ครม.ไฟเขียว 10 มาตรการ ลดค่าครองชีพ-ช่วยผู้มีรายได้น้อย 3 เดือน รับมือสถานการณ์ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจัดงบอุดหนุนราคาแก๊สหุงต้มผ่าน ‘บัตรคนจน’ – ช่วยค่าน้ำมันวินมอเตอร์ไซด์-ตรึงราคาน้ำมันดีเซล-NGV ลดเงินนำส่งประกันสังคม เริ่ม พ.ค.-ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือถึงเรื่องสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การขนส่งสินค้า และบริการต่างๆ รวมไปถึงค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผมและรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตระหนักดีถึงความลำบากของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย และผู้ใช้แรงงาน
จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย คงไม่ยุติได้โดยเร็ว จากภาพ และข่าวด้านความมั่นคงที่ผมได้รับมา คาดว่ายังไม่จบได้เร็วนัก ผมจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความคิด เพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน เพิ่มเติมจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้ว โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและสุขภาพ วันนี้ก็มีสงครามเข้ามาอีก จึงต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติม บางอันก็ต้องต่อยอดจากมาตรการชุดเก่า แต่มาตรการที่ตนได้เห็นชอบไปแล้วคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 อย่างน้อยมี 10 มาตรการ ดังนี้
-
1. การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยจะเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาทเป็น 100 บาทต่อคนต่อเดือน
-
2. มอบส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
-
3. ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบกจำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
-
4. คงราคาขายปลีกผู้ใช้ก๊าซ NGV ไว้ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
-
5. ผู้ขับขี่แท็กซี่ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน รับซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 ต่อกิโลกรัม
-
6. ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2565
-
7. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง (50%) ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าเราอั้นไม่ไหว มันก็ต้องเพิ่ม
-
8. กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 โดยจะให้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป ซึ่งตอนนี้เราก็ใช้ไปมากแล้ว
-
9. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่าย และผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจช่วงถัดไป
-
10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตน มาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
“ทั้งหมดนี้ก็ใช้เงินไปเยอะพอสมควร รายได้ก็ลดลง ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย ซึ่งมาตรการทั้งหมดก็พุ่งเป้าไปที่คนเดือดร้อนมากที่สุดก่อน ที่เหลือก็ถือว่าช่วยรัฐบาลแล้วกัน ต้องนึกถึงคนยากจน คนที่ลำบากก่อน”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ผมได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเข้าฤดูกาลเพาะปลูก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต่างๆ ในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการเข้ามาใช้ในประเทศของเรา เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ซึ่งเราพึ่งพาต่างประเทศจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ผมต้องมองระยะยาวว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องปุ๋ย และทำอย่างไรให้เราผลิตปุ๋ยในประเทศได้บ้าง ปุ๋ยในประเทศของเรามีอยู่ แต่เราใช้ไม่ได้ ขุดขึ้นมาก็ไม่ได้ ทำให้เราขาดความเข้มแข็งเรื่องแม่ปุ๋ย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด
“ตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มการกักตุนอาหารวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งมีผลกระทบทั้งหมด รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้เดือดร้อนน้อยที่สุด แต่มันต้องใช้งบประมาณ หากทุ่มลงไปทั้งหมด อย่างอื่น มันก็ไปหมดเลยนะ วันนี้รัฐบาลต้องดูแลทั้งเรื่องสุขภาพ และผลกระทบสงคราม เท่ากับโดนสองเด้ง ผมขอย้ำว่า รัฐบาลทุกกระทรวงทุกหน่วยงานทำงานอย่างหนัก เพื่อจะวางแผนช่วยเหลือที่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ต้องเข้าใจคำว่ามากที่สุด ตามขีดความสามารถที่เรามีอยู่ เพื่อจะให้พ้นวิกฤตที่ซ้อนวิกฤตนี้ไปให้ได้ เราไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเราต้องเร่งเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศที่วางไว้ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งในเรื่องการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ การเปิดประเทศระยะต่อไป เพราะรอบนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพรายได้ รวมถึงช่วยลดภาระค่าครองชีพต่างๆ ของประชาชนและแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปัญหารายได้ประเทศ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการลงทุนมาโดยตลอดหลายปีมาแล้ว อย่างเช่น โครงการอีอีซีเกิดขึ้น เรื่องอุตสาหกรรมใหม่ โครงการรถไฟฟ้า โครงการต่างๆ ที่เป็นการลงทุนในประเทศที่ขอรับการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่กำลังอยู่ในช่วงการดำเนินการ ฉะนั้นผมคิดว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไป วันข้างหน้ารัฐบาลน่าจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินอย่างเดียว ผมได้ทำเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา มันถึงเกิดโครงการ EEC ขึ้นมา และมีโครงการอื่นที่ตามมาอีกหลายอย่างด้วยกัน ฝากพี่น้องประชาชนฝากสื่อช่วยทำความเข้าใจด้วย เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าได้อย่างไร และพี่น้องประชาชนยังเดือดร้อนอยู่มาก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการหารือกันมากที่สุด คือ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ซึ่งยังมีปัญหาติดขัดในประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ มากมาย ปัญหาหลักๆ ของเราคือรายได้ คำว่า “เหลื่อมล้ำ” คือรายได้ ฐานของแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละอาชีพมันแตกต่างกัน ทำยังไงให้แต่ละกลุ่มมีรายได้ที่เพียงพอ คำว่า “เพียงพอ” คือ เพียงพอที่จะดูแลลูกเมียครอบครัวตามสมควรตามอัตภาพที่มี ส่วนการยกขึ้นมาเป็นคนที่มีฐานะดี ก็อีกขึ้นตอนหนึ่ง วันนี้ก็เห็นมีคนรวยเพิ่มขึ้นเยอะจากเศรษฐกิจดิจิทัล พวกนี้เราก็ต้องระวังเหมือนกัน รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ก็ต้องหามาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวด้วย ใครที่สนใจลงทุนประเภทนี้ ก็ขอให้ศึกษาให้ดี ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี มันใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เราได้มีการเตรียมการไปแล้ว ขอให้ระวังอย่างที่สุด