เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6 เดินหน้าอุ้มชาวสวนปาล์มต่อ สหพันธ์การขนส่งฯ ยกระดับข้อเรียกร้องตรึงดีเซลลิตรละ 25 บาท ประกาศหยุดเดินรถบรรทุกสินค้า 80,000 คัน 7 วัน เริ่ม 1 พ.ย. นี้ หากรัฐบาลเพิกเฉย ขยายเวลาเป็น 15-30 วัน
จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ระดับราคา 82-83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลบางชนิดเพิ่มสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไม่เกินลิตรละ 30 บาท
สาเหตุที่ทำให้น้ำมันไบโอดีเซลมีราคาแพงขึ้น นอกจากแนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปัจจัยอีกตัวคือราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ “B100” ที่นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน และแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำของรัฐบาล ทั้งการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มกิโลกรัมละ 4 บาท และออกประกาศบังคับให้มีการเติม B100 ผสมในน้ำมันดีเซลไม่ต่ำกว่า 7%
ปรากฏว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลดีเกินคาด ปัจจุบันราคาปาล์มสดขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 9 บาท และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์หรือ “B100” ที่ใช้เป็นส่วนผสมของไบโอดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 44.44 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นน้ำมันลิตรละ 20 บาท ดังนั้น ยิ่งผสม B100 เข้าไปในน้ำมันดีเซลมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลที่หน้าปั๊มน้ำมันมีราคาแพงขึ้น หากกระทรวงพลังงานไม่นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุน ก็จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลที่หน้าปั๊มมีราคาอยู่ที่ลิตรละ 32-33 บาท
นอกจากภารกิจในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแล้ว กองทุนน้ำมันฯ ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการตรึงราคา LPG หรือ “ก๊าซหุงต้ม” ให้อยู่ในระดับ 318 บาทต่อถัง (ถังละ 15 กิโลกรัม) ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันฯ นำเงินเข้าไปอุดหนุนดึงราคาก๊าซหุงต้มมากกว่าที่ใช้ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลทั้งกลุ่มถึง 2 เท่าตัว
ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ มีรายได้จากการเงินกับผู้ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว, E10 ไม่มากนัก ได้มาก็ต้องนำไปชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน E20, E85, ไบโอดีเซลทั้งกลุ่ม และก๊าซหุ้งต้ม หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นไปมากกว่านี้ เกรงว่าเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เหลืออยู่อาจจะไม่เพียงพอต่อการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุ้งต้มให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย
ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงมีมติปรับลดส่วนผสมของ B100 ในน้ำมันดีเซลลงมา จากสูตรเดิมเคยกำหนดให้นำ B100 ไปผสมกับน้ำมันดีเซล 7% (B7) และ 10% (B10) สูตรใหม่ ปรับลดลงมาเหลือแค่ 6% (B6) โดยให้เริ่มใช้น้ำมันไบโอดีเซล B6 สูตรใหม่นี้ ตั้งแต่วันที่ 11-31 ตุลาคม 2564 เป้าหมายก็เพื่อลดต้นทุนราคาไบโอดีเซล ณ โรงกลั่นลง และลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ลง ทำให้สามารถตรึงราคาพลังงานของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายได้นานยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปกู้เงินหรือปรับลดภาษีสรรพสามิต
ปรากฎหลังจากน้ำมันไบโอดีเซล B6 เริ่มมีมีผลบังคับใช้ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ก็สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง พร้อมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ก็ทำหนังสือร้องเรียน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ขอให้ยกเลิกมติของ กบง. ที่ให้ปรับลดส่วนผสมของ B100 ลงมาเหลือ 6% ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้อาจส่งผลทำให้ประมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มลดลง และมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงรายได้ของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม
จากนั้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จเรียบร้อย พล.อ. ประยุทธ์ เชิญรองนายกรัฐมนตรีทุกคน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ดร.วิษณุ เครืองาม, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายสุพัฒนพงษ์ พันธมีเชาว์, ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เป็นต้น มาหารือถึงแนวทางการดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีทิศทางขาขึ้น ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังการประชุมมีแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้มีการหารือกันถึงกรณีที่ กบง. มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ปรับลดส่วนผสมของ B100 ในน้ำมันดีเซลลงมาเหลือ 6% อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวสวนปาล์ม ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้จะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ลดลงและส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงราคารับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกร ตามข้อร้องเรียนของชาวสวนปาล์ม ดังนั้น ที่ประชุมจึงขอให้กระทรวงพลังงานกลับไปพิจารณาทบทวนมติของ กบง. ใหม่ ทั้งนี้ เนื่องจากในวันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้มีการจัดประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ในระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2564 โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกกระทรวงลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เช่น จังหวัดกระบี่, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และสตูล เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร การปศุสัตว์ และการประมง ดังนั้น ในการที่ กบง. มามีมติปรับลดส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในน้ำมันดีเซลช่วงนี้ ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม จึงขอให้ กบง. พิจารณาเลื่อนออกไปก่อน หลังการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดกระบี่เสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยมาว่ากันใหม่
วันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธมีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ภายหลังการประชุม นายสุพัฒนพงษ์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ที่ประชุม กบง. มีมติยกเลิกไบโอดีเซล B6 และให้กลับไปจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลสูตรเดิม คือ B7, B10 และ B20 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป รวมทั้งกำหนดส่วนต่างของราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลใหม่ โดยกำหนดราคาน้ำมันดีเซล B10 ให้มีราคาถูกว่า B7 ประมาณ 15 สตางค์ต่อลิตร และ B20 ให้มีราคาถูกกว่า B7 ประมาณ 25 สตางค์ต่อลิตร และเห็นชอบแนวทางใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ 9,207 ล้านบาท ตรึงราคาน้ำมันไบโอดีเซลทั้งกลุ่มไม่เกินลิตรละ 30 บาท หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มเป็น 87.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สำนักงานโยบายและแผนพลังงาน คาดว่าจะต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เดือนละ 5,000 ล้านบาท เข้าไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลทั้งกลุ่มให้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท หากเงินกองทุนน้ำมันฯ มีไม่เพียงพอ ตามกฎหมายสามารถกู้ยืมเงินได้อีก 20,000 ล้านบาท และถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก และเงินกองทุนน้ำมันมีไม่เพียงพอ ก็จะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อลดภาษีสรรพสามิตต่อไป
ส่วนทางกับข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ยื่นหนังสือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธมีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ขอให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลทั้งกลุ่มไม่เกินลิตรละ 25 บาท โดยการปรับลดส่วนผสมของ B100 และภาษีสรรพสามิตลงมา พร้อมกับยกเลิกการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันทุกชนิดเป็นเวลา 1 ปี ปรากฏว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากรัฐบาลหรือกระทรวงพลังงาน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย พร้อมกับสมาชิกสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ จึงประกาศมาตรการยกระดับกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ซึ่งในเบื้องต้นทางสมาชิกของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ตกลงกันว่าลดการให้บริการเดินรถหรือหยุดวิ่งรถบรรทุกประมาณ 80,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด 400,000 คัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นเวลา 7 วัน หากรัฐบาลยังไม่มีการพิจารณาดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ อีก ก็จะขยายเวลาลดการให้บริการรถบรรทุกเป็น 15 วัน หรือ 1 เดือน ตามความเหมาะสม
นายอภิชาติกล่าวว่า หลังจากที่ตนไปยื่นหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์แล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากนั้น กบง. ยังมีมติยกเลิก B6 และให้กลับไปใช้ B7, B10, B20 เหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนภาคการขนส่งแต่อย่างใด ดังนั้น สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ จึงจำเป็นต้องประกาศมาตรการยกระดับข้อเรียกร้องตามที่กล่าวข้างต้น สำหรับข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ที่เสนอให้รัฐบาลตรึงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 25 บาทนั้น เป็นเพียงเลขเบื้องต้นที่เสนอไป ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานยังไม่เคยเรียกสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ เข้าไปหารือแต่อย่างใด ซึ่งทางสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ก็พร้อมหากรัฐบาลหรือกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เข้าไปเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งผลการเจรจาอาจต่อรองการตรึงราคาดีเซลลงมาเหลือลิตรละ 26-27 บาท ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพียงแค่กระทรวงพลังงานปรับลดส่วนผสมของ B100 ลงมาหน่อย และปรับภาษีสรรพสามิตช่วยอีกนิด รวมทั้งยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเป็นการชั่วคราวหรือ 1 ปี จนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ค่อยกลับไปใช้โครงสร้างเดิม