ThaiPublica > สู่อาเซียน > ภาระหนี้ของรัฐบาลลาว จากทางรถไฟลาว-จีน

ภาระหนี้ของรัฐบาลลาว จากทางรถไฟลาว-จีน

8 กรกฎาคม 2021


รายงานโดยปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

รถไฟ CR200J Fuxing EMU หรือที่ในจีนเรียกว่าเจ้า“ยักษ์เขียว” ในวันเปิดให้บริการเส้นทางคุนหมิง(ยูนนาน)-พานจือฮวา(เสฉวน) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เดือนสิงหาคมนี้ เจ้ายักษ์เขียว 2 ขบวนจะถูกส่งมาถึงลาว เพื่อทดลองวิ่งตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่มาภาพ : China Daily

เดือนสิงหาคมนี้ ขบวนรถไฟ CR200J Fuxing EMU 2 ขบวน จะถูกส่งจากจีนไปถึงลาวเพื่อเริ่มทดลองเดินรถตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน ก่อนเปิดให้บริการจริงในวันที่ 2 ธันวาคม

ระหว่างการเตรียมความพร้อม เสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้ก็เริ่มดังขึ้น โดยเฉพาะประเด็นภาระหนี้สินของรัฐบาลลาว…ส่วนหนึ่งของเสียงวิจารณ์ ดังไปจากประเทศไทย

ผู้ที่คลุกคลีและมีส่วนในการร่างสัญญาโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น มีมุมมองต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้อย่างไร

  • ธันวาคมนี้…เสียงหวูด “รถไฟลาว-จีน” ดังสนั่น

  • สอนสัก หน่อยานสะนะ อดีตรองหัวหน้ากรมทางรถไฟลาว ที่มาภาพ : เว็บไซต์“เวียงจันทน์ไทม์” ภาคภาษาลาว

    หลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับภาระหนี้จำนวนมหาศาลที่รัฐบาลลาวต้องแบกรับจากโครงการทางรถไฟลาว-จีน ที่กำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยต้นทางหนึ่งของเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น ดังไปจากประเทศไทย

    วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2564 สอนสัก หน่อยานสะนะ อดีตรองหัวหน้ากรมทางรถไฟลาว กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ที่เป็นผู้มีบทบาทกับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ได้เขียนบทความเรื่อง “ผลประโยชน์ที่แท้จริงของเส้นทางรถไฟลาว-จีน คืออะไร ?” เพื่อชี้แจงข้อมูล ให้ความกระจ่างต่อประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ “เวียงจันทน์ไทม์” ภาคภาษาลาว

    เพื่อความชัดเจนกับทุกฝ่าย ขอนำบทความความชิ้นนี้มาถ่ายทอดต่อเป็นภาษาไทย โดยพยายามปรับเกลาเนื้อความให้น้อยที่สุด เพื่อคงข้อมูลทุกประเด็นไว้ตามต้นฉบับภาษาลาวให้มากที่สุด

    บทความของอดีตรองหัวหน้ากรมทางรถไฟลาว มีรายละเอียดดังนี้…

    เส้นทางรถไฟลาว-จีนที่มีกำหนดเปิดใช้ในเดือนธันวาคมนี้ ได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาอย่างร้อนแรงในวงการสื่อมวลชนทั้งภายในและต่างประเทศ ก็คือสังคมออนไลน์ ในระยะสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา

    รถไฟ CR200J Fuxing EMU หรือที่ในจีนเรียกว่าเจ้า“ยักษ์เขียว” ในวันเปิดให้บริการเส้นทางคุนหมิง(ยูนนาน)-พานจือฮวา(เสฉวน) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เดือนสิงหาคมนี้ เจ้ายักษ์เขียว 2 ขบวนจะถูกส่งมาถึงลาว เพื่อทดลองวิ่งตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่มาภาพ : China Daily

    ในเวทีดังกล่าว ประชาชนจำนวนมากได้แสดงความชื่นชมต่อความสามารถของลาวและจีน ในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนใหญ่ขนาดนี้ จนถึงขั้นตอนสุดท้าย

    ในเวลาเดียวกัน ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับหนี้สาธารณะของลาว ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้

    ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในทีมงานเจ้าหน้าที่ลาว ที่ได้รับแต่งตั้งจากท่านรองนายกรัฐมนตรี(สมสะหวาด เล่งสะหวัด – ผู้เขียน) ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างสัญญาหลักของโครงการทางรถไฟสายนี้มาตั้งแต่ต้น ข้าพเจ้าจึงอยากนำเสนอข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับโครงการนี้ และเปิดเผยจำนวนเงินที่รัฐบาลได้กู้ยืมจากจีนเพื่อมาลงทุนโครงการนี้

    จากนั้น ข้าพเจ้าจะแสดงทัศนะส่วนตัวของข้าพเจ้า เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ลาวจะได้รับจากโครงการร่วมมือลาว-จีนอันนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ประเทศลาวจะตกอยู่ในกับดักหนี้สินของจีนที่หลายคนเป็นห่วง

    แต่เพื่อตอบบรรดาคำถามและข้อข้องใจข้างต้นนั้น ก่อนอื่นทั้งหมด ข้าพเจ้าจะแจ้งให้เห็นจุดประสงค์ของโครงการ จากนั้นจะพูดถึงรูปแบบการลงทุน ก่อนที่จะสรุปผลประโยชน์ของโครงการว่ามีอะไรบ้าง…

    จุดประสงค์ของโครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน คือส่วนหนึ่งของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและการท่องเที่ยว ระหว่างจีนและประเทศอื่นๆในโลก

    ที่มาภาพ : China Daily

    ทางรถไฟลาว-จีน คือส่วนหนึ่งของทางรถไฟ “สิงคโปร์-คุนหมิง” ที่ได้รับการรับรองจากผู้นำอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อปี 2554(2011) ตามคำแนะนำของที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนในเวลานั้น

    เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดตั้งปฏิบัติข้อริเริ่มอาเซียน รัฐบาลลาวและจีนได้ตกลงร่วมมือกันก่อสร้างทางรถไฟที่มีความยาวประมาณ 422.4 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มจากชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต็น มายังสถานีขนส่งสินค้าท่านาแล้ง ในนครหลวงเวียงจันทน์

    มาถึงปัจจุบัน การก่อสร้างพื้นฐานได้สำเร็จลงแล้วประมาณ 99% หากทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ จะเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศไทย ที่กำหนดจะสร้างจากจังหวัดหนองคายไปถึงกรุงเทพในประเทศไทย และต่อไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

    โมเดลสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ของเส้นทางรถไฟธรรมดา เชื่อมต่อลาว-ไทย(เวียงจัน-กรุงเทพฯ) ที่จะเปิดใช้ในเวลาใกล้เคียงกัน สถานีแห่งนี้อยู่ที่ท่านาแล้ง บ้านดงโพสี เมืองหาดซายฟอง ในบริเวณใกล้เคียงเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ค และไม่ไกลจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ของโครงการรถไฟลาว-จีนมากนัก ที่มาภาพ : เพจ AEROLAOS

    เส้นทางรถไฟลาว-จีน ได้ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน(PPP) ก่อสร้าง ดำเนินงาน และส่งมอบ(BOT) และกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล(G to G) ซึ่งจากรูปแบบความร่วมมือเหล่านี้ รัฐบาลลาวและจีนได้ตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุน(บริษัททางรถไฟลาวจีน จำกัด – ผู้เขียน) โดยแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นกัน 30 : 70 เปอร์เซ็นต์ (ลาว 30% จีน 70%)

    เนื่องจากรูปแบบการลงทุนเป็นลักษณะนี้ หลายๆคนคงเข้าใจว่า รัฐบาลลาวจะต้องกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อค้ำประกันให้ลาวได้รับส่วนแบ่งถือหุ้น 30% ของโครงการ ซึ่งสมมุติฐานนี้ก็มีเหตุผล แต่ไม่ถูกต้องทั้ง 100%

    ความจริงแล้ว การจัดสรรเงินลงทุนให้แก่โครงการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ เงินลงทุนในรูปแบบ Debt Financing ซึ่งบริษัทร่วมทุนลาว-จีน เป็นผู้รับผิดชอบในการกู้ยืม และอีกส่วนหนึ่งคือเงินลงทุนถือหุ้น(equity) ซึ่งรัฐบาล 2 ประเทศเป็นผู้รับผิดชอบเอาเงินมาใส่เป็นหุ้น

    การจัดสรรทุนในรูปแบบ Debt Financing คิดเป็นสัดส่วน 60% ของเงินลงทุนทั้งหมด 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าบริษัทร่วมทุนลาว-จีน จะต้องเป็นผู้กู้ยืมเงินจากรัฐบาลจีน จำนวน 3.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ภายใต้รูปแบบการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์นี้ รัฐบาลลาวไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลจากจีน เพื่อนำมาเป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการ ดังที่นักวิจารณ์หลายคนได้ออกมาให้ความเห็นก่อนหน้านี้

    โมเดลสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ที่บ้านไซ เมืองไซทานี ของโครงการรถไฟลาว-จีน รถไฟความเร็วปานกลาง(160-210 กม./ชม.) เชื่อมต่อลาว-จีน(เวียงจันทน์-คุนหมิง) ที่จะเปิดให้บริการ 2 ธันวาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ AEROLAOS

    ตามความเป็นจริงแล้ว จำนวนเงินที่รัฐบาลลาวได้กู้ยืมจากจีนเพื่อรับประกันให้ลาวได้ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ของเงินทุนในโครงการนั้น มีเพียง 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราดอกเบี้ย 2.3% ต่อปี ส่วนที่ยังเหลือ คือเงินส่วนที่เป็นของรัฐบาลลาวเองเป็นผู้ใส่เข้าไป ซึ่งตกประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    เมื่อดูจำนวนเงินที่ประเทศลาวต้องได้กู้ยืมจากประเทศจีนแล้ว เห็นว่ารัฐบาลลาวจะไม่เผชิญกับการเป็นหนี้สินขนาดใหญ่ และจะไม่มีความเสี่ยงด้านการลงทุนมาก ดังที่นักวิจารณ์หลายคนได้แสดงความกังวลไว้ก่อนหน้านี้

    อาจมีบางท่านโต้แย้งต่อประเด็นนี้ว่า ถึงแม้รัฐบาลลาวไม่ต้องกู้ยืมเงินโดยตรงจากจีนเป็นจำนวนมากมายก็ตาม แต่รัฐบาลลาวก็ไม่สามารถปฏิเสธผลที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนได้

    คำถามใหญ่ของหลายท่านในประเด็นนี้มีอยู่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าบริษัทร่วมทุนระหว่างลาว-จีน ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอสำหรับใช้หนี้เงินกู้ที่ยืมมาจากจีน

    ถึงแม้ว่าความกังวลนี้สมเหตุสมผล แต่ข้าพเจ้าเชื่ออย่างจริงจังว่าบริษัทร่วมทุนจะทำงานให้ดีที่สุด เพื่อสร้างรายรับและนำเงินมาชำระหนี้ที่กู้ยืมมาได้ เพราะบริษัทเป็นฝ่ายผู้กู้ยืมเงิน ไม่ใช่รัฐบาล และแน่นอนว่า รัฐบาลจีนซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่ จะไม่ปล่อยให้บริษัทร่วมทุนพบกับความยุ่งยากทางด้านการเงินอย่างแน่นอน เพราะว่าการลงทุนโครงการนี้ เป็นข้อตกลงที่ถูกสร้างขึ้นตามกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ(G to G)

    ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด คือผู้ให้กู้อาจจะยึดและเข้าควบคุมโครงการ ซึ่งทางด้านเทคนิคแล้ว โครงการนี้เป็นโครงการของจีนเป็นส่วนใหญ่ เพราะจีนถือหุ้นในสัดส่วน 70% ของมูลค่าการลงทุนรวมของโครงการ ถึงอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าการยึดโครงการจะไม่เกิดขึ้น ภายใต้วิธีการลงทุนแบบนี้ อีกประการหนึ่ง จีนได้เซ็นสัญญาเป็นคู่ร่วมชะตากรรมกับลาวแล้ว จะไม่ปล่อยให้คู่ร่วมชะตากรรมสูญเสียผลประโยชน์

    ซึ่งเมื่อพูดถึงผลประโยชน์ของโครงการรถไฟ จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ อัตราผลตอบแทนทางการเงินอยู่ในระดับ 6.3% ในระยะ 25 ปีแรก จะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุนค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในแขนงการอื่นๆ

    ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า ผลตอบแทนที่ต่ำในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเป็นกฏเกณฑ์ ผลตอบแทนต่ำจากการดำเนินกิจการรถไฟนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก

    ความจริงแล้ว มันเป็นสิ่งที่หายากมากที่จะเห็นการดำเนินงานของรถไฟมีกำไร เพราะว่าจุดประสงค์ของโครงการก็เพื่อรับใช้ประชาชน และมันได้ถูกออกแบบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้แก่การค้าและธุรกิจ และสนับสนุนการเติบโตสีเขียวทั่วโลก มากกว่าที่จะเป็นโครงการเพื่อแสวงหากำไร

    ในเมื่อผลตอบแทนทางด้านการเงินจากการลงทุนต่ำเช่นนี้ ประเทศลาวจะได้รับผลประโยชน์อะไรจากการลงทุนนี้ ?

    ข้าพเจ้าคิดว่า ถึงแม้ว่าผลตอบแทนทางการเงินจะต่ำ แต่อัตราผลตอบแทนภายในทางเศรษฐกิจ(EIRR) นั้นสูงถึง 18.5% โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่ามาตรฐานสากลที่อยู่ในระดับเพียง 12% เท่านั้น

    ผลประโยชน์ทางอ้อมที่ประเทศลาวจะได้รับจากโครงการรถไฟลาว-จีน คือการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยผ่านการเปลี่ยนตำแหน่งจากประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกับทะเล มาสร้างให้เป็นประเทศทางผ่านและเชื่อมโยงภูมิภาค ทางรถไฟสายนี้จะช่วยให้ลาวสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคพื้นตามแนว Logistic ได้

    ภายในโบกี้โดยสารของ CR200J Fuxing EMU ที่มาภาพ : เพจ AEROLAOS

    ทางรถไฟจะไม่เพียงแต่ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไปสู่ตลาดสากลเท่านั้น แต่จะทำให้ธุรกิจลาวสามารถเข้าถึงตลาดจีน ที่มีผู้บริโภคมากกว่า 1.4 พันล้านคน

    นอกจากนี้ ทางรถไฟยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะว่ามันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้ประมาณ 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับพาหนะที่ใช้น้ำมัน

    การใช้ทางรถไฟยังจะช่วยให้ผู้โดยสาร และผู้ขนส่งสินค้าประหยัดเงินได้ ยกตัวอย่าง โดยอ้างอิงจากการคาดคะเนเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถไฟจากเวียงจันทน์ไปชายแดนจีน ตกประมาณ 140,000 กีบ(360 กีบต่อกิโลเมตรต่อคน) ในขณะที่ค่าขนส่งสินค้าตกประมาณ 600 กีบต่อตันต่อกิโลเมตร ซึ่งค่าขนส่งนี้ถูกกว่าอย่างน้อยสองเท่าถ้าเทียบกับการขนส่งทางบก โดยรถบรรทุกสินค้า(ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 อัตราแลกเปลี่ยน 335.28 กีบ = 1 บาท)

    เวลาเดินทาง ทั้งสำหรับผู้โดยสารและการขนส่งก็จะถูกลดลงอย่างมาก ยกตัวอย่าง เวลาเดินทางด้วยรถเมล์โดยปกติ คือ 1 วัน ในขณะที่การเดินทางด้วยรถไฟธรรมดาใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง และการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงใช้เวลาเพียง 90 นาทีเท่านั้น

    ค่าใช้จ่ายต่ำ การเดินทางที่รวดเร็ว และการขนส่งสินค้าที่สะดวก จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการขยายตัวสูง

    ข้าพเจ้าคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาลาวอย่างมากมายในช่วงปีหน้า ทั้งนี้ ก็เนื่องจากว่า มีประชากรประมาณ 70 ล้านคนในมณฑลยูนนาน และมณฑลใกล้เคียง ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และปรารถนาอยากเดินทางไปประเทศใกล้เคียง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวไทยหลายล้านคน อยากนั่งรถไฟเดินทางไปจีน

    เส้นทางรถไฟจากสถานีต้นทางนครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีปลายทางที่สถานีบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

    เมื่อสร้างเสร็จ ทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิง จะช่วยผลักดันการค้าในภูมิภาค ในปัจจุบัน หนึ่งในอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญคือการขนส่ง ด้วยเหตุที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลก ค่าขนส่งทางทะเลซึ่งเป็น 80% ของการขนส่งสินค้าในภูมิภาค ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 540%

    เนื่องจากค่าขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจีนในภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น 50% ในระยะเดียวกัน เพื่อแก้ไขบรรดาอุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ จีนและเหล่าประเทศอาเซียน ควรร่วมมือกันเพื่อแสวงหารูปแบบการขนส่งที่มีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถทำให้ค่าขนส่งลดลง

    เพื่อสนับสนุนการค้าสองฝ่าย จีนได้ตกลงที่จะลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าลาวประมาณ 97% สิ่งดังกล่าวจะช่วยผลักดันการส่งออกของลาวไปจีนในอนาคตอันใกล้นี้

    แน่นอน มันมีสิ่งที่ท้าทายหลายอย่างในอนาคต เพื่อทำให้การใช้รถไฟเกิดประโยชน์สูงสุด ข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราต้องได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีน และต่างประเทศ พวกเรายังต้องลงทุนอีกมาก เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาแรงงานที่มีฝีมือ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

    สรุปแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนในเส้นทางรถไฟนั้น ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน debt financing and equity รัฐบาลลาวจะไม่เผชิญกับสภาพการเป็นหนี้จำนวนมาก และรัฐบาลจีนจะไม่ยึด หรือเข้ามาควบคุมโครงการอย่างแน่นอน เพราะว่าจีนคือผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่แล้ว

    อีกประการหนึ่ง จีนถือว่าเส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”(Belt and Road Initiative) ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่า เส้นทางรถไฟลาว-จีน จะเป็นสัญลักษณ์ของการเป็น “เพื่อนมิตร” ที่ดี หุ้นส่วนที่ดี และต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์

    ถึงแม้ผลตอบแทนทางด้านการเงินของโครงการนี้จะต่ำ แต่ทางรถไฟเส้นนี้จะเป็นสิ่งที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของลาว โดยการเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกับทะเล มาเป็นประเทศทางผ่าน

    ทางรถไฟดังกล่าว จะช่วยผลักดันการท่องเที่ยวและการค้า ระหว่างลาว จีน และไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทางรถไฟ ประเทศลาวต้องได้ปรับปรุงทรัพยากรมนุษย์ เพื่อตอบสนองความเรียกร้องต้องการด้านฝีมือแรงงาน ที่นับวันเพิ่มขึ้น…

    อ่านบทความเรื่อง “ผลประโยชน์ที่แท้จริงของเส้นทางรถไฟลาว-จีน คืออะไร ?”