ThaiPublica > เกาะกระแส > “กุลิศ” แจงลอยตัว LPG-NGV เร่งหาเงินเยียวยา “บัตรคนจน” 3 เดือน 100 บาท

“กุลิศ” แจงลอยตัว LPG-NGV เร่งหาเงินเยียวยา “บัตรคนจน” 3 เดือน 100 บาท

7 กุมภาพันธ์ 2022


“กุลิศ” แจงลอยตัว LPG-NGV ลดภาระกองทุนน้ำมันฯเดือนละ 270-280 ล้านบาท เตรียมเร่งหาเงินช่วยค่าครองชีพผู้ถือ “บัตรคนจน” 13.5 ล้านคน คนละ 100 บาท ทุก ๆ 3 เดือน-วอนผู้ประกอบการรถบรรทุกเห็นใจ ตรึงราคาดีเซล 25 บาท ต้องใช้เงินเดือนละ 17,000 ล้านบาท เผยสถานะกองทุนน้ำมันล่าสุดติดลบไป 14,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน , นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ , นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน , นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน , นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ร่วมกันแถลงสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน เพื่อเตรียมแผนรับมือ และกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่างๆให้ดีที่สุด

การแถลงข่าววันนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในช่วงที่เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม อย่างเช่น เรื่องที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติตรึงราคาแก๊สแอลพีจี หรือ “แก๊สหุงต้ม” ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565 และตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีไว้ที่กิโลกรัมละ 15.59 บาทถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565 ขณะที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยกำลังระดมผู้ประกอบการรถบรรทุกมาจัดกิจกรรม Truck Power ครั้งที่ 3 ที่หน้ากระทรวงพลังงานในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.00 น. เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานปรับลดราคาน้ำมันไบโอดีเซลจากลิตรละ 30 บาท ลงมาเหลือลิตรละ 25 บาท พร้อมกับสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซีไทยที่จะมาขอให้กระทรวงพลังงานปรับลดราคาก๊าซเอ็นจีวีลงมาเหลือกิโลกรัมละ 10.50 บาท จากปัจจุบันขายกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 15.60 บาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

ประเด็นแรก เรื่องการลอยตัวแก๊สหุงต้มหลังวันที่ 31 มีนาคม 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนเดิมนั้นกระทรวงพลังงานทยอยปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้มเป็นขั้นๆ จากราคาแอลพีจีในปัจจุบันอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ปรับเพิ่มเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม และราคา 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งถ้าปรับราคาขึ้นไปเป็น 333 บาท กระทรวงพลังงานก็ยังต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจ่ายชดเชยอยู่ ซี่งหลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2565 ไปแล้ว คงต้องมาดูว่าจะปรับราคาแก๊ศหุงต้มขึ้นไปเท่าไหร่ แต่การปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้มต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้ถือบัตรอยู่ประมาณ 13.5 ล้านคน โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือค่าแก๊สหุงต้มนั้นจะโอนเข้าไปที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐครั้งละ 100 บาท ทุกๆ 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจ่ายเงินสนับสนุนค่าแก๊สหุงต้มให้แก่ผู้ถือบัตรฯ 45 บาท ทุกๆ 3 เดือน ดังนั้น ในส่วนที่เหลืออีก 55 บาท เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานที่จะต้องไปหาแหล่งเงินมาสนับสนุนการโอนเงินชดเชยค่าแก๊สหุงต้มไปให้ผู้ถือบัตรฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องของแหล่งเงินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

การให้ความช่วยเหลือครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การใช้แกีสเพื่อหุงต้มอาหารเป็นหลัก และให้การช่วยเหลือผ่านผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งที่ใช้เพื่อการหุงต้ม ภาคการขนส่ง รวมไปจนถึงกลุ่มหาบเร่แผงลอย โดยกระทรวงพลังงานจะโอนเงินเข้าไปที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาเราเริ่มตรึงราคาแก๊สหุงต้มมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ช่วงที่โดวิดฯระบาดใหม่ๆ ตอนนั้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล จนมาถึงปัจจุบันใช้เงินแทรกแซงราคาแก๊สหุงต้มไปเกือบ 25,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันปรับราคาขึ้นไปสูงมาก และกระทรวงพลังงานได้ส่งสัญญาณไปแล้วว่าเราไม่ตรึงราคาแก๊สต่อไป จึงขอให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลับไปทำหน้าที่หลักของเราก่อน คือ ดูแลเรื่องราคาน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 31 มีนาคม 2565 ไปแล้ว คงต้องมาดูกันอีกทีว่าจะปรับราคาแอลพีจีขึ้นไปเท่าไหร่” นายกุลิศ กล่าว

  • มติ กบง. ลดชดเชย “ดีเซล” ชง กพช. เก็บเงิน LPG ส่งออกเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาแก๊สหุ้งต้มถังละ 363 บาท
  • นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

    ถามว่าหากมีการปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจีแล้วจะช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่าไหร่ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า “หากมีการปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี 1 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม จะลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันละ 9 ล้านบาท หรือ เดือนละ 270-280 ล้านบาท”

    ประเด็นที่ 2 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยนัดชุมนุมใหญ่ที่หน้ากระทรวงพลังงานในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานปรับราคาน้ำมันไบโอดีเซลลงมาเหลือลิตรละ 25 บาท

    นายกุลิศ กล่าวว่า “เรื่องนี้ต้องขอความเห็นใจจากภาคขนส่ง ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดึงราคาน้ำมันดีเซลลงมาลิตรละ 3.79 บาท จากราคาน้ำมันที่แท้จริง เพื่อบริหารราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปแทรกแซงเดือนละ 7,000 ล้านบาท และถ้าจะให้ลดราคาน้ำมันดีเซลลงนับจากราคาที่แท้จริงลิตรละ 34 บาท ลงมาเหลือ 25 บาท ต้องแทรกแซงลิตรละ 9 บาท ปัจจุบันมีปริมาณการใช้ถึงวันละ 60 ล้านลิตร คาดว่าจะต้องใช้เงินเดือนละ 17,000 ล้านบาท กระทรวงพลังงานไม่สามารถไปหาเงินมาชดเชยราคาในส่วนนี้ได้” ขณะที่รัฐบาลเองก็มีภาระที่จะต้องจัดสรรเม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาภาคเศรษฐกิจอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น กระทรวงพลังงานยังยืนยันที่จะตรึงราคาพลังงานไว้ที่ลิตรละ 30 บาทต่อไป

    ถามว่าได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังเรื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันหรือไม่? นายกุลิศ กล่าวว่า “เรื่องภาษีสรรพสามิตเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง คงจะไม่ประกาศออกมาล่วงหน้าได้ว่าจะลดภาษีอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งตนไม่อาจไปก้าวล่วงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยหารือกับกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ โดยกระทรวงพลังงานดำเนินการในส่วนที่กระทรวงพลังงานรับผิดชอบอยู่ให้เต็มที่ก่อน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา กระทรวงพลังงานได้เข้าไปบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งปรับลดส่วนผสมของบี 100 และกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง ซึ่งกระทรวงพลังงานได้รายงานสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้กระทรวงการคลังทราบเป็นระยะๆ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆก็คงต้องหารือกับกระทรวงการคลังเมื่อถึงเวลานั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา”

    ถามว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลา หรือ ระดับไหนที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระไม่ไหวแล้ว นายกุลิศ ตอบว่า “สมมติว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวันนี้อยู่ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ปรับขึ้นไปเป็น 100 ดอลลาร์ หรือ เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนรุนแรงขึ้น หากกระทรวงพลังงานรับภาระต่อไปไม่ไหว ก็ต้องคงหารือกัน แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดทำแผนรับมือความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็น Step เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาระดับนี้จะมีมาตรการออกมาแก้ปัญหาอย่างไร หรือ ถ้าราคาน้ำมันปรับขึ้นไปอีกระดับจะมีมาตรการอะไรออกมา เราเตรียมไว้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งแต่ละมาตรการจะต้องหาแหล่งเงินมาสนับสนุน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ขอไม่เปิดเผยในรายละเอียดของมาตรการต่างๆที่เตรียมเอาไว้ แต่ยืนยันว่าจะดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน แต่ตอนนี้ขอบริหารไปตามสถานการณ์ก่อน และเมื่อถึง ณ จุดนั้นเมื่อไหร่จะมาแถลงมาตรการรับมือราคาพลังงานให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง”

  • EIC ชี้วิกฤติพลังงาน สัญญาณเตือนความท้าทายที่จะเกิดในช่วง ENERGY TRANSITION
  • เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6
  • ม็อบรถบรรทุกจี้พลังงงานตรึงดีเซล 25 บาท ไม่ได้ 1 ธ.ค. “ทิ้งรถ”
  • นายกฯ วอนม็อบรถบรรทุกอย่ากดดัน สั่ง รฟท.-บขส. รับส่งสินค้าเพิ่ม — มติ ครม. ขยายวงเงินกู้ตรึงราคาพลังงาน
  • ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน (2): กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง…รักษาเสถียรภาพพลังงาน หรือ ประชานิยม

  • ประเด็นที่ 3 กรณีกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานปรับลดราคาก๊าซ NGV ลงมาเหลือ 10.50 บาทนั้น นายกุลิศ กล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงพลังงานตรึงราคาก๊าซ NGV ไว้ที่กิโลกรัม 15.59 บาท หากจะให้ปรับราคาลงมาอยู่ที่ 10.59 บาท คงจะลำบาก แต่อาจจะพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะภาคขนส่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ เช่น รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งตอนนี้ราคาก๊าซ NGV จริงๆอยู่ที่กิโลกรัมละ 17 บาท หากจะให้กระทรวงพลังงานตรึงราคาก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาท ต่อไป ก็ต้องพิจารณาหาแหล่งเงินจากที่ไหนมาสนับสนุน หรือ มาชดเชย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกมาตรการที่กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาอยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่ได้ ส่วนแหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนมาตรการคงจะต้องมาจากเงิน “งบกลาง” หรือ “เงินกู้”

    “กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาอยู่ ไม่ได้ละเลย เพียงแต่ว่าการช่วยเหลือคงจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจริงๆเท่านั้น ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทุกคนครบทั้ง 100% เลย ก็คงไม่ไหว คงต้องเฉลี่ยการดูแลให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆเท่านั้น”นายกุลิศ กล่าว

    ถามว่า ณ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะเป็นอย่างไร เพียงพอที่จะใช้แทรกแซงราคาน้ำมันได้นานแค่ไหน นายกุลิศ ตอบว่า “ตอนนี้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบอยู่ 14,000 ล้านบาท หากไม่ดำเนินการใดอยู่ได้อีก 3 เดือน”

    อ่านแถลงข่าวกระทรวงพลังงงานเพิ่มเติมที่นี่