นายกฯ ลงพื้นที่ชน “บิ๊กป้อม” ยันไม่ได้วัดพลัง-อย่าสร้างความขัดแย้ง-แจงขยายเพดานหนี้เป็น 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่การคลัง-ไม่กู้เต็มพิกัด-ปัดลด “เบี้ยคนชรา” ยันจ่ายไปจนกว่าจะเสียชีวิต – มติ ครม. อนุมัติงบกลาง 2.7 หมื่นล้าน เยียวยาผู้ถือ “บัตรคนจน” -ลดเงินสมทบ สปส.ช่วยลูกจ้าง-นายจ้างอีก 3 เดือน
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้นายกรัฐมนตรีไม่แถลงข่าว แต่ได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน
ย้ำแพกเกจดึงต่างชาติเข้า ปท. “ไม่ใช่เรื่องใหม่ – ทำตามกรอบ กม.เดิม”
ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยดึงนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาพำนักในประเทศไทย จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักด้วยวาทกรรมว่า “ขายชาติ” นั้น พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า “การพิจารณาทุกอย่างเป็นตามพระราชบัญญัติ และยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นการอำนวยความสะดวก ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ซึ่งคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเองและครอบครัว โดยที่ไม่ขัดกับศีลธรรม หรือ จารีตประเพณี และวิถีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ถ้าหากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวกระทำผิดหลักเกณฑ์ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะต้องจำหน่ายที่ดินในส่วนที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่น้อยกว่า 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น ซึ่งเรื่องของการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินอะไรต่างๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายเดิมทุกประการ ไม่มีอะไรใหม่
แจงขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่การคลัง-ไม่กู้เต็มพิกัด
ดร.ธนกร กล่าวถึงคำถามที่ 2 เรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี เพื่อเตรียมการกู้เงินต่อ หรือ ไม่ อย่างไรนั้น ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า “การขยายเพดานหนี้สาธารณะครั้งนี้ เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล กรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ตั้งแต่ปี 2563-2564 รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิดมาส่วนหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ดี การที่จะกู้ หรือ ไม่กู้เพิ่ม ก็จะพิจารณาตามความจำเป็น และแผนงานที่ชัดเจน และที่สำคัญกู้เท่าที่จำเป็น ไม่ได้กู้ครั้งเดียวเต็มพิกัด ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ระบุว่า ให้มีการปรับปรุงทุกๆ 3 ปี สำหรับแผนการหารายได้เพื่อชำระหนี้นั้น รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องของการเร่งรัดหารายได้ใหม่ๆ ตามแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมแนวใหม่ เช่น New S-Curve, BCG รวมทั้งการลงทุนใน EEC และการเสริมสร้างมูลค่าการส่งออก ซึ่งจะช่วยเพิ่มจีดีพี และรายได้ของรัฐ”
ลงพื้นที่ชน “บิ๊กป้อม” ยันไม่ได้วัดพลัง-อย่าสร้างความขัดแย้ง
ดร.ธนกร กล่าวถึงคำถามที่ว่า การลงพื้นที่ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าเป็นการวัดพลังของ 2 ป. หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า “ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่าหาเรื่องมาสร้างความขัดแย้ง การลงพื้นที่ที่ของนายกฯ นั้น ได้สั่งการใน ครม. ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนได้ลงได้ลงพื้นที่ หากไม่ติดราชการสำคัญใดๆ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และเตรียมการแก้ปัญหาอุทกภัยล่วงหน้า”
นอกจากนี้ ดร.ธนกรยังกล่าวความรู้สึกของนายกรัฐมนตรีในประเด็นการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ และการเมืองบนท้องถนน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เหนื่อยไม่ได้ ขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี, ข้าราชการทุกกระทรวง, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทหาร หน่วยงานความมั่นคง และประชาชนทุกคน ที่เข้าใจและให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนผู้เดือดร้อนจากการชุมนุมก็มีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว สังคมต้องช่วยกันดูแล เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น”
ปัดลด “เบี้ยคนชรา” ย้ำจ่ายไปจนกว่าจะเสียชีวิต
ดร.ธนกร กล่าวถึงคำถามที่ว่านายกรัฐมนตรีมีความคิดเห็นต่อการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างไรนั้นนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ขณะนี้การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุยังจ่ายตามปกติ ไม่ได้มีการปรับลดแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไปว่า “ให้รักษาสิทธิผู้ที่เคยได้รับสิทธิ์อยู่ก่อนแล้วไปจนกว่าจะเสียชีวิต” ขณะนี้ยังได้รับรายงานจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าคณะอนุกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้พิจารณาทางเลือก เพื่อเสนอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่แทน และเสนอให้ ครม. พิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ หากมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจะส่งให้ พ.ม.รับไปพิจารณา
มติ ครม. มีดังนี้
อนุมัติงบกลาง 2.7 หมื่นล้าน เยียวยาผู้ถือ “บัตรคนจน”
ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ และขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา และอนุมัติงบกลางปี 2564 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้
1) วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 (12 เดือน)
-
-กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี ตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรณี ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือน โดยประมาณ
-
– สนับสนุนค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท /ครัวเรือน /เดือน ในกรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท โดยส่วนเกินต้องชำระด้วยตนเอง และกรณีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด ครอบคลุมประมาณ 186,625 ครัวเรือน
2) วงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ
-
-ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับ 200 บาท/คน/เดือน ในส่วนผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับ 300 บาท/คน/เดือน และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 55บาท/คน/3 เดือน
-
-ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket /รถไฟฟ้า บขส. รถไฟ อย่างละ 500 บาท/คน/เดือน
-
-เบี้ยความพิการ จำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน อีกด้วย
3) วงเงิน 1,642 ล้านบาท ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อรองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรฯ
4) วงเงิน 4,530.66 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตรฯ และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผู้สมัครรอบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
“การช่วยเหลือลดอัตราค่าน้ำ/ค่าไฟ ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลห่วงใยเพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนา คุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี” ดร.ธนกร กล่าว
ลดเงินสมทบ สปส.ช่วยลูกจ้าง-นายจ้างอีก 3 เดือน
ดร.ธนกร กล่าว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขยายเวลาปรับลดอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กันยายน -30 พฤศจิกายน 2564 ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ในส่วนผู้ประกันตนตาม ม. 39 ให้ปรับลดอัตราจ่ายเงินสมบทจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาท ลดลงเหลือ 235 บาท /เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 64 เป็นต้นไป
“สำหรับการลดอัตราเงินสมทบงวดเดือน ก.ย. – พ.ย. 64 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ของนายจ้างและผู้ประกันตนจากสถานการณ์การระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ทำให้ผู้ประกันตนในระบบจ่ายเงินสมทบลดลงเป็น 10,721 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลงเป็น 9,629 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผู้ประกันตนทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย ช่วยเสริมสภาพคล่องได้ประมาณ 945 – 1,575 บาทต่อคน และนายจ้าง มีสภาพคล่องขึ้น เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้” ดร.ธนกร กล่าว
ขยายเวลา “เราเที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย”ถึง 28 ก.พ.ปีหน้า
ดร. ธนกร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” โดยเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 2 โครงการ เป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2565 พร้อมให้ ททท. เร่งรัดการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รายละเอียด ดังนี้
-
1. “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” ปรับ 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่ (1) เปลี่ยนแปลงการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัด สามารถเดินทางได้ทุกวัน จากเดิมเดินทางได้เฉพาะวันอาทิตย์ – พฤหัสบดี (2) เพิ่มรายการนำเที่ยว เป็น 30 รายการต่อบริษัท จากเดิม 15 รายการต่อบริษัท โดย ททท. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับแพลตฟอร์มการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
-
2. “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” ขณะนี้ได้เตรียมเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการที่จะสมัครเข้าร่วม โครงการตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน – 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ คาดการณ์ ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการและให้ประชาชนใช้สิทธิท่องเที่ยวในเดือนตุลาคมนี้
ในส่วนของรายละเอียดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 คือ รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% (ไม่เกิน 3,000 บาท/ ห้อง/คืน) สนับสนุนคูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% (ไม่เกิน 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท โดยดูตามเงื่อนไขของแต่ละจังหวัด) ส่วนโครงการทัวร์เที่ยวไทย นั้น รัฐสมทบเงินให้ 40% ของราคาแพ็กเกจท่องเที่ยว หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันลดลงอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่พัก/โรงแรม/ ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ ของ ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการควบคุม ป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงในช่วงระหว่างดำเนินโครงการ ททท. ก็สามารถขอยุติดำเนินโครงการฯ ได้ ทั้ง 2 โครงการ
เห็นชอบกรอบงบฯลงทุน รสก. 44 แห่ง วงเงิน 1.48 ล้านล้าน
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินดำเนินการ (วงเงินสำหรับให้รัฐวิสาหกิจใช้เป็นกรอบลงนามในสัญญาเพื่อลงทุน) จำนวน 1.48 ล้านล้านบาท (1,485,456 ล้านบาท) และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน (วงเงินที่มีการเบิกจ่ายจริงเพื่อใช้ดำเนินการตามสัญญา) จำนวน 3.07 แสนล้านบาท (307,479 ล้านบาท) ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ซึ่งได้มีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความจำเป็น และความพร้อมในการลงทุน
ทั้งนี้ เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง รวมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 49 แห่ง แล้ว ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี 2565 มีวงเงินดำเนินการจำนวน 1.51 ล้านล้านบาท (1,512,726 ล้านบาท) และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนจำนวน 4.68 แสนล้านบาท (468,833 ล้านบาท)
ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินลงทุนของรัฐวิสากิจทั้ง 44 แห่งนี้ จะทำให้ เกิดการขยายตัว GDP ของประเทศไทยได้ร้อยละ 0.17 % หากรวมรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง GDP จะเกิดการขยายตัว 0.31% ช่วยให้เกิดการจ้างงานในระบบกว่า 1.63 แสนคน และนำเงินส่งรายได้ให้แก่รัฐ 1.24 แสนล้านบาท
กำหนดเกณฑ์พิจารณาขอใช้เงินกู้ฟื้นฟู ศก. 1.7 แสนล้าน
ดร. รัชดา กล่าว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบแผนงาน หรือ โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (แผนงานที่ 3) วงเงิน 170,000 ล้านบาท ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ สถานประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร) วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงาน และวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยขอบเขตโครงการที่จะขอใช้เงินกู้ฯ ต้องมีลักษณะเพื่อเป้าหมายอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
-
1.เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงานของ SMEs หรือในชุมชน ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการสร้างรายได้และอาชีพ ให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ วงเงินเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท
-
2.เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และสามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ระดับฐานราก ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการโดยมีการประยุกต์ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการลงทุนที่สามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก
-
3.เพื่อกระตุ้นการบริโภคกระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนหรือครัวเรือน กระตุ้นให้เกิดการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องทั้งนี้ วงเงินเบื้องต้นในข้อ 2 และข้อ 3 รวมกัน 100,000 ล้านบาท
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินงาน แบ่งช่วงการพิจารณาอย่างน้อย 2 รอบ คือ รอบที่ 1 เริ่มเดือนตุลาคม 2564 กรอบวงเงิน 100,000-120,000 ล้านบาท รอบที่ 2 เริ่มเดือนมีนาคม 2565 กรอบวงเงิน 50,000-70,000 ล้านบาท ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ 1.สามารถรักษาการจ้างงานผู้ประกอบการ SMEs ในระบบประกันสังคมได้ประมาณ 3.9 แสนราย 2.เกิดการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนและท้องถิ่น 3.สามารถพยุงระดับการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เห็นชอบ ธพว.ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ชุมชน-ปลอดหนี้ 2 ปี ผ่อนนาน 10 ปี
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 (มาตรการด้านการเงิน) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก สำหรับหลักเกณฑ์ที่ขอปรับปรุง ได้แก่
-
1.ปรับระยะเวลากู้ยืมเป็นสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 2 ปี จากเดิมกำหนดระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
-
2.อัตราดอกเบี้ยคงเดิม แต่ปรับระยะเวลาให้เป็นไปตามที่ขยายถึง 10 ปี กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR – 1.875 ต่อปี ปีที่ 4 – 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ร้อยละ 3.875 ต่อปี ปีที่ 4 – 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด
-
3.หลักประกัน ปรับให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน หรือ ใช้หลักประกันตามที่ธนาคารกำหนดได้
“เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น ธพว. จึงขอปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและผ่อนชำระหนี้ได้อย่างสอดคล้องกับกระแสรายได้ของธุรกิจ โดยโครงการสินเชื่อมีกรอบวงเงินกู้รวม 50,000 ล้านบาท ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2564 ธพว.ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 25,566 ราย รวมวงเงิน 43,110 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.22 ของวงเงินสินเชื่อรวมโครงการ ทำให้มีวงเงินโครงการคงเหลือจำนวน 6,889 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 4,100 ราย ช่วยรักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 20,500 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 31,551 ล้านบาท” ดร.รัชดา กล่าว
ไฟเขียวแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ยันไม่มี “นิรโทษกรรม”ผู้บริหาร สธ.
ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ….. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เป็นร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ…. เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ซึ่งต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
ในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร่างพ.ร.ก.ฯ กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ “ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ครอบคลุมไปถึง ผู้ช่วย อสม. พนักงานกู้ภัย) นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คือ วันที่ 26 มีนาคม 2563
นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า ในร่างฯ ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่พูดถึงการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย หรือ บริหารตามที่มีข้อคำถามอยู่
ยกเว้นภาษีค่าตอบแทน จนท.ที่ปฏิบัติงานโควิดฯอีก 1 ปี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019(โควิด-19)โดยขยายเวลาออกไปอีก 1 ปีภาษี(สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2564) เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ได้รับการบรรเทาภาระภาษีและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น
โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ระบุว่า หากมีการจ่ายค่าตอบแทนโดยไม่ได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะสามารถจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท
สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ โควิด-19 ประกอบด้วย แพทย์และสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเทศบาลและท้องถิ่น ผลัดละ 1,500 บาทต่อคน, พยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ผลัดละ 1,000 บาทต่อคน
ค่าตอบแทนบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขในการประชุมครั้งละ 1,000 บาทต่อคน
ปรับเกณฑ์แพทย์จบใหม่ก่อนทำสัญญาใช้ทุน ต้องมีใบประกอบวิชาชีพฯ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2513 เรื่อง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยกำหนดคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน ดังนี้
นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่า “เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงจัดสรรให้ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน และต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี ต่างจากเดิมที่ไม่ได้กำหนดเรื่องที่จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้”
สำหรับข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับแพทยสภาในปี 2546 จากเดิมที่กำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ทุกรายเป็นผู้มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นกำหนดใหม่ว่า จะต้องผ่านการสอบวัดความรู้ตามที่แพทยสภากำหนดก่อนจึงจะได้รับใบอนุญาตฯดังกล่าว
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาภาครัฐที่ผลิตแพทยศาสตรบัณฑิตจำนวน 20 แห่ง ในปีงบประมาณ 2562-2564 มีผู้สำเร็จการศึกษาเฉลี่ยปีละ 2,625 คน โดยปฏิบัติงานชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นเฉลี่ยปีละ 585 คน คิดเป็นร้อยละ 22.29 ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขเฉลี่ยปีละ 2,026 คน คิดเป็นร้อยละ 77.18 และมีผู้ชดใช้ค่าปรับแทนการปฏิบัติงานชดใช้ทุนเฉลี่ยปีละ 14 คน คิดเป็นร้อยละ 0.53
อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวม และวิเคราะห์จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่สำเร็จการศึกษา แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม พบว่ามีผู้สอบไม่ผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 171 คน คิดเป็นร้อยละ 6.5 ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 231 คน คิดเป็นร้อยละ 8.76 และปีงบประมาณ 2564 จำนวน 299 คนคิดเป็นร้อยละ 11.45 ซึ่งจะเห็นว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น
โดยส่วนราชการหรือหน่วยงาน จะส่งตัวนักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมคืนมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้แพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องมาปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่แพทย์ได้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขเพียงพอในการบรรจุนักศึกษาแพทย์ดังกล่าว รวมทั้งยังสูญเสียโอกาสในการบรรจุอัตรากำลังในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขจากสาขาอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง
เห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็ง ศก.ฐานราก 6 จว. 1,942 ล้าน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากครั้งที่6 รวม 6 จังหวัด รวม 838 โครงการ กรอบวงเงิน 1,942 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ตามบัญชีท้ายพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565
ทั้งนี้ 6 จังหวัดที่ได้รับอนุมัติงบประมาณครั้งนี้ ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สกลนคร ชัยนาท ราชบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 834 โครงการนี้ แยกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1)กลุ่มโครงการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว บริการและการค้า 21 โครงการ 2)กลุ่มโครงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร 21 โครงการ 3)โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 13 โครงการ และ 4)โครงการที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน 779 โครงการ
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับนั้น คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 16,836 คน มีผู้ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 1,356,370 คน ไม่น้อยกว่า 102,723 ครัวเรือน รวมถึงช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชน
ทั้งนี้ เมื่อรวมผลการพิจารณากลั่นกรองโครงการตั้งแต่ครั้งที่ 1-6 ทำให้มีจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว 76 จังหวัด รวม 9,350 โครงการ มีเงินเข้าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 21,847.23 ล้านบาท
เพิ่มลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานเป็นความผิดมูลฐานตามกม.ฟอกเงิน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ และให้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและรับความเห็นกระทรวงยุติธรรมที่มีความเห็นว่า ให้ดำเนินการให้เกิดความสอดคล้องระหว่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จากนั้นส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมบทนิยามของความผิดมูลฐาน โดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐานในการกระทำผิดฐานฟอกเงินด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ จะทำให้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของไทยมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน(Financial Action Task Force :FATF) แนะนำให้แต่ละประเทศปฏิบัติ ลดช่องว่างทางกฎหมายในการประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้การปราบปรามการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การมีกฎหมายที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล ย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากต่างประเทศในการเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างงานสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
ผ่านร่าง กม.ขอใบประกอบโรคศิลปะผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิมและกำหนดให้การยื่นคำขอและการออกใบอนุญาตสามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal)
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฯเช่น กำหนดอายุใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะให้มีอายุ 5 ปี นับถัดจากวันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ออกใบอนุญาต, กำหนดให้ผู้ประกอบโรคศิลปะแต่ละสาขาและประเภทให้มีบัตรประจำตัวเพื่อใช้แสดงตน และกรณีการขอหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน เมื่อผู้อำนวยการได้รับคำขอเอกสารและหลักฐานถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้พิจารณาออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนให้แก่ผู้ยื่นคำขอ โดยหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนให้มีอายุ 180 วัน นับแต่วันออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน เป็นต้น
จัดงบกลาง 427 ล้าน มอบ กทท.แก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 427.17 ล้านบาท เพื่อให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) นำไปใช้จ่ายในการเยียวยาการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า
ทั้งนี้ การดำเนินการเยียวยาดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จูงใจให้มีการนำตู้สินค้าเปล่าเข้ามาในประเทศไทย เพื่อบรรจุสินค้าส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศในช่วงที่ภาคการส่งออกกำลังฟื้นตัว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กทท. ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2564 โดยการปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือ 2 แห่ง ในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู ประกอบด้วย
ท่าเรือกรุงเทพ ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2564 มีปริมาณตู้สินค้าเข้า 5,087.25 ทีอียู ใช้วงเงินสนับสนุน 5.08 ล้านบาท และท่าเรือแหลมฉบัง ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2564 มีปริมาณตู้สินค้าเข้า 422,085.25 ทีอียู ใช้วงเงินสนับสนุน 422.08 ล้านบาท รวมท่าเรือ 2 แห่ง มีปริมาณตู้สินค้าเข้า 427,172.50 ทีอียู วงเงินสนับสนุนรวม 427.17 ล้านบาท
ผ่านร่าง กม.คุ้มครองแรงงานประมงฉบับปรับปรุงใหม่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการจ้างแรงงานและสภาพการทำงานในเรือประมงทะเล
สำหรับรายละเอียดสำคัญที่ปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ กำหนดห้ามนายจ้าง จ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในเรือประมง และกำหนดให้นายจ้างดำเนินการจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก จัดทำสัญญาจ้าง นำลูกจ้างซึ่งเป็นคนประจำเรือกลับเข้ามาในราชอาณาจักร และจัดทำทะเบียนลูกจ้าง จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด, กำหนดให้ยื่นคำร้องว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง, กำหนดให้มีการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด กำหนดให้จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเป็นค่าจ้างรายเดือน และจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้าง
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำปี มีสิทธิลาป่วย และให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศเนื่องจากการทำงาน, กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีอาหาร น้ำดื่มที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะในปริมาณที่เพียงพอ อุปกรณ์หรือระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการทำงาน การใช้เครื่องมือ สุขภาพอนามัย สภาพความเป็นอยู่บนเรือ และอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือก่อนการทำงาน และหากนายจ้างได้จัดทำสัญญาจ้าง ทะเบียนลูกจ้างในงานประมงทะเลตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ให้ถือว่านายจ้างได้จัดทำสัญญาจ้างและทะเบียนลูกจ้างตามกฎกระทรวงนี้แล้ว
กคช.ลดค่าเช่าอาคาร-ที่ดิน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิดฯ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบมาตรการปรับลดค่าเช่าในโครงการของการเคหะแห่งชาติให้กับผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา2019(โควิด-19) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-31 ธันวาคม 2564 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้คือ
กลุ่มผู้เช่ารายย่อย(เช่าเหมา) และกลุ่มผู้เช่ารายย่อย(เดิม) ได้กำหนดมาตรการลดค่าเช่า โดยค่าเช่าอาคาร/อาคารพร้อมที่ดิน ที่มีราคาค่าเช่าตั้งแต่ 999 บาทขึ้นไป ให้ปรับลดเป็นราคา 999 บาท ส่วนราคาค่าเช่าที่ต่ำกว่า 999 บาท ให้ปรับลดราคาร้อยละ 50 ของราคาค่าเช่าเดิม
ส่วนกลุ่มเช่าจัดประโยชน์ในโครงการของการเคหะแห่งชาติ กำหนดมาตรการปรับลดค่าเช่าเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม-31 กันยายน 2564 โดยปรับลดค่าเช่าตามสัดส่วนของผลกระทบที่ได้รับในอัตราร้อยละ 30 และร้อยละ 50 เช่น แผงร้านค้ารายย่อยปรับลดค่าเช่าร้อยละ 50 เป็นเวลา 2 เดือน ผู้ประกอบการเช่าเหมาบริหารตลาด ปรับลดค่าเช่าร้อยละ 30 เป็นเวลา 2 เดือน กลุ่มสัญญาผู้ประกอบการรายใหญ่(พลาซ่า) ปรับลดค่าเช่าร้อยละ 30 และกำหนดให้พลาซ่าปรับลดค่าเช่าให้ผู้เช่ารายย่อยร้อยละ 30 เป็นเวลา 2 เดือนเช่นกัน
สำปรับประโยชน์ที่จะได้รับ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจำนวน 42,666 ครัวเรือน ประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 127,998 คน ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนจำนวน 139 ล้านบาท
ตั้ง “กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล” เป็น ผอ.ขสมก.
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการ ดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นายพงษ์พิศาล ชินสำราญ รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 13 สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายชูสิน วรเดช รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 6 สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง ดังนี้
-
1. นางอลิสา ปิ่นประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
2. นายกรณินทร์ กาญจนโนมัย ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
3. นายยุทธนา สาโยชนกร ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
4. นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอรับโอน นางศิริวรรณ สุคนธมาน รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว
4. เรื่อง ขอความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 140,000 บาท รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษประจำปีและสิทธิประโยชน์อื่น ที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว
5. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อเป็นกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำนวน 3 คน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
-
1. นายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ สาขาการเงิน การบัญชี
2. นายพิทักษ์ จรรยพงษ์ สาขาพลังงานด้านกิจการก๊าซธรรมชาติ
3. นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สาขาการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ด้านละหนึ่งคน ดังนี้
-
1. ศาสตราจารย์นันทวัฒน์ บรมานันท์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
2. ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมสงเคราะห์
3. ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมจะเกษียณอายุราชการ และเพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
2. นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 21 กันยายน 2564เพิ่มเติม