    ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ที่มาภาพ: Vietnam Times

    หนังสือพิมพ์ Vientiane Times รายงานว่า การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายลาวต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company จากเดิม 20% ขึ้นเป็น 60% เพราะท่าเรือหวุงอ๋างถือเป็นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของลาว ส่วนเวียดนามจะลดสัดส่วนลงมาเหลือ 40%

    วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 สื่อหลายแห่งในลาว เสนอบทสัมภาษณ์วิไลคำ โพสาลาด รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ที่พูดถึงผลงานของกระทรวงในวาระเฉลิมฉลองวันชาติลาวครบรอบ 45 ปี ช่วงหนึ่งเธอกล่าวว่า

    “การพัฒนาด้านโยธาธิการทางน้ำที่โดดเด่น กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้รับการตกลงจากรัฐบาลให้เซ็นสัญญาว่าด้วยความร่วมมือ ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ 1, 2 และ 3 ของท่าเรือหวุงอ๋าง กับกระทรวงคมนาคมขนส่งของเวียดนาม และเวียดนามยังเห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของลาวในท่าเรือแห่งนี้จาก 20% เป็น 60% โดยฝ่ายเวียดนามลดสัดส่วนลงมาเหลือ 40% กำหนดเวลา 70 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก”

    วันที่ 1-2 เมษายน 2564 มีการประชุมคณะกรรมการร่วมมือ 2 ประเทศ ลาว-เวียดนาม ที่ห้องประชุมด่านสากล “แดนสะหวัน-ลาวบาว” มีการรายงานความคืบหน้าการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลาวใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company จาก 20% เป็น 60% ว่า รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ตั้งเป้าให้สำเร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

    อันเป็นที่มาของเอกสารความร่วมมือที่ได้มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565…

    ในช่วงแรก เมื่อรัฐบาลลาวและเวียดนามตกลงจัดตั้ง Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้นในเดือนเมษายน 2553 รัฐบาลลาวมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน (ลลบส.) เป็นตัวแทนรัฐบาลเข้าไปถือหุ้นในบริษัทนี้ 20%

    ลลบส.เป็นองค์กรของรัฐทั้ง 100% จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงของรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ฉบับที่ 0751/กง. ลงวันที่ 1 เมษายน 2551 ทำหน้าที่บริการขนส่งสินค้าที่นำเข้าและส่งออก ให้เช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า รวมถึงจัดทำเอกสาร แจ้งภาษี สำหรับการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ

    ลลบส.ถือหุ้นอยู่ใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งถึงต้นปี 2564…

    เดือนกรกฎาคม 2560 รัฐบาลลาวอนุมัติแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ที่เสนอโดยบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพ ขยายขีดความสามารถการให้บริการของท่าเรือแห่งนี้

    วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงการเงินได้ร่วมทุนกับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ตั้งรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนามขึ้น เพื่อเข้าไปบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง พัฒนาท่าเทียบเรือที่ 1, 2 และ 3 ขยายขีดความสามารถให้ขนส่งสินค้าได้ทั้งแบบเทกองและตู้คอนเทนเนอร์

    พิธีเปิดตัวจันทอน สิดทิไซ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563

    วันที่ 22 ธันวาคม 2563 มีพิธีเปิดตัวจันทอน สิดทิไซ ประธานกลุ่มบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม

    วันที่ 26 มีนาคม 2564 มีพิธีโอนหุ้น 20% ของ Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ที่เคยถืออยู่ในนามรัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน ให้กับรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม

    พิธีโอนหุ้น 20% ของ Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company จาก ลลบส. มาให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า

    ……

    เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค

    5 เมษายน 2562 กระทรวงแผนการและการลงทุน เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือบก และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร ที่ท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง

    สิทธิ โลจิสติกส์ ลาว เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังสถานีบริการน้ำมัน PLUS ทั่วประเทศ ก่อนแยกตัวออกมาเป็นอีกบริษัทเมื่อปี 2556

    วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลลาวเห็นชอบผลศึกษาของบริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว และอนุมัติโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติ พ.ศ. 2559-2573

    พิธีเซ็น MOU ให้สิทธิ โลจิสติกส์ ลาว ศึกษาความเป็นไปได้ โครงการท่าบก ท่านาแล้ง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562

    วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 บริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว เปลี่ยนชื่อเป็นเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค และได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวสร้างด่านสากล ท่าบก และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจรขึ้นบนพื้นที่ 382 เฮคตา (2,387 ไร่) ที่ท่านาแล้ง บริเวณกึ่งกลางระหว่างสถานีรถไฟท่านาแล้ง ที่เชื่อมกับสถานีหนองคาย ต้นทางของโครงข่ายทางรถไฟไทย กับสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ปลายทางของเส้นทางรถไฟลาว-จีน

    นอกจากนี้ พื้นที่นี้ยังจะถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่จะสร้างจากนครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

    เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 727 ล้านดอลลาร์ (23,991 ล้านบาท) แบ่งเป็นส่วนของท่าบก 180 ล้านดอลลาร์ และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร 547 ล้านดอลลาร์ มีอายุสัมปทาน 50 ปี

    พิธีเซ็นสัญญาสัมปทานท่าบก ท่านาแล้ง และพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นก่อสร้างเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563

    การก่อสร้างเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เริ่มในเดือนธันวาคม 2563 ใช้เวลาสร้าง 11 เดือน และเพิ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 วันเดียวกับที่รถไฟลาว-จีน วิ่งให้บริการเป็นวันแรก

    จันทอนรายงานต่อไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ว่า กว่า 100 วัน ที่เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เปิดให้บริการมา ถือว่าได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี

    ……

    ทางรถไฟลาว-เวียดนาม

    วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ได้มีพิธีเซ็น MOU ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกลุ่มบริษัทพงสะหวัน กับกลุ่มรัฐวิสาหกิจจากอินโดนิเซีย

    ผู้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเซ็น MOU ครั้งนี้ ประกอบด้วย สุพัน แก้วมีไซ รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน อาลุนแก้ว กิดติคุน รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี ศ. ดร.ออด พงสะหวัน ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กลุ่มบริษัทพงสะหวัน Rini Mariani Soemarno รัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจ อินโดนิเซีย และ Pratito Soeharyo เอกอัครรัฐทูตอินโดนิเซียประจำ สปป.ลาว

    MOU ที่เซ็นกันในวันนั้น มี 4 ฉบับ หนึ่งในนั้น คือ MOU ว่าด้วยการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ระหว่างบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว กับรัฐวิสาหกิจ Indonesia Railway Development Consortium

    เนื้อหาใน MOU ระบุว่า ทั้ง 2 องค์กรจะร่วมกันพัฒนาเส้นทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน มีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จังหวัดฮาติงห์ ประเทศเวียดนาม

    วันที่ 15 ตุลาคม 2562 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว เซ็น MOU ให้บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว เป็นผู้ออกแบบรายละเอียดโครงการทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

    บริษัทปิโตรเลียม เทรดิ้งลาว เซ็นสัญญาจ้าง National Consulting Group ให้ทำ ESIA ทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563

    วันที่ 9 ตุลาคม 2563 บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว เซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัท National Consulting Group ซึ่งเคยจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของเส้นทางรถไฟลาว-จีน ให้มาเป็นผู้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างละเอียด (ESIA) ให้กับโครงการทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง…

    ทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง ยาว 555 กิโลเมตร อยู่ในลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปตามแนวถนนสาย 13 (ใต้) ถึงแขวงบ่ลิคำไซ แขวงคำม่วน เลี้ยวซ้ายไปทางตะวันออก เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ ขึ้นสู่จังหวัดกว๋างบิ่ญ และจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

    เดิมคาดว่าทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 กำหนดแล้วเสร็จ เปิดให้บริการได้ในปี 2568

    แต่รายงานล่าสุด ขณะนี้ ทางรถไฟสายนี้ ยังไม่เริ่มการก่อสร้าง…

    อ่านเพิ่มเติม

  • ทางออกสู่ทะเลของ“ลาว” (1)
  • ทางออกสู่ทะเลของ“ลาว” (2)
  • เส้นทางออกสู่ทะเลของลาว…คืบหน้า
  • โครงข่ายกลุ่ม“พงสะหวัน” กับก้าวย่างทางออกสู่ทะเลของลาว