ThaiPublica > เกาะกระแส > ม็อบรถบรรทุกจี้พลังงงานตรึงดีเซล 25 บาท ไม่ได้ 1 ธ.ค. “ทิ้งรถ”

ม็อบรถบรรทุกจี้พลังงงานตรึงดีเซล 25 บาท ไม่ได้ 1 ธ.ค. “ทิ้งรถ”

16 พฤศจิกายน 2021


เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย (ขวา) และสมาชิก เดินทางมายื่นหนังสือ เรียกร้องให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 25 บาท โดยมีนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้รับเรื่องที่หน้าอาคารศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

ม็อบรถบรรทุก บุกกระทรวงพลังงาน จี้รัฐบาลยกเลิกผสม B100 – ลดภาษีสรรพสามิต ตรึงราคาดีเซลลิตรละ 25 บาท หากยังเพิกเฉย – ไม่เจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกัน ขีดเส้นตาย 1 ธ.ค.นี้ “ทิ้งรถ”

หลังจากที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ไปยื่นหนังสือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธมีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท โดยยกเลิกการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ “B100” มาผสมในน้ำมันดีเซล รวมทั้งปรับลดภาษีสรรพสามิต และยกเลิกการจัดเก็บเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเวลา 1 ปี

ผ่านไป 1 เดือน ปรากฏว่าข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ฯ ได้มีมติเห็นชอบให้กองทุนทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ยืมเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เต็มที่ แต่ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท พร้อมประกาศเดินหน้าตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาทต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรม “Truck Power” โดยระดมรถบรรทุกสินค้าจากสมาชิกทั้งภาคเหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตก กว่า 500 คัน นัดไปรวมพลกันที่หน้ากระทรวงพลังงานในเวลา 13.30 น. เพื่อยื่นข้อเรียกร้องในการตรึงราคาดีเซลลิตรละ 25 บาท ผ่านนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงานฝากไปถึงรัฐบาล ทำให้การจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตติดขัด โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตรงข้ามสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เต็มไปด้วยรถบรรทุกจอดเรียงรายกันเป็นแถวยาว

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่สหพันธ์การขนส่งฯไปยื่นข้อเรียกร้องต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2564 เวลาผ่านมา 1 เดือน ทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานยังเพิกเฉย ไม่เคยเรียกสหพันธ์การขนส่งทางบก ฯเข้าไปหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของภาคขนส่งแต่อย่างใด เสมือนไม่ให้ความสำคัญกับภาคขนส่ง ทำให้สหพันธ์การขนส่งทางบก ฯต้องจัดกิจกรรม “Truck Power” เพื่อยกระดับข้อเรียกร้องของเราที่หน้ากระทรวงพลังงาน โดยยังคงยืนยันจุดยืนของสหพันธ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการนำ B100 ซึ่งมีราคาแพงกว่าตัวเนื้อน้ำมันดีเซลถึง 2 เท่าตัวมาผสมในน้ำมันดีเซล และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงมา รวมทั้งยกเลิกการจัดเก็บเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเป็นการชั่วคราว

“หากรัฐบาลยังเพิกเฉย ไม่เปิดโอกาสให้สหพันธ์การขนส่งทางบก ฯเข้าไปเจรจาภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เราก็จะใช้โมเดลของประเทศเยอรมัน โดยให้สมาชิกสหพันธ์ฯนำรถบรรทุกทั่วประเทศเติมน้ำมัน 20 ลิตร เดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯ น้ำมันหมดที่ไหนก็จอดที่นั่น ตำรวจจะมาลากรถบรรทุกไปเก็บ ก็ลากไป เดี๋ยวไฟแนนซ์ก็ตามไปยึดรถ เพราะปัจจุบันมีสมาชิกของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯหลายรายกำลังจะถูกไฟแนนซ์ยึดรถ” นายอภิชาต กล่าว

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ความจริงรัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปกู้เงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซล แค่ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงมาลิตรละ 5 บาท ก็ไม่ต้องไปกู้ให้เป็นหนี้สาธารณะ ส่วนเรื่องการอุดหนุนชาวสวนปาล์ม ไม่ใช่ภาคการขนส่งจะไม่ช่วย แต่ในช่วงนี้พวกเราเดือดร้อน ก็ควรจะชะลอออกไปก่อน เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันลับเข้าสู่ภาวะปกติ ค่อยกลับไปอุดหนุนกันใหม่ หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้สหพันธ์การขนส่งทางบกฯเข้าไปหารือ เราก็พร้อมที่จะเจรจา เพื่อหาทางออก หรือ ข้อยุติร่วมกัน

  • ตรึงราคา “ดีเซล-ก๊าซหุงต้ม” ใครได้-ใครเสีย?
  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดกับดัก “ประชานิยม”
  • เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6
  • กพช.เห็นชอบกองทุนน้ำมันฯกู้เพิ่ม เล็งออก พ.ร.ฎ.กู้เต็มที่ 30,000 ล้าน ตรึงดีเซลลิตรละ 30 บาทถึงปีหน้า
  • อนึ่ง จากข้อมูลโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่นำมาแสดง (ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2564) จะเห็นได้ว่าผู้ที่จ่ายเงินนำส่งเป็นรายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ที่นอกจากจะเสียภาษีแพงที่สุดแล้ว ยังต้องจ่ายเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 6.58 บาท รองลงมาคือ กลุ่มคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน E10 ทั้งแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 จ่ายเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 62 สตางค์ และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาทั้งชนิด A และ C จ่ายเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 6 สตางค์ เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

    ส่วนผู้ที่ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด คือ ก๊าซหุงต้ม ที่ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ กิโลกรัมละ 17.61 บาท รวมก๊าซหุงต้ม 1 ถังบรรจุได้ 15 กิโลกรัม ก็จะได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ประมาณ 264.21 บาทต่อถัง ถัดมาเป็นกลุ่มของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ผู้ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 7.13 บาท และผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ได้รับการชดเชยลิตรละ 2.28 บาท และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ B20 ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 4.16 บาท ส่วนไบโอดีเซล B7 และ B10 ได้รับการชดเชยลิตรละ 1.99 บาท ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซล B20 มีราคาถูกกว่า B7 และ B10 ลิตรละ 25 สตางค์

    แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อนำมาผสมกับไบโอดีเซล B100 (น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์) ราคา 44.44 บาทต่อลิตร ซึ่งมีราคาแพงกว่าตัวเนื้อของน้ำมันดีเซล 2 เท่าตัว ทำให้ต้นทุนราคาไบโอดีเซล ณ โรงกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ 22-25 บาทต่อลิตร หากกองทุนน้ำมันฯ ไม่นำเงินเข้าไปชดเชยลิตรละ 1.99 บาท ก็จะทำให้ราคาไบโอดีเซลทั้งกลุ่มทะลุ 30 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะ B20 ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% เป็นเหตุผลที่ทำให้สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหว ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการนำ B100 มาผสมในน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กองทุนน้ำมันฯ พร้อมกับลดภาษีสรรพสามิตลงมา เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท แต่ทว่าแต่ข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล เพราะเกรงว่าการยกเลิกผสม B100 ในน้ำมันดีเซลจะไปกระทบกับราคาผลปาล์มสด และรายได้ของชาวสวนปาล์ม ซึ่งเป็นฐานเสียงของรัฐบาลและพรรคร่วมฯ ทางสหพันธ์การขนส่งฯ จึง ยกระดับข้อเรียกร้อง โดยการจัดกิจกรรม “Truck Power”