ThaiPublica > สู่อาเซียน > บทบาทที่เพิ่มขึ้นเงียบๆ ของ “เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น”

บทบาทที่เพิ่มขึ้นเงียบๆ ของ “เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น”

4 พฤษภาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ตึกแฝด IFC อาคาร A ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม

วันที่ 20 เมษายน 2565 เพจทางการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ “บ่อเต็นแดนงาม” ได้เผยแพร่ภาพความคืบหน้าการก่อสร้างตึกแฝด IFC อาคาร A ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

เนื้อหาระบุว่า ณ วันที่ 19 เมษายน 2565 โครงสร้างตัวอาคารได้ก่อสร้างสำเร็จแล้ว ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ หลากหลายประการ

ตึกแฝด IFC อาคาร A เป็นอาคารสูง 35 ชั้น ความสูงรวม 131.3 เมตร ตั้งอยู่ในศูนย์กลางการเงิน ย่านใจกลางธุรกิจ (Central Business District — CBD) ของเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ชั้น 1-5 เปิดเป็นร้านค้าหรือแบ่งเป็นห้องเพื่อการพาณิชย์ ส่วนชั้น 6-35 จะถูกใช้เป็นอาคารสำนักงาน

เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ระบุว่า อุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างอาคารแห่งนี้ เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาในการนำเข้าวัสดุก่อสร้างฯลฯ แต่การก่อสร้างยังคงเดินหน้าไปตามแผน

การเผยแพร่ความคืบหน้าการก่อสร้างภายใน “บ่อเต็นแดนงาม” เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏขึ้นบ่อยนักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอายุของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

……

พื้นที่ศูนย์กลางการเงินในย่านใจกลางธุรกิจ (Central Business District — CBD) ของเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม

“บ่อเต็นแดนงาม” เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งที่ 2 ที่ตั้งขึ้นใน สปป.ลาว รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่กลุ่มนักลงทุนจีนมาสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 เกือบ 20 ปีก่อน ส่วนเแห่งแรกคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ “สะหวัน-เซโน” ในแขวงสะหวันนะเขต ที่ตั้งขึ้นไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นในปีเดียวกัน คือวันที่ 29 กันยายน 2546

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษในลาว คนส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวในปี 2550 มากกว่า เพราะนอกจากจุดที่ตั้ง ซึ่งสามารถมองเห็นได้เด่นชัดจากริมฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ของไทยแล้ว จุดขายของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำยังแสดงชัดเจน คือบ่อนคาสิโน และในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้กำลังจะเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่เพื่อให้บริการแก่นักนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปเสี่ยงโชคใน “สามเหลี่ยมทองคำ” โดยเฉพาะ

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ในตอนแรกที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวใหม่ๆ ผู้รับสัมปทานรายเดิมก็ชูจุดขายที่บ่อนคาสิโนด้วยเหมือนกัน แต่ต่อมาภายหลังเกิดมีปัญหาขึ้นจนต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้รับสัมปทานและปรับรูปแบบธุรกิจใหม่…

แนวคิดในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น เกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นก่อสร้างถนนสาย R3a จากเมืองบ่อเต็น มายังชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว เมื่อปี 2545

วันที่ 8 ธันวาคม 2545 นายกรัฐมนตรีลาว มีนโยบายเรื่องการพัฒนาเขตการค้าชายแดน ส่งผลให้มีการเซ็นสัญญาสัมปทานกับบริษัทฟุกฮิง ทราเวล เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จากฮ่องกง ตามมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2546

บริษัทฟุกฮิง ทราเวล ได้สัมปทานพัฒนาที่ดิน 1,640 เฮคตา หรือ 10,250 ไร่ ริมถนนสาย R3a ห่างจากชายแดนประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อสร้างเป็น “เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำ” เมืองใหม่ที่ชูจุดขายคือบ่อนคาสิโน

เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำเปิดดำเนินการในปี 2550 ก่อนเปิดใช้งานถนน R3a อย่างเป็นทางการ 1 ปี แต่เปิดไปได้ไม่นานก็เกิดปัญหาที่รัฐบาลลาวเรียกเป็น “ประเด็นทางด้านความปลอดภัย” ขึ้น มีนักเสี่ยงโชคชาวจีนถูกยิงเสียชีวิตอยู่ภายในบ่อนคาสิโน ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำ

เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลลาวตัดสินใจปรับเนื้อหาในสัญญาสัมปทานใหม่ ตัดกิจการคาสิโนออก ไม่ให้บรรจุไว้ในรายละเอียดของโครงการ จากนั้นมีการเปลี่ยนตัวผู้รับสัมปทานจากบริษัทฟุกฮิง ทราเวล มาเป็นกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง

วันพุธที่ 5 เมษายน 2555 รัฐบาลลาวจัดพิธีเซ็นสัญญาให้สัมปทานแก่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีบุนเพ็ง มูนโพไซ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติ ลงนามร่วมกับโจว คุน ประธานกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง โดยมี หว่อง มั่นเฉิน ประธานบริษัทฟุกฮิง ทราเวล และสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี ผู้ประจำการรัฐบาล ในฐานะประธานกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน

กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้เปลี่ยนชื่อโครงการจากเขตเศรษฐกิจเฉพาะ “บ่อเต็นแดนคำ” เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ “บ่อเต็นแดนงาม” ปรับรูปแบบธุรกิจเป็นศูนย์การค้าและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมครบวงจร

มีการขยายพื้นที่สัมปทานเป็น 34.2 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 21,375 ไร่ พร้อมคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาพัฒนาทั้งโครงการให้เสร็จสมบูรณ์ใน 10-15 ปี ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านหยวน และเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ และจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 หมื่นคน

วันที่ 2 มิถุนายน 2558 สถานีวิทยุเสียงจากอเมริกา ภาคภาษาลาว มีรายงานว่า เหตุยิงกันจนมีผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำ ทำให้รัฐบาลลาว โดยสมสะหวาด เล่งสะหวัด ได้ประกาศเป็นนโยบายชัดเจนว่า ต่อจากนี้ไป ในทุกเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะสร้างขึ้นใหม่ จะไม่ให้มีกิจการบ่อนคาสิโนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นอีก อย่างไรก็ตาม บ่อนคาสิโนที่ได้รับอนุญาตไว้แล้วก่อนหน้านั้น ก็ยังคงให้ดำเนินการได้ต่อไปได้

……

การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ที่ถูกเผยแพร่ในสื่อของลาวเมื่อเดือนเมษายน 2562 หลังมีการนำผู้สื่อข่าวจากจีนและเวียงจันทน์จำนวนหนึ่งขึ้นไปดูความคืบหน้าของที่นี่

เมษายนปีนี้ ครบรอบ 10 ปี ที่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้รับสัมปทานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามจากรัฐบาลลาว

แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้กลับเป็นไปแบบเงียบๆ ไม่ค่อยปรากฏข่าวออกสู่สาธารณะมากนัก

เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม เพิ่งมาเริ่มเผยแพร่ความเคลื่อนไหวผ่านสื่อ เมื่อมีการนำผู้สื่อข่าวจากจีนและนครหลวงเวียงจันทน์จำนวนหนึ่ง เดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2562 ก่อนเทศกาลบุญปีใหม่ลาวประจำปีนั้นไม่กี่วัน

ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2563 เพจ “คนเดินทาง Walker Trail” เพจซึ่งเน้นนำเสนอภาพและเนื้อหาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของลาว ได้เสนอภาพชุดเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม แสดงภาพความสวยงามของตึกรามใหญ่โตในนี้หลายอาคาร ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน กิจกรรมนี้ นัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ “ลาวเที่ยวลาว” ของรัฐบาลลาว เพื่อกระตุ้นภาคบริการและการท่องเที่ยว หลังลาวต้องปิดประเทศไปตั้งแต่เดือนมีนาคมปีเดียวกัน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามที่เผยแพร่ผ่านเพจ“คนเดินทาง Walker Trail” ในเดือนกันยายน 2563

หลังจากรถไฟลาว-จีน เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา ได้เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหว ที่มีนัยสำคัญกับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม

โดยเฉพาะการที่มีประธานประเทศ สปป.ลาวถึง 3 คน เดินทางขึ้นไปเยี่ยมชมกิจการ และดูงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ติดต่อกัน ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน…

– วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นคณะของทองลุน สีสุลิด เลขาธิการใหญ่ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ประธานประเทศลาว คนปัจจุบัน

– วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นคณะของจูมมะลี ไซยะสอน อดีตประธานประเทศ ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2549-2559

– วันที่ 1-2 มีนาคม 2565 เป็นคณะของบุนยัง วอละจิด อดีตประธานประเทศคนก่อน ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2559-2564

คณะของทองลุน สีสุลิด (คนกลาง) ประธานประเทศคนปัจจุบัน ที่ไปเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
คณะของจูมมะลี ไซยะสอน (คนกลางสูทสีน้ำตาลอ่อน) อดีตประธานประเทศ (2549-2559) ไปบ่อเต็นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565
บุนยัง วอละจิด (เสื้อสูทสีครีม) อดีตประธานประเทศ (2559-2564) ไปบ่อเต็นเมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม 2565

ไม่นับรวมคณะของรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น

– วันที่ 21 ธันวาคม 2564 คณะของบุนทอง จิดมะนี กรรมการกรมการเมือง ศูนย์กลางพรรค ผู้ประจำการเลขาธิการศูนย์กลางพรรค และรองประธานประเทศ โดยระหว่างดูงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ บุนทองได้ให้แนวทางปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกผ่านด่านชายแดนลาว-จีน และการป้องกันและควบคุมโควิด-19

– วันที่ 27 ธันวาคม 2564 คณะของคำแพง ไซสมแพง เลขาคณะบริหารงานพรรค กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า โดยนอกจากการเยี่ยมชมและดูงานแล้ว คำแพงยังได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนภาครัฐและเอกชน ที่โรงแรมจิ่งหลาน ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาปริมาณรถบรรทุกคั่งค้างหน้าด่านชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน จนทำให้รถติดยาวตามถนนสาย R3a และสาย 13 เหนือ เป็นระยะทางยาวกว่า 50 กิโลเมตร

โรงแรมจิ่งหลาน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

– วันที่ 9 มีนาคม 2565 ทีมผู้บริหารสถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติ และสถาบันวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ขึ้นไปดูงาน

– วันที่ 6 เมษายน 2565 เป็นคณะของพอนสะหลี สุกสะหวัด หัวหน้าศูนย์สถิติแห่งชาติ และทีมงาน

……

เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม มีจุดเริ่มต้นจากการเกิดขึ้นของถนนสาย R3a เส้นทางเชื่อมพรมแดน 3 ประเทศ จีน-ลาว-ไทย แต่บทบาทของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ถูกขับให้โดดเด่นขึ้นจากการเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟลาว-จีน

3 วันก่อนพิธีเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการ เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงานได้จัดแคมเปญเผยแพร่สโลแกนที่ต้องการสะท้อนถึง “ตำแหน่ง” ของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

สถานีรถไฟบ่อเต็น และทางรถไฟที่เพิ่งข้ามชายแดนมาจากเมืองบ่อหาน สิบสองปันนา ในฝั่งจีน

เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีรายละเอียดว่า…

  • 3 ชั่วโมง-บ่อเต็น
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นเข้าสู่ยุคสมัยเชื่อมต่อด้วยทางด่วนและทางรถไฟ
  • เที่ยวไป 5 ประเทศ ลาว จีน ไทย เมียนมา และเวียดนาม เพียงแค่ 3 ชั่วโมง
  • เปิดสร้างสภาพใหม่ของการจราจรในแหลมอินโดจีน

เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 มีรายละเอียดว่า…

  • 2 ประเทศ-บ่อเต็น
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นเข้าสู่ยุคสมัยเชื่อมต่อด้วยทางด่วนและทางรถไฟ
  • โอกาสทางยุทธศาสตร์ภายใต้ความเอาใจใส่จากรัฐบาลจีน-ลาว บุกเบิกสภาพการใหม่ของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการค้า 2 ประเทศ

เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 มีรายละเอียดว่า…

  • 1 สถานี-บ่อเต็น
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นเข้าสู่ยุคสมัยเชื่อมต่อด้วยทางด่วนและทางรถไฟ
  • สถานีรถไฟแห่งแรกหลังข้ามพรมแดน ลาว-จีน เปิดบทใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรม ด่านสากล
เนื้อหาสโลแกนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามเผยแพร่ 3 วันล่วงหน้า ก่อนพิธีเปิดใช้รถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคม 2564

รถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการมาแล้ว 5 เดือนเต็ม สถิติต่างๆที่ถูกเผยแพร่ออกมา ทำให้เห็นความสำคัญของทางรถไฟสายนี้ ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

เชื่อว่า นับจากนี้ไป บทบาทของเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ก็น่าจะปรากฏออกมาให้เห็นมากขึ้นด้วย เช่นกัน…

  • ทางด่วน“ยูนนาน-เวียงจันทน์”
  • “ยูนนาน ไห่เฉิง”กลุ่มทุนจีนที่โตไปกับเส้นทางคมนาคมในลาว
  • ภาพที่ชัดขึ้นของ“ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ลาว”