ThaiPublica > สู่อาเซียน > แม่น้ำโขง…ยังคงชีวิตชีวา แม้มีทางรถไฟลาว-จีน

แม่น้ำโขง…ยังคงชีวิตชีวา แม้มีทางรถไฟลาว-จีน

17 ธันวาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เรือตำรวจน้ำ จีน เมียนมา ลาว ออกเดินทางจากสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปยังท่าเรือกวนเหล่ย สิบสองปันนา ในปฏิบัติการลาดตระเวนร่วมครั้งที่ 112 และเป็นวาระครบรอบ 10 ปี ของปฏิบัติการนี้ ที่มาภาพ : เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

รถไฟลาว-จีน ที่เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม 2564 กำลังดึงดูดความสนใจของคนจำนวนมาก ที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเรื่องการค้าขายข้ามประเทศ เพราะเป็นเส้นทางคมนาคมที่จะมีบทบาทสูงในอนาคต

แต่เส้นทางคมนาคมอีกเส้นหนึ่ง ที่มีบทบาทเงียบๆมาตลอดนับแต่อดีตมา ถึงทุกวันนี้ก็ยังคงบทบาทสำคัญอยู่ นั่นคือ…แม่น้ำโขง

แม้ 2 ปีมานี้ การสัญจร การค้าขายผ่านแม่น้ำโขงดูเงียบเหงาไปบ้างจากโควิด-19 แต่สถานการณ์จะไม่เป็นแบบนี้ตลอดไป เมื่อโรคระบาดคลี่คลายลง สายน้ำโขงก็จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

……

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2564 ที่สามเหลี่ยมทองคำ จุดบรรจบพรมแดน 3 ประเทศ อันมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งกั้น ได้แก่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย , เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว และเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ได้มีพิธีปล่อยแถวเรือลาดตระเวนร่วม 4 ชาติ จีน เมียนมา ลาว และไทย

เรือตำรวจน้ำจีน
เรือตำรวจน้ำเมียนมา
เรือตำรวจน้ำลาว

การปล่อยแถวเรือลาดตระเวนรอบนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะเป็นวาระครบรอบ 10 ปี ที่ตำรวจน้ำ 4 ประเทศ มีปฏิบัติการนี้ร่วมกัน

เรือที่ถูกปล่อยสู่ภารกิจลาดตระเวนในวันนั้น แล่นเรียงแถว เว้นระยะห่างเท่ากันอย่างเป็นระเบียบ ภาพที่ปรากฏจึงดูสวยงามเสมือนการสวนสนามทางเรือ

ที่ฝั่งลาว ประชาชนมาร่วมชมพิธีอยู่บริเวณด่านสากลสามเหลี่ยมทองคำ ท่าเรือบ้านมอม ด้านหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง

ประชาชนที่มาชมการปล่อยเรือลาดตระเวนร่วมในวาระครบรอบ 10 ปี ที่ท่าเรือ ด่านสากลสามเหลี่ยมทองคำ ที่มาภาพ : เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

ส่วนฝั่งไทย เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจัดพิธีปล่อยเรือลาดตระเวนออกจากริมฝั่งเชียงแสน ที่อยู่ตรงข้าม…

นับแต่เดือนธันวาคม 2554 จีน เมียนมา ลาว และไทย ได้ตกลงกันว่า จะร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะขบวนการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ ตลอดแนวแม่น้ำโขง ตั้งแต่ชายแดนจีนลงมาจนถึงชายแดนไทย

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีความร่วมมือนี้ เป็นผลจากอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น

วันที่ 5 ตุลาคม 2554 มีการปล้นเรือสินค้าจีน 2 ลำ ขณะกำลังล่องลงมาตามลำน้ำโขง เพื่อนำสินค้ามาส่งยังท่าเรือเชียงแสน จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปประมาณ 27 กิโลเมตร กัปตันและลูกเรือ 13 คน ทั้งหมดเป็นชาวจีนถูกฆ่าตาย ทิ้งศพให้ลอยตามน้ำโขง จนลงมาติดชายฝั่งท่าเรือเชียงแสน

กลุ่มที่ก่อเหตุอุกอาจครั้งนี้ เป็นขบวนการค้ายาเสพติด ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่รอยต่อรัฐฉานและฝั่งลาว มี “หน่อคำ” ชาวไทใหญ่ เป็นหัวหน้าขบวนการ

เหตุฆาตกรรมลูกเรือชาวจีนถึง 13 คน ทำให้ทางการจีนไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ตำรวจ-ทหารจีน เมียนมา ลาว และไทย ได้ร่วมมือกันสืบสวนสอบสวน จนในที่สุด สามารถจับกุมตัวหน่อคำได้ขณะกบดานอยู่ในฝั่งลาว

หน่อคำถูกส่งตัวขึ้นไปดำเนินคดีในศาลจีน ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน และศาลได้พิพากษาประหารชีวิตเขา เมื่อปี 2556…

หลังเหตุการณ์ปล้น-ฆ่าลูกเรือ จีนได้สั่งหยุดเดินเรือสินค้าผ่านทางแม่น้ำโขงไปถึง 2 เดือนเต็มๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าทางน้ำระหว่างไทย-จีนเป็นอย่างมาก ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยเข้าจีนผ่านแม่น้ำโขงต่างได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถส่งสินค้าขึ้นไปยังจีนได้

ตัวแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบจาก 4 ประเทศ คือ จีน เมียนมา ลาว และไทย ได้ไปร่วมประชุมกันในกรุงปักกิ่ง เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและสร้างกลไกร่วม สำหรับปฏิบัติการทางกฏหมายในลุ่มแม่น้ำโขง

วันที่ 11 ธันวาคม 2554 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง(ศปปข.) ขึ้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นรูปธรรมแรกหลังจาก 4 ประเทศได้หารือร่วมกันที่ปักกิ่ง

จากนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการลาดตระเวนร่วมของตำรวจน้ำ 4 ชาติ ตามแนวลำน้ำโขง

ภารกิจลาดตระเวนร่วมในแม่น้ำโขงถูกกำหนดให้จัดขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

จีนให้ความสำคัญกับปฏิบัติการร่วมครั้งนี้ค่อนข้างมาก เพราะถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ทำให้จีนสามารถเชื่อมต่อกับอีก 5 ประเทศที่อยู่ด้านล่าง ได้แก่ เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

จีนให้การสนับสนุนลาว โดยมอบเรือตรวจการณ์และเรือเคลื่อนที่เร็วหลายลำเข้ามาประจำการณ์ในกองเรือตำรวจน้ำของลาว พร้อมส่งกำลังตำรวจตระเวนชายแดนมาตั้งกองบัญชาการย่อยอยู่ที่ท่าเรือบ้านเชียงกก เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปประมาณ 106 กิโลเมตร และที่บ้านมอม เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำเพียง 17 กิโลเมตร

รวมถึงเคยสนับสนุนไทย โดยมอบเรือตรวจการณ์เข้าประจำการกับ ศปปข. อย่างน้อย 1 ลำ เมื่อปี 2559

……

แม่น้ำหลานซางเจียง หรือแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงรุ่ง เมืองเอกของสิบสองปันนา จากจุดนี้ แม่น้ำสายนี้ไหลลงมาผ่านอีก 5 ประเทศ และออกสู่ทะเลที่ชายฝั่งเวียดนาม

การค้าขายทางเรือระหว่างไทยและจีนผ่านทางแม่น้ำโขง มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมประมาณปี 2536 จากโครงการความร่วมมือที่มีชื่อว่า “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ การค้า การลงทุนของ 4 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว และไทย ผ่านการพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างกันทั้งทางน้ำและทางบก

การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางน้ำ มีการส่งเสริมกิจการพาณิชย์นาวีในแม่น้ำโขง เปิดให้เรือสินค้าสามารถวิ่งขึ้น-ล่องตามแม่น้ำโขงได้อย่างเสรี ตั้งแต่ท่าเรือซือเหมา ท่าเรือเชียงรุ่ง ท่าเรือกวนเหล่ย ในเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ลงมาถึงอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

เรือสินค้าจีนจอดอยู่เต็มริมฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน เมื่อครั้งที่การค้าทางเรือผ่านทางแม่น้ำโขงยังทำกันอย่างคึกคัก

ในฝั่งไทย มีการสร้างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 1 ขึ้นที่ริมแม่น้ำโขง ตำบลเวียงเชียงแสน เปิดใช้งานในปี 2546 ต่อมามีเรือสินค้าจากจีนมาใช้ท่าเรือแห่งนี้มากขึ้นจนเกิดความแออัด ประกอบกับที่ตั้งท่าเรืออยู่ในเขตเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนที่มีโบราณสถานหลายแห่ง ทำให้ขยายพื้นที่ออกไปอีกไม่ได้ กระทรวงคมนาคมจึงได้สร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ขึ้นที่ตำบลบ้านแซว ซึ่งอยู่ถัดลงไปทางทิศใต้ เพื่อใช้รองรับเรือสินค้าโดยเฉพาะ โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2550 แล้วเสร็จปี 2554

ส่วนท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 กระทรวงคมนาคมได้ถ่ายโอนให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนเข้ามาดูแล และมีแผนจะเปลี่ยนให้เป็นท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง

ที่ฝั่งลาว มีการให้สัมปทานแก่บริษัทดอกงิ้วคำ ในเครือคิงส์โรมันกรุ๊ปจากฮ่องกง มาสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำขึ้นที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ในปี 2550

แม่น้ำโขง เมื่อมองจากฝั่งลาว ที่บ้านเชียงกก เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ตรงข้ามเป็นเมืองเชียงลาบ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ถัดจากจุดนี้ขึ้นไปทางทิศเหนือไม่กี่กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพลาว-เมียนมา

สำหรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบก มีการก่อสร้างถนนสาย R3a ระยะทาง 240 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-ลาว ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ลงมาถึงชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยซาย และสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 4 เชื่อมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว

  • ดินแดนจีนตรงข้ามฝั่งโขง
  • “ยูนนาน ไห่เฉิง” กลุ่มทุนจีน ที่โตไปกับเส้นทางคมนาคมในลาว
  • นับแต่ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 เปิดให้บริการในปี 2546 การเดินทางท่องเที่ยว ค้าขายทางแม่น้ำโขง ระหว่างไทย ลาว เมียนมา และจีน ดำเนินไปอย่างคึกคัก

    จนกระทั่งเมื่อเริ่มพบผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย เมียนมา และลาว ในเดือนมีนาคม 2563 ทางการจีนได้สั่งปิดด่านชายแดนหลายแห่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด สั่งห้ามทั้งคนและสินค้าผ่านเข้าไปในจีน

    ด่านชายแดนริมแม่น้ำโขงของจีนที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการค้าขายระหว่างไทย-จีน คือท่าเรือกวนเหล่ย ในเมืองหล้า สิบสองปันนา ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป 265 กิโลเมตร

    ทางการมณฑลยูนนาน ได้สั่งปิดท่าเรือกวนเหล่ย ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 จากนั้น การเดินเรือสินค้าตลอดแนวลำน้ำโขงระหว่างไทย-จีน ได้หยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง

    เมื่อโควิด-19 กลับมาระบาดหนักระลอกที่ 2 และ 3 ในไทย ลาว และเมียนมา มีการลักลอบเดินทางข้ามประเทศ จนเป็นต้นตอให้เกิดการระบาดใหญ่ในนครหลวงเวียงจันทน์ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้รัฐบาลลาวต้องสั่งห้ามการเดินเรือทุกชนิดในแม่น้ำโขง ส่งผลให้แม่น้ำโขงขาดชีวิตชีวา เงียบเหงาลงไปสนิท จนถึงวันนี้

    เกือบ 2 ปีเต็ม ที่จีนปิดท่าเรือกวนเหล่ย มีเรือสินค้าที่เคยวิ่งขึ้น-ล่องตามแนวแม่น้ำโขง ต้องจอดนิ่งสนิทอยู่ถึงมากกว่า 400 ลำ

    การค้าขายตามลำน้ำสายนี้ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการค้าระหว่างไทยกับรัฐฉาน โดยมีเรือสัญชาติเมียนมา วิ่งลงมารับสินค้าจากเชียงแสน เพื่อนำขึ้นไปส่งยังท่าเรือบ้านโป่ง และท่าเรือสบหลวย ในรัฐฉาน เพียงวันละไม่กี่ลำเท่านั้น

    เรื่องราวของแม่น้ำโขงช่วง 2 ปีนี้ จึงเงียบหายไป ในทางกลับกัน เรื่องราวความคืบหน้าของการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน ปรากฏขึ้นมาแทนที่

    ……

    เส้นทางลาดตระเวนร่วม เรือจีน เมียนมา ลาว เดินทางขึ้นไปทางเหนือ จากสามเหลี่ยมทองคำไปถึงท่าเรือกวนเหล่ย(ลูกศรสีแดง) ส่วนเรือไทยลาดตระเวนทางทิศใต้ จากสามเหลี่ยมทองคำมาถึงแก่งผาได(ลูกศรสีเหลือง)

    เรือตำรวจน้ำ 4 ที่ถูกปล่อยแถวเข้าสู่ภารกิจลาดตระเวนร่วมในลำน้ำโขง ในวาระครบรอบ 10 ปี เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2564 เป็นการลาดตระเวนร่วมครั้งที่ 112 ของภารกิจนี้

    เรือตรวจการณ์ของตำรวจน้ำจีน เมียนมา และลาว จะลาดตระเวนขึ้นไปทางทิศเหนือ จากท่าเรือด่านสากลเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ไปจนถึงท่าเรือกวนเหล่ย จากนั้นก็ลาดตระเวนกลับมายังท่าเรือด่านสากลเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำอีกครั้ง ระยะทางปฏิบัติการประมาณ 512 กิโลเมตร

    ส่วนเรือตรวจการณ์ ศปปข. ของไทย จะลาดตระเวนจากเชียงแสนลงมาถึงแก่งผาได จุดสิ้นสุดเส้นเขตแดนทางน้ำไทย-ลาว ที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ห่างลงมาประมาณ 67 กิโลเมตร(ดูแผนที่ประกอบ)

    แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จุดสิ้นสุดชายแดนไทยตามแนวแม่น้ำโขงตอนบน จากจุดนี้ แม่น้ำโขงไหลเข้าไปในเขตลาว และกลับมาเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-ลาวอีกครั้ง ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไปจนถึงบานเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

    วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลจีนได้ประกาศให้ด่านชายแดนทางบกหลายแห่งเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่นที่ด่านรุ่ยลี่-หมู่เจ้ จุดเชื่อมต่อเขตปกครองตนเองชนชาติไต เต๋อหง มณฑลยูนนาน กับจังหวัดหมู่เจ้ รัฐฉานเหนือ หรือด่านชิงส่วยเหอ จุดเชื่อมต่อเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน กับเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง รัฐฉาน

    3 ธันวาคม 2564 วันเดียวกับที่มีพิธีเปิดใช้รถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการที่นครหลวงเวียงจันทน์ ในประเทศไทย สื่อไทยหลายแห่งมีรายงานการให้สัมภาษณ์ของณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน

    เขาบอกว่า ท่าเรือกวนเหล่ยกำลังจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ในเร็วๆนี้

    ไม่นานจากนี้ แม่น้ำโขงก็จะกลับมามีชีวิตชีวาเช่นเดิมอีกครั้งด้วยเช่นกัน…