นายกฯขยายเวลาลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท-รับไม่ได้ ปมโฆษณา “ลาซาด้า”-ไว้ใจตั้งคนคลังสอบประมูลท่อส่งน้ำฯอีอีซี-มติ ครม.แก้ กม.เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนใช้ ‘เงินชราภาพ’ กู้แบงก์ได้-จัดงบฯ 1,725 ล้าน ลดค่าไฟบ้าน-กิจการขนาดเล็กอีก 4 เดือน-ปรับเกณฑ์ออกวีซ่าระยะยาว ดึงต่างชาติกระเป๋าหนักเข้าไทย-ลดค่าธรรมเนียมวีซ่า 10 ปี เหลือ 5 หมื่นบาท
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว รวมทั้งมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี
แจงผลงานแก้ปัญหา ศก. ย้ำ ‘ล้มแล้ว ต้องลุกไว ก้าวให้ทัน’
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้รับการชื่นชมจากหลายประเทศ และในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบาลง คำถามสำคัญคือทำอย่างไรให้สามารถเปิดประเทศได้ไปสู่ความเป็นปกติใหม่ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางที่ประกาศไว้ว่า “ล้มแล้วต้องลุกให้ไว ก้าวให้ทัน”
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้สานต่อความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพกับ BCG และช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าชุมชน ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 50 ล้านบาท
ขยายเวลาลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท
พลเอกประยุทธ์ เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนในปัจจุบันคือลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการประกันรายได้เกษตรกรสวนยาง ได้รับประโยชน์มากกว่า 1.2 ล้านราย และวันนี้ได้ขยายสิทธิ์โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้ประโยชน์มากกว่า 5 แสนล้าน เป็นเงินกว่า 3.6 พันล้านบาท
พลเอกประยุทธ์ ขยายความเรื่องการลดอัตราภาษีดีเซลว่า “อย่าลืมว่าภาษีที่เอามา เอาไปแก้ปัญหาให้เกิดสภาพคล่อง เพราะเราต้องสำรองไปก่อนในช่วงการลดราคา ไม่งั้นเงินหมุนเวียนไม่มีเลย แล้วเงินที่ได้มาจากภาษีสรรพสามิตมันทำอย่างอื่นด้วย พอลดตรงนี้อย่างอื่นก็พร่องไปแล้ว ฉะนั้นต้องดูอย่างรอบคอบ เราจะกำหนดมาตรการโดยดูสองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง แล้วดูจากสถานการณ์ราคาพลังงานของโลกด้วย เราต้องพิจารณาอย่างนี้ จะให้ยาวไปเลยหรือลดหมดไปเลยมันยาก มันมีผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้นเพราะอยู่ในห่วงโซ่เดียวกันทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงประเด็นการลดภาษีน้ำมัน โดยพล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “จะลดไง จะลดต่อไง แต่ดูระยะเวลาว่าจะลดตอนไหนดี เข้าใจหรือยัง เขาเตรียมจะลดต่อ แต่ต่อเท่าไรกำลังหารือกันตอนนี้…ทำงานต้องเป็นขั้นเป็นตอน คุณเข้าใจขั้นตอนไหม เข้าใจก็ถามให้เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะลดๆ พูดอะไรก็ได้ เดี๋ยวลด ใครรับผิดชอบ พวกเราทั้งหมดรับผิดชอบ ผมบอกว่าจะดูมาตรการการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอีกได้หรือไม่ เขาบอกว่าได้ ผมก็บอกพิจารณาให้ทันเวลาที่เหลืออยู่แล้วกัน แต่มันลดไปก็ช่วยพยุงราคาได้บ้าง ไม่ได้โมโห”
แก้ กม.ประกันสังคม ดึงเงินชราภาพมาใช้ก่อนได้
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมครม.วันนี้ได้อนุมัติการยกร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม เสนอโดยกระทรวงแรงงาน โดยมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นในหลายประเด็น เช่น การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร สิทธิประโยชน์ทุพพลภาพ และสามารถนำเงินกองทุนสังคม-ชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องประโยชน์ทดแทนของลูกจ้างกรณีเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมิใช่ผู้ได้รับหรือเคยรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ การขยายอายุลูกจ้างจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เพื่อให้แรงงานกลุ่มสูงอายุได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคม
“สิ่งสำคัญที่สุดคือเขามีปัญหาเรื่องการกู้เงินนอกระบบ มีผู้ได้รับประโยชน์จากตรงนั้นเยอะมาก ดอกเบี้ยแพง ดอกเบี้ยสูง เราก็หาวิธีการทำให้ดำเนินการได้” พลเอกประยุทธ์กล่าว
ลดค่าไฟบ้าน- กิจการขนาดเล็ก 4 เดือน เริ่ม พ.ค.นี้
นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้อนุมัติงบประมาณมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบ จากราคาพลังงาน โดยลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ FT ประเภทบ้าน ที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็กเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2565
มอบ “บิ๊กป้อม” นั่งนายกฯช่วงประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐ
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2565) จะเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 โดยมีหลายวาระในการหารือร่วมกับผู้นำอาเซียนเกือบทุกประเทศเข้าร่วมยกเว้นผู้นำฟิลิปปินส์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดี และจะใช้โอกาสนี้พบปะคนไทยในสหรัฐอเมริกา และนักธุรกิจที่สนใจลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการแทนนายกฯ
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จะมีการแถลงวิสัยทัศน์เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 การตั้งกองทุนอาเซียน การทำวิจัย ร่วมทุน การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ความร่วมมือทางทะเล การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาทักษะดิจิทัล การส่งเสริมยุทธศาสตร์กรพัฒนาความร่วมมืออิรวดี-เจ้าพระยา แม่โขง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรอัจฉริยะ การจัดการสภาพแวดล้อมพัฒนาพลังงานสะอาด และการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของภูมิภาคอาเซียน
เผยไทยได้ตำแหน่งเป็นประธาน BIMSTEC
พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวถึงวาระงานต่างประเทศว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) โดยมี 7 ประเทศเข้าร่วม ที่สำคัญคือประเทศไทยได้รับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกาวาระ 2 ปี 2565-2566
ส่วนโครงการความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เช่น โครงการกลไกเครดิตร่วม (JCM) ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อสนับสนันการพัฒนาการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมูลค่ากว่า 2.3 พันล้านบาท และเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 2 แสนตัน
เตรียมจัดประชุม APEC ช่วง 18-19 พ.ย.นี้
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า กรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ประจำปี 2565 วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นโอกาสแสดงศักยภาพการค้าและการลงทุนให้ผู้แทนประเทศสมาชิก รวมถึงสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยมีประเด็นหารือคือการเดินทางกันติดต่อประเทศเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ธุรกิจเอสเอ็มอีและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ร่วมกัน
“เรื่องโลจิสติกส์ ผมถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของภูมิภาค เราได้พัฒนาระบบ National Single Window ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในอาเซียนได้ครบทุกประเทศ จะช่วยส่งเสริมตอกย้ำความเป็นหนึ่งในด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้มีความมั่นใจดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ” พลเอกประยุทธ์กล่าว
วอนสื่อเสนอผลงานรัฐบาล ข่าวบิดเบือนอย่าเผยแพร่
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “อะไรก็ตามที่เป็นเชิงสร้างสรรค์ ขอให้สื่อช่วยขยายหน่อย อะไรที่เป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ที่มีคำบิดเบือน กรุณาอย่าไปแพร่ มันเป็นความคิดของคนๆ เดียว แต่ของเราเป็นความคิดของครม.ทั้งคณะ กับข้าราชการอีกหลายคน คิดอะไรต้องรอบคอบ ถ้าจะคิดแล้วกรุณานึกถึงว่าจะทำยังไง สำคัญคือมันทำได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ พูดไปก็เหมือนหลอกลวง ฉะนั้นผมจะไม่พูดอะไรที่มันหลอกลวง ไม่ได้”
ชูเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มรายได้เกษตรกร
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “เมื่อวานผมเดินทางไปชลบุรี นั่นคือความฝันของผมเลยที่จะทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากคือการใช้เทคโนโลยี ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่บางครั้งมันก็มีปัญหาเรื่องที่ดิน สภาพพื้นดิน แหล่งน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ ผมก็พยายามขับเคลื่อนไปด้วย วันนี้ก็สั่งการไปแล้วให้หลายกระทรวง ถ้าเป็นไปได้จะต้องปรับโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา แล้วต้องร่วมมือทั้งรัฐ เอกชนและประชาชน”
“เมื่อวานถ้าเราเห็น เขาบริหารพื้นที่ 200 กว่าไร่ ที่สามารถเพิ่มรายได้ได้อีกจำนวนมากในการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืช ของเราขาดอย่างเดียว คือ การจัดการแหล่งน้ำที่เพียงพอ ไม่สามารถทั่วถึงได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ด้วยพื้นที่ ด้วยภูมิศาสตร์ สภาพของดิน สิ่งสำคัญที่สุดคือการปลูกพืช เชิงเดี่ยวอันตรายที่สุด ต้นทุนสูง วันนี้ทำยังไงให้ลดต้นทุนตรงนี้ให้ได้ ขอให้ติดตามด้วยแล้วกัน” พลเอกประยุทธ์กล่าว
ห่วงของแพง วอนผู้ประกอบการอย่าขึ้นราคา
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “วันนี้เป็นห่วงราคาน้ำมันพืช อาหารสัตว์ ปุ๋ย ห่วงไปหมด ห่วงทุกเรื่อง เพราะมันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ถ้าสถานการณ์ปกติมันโอเคอยู่แล้ว มีอย่างหนึ่งที่ดีขึ้นคือการท่องเที่ยว เราอย่าทำให้มันเสียกันเองแล้วกัน ต้องดูแลนักท่องเที่ยวให้ดี เป็นเจ้าภาพที่ดี เจ้าบ้านที่ดี ให้การบริการที่ดี และขอร้องผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ให้ความร่วมมือดูแลลูกค้าให้ดี อย่าไปขึ้นราคาจนเกินเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดทุน”
“นายกฯ ก็เป็นห่วงผู้ประกอบการโรงแรมด้วยที่เป็นเจ้าของสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมันเข้าไม่ถึงการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง วันนี้ก็มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงเงินเหล่านี้เพื่อไปซ่อมแซม รีโนเวทต่างๆ จะได้ไม่ต้องทิ้งแรงงาน ถ้าเขาล้มไป ไปกันหมด ลูกจ้างรายวัน-รายชั่วโมงไปหมด รัฐบาลต้องดูแลทั้งข้างบน ตรงกลางและข้างล่าง”
รับไม่ได้ ปมโฆษณา “ลาซาด้า”
พลเอกประยุทธ์ ตอบผู้สื่อข่าวถึงประเด็นการตลาดของลาซาด้า (Lazada) ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับประเด็นสถาบันฯ ว่า “เป็นเรื่องของการกระทำมันถูกต้องหรือไม่ เรารับได้ไหม สื่อรับได้ไหม รับไม่ได้ ผมก็รับไม่ได้ กฎหมายก็ว่าไปสิ”
หนุนปลูกไผ่ในพื้นที่ ‘ชุมชน-ป่า-ค่ายทหาร’ ลดก๊าซเรือนกระจก
ด้านดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการว่า นายกฯ กำชับเรื่องการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2593 ภายใต้แนวทางสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี เสริมสร้างบุคลากรในประเทศควบคู่กับการส่งเสริมการปลูกต้นไม้โตเร็ว
นอกจากนี้นายกฯ ย้ำว่าเคยมอบนโยบายส่งเสริมการปลูกไผ่ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและอาหารในพื้นที่ชุมชน ป่า และในค่ายทหาร
สั่งพีอาร์บังคับใช้ กม.ใหม่-เว้นโทษอาญา เด็กไม่เกิน 12 ปี
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้กฎหมายที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 29 พ.ศ.2565 การแก้ไขเกณฑ์ของอายุเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาจากไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี และแก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญาจากไม่เกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 หรือ นับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาประกาศ
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแก้พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565 ในประเด็นต่างๆ เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย การจัดที่นั่งสำหรับเด็ก การป้องกันการแข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน หรือวันที่ 4 กันยายน 2565 หรือ นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ขึ้นเวทีสาธารณะ-แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปชช. 19 พ.ค.นี้
ดร.ธนกร รายงานว่า นายกฯ มีกำหนดกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนา “ถามมา ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” ในเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 โดยงานจัดขึ้นตั้งแต่ 19-20 พฤษภาคม 2565 ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ โดยมีรองนายกฯ และรัฐมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเวที เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตยุคใหม่ กฎหมายที่สำคัญ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศที่ดีกว่า และมีการจัดนิทรรศการการทำงานของรัฐบาล
ไว้ใจตั้งคนคลังสอบประมูลท่อส่งน้ำฯอีอีซี
มีคำถามถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบท่อส่งน้ำอีอีซีว่า ‘เหมาะสมหรือไม่’ ที่ให้คนในกระทรวงการคลังสอบกันเองโดยตั้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังตรวจสอบ และมีข้าราชการกรมธนารักษ์นั่งเป็นกรรมการ ดร.ธนกร ตอบแทนนายกฯ ว่า “ก็ต้องไว้ใจ ฟังเหตุผลข้อเท็จจริงด้วยใจเป็นธรรม หากมีปัญหาก็เข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม”
ตอบคำถามผู้กองธรรมนัสนัดฝ่ายค้านทานข้าว
มีคำถามอีกว่า “รู้สึกอย่างไรที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นัดหมายนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยรับประทานอาหาร ามกลางกระแสข่าวร้อนทางการเมือง” ดร.ธนกร รายงานคำตอบเพียงแค่ว่า “ทราบว่าขณะนี้ยังไม่ได้ไป”
แจงหารือ รมว.กลาโหม “ไทย-สหรัฐ” วอนอย่าโยงปมรัสเซีย-ยูเครน
ดร.ธนกร ตอบคำถามหลังจากมีคนเชื่อมโยงว่าการพูดคุยกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐมนตรีของสหรัฐอเมริกากับไทย อาจนำไปสู่ความขัดแย้งกรณีรัสเซีย-ยูเครน ว่า “มีหลายวาระการประชุม สื่อ หรือ คนที่นำไปเชื่อมโยงก็ต้องระมัดระวังที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ อย่าทำเพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างเดียว”
มติ ครม.มีดังนี้
แก้ กม.เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน-ใช้ ‘เงินชราภาพ’ กู้แบงก์ได้
ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก , ขอคืน และขอกู้) รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น อาทิ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม “อายุ 60 ปีบริบูรณ์ ” เป็น “อายุ 65 ปีบริบูรณ์” โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืนและขอกู้ )
2. การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น
ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสามารถ เลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติมโดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุนแต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนขอเลือกขอคืนและขอกู้ อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว
“การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันรวมทั้งเป็นการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมสร้างหลักประกันทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นกับผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
จัดงบฯ 1,725 ล้าน ลดค่าไฟบ้าน-กิจการขนาดเล็กอีก 4 เดือน
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน 1,724.95 ล้านบาท ในมาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรค่า (FT) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2565) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าเอฟทีที่ 0.2338 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นการดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 และ 19 เมษายน 2565
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าทำให้ลดภาระค่าไฟฟ้าค่าของชีพแก่ประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก มีเงินเพื่อการบริโภคและอุปโภค ช่วยลดผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนในระยะต่อไปได้
ปรับเกณฑ์ออกวีซ่าระยะยาว ดึงต่างชาติกระเป๋าหนักเข้าไทย
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa :LTR Visa) ให้มีความครอบคลุมและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญให้เข้ามาพำนักหรือทำงานในไทยระยะยาว จำนวน 1 ล้านคน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1) กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญ โดยออกเป็นร่างระเบียบและร่างประกาศ รวม 3 ฉบับ ดังนี้
1.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ.2540 โดยกำหนดให้ อาทิ
-
1)ผู้พำนักระยะยาวและผู้ติดตาม รวมถึงบุคลากรกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศมีสิทธิใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าฯ
-
2)กำหนดให้ศูนย์บริการวีซ่าฯ มีอำนาจในการแก้ไขและยกเลิกตราประทับที่ได้รับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่รับผิดชอบอื่น รวมถึงการแก้ไขและยกเลิกการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศได้
2.ร่างประกาศ สกท. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติ ที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa) มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงแก้ไข มติ ครม. เมื่อ 14 กันยายน 2565 ในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย อาทิ ผู้ยื่นคำขอ
-
1) กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง/ กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ต้องแสดงกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีระยะเวลาคุ้มครองคงเหลือไม่น้อยกว่า 10 เดือน ณ วันที่ออกหนังสือรับรองคุณสมบัติ หรือสิทธิประกันสังคมที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ในประเทศไทย หรือเงินฝากในบัญชีในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
-
2)กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง ต้องแสดงหลักฐานการมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ เช่น มีรายได้ส่วนบุคคลเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในระยะเวลา 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขอ
-
3)กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญ ต้องแสดงสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการกับกิจการในประเทศ หรือกับกิจการในต่างประเทศ
-
4)กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญ ต้องแสดงหลักฐานการมีประสบการณ์การทำงาน ในอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5 ปี ในห้วงระยะเวลา 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ ยกเว้นผู้ที่เข้ามาทำงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือสถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางของรัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าขึ้นไป
3.ร่างประกาศ สกท. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอ Smart Visa สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ โดยยกเลิกประกาศ สกท. วันที่ 18 ธันวาคม 2561 แต่ยังคงประเภท คุณสมบัติ และเงื่อนไขเดิมของ Smart Visa ตามมติ ครม. เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2561 โดยมีรายละเอียดดังนี้
-
1) กำหนดคุณสมบัติคนต่างด้าวที่ประสงค์จะยื่นขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) ต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่ สกท. กำหนด อาทิ 1.ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2)ต้องมีการลงทุนโดยตรงในนามของผู้ขอไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ หรือในบริษัทเงินร่วมลงทุน
-
2) เพิ่มประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมของ Smart Visa และอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ และอุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ลดค่าธรรมเนียมวีซ่า 10 ปี เหลือ 5 หมื่นบาท
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการพำนักระยะยาว (Long-term resident visa : LTR Visa) อายุการตรวจลงตรา 10 ปี และเสียค่าธรรมเนียมครั้งเดียวในอัตรา 50,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) ทั้งนี้ มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
สาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย อาทิ 1)กำหนดประเภทการตรวจลงตรา สำหรับผู้พำนักระยะยาวขึ้นใหม่ (Long-term resident visa : LTR Visa) โดยมีอายุการตรวจลงตรา 10 ปี 2)กำหนดคุณสมบัติของคนต่างด้าว 4 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าว (คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปีจำนวนไม่เกิน 4 คน) 3)กำหนดให้คนต่างด้าวและผู้ติดตามของคนต่างด้าวที่ได้รับเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราครั้งเดียวในอัตรา 50,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) และสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
กำหนดอัตราค่าจ้างช่าง 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา
ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถและทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพสาขาต่างๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยแบ่งเกณฑ์วัดระดับฝีมือแรงงาน เป็น 3 ระดับ และมีเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา ซึ่งผู้ที่ผ่านการทดสอบจะได้ใบรับรองผ่านการทดสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ มีการกำหนดเพิ่มเติมขึ้นใหม่ 1 กลุ่มสาขาอาชีพ รวม 4 สาขา โดยมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานดังนี้
กลุ่มสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง (กลุ่มสาขาอาชีพเดิม) รวม 5 สาขา คือ
-
1.สาขาช่างติดตั้งยิปซั่ม มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 595 บาท/วัน
2.สาขาช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 645 บาท/วัน
3.สาขาช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท/วัน ระดับ 3 ค่าจ้าง 650 บาท/วัน
4.สาขาช่างสีอาคาร มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 465 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 600 บาท/วัน
5.สาขาช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 475 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 575 บาท/วัน
กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ (กลุ่มสาขาอาชีพที่กำหนดขึ้นใหม่) รวม 4 สาขา คือ
-
1.สาขาช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท/วัน ระดับ 3 ค่าจ้าง 650 บาท/วัน
2.สาขาช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 430 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท/วัน
3.สาขาช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 525 บาท/วัน
4.สาขาช่างเครื่องถม มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 625 บาท/วัน
กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ (กลุ่มสาขาอาชีพเดิม) รวม 7 สาขา คือ
-
1.สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (หัตถบำบัด) มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 460 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 475 บาท/วัน
2.สาขาผู้ประกอบขนมอบ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 505 บาท/วัน
3.สาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 565 บาท/วัน
4.สาขาพนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน
5.สาขาช่างแต่งผมสตรี มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 510 บาท/วัน ระดับ 3 ค่าจ้าง 650 บาท/วัน
6.สาขาช่างแต่งผมบุรุษ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 430 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 500 บาท/วัน ระดับ 3 ค่าจ้าง 630 บาท/วัน
7.สาขาการดูแลผู้สูงอายุ มาตรฐานฝีมือระดับ 1 ค่าจ้าง 500 บาท/วัน
ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจะมีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ปรับเกณฑ์รับเงินชดเชยประกันรายได้มันสำปะหลัง
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับเงื่อนไขโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี2563/2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเป็นการทบทวนมติเดิมเมื่อ 25 ตุลาคม 2564 โดยให้สิทธิเกษตรกรกลุ่มที่แจ้งปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 (จากเดิมที่ต้องแจ้งปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 เป็นต้นไป) และมีช่วงเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 8-12 เดือน และไม่ซ้ำแปลง ที่มีสิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/2564 (จากเดิม กำหนดต้องไม่เคยได้รับสิทธิในโครงการประกันรายได้ ปี 2562/2563) ทำให้มีเกษตรกรได้รับสิทธิตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี2563/2564 จากเงื่อนไขใหม่นี้เพิ่มขึ้น 120,148 ครัวเรือน จากเดิม 84,186 ครัวเรือน รวมเกษตรกรที่ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 204,334 ครัวเรือน โดยใช้วงเงินชดเชย 1,191.18 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณโครงการเดิมตามที่ ครม. อนุมัติไว้แล้ว
ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี2563/2564 ซึ่งได้จ่ายเงินชดเชยเกษตรกรไปแล้วรวม 3,652.15 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.16 ของวงเงินชดเชยทั้งหมด 9,570.96 ล้านบาท ส่วนโครงการปี 2564/2565 ยังไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรทั้ง 6 งวด เนื่องจากราคาอ้างอิง 2.6 – 2.74 บาท/กิโลกรัม สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ 2.5 บาท/กิโลกรัม
เว้นภาษีขายทรัพย์สินให้ทรัสตี ช่วยเจ้าของโรงแรม-สวนสนุก
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการภาษี และค่าธรรมเนียมสำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว ครม.ได้อนุมัติในหลักการกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย
-
1) ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตี ของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน จากเดิมที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 20 ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 3.3 และอากรแสตมป์ร้อยละ 0.5
-
2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน และ
-
3) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน ซึ่งเป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 0.001 จากเดิมร้อยละ 2
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการนี้จะเป็นแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบหนึ่ง โดยที่ผู้ประกอบการไม่สูญเสียความเป็นเจ้าของทรัพย์ โดยผู้ประกอบการจะโอนทรัพย์สินให้แก่กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน ภายใน 2 ปีนับแต่กฎหมายมีผลบังคับ พร้อมกับมีสัญญาในการโอนทรัพย์สินกลับคืนภายใน 5 ปี โดยระหว่างที่ทรัพย์สินยังอยู่กับกองทรัสต์ฯ นี้ผู้ประกอบการก็ยังสามารถเช่าทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปประกอบธุรกิจได้ ซึ่งมาตรการที่ ครม. อนุมัติในครั้งนี้ก็จะเข้าไปมีส่วนช่วยในการลดภาระภาษี ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ที่เกิดขึ้นจากการโอนทรัพย์สินระหว่างผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์ฯ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีกองทรัสต์ฯ ที่มีความสนใจในการลงทุนอยู่จำนวน 8 กอง โดยสนใจลงทุนในโรงแรม 4 กอง สวนสนุกและอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ 4 กองและคาดว่าจากมาตรการนี้จะทำให้เกิดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการข้างต้นจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ จึงต้องชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป ส่วนการประเมินการสูญเสียรายได้นั้นกระทรวงการคลังได้ประเมินว่า รัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี จากธุรกรรมการลงทุน ประมาณ 9,240 ล้านบาท และสูญเสียรายได้ที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณ 1,194 ล้านบาท แต่จะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 หรือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ และยังรักษาความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินไว้ได้
เห็นชอบร่างแถลงร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน –สหรัฐ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ โดยให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ในการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
สำหรับประเด็นสำคัญของร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ นั้น เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างอาเซียน – สหรัฐอเมริกา ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ได้แก่ การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการฟื้นตัวร่วมกัน มีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เช่น การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด 19 คลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ระบบประสานงานภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมให้มีการทำวิจัยร่วม การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืนสำหรับความมั่นคงด้านสาธารณสุข การลงทุน และร่วมทุนในอุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรม การร่วมผลิตวัคซีน เพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงผ่านข้อริเริ่มอาเซียน – สหรัฐอเมริกา ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต
นอกจากนี้ยังรวมถึง การสนับสนุนทางการเงินในระดับนานาชาติที่เพิ่มขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อโรคระบาด และการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะบริการสาธารณสุขมูลฐาน และกำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งของความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยคำนึงถึงวาระและเป้าหมายความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ค.ศ. 2024
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งกว่าเดิม ได้แก่ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้มีความเท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน การเติบโตที่ครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน, การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน, การตอบสนองต่อความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสูง โปร่งใส ยั่งยืน และมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การส่งเสริมการค้าการลงทุน และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่มั่นคงและฟื้นตัวได้เร็ว และความเชื่อมโยงไร้รอยต่อในภูมิภาค และ กระชับความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงด้านคมนาคม เพื่อสนับสนุนการนำเทคนิคที่เป็นเลิศมาใช้ เช่น การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงประเด็นเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล, การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับประชาชน, การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค, การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม, การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
รับทราบสถานพยาบาลเบิกงบฯ สปสช. ปี’64 เกินกรอบวงเงิน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการที่จัดบริการให้ผู้มีสิทธิจำนวน 144,252.95 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 101.33 จากงบประมาณ 142,364.82 ล้านบาท มีประชากรไทยผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 47.74 ล้านคน ได้ลงทะเบียนสิทธิเพื่อเลือกหน่วยบริการประจำตน จำนวน 47.56 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 99.61 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนให้บริการผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 14,549 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2,304 แห่ง
สำหรับผลงานการให้บริการ ประกอบด้วย บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น บริการสุขภาพทั่วไป มีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนบริการเฉพาะกลุ่ม นอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ เข้ารับยาต้านไวรัสสูงกว่าเป้าหมาย จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการล้างไต ฟอกไต ปลูกถ่ายไต สูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งในส่วนของผลงานที่ต่ำกว่าเป้าหมายนั้น เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิวิถีใหม่ที่เน้นการจัดบริการนอกหน่วยบริการเพื่อลดความแออัด และพบว่าประชาชนพึงพอใจต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 97.07 พึงพอใจผู้ให้บริการร้อยละ 80.94 และองค์กรภาคีร้อยละ 92.27 นอกจากนี้ยังมีประชาชนสอบถามข้อมูล ร้องเรียน ร้องทุกข์ และประสานส่งต่อผู้ป่วยผ่านช่องทางต่างๆจำนวน 2,585,915 เรื่อง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด 19 จำนวน 642,700 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 24.85
ส่วนความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะต่อไป คือ การพัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการ, การปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และการเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้ระบบสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องมีความพร้อมและยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสม คุ้มค่า และสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่, การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบปฏิบัติการขนาดใหญ่(Big Data) และการเพิ่มความเข้มแข็งในระบบบริการปฐมภูมิและบริการสุขภาพชุมชน พร้อมเร่งรัดและปรับระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด
นอกจากนี้ครม.ยังรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิ้นสุดปีงบประมาณ 2563 วันที่ 30 กันยายน 2563 มีรายได้ปี 2563 รวม 148,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 6,489 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 146,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,160 ล้านบาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 2,414 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 14,395 ล้านบาท ลดลง 4,563 ล้านบาท หนี้สินรวม 7,402 ล้านบาท ลดลง 6,978 ล้านบาท รวมสินทรัพย์สุทธิ 6,993 ล้านบาท
เห็นชอบ ขรก.ลาบวชเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท 910 รูป เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2565 รวม 24 วัน โดยแยกเป็นส่วนกลาง 91 คน จัดพิธี ที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และ ส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด 819 คน จัดพิธีที่วัดในจังหวัดต่างๆที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับการรับสมัครอยู่ช่วงระหว่างวันที่ 18 เมษายน – พฤษภาคม 2565 มีพิธีปลงผมวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 พิธีมอบผ้าไตร วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล การเตรียมการก่อนบรรพชาอุปสมบทวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2565 พิธีบรรพชาอุปสมบทวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 การศึกษาและปฏิบัติธรรม วันที่ 25 กรกฎาคม -13 สิงหาคม 2565 พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 91 รูป วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ส่วนกลางที่ท้องสนามหลวง ส่วนภูมิภาค ที่ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม และพิธีลาสิกขา วันที่ 13 สิงหาคม 2565
ตั้งผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ 3 ตำแหน่ง
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียด ดังนี้
1.การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นางศิริพร ศริพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักอำนวยการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอแต่งตั้ง นายนฤชา ฤชุพันธุ์ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองส่งเสริมการลงทุน 4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นางชื่นชีวัน ลิมป์ธีระกุล ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2. นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
3. นายนพพร บุญแก้ว ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2565
5. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้งนายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เพิ่มเติม