ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯจัด 10 มาตรการช่วย‘คนจน’ลดค่าครองชีพ-มติ ครม.‘พัก-ลด’หนี้เกษตรกรสังกัดกองทุนฟื้นฟูฯ 5 หมื่นราย

นายกฯจัด 10 มาตรการช่วย‘คนจน’ลดค่าครองชีพ-มติ ครม.‘พัก-ลด’หนี้เกษตรกรสังกัดกองทุนฟื้นฟูฯ 5 หมื่นราย

22 มีนาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯจัด 10 มาตรการช่วย‘คนจน’ลดค่าครองชีพ 3 เดือน-สั่งเกษตร-พาณิชย์-ตปท.แก้ปุ๋ยแพง-‘บิ๊กป้อม’ อวยพรวันเกิดนายกฯ ขอให้สุขภาพแข็งแรง-มตื ครม.‘พัก-ลด’หนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ฯ 5 หมื่นราย 50%-ยกที่ดิน ส.ป.ก. 14,619 ไร่ ให้ สกพอ.สร้างเมืองอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว รวมทั้งมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือถึงเรื่องสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การขนส่งสินค้า และบริการต่างๆ รวมไปถึงค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผมและรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตระหนักดีถึงความลำบากของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย และผู้ใช้แรงงาน

จัด 10 มาตรการช่วย‘คนจน’ลดค่าครองชีพ 3 เดือน

จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย คงไม่ยุติได้โดยเร็ว จากภาพ และข่าวด้านความมั่นคงที่ผมได้รับมา คาดว่ายังไม่จบได้เร็วนัก ผมจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความคิด เพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน เพิ่มเติมจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้ว โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและสุขภาพ วันนี้ก็มีสงครามเข้ามาอีก จึงต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติม บางอันก็ต้องต่อยอดจากมาตรการชุดเก่า แต่มาตรการที่ตนได้เห็นชอบไปแล้วคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 อย่างน้อยมี 10 มาตรการ ดังนี้

    1. การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยจะเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาทเป็น 100 บาทต่อคนต่อเดือน
    2. มอบส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
    3. ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบกจำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
    4. คงราคาขายปลีกผู้ใช้ก๊าซ NGV ไว้ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
    5. ผู้ขับขี่แท็กซี่ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน รับซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 ต่อกิโลกรัม
    6. ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2565
    7. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง (50%) ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าเราอั้นไม่ไหว มันก็ต้องเพิ่ม
    8. กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 โดยจะให้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป ซึ่งตอนนี้เราก็ใช้ไปมากแล้ว
    9. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่าย และผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจช่วงถัดไป
    10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตน มาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
ที่มาภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC)

“ทั้งหมดนี้ก็ใช้เงินไปเยอะพอสมควร รายได้ก็ลดลง ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย ซึ่งมาตรการทั้งหมดก็พุ่งเป้าไปที่คนเดือดร้อนมากที่สุดก่อน ที่เหลือก็ถือว่าช่วยรัฐบาลแล้วกัน ต้องนึกถึงคนยากจน คนที่ลำบากก่อน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

  • คลอด 10 มาตรการลดค่าครองชีพ ปชช. 3 เดือน เริ่ม พ.ค.นี้
  • สั่งเกษตร-พาณิชย์-ตปท.แก้ปุ๋ยแพง

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ผมได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเข้าฤดูกาลเพาะปลูก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต่างๆ ในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการเข้ามาใช้ในประเทศของเรา เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ซึ่งเราพึ่งพาต่างประเทศจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ผมต้องมองระยะยาวว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องปุ๋ย และทำอย่างไรให้เราผลิตปุ๋ยในประเทศได้บ้าง ปุ๋ยในประเทศของเรามีอยู่ แต่เราใช้ไม่ได้ ขุดขึ้นมาก็ไม่ได้ ทำให้เราขาดความเข้มแข็งเรื่องแม่ปุ๋ย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

    ย้ำทุกกระทรวงเร่งวางแผนฝ่า ‘วิกฤตซ้อนวิกฤติ’

    “ตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มการกักตุนอาหารวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งมีผลกระทบทั้งหมด รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้เดือดร้อนน้อยที่สุด แต่มันต้องใช้งบประมาณ หากทุ่มลงไปทั้งหมด อย่างอื่น มันก็ไปหมดเลยนะ วันนี้รัฐบาลต้องดูแลทั้งเรื่องสุขภาพ และผลกระทบสงคราม เท่ากับโดนสองเด้ง ผมขอย้ำว่า รัฐบาลทุกกระทรวงทุกหน่วยงานทำงานอย่างหนัก เพื่อจะวางแผนช่วยเหลือที่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ต้องเข้าใจคำว่ามากที่สุด ตามขีดความสามารถที่เรามีอยู่ เพื่อจะให้พ้นวิกฤติที่ซ้อนวิกฤตินี้ไปให้ได้ เราไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเราต้องเร่งเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศที่วางไว้ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งในเรื่องการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ การเปิดประเทศระยะต่อไป เพราะรอบนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพรายได้ รวมถึงช่วยลดภาระค่าครองชีพต่างๆ ของประชาชนและแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    มั่นใจโครงการลงทุนในอีอีซี สร้างรายได้ในอนาคต

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า แต่ที่สำคัญที่สุดคือปัญหารายได้ประเทศ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการลงทุนมาโดยตลอดหลายปีมาแล้ว อย่างเช่น โครงการอีอีซีเกิดขึ้น เรื่องอุตสาหกรรมใหม่ โครงการรถไฟฟ้า โครงการต่างๆ ที่เป็นการลงทุนในประเทศที่ขอรับการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่กำลังอยู่ในช่วงการดำเนินการ ฉะนั้นผมคิดว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไป วันข้างหน้ารัฐบาลน่าจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินอย่างเดียว ผมได้ทำเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา มันถึงเกิดโครงการ EEC ขึ้นมา และมีโครงการอื่นที่ตามมาอีกหลายอย่างด้วยกัน ฝากพี่น้องประชาชนฝากสื่อช่วยทำความเข้าใจด้วย เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าได้อย่างไร และพี่น้องประชาชนยังเดือดร้อนอยู่มาก

    ชี้แก้ ‘เหลื่อมล้ำ’ ต้องทำให้ทุกกลุ่มมีรายได้เพียงพอ

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการหารือกันมากที่สุด คือ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ซึ่งยังมีปัญหาติดขัดในประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ มากมาย ปัญหาหลัก ๆของเราคือ รายได้ คำว่า “เหลื่อมล้ำ” คือรายได้ฐานของแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละอาชีพมันแตกต่างกัน ทำยังไงให้แต่ละกลุ่มมีรายได้ที่เพียงพอ คำว่า “เพียงพอ” คือ เพียงพอที่จะดูแลลูกเมียครอบครัวตามสมควรตามอัตภาพที่มี ส่วนการยกขึ้นมาเป็นคนที่มีฐานะดี ก็อีกขึ้นตอนหนึ่ง

    เตือน ปชช.ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างระมัดระวัง

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ก็เห็นมีคนรวยเพิ่มขึ้นเยอะจากเศรษฐกิจดิจิทัล พวกนี้เราก็ต้องระวังเหมือนกัน รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ก็ต้องหามาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวด้วย ใครที่สนใจลงทุนประเภทนี้ ก็ขอให้ศึกษาให้ดี ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี มันใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เราได้มีการเตรียมการไปแล้ว ขอให้ระวังอย่างที่สุด

    สั่งกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ วอน ปชช.‘อย่าโอนเงิน’

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากจะเน้นคือขออย่าโอนเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยช่วงเช้าได้ให้ศิลปินร้างความรู้ให้กับประชาชน เพื่อไม่ให้ถูกหลอกเรื่องการเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะหากมีค่าใช้จ่ายจริงจะมีเจ้าหน้าที่มาหาเอง ไม่ใช่โทรศัพท์มาให้โอนค่าเสียหาย โดยขอให้บันทึกหลักฐานให้หมดแล้วไปแจ้งความ ส่วนรัฐบาลต้องกวาดล้างให้หมดเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์เหล่านี้

    ทั้งนี้ ในวันนี้กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพลง “อย่าโอน” เป็นสื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน

    ‘บิ๊กป้อม’ อวยพรวันเกิดนายกฯ ขอให้สุขภาพแข็งแรง

    ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า ก่อนเริ่มประชุมครม.วันนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี กล่าวอวยพรวันเกิด (21 มีนาคม) ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยอวยพรให้นายกฯ มีสุขภาพกายและสุขภาพใจแข็งแรง มีพลังกายและพลังสติปัญญาอันเข้มแข็งในการบริหารราชการแผ่นดิน นำพาประเทศชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นอุปสรรครวมทั้งภัยคุกคามต่างๆ รวมทั้งให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สมดั่งเจตนารมณ์ที่นายกฯ และรัฐบาลตั้งใจไว้ทุกประการ

    โดยนายกฯ ได้ขอบคุณรองนายกฯ และรัฐมนตรีที่อวยพรวันเกิดให้ ถือเป็นกำลังใจในการทำงานให้รัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้เกิดผลดีกับประเทศชาติบ้านเมือง นอกจากนี้นายกฯ ยังขอบคุณคณะรัฐมนตรีทุกคน และว่า “การร่วมงานที่ผ่านมาในรอบปี อายุ 67 วันนี้ ก้าวย่าง 68 พรใดอันประเสริฐ ก็ขอให้สนองต่อท่านร้อยเท่าพันทวี” และขอให้คณะรัฐมนตรีสุขภาพแข็งแรง กำลังกายกำลังใจ ต่อสู้แก้ปัญหาเพื่อประเทศชาติอย่างยั่งยืนสมเจตนาทุกคน

    เร่งฉีดวัคซีนให้เด็กก่อนสงกรานต์

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการตามมติการประชุม ศบค.ที่ผ่านมา พร้อมเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเด็ก เพื่อรองรับก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนหน้า รวมทั้งกำชับให้ติดตามการตรวจสอบสถานที่ขอจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

    ชวน ครม.ร่วมทำบุญ-สรงน้ำพระ-ทานข้าว 12 เม.ย.นี้

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ยังได้เชิญชวนสมาชิก ครม.ร่วมกันทำบุญสรงน้ำพระ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ไทย ในวันที่ 12 เมษายน 2565 ก่อนเริ่มการประชุมครม. และชวนรับประทานอาหารหลังเลิกการประชุม โดยมีการเชิญทั้งหัวหน้าพรรค ส.ส. ส.ว. พร้อมกำชับให้สลน.(สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น โดยให้มีการตรวจ ATK ก่อนร่วมงานด้วย

    ฝาก อสม.เตือน ปชช.อย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาบำรุงทางทีวี

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ ห่วงการโฆษณาขายวิตามินยาบำรุงทางโทรทัศน์ต่างๆ ที่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อ เพราะเป็นสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น และเป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหารายได้ในขณะนี้ จึงฝากไปยังอสม.ช่วยสร้างการรับรู้ เพราะอสม.เป็นกลไกที่ใกล้ชิดประชาชน

    วอนทุกหน่วยเร่งทำงาน ก่อนรัฐบาลหมดวาระ

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีเวลาการทำงานเหลืออยู่ปีกว่า นายกฯ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งทำงานและแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้คลี่คลาย ส่วนโครงการแผนงานที่สามารถดำเนินการได้ก็ให้เร่งดำเนินการทันที เพื่อเป็นผลงานร่วมกันของรัฐบาล

    มติ ครม.มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ‘พัก-ลด’หนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ฯ 5 หมื่นราย 50%

    ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำหรับลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำหรับชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี นับจากวันที่ ครม. อนุมัติ แบ่งการดำเนินการ ออกเป็น 3 ระยะ -ปีที่ 1 จำนวน 10,000 ราย ขอใช้งบกลางฯ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 65 รวม 2,000 ล้านบาท -ปีที่ 2 จำนวน 22,000 ราย และ -ปีที่ 3 จำนวน 18,621 ราย

    ดร.ธนกร ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นหนี้ในระบบ และประสงค์ที่จะให้กองทุนช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินและได้นำหนี้มาขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นหนี้เร่งด่วน ผิดนัดชำระหนี้ และเป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ตรวจสอบแล้วกำลังรอการแก้ปัญหาทั้งสิ้น จำนวน 50,621 ราย รวมมูลหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ประกอบด้วย ธ.ก.ส. 47,973 ราย มูลค่าหนี้เงินต้นจำนวน 8, 520.41 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 552 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 162.37 ล้านบาท ธอส. 2,008 รายมูลหนี้เงินต้น 306.41 ล้านบาท และ ธพว. 88 ราย มูลหนี้เงินต้น 293.72 ล้านบาท

    แนวทางการดำเนินการ ในการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้ โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ50) ตามระยะเวลาที่ตกลง แต่ไม่เกิน 15 ปี เมื่อเกษตรกรชำระหนี้คืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้น (ร้อยละ 50 ที่พักไว้) และดอกเบี้ยที่พักไว้ จะได้รับการยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล สำหรับการชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นไปตามมติ ครม.โดยเงื่อนไขสำคัญ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มกับสถาบันการเงินอื่นใดอีก

    สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระของธนาคาร 4 แห่งนั้น ครม.เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลัง หารือก่อนให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำเป้าหมาย ครม. ในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรในครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสได้พักฟื้นเรื่องหนี้สิน รักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูตนเองและสร้างรายได้ในการประกอบอาชีพ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้เกษตรกร ตามที่ประกาศ ปี 65 นี้ เป็นการแก้หนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

    เวนคืนที่ดิน 5 จว. สร้างรถไฟความเร็วสูง ‘กทม.-นครราชสีมา’

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนให้ถูกต้องชัดเจน

    ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของท้องที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลาลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแซง อำเภอเส้าไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอเนินสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง เพื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ขนาดทาง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร สถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ จำนวน 4 สถานี และศูนย์ควบคุมการเดินรถและซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 1 แห่ง รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอด และทางคนลอดใต้ทางรถไฟแทน โดยร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ 4 ปี และให้เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเริ่มทำการสำรวจได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประเมินมูลค่าโครงการแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 179,412 ล้านบาท ประกอบด้วยค่ารื้อย้ายและเวนคืน สัญญางานโยธา

    ดร.รัชดา กล่าวว่า เมื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ อันเป็นการเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดแผนการดำเนินโครงการคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

    ไฟเขียวมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs หนุนกู้ Soft Loan

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ซึ่งประกอบด้วย

      1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra (โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra)
      2) ปรับปรุงการดำเนินโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส พร้อมทั้งอนุมัติวงเงินรวม 15,854.27 ล้านบาท

    สำหรับดำเนินโครงการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ที่จะเริ่มครบกำหนด 2 ปี และต้องชำระเงินกู้ทั้งจำนวนตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 ให้ได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง รายละเอียดแต่ละโครงการมีดังนี้

    โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra (โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra) วงเงินค้ำประกันรวม 90,000 ล้านบาท เป็นโครงการใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ที่จะครบกำหนดเวลาการชำระหนี้คืนให้ยังคงได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีอายุการค้ำประกันไม่เกิน 8 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกินยอดสินเชื่อคงค้างล่าสุด หรือ ไม่เกินวงเงินสินเชื่อในกรณีเป็นสินเชื่อประเภทหมุนเวียน ตาม พ.ร.ก. Soft Loan สามารถยื่นคำขอค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566 โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ใน 2 ปีแรก อัตราร้อยละ 0.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน (รวมร้อยละ 1.5) ทั้งนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ขอรับการชดเชยความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริงจากรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 15,750 ล้านบาท โดย บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันโครงการ คาดว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 67,400 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 84,000 ล้านบาท

    สำหรับการปรับปรุงการดำเนินโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan + นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ ที่ต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2565 โดยปรับปรุงเฉพาะในส่วนของค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จากเดิมที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในต้นปีที่ 3 ร้อยละ 1.75 ต่อปี ปรับปรุงเป็น ให้รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 0.75 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ในปีที่ 3 และปีที่ 4 นับจากวันที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan โดยผู้ประกอบการ SMEs จะรับภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมเหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งนี้ บสย.ขอรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อจากรัฐบาล จำนวน 104.27 ล้านบาท

    จัดงบกลาง 8,458.38 ล้าน ให้ สธ.ป้องกันโควิดฯ

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 8,458.38 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งจะโดยจัดสรรแก่ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 7,777.09 ล้านบาท กรมการแพทย์ 626.53 ล้านบาทกรมสุขภาพจิต 27.84 ล้านบาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 13.53 ล้านบาท และกรมอนามัย 13.37 ล้านบาท

    ทั้งนี้ เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ(สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 นอกสถานพยาบาล ค่ารักษาผู้ป่วยไร้สิทธิการรักษา และจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขโดยการจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยและการปฏิบัติงานนอกเหนือภารกิจปกติโดยต่อเนื่อง รวมถึงมีนโยบายการจัดหายาเวชภัณฑ์ที่ประสิทธิภาพในปริมาณที่เพียงพอมาเพื่อรักษาประชาชน

    ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีการใช้ยารักษาโควิดอยู่หลายชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์, เรมดิซิเวียร์ และล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดหายาแพกซ์โลวิด ซึ่งผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์ ซึ่งหลังจากได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้วจะมีการลงนามสัญญาเพื่อจัดซื้อตามขั้นตอนต่อไป

    ยกที่ดิน ส.ป.ก. 14,619 ไร่ ให้ สกพอ.สร้างเมืองอัจฉริยะ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่ ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

    ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาตรา 36 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจให้ สกพอ. เข้าใช้ประโยชน์ของ ส.ป.ก..เพื่อดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

    พร้อมกันนี้ ครม. ได้รับทราบมติ กพอ. ที่ได้อนุมัติร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานคระกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเข้าใช้ประโยชน์ พ.ศ…. เพื่อให้ สกพอ. และส.ป.ก. ดำเนินจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. ต่อไป

    รวมถึงรับทราบมติ กพอ. ที่เห็นชอบให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 15,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท จะแยกเป็น ค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียดและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) 1,000 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่อีอีซี และให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580 เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศไทย

    โครงการมีที่ตั้ง ที่อ.บางละมุง จ.ชลยุรี พื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่ โครงการมีที่ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม. มีระยะการพัฒนา 10 ปี ระหว่างปี 2565-2575

    โดย สกพอ.ประเมินว่าโครงการนี้จะสร้างงาน 200,000 ตำแหน่ง ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,340,468 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐ 2.8% หรือ 37,674 ล้านบาท เป็นส่วนของค่าที่ดิน ปรับพื้นที่เมืองโครงสร้างพื้นฐานในเมือง นอกเมือง ส่วนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) 9.7% หรือประมาณ 131,119 ล้านบาท เป็นค่าสาธารณูปโภคในระบบขนส่งธารณะ ระบบดิจิทัล และเอกชนลงทุน 87.5% หรือประมาณ 1,180,808 ล้านบาท สำหรับพื้นที่พาณิชย์

    ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงการ จะแบ่งโซนตามธุรกิจเป้าหมายเป็น 5 โซน ประกอบด้วย

      1) ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และGreen Bond
      2) สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทย ที่มีธุรกิจในอีอีซีและสถานที่ราชการที่สำคัญ
      3) การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์เพื่อนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย
      4) การศึกษา วิจัย และพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้าน การวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน และ
      5) ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitizationและ5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น

    แบ่งเงินค่าบริการอุทยานให้เทศบาล-อบต.5%

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการแบ่งเงินค่าบริการและค่าตอบแทนในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือ สวนรุกขชาติ ให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. …. เพื่อให้นำเงินส่วนแบ่งดังกล่าวไปใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ

    ทั้งนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้แบ่งเงินค่าบริการและค่าตอบแทนที่เรียกเก็บได้ของอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรื สวนรุกขชาติ แต่ละแห่งในอัตราร้อยละ 5 ให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งที่เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ โดยให้นำส่งให้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นภายในเดือนธันวาคมของทุกปี และกำหนดให้ในแต่ละปีงบประมาณ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โอนเงินค่าบริการและค่าตอบแทนให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อแบ่งให้แก่เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ในจำนวนแห่งละเท่า ๆกัน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเงินดังกล่าว

    อย่างไรก็ตามได้กำหนดห้ามไม่ให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลนำเงินค่าบริการและค่าตอบแทนที่ได้รับไปใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยให้นำไปใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเท่านั้น และให้รายงานการใช้เงินที่ได้รับให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรวบรวมส่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบภายใน 90 วัน นับแต่สิ้นปีงบประมาณ

    จัดงบฯ 331 ล้าน ให้ ตชด.บริหารสถานที่กักตัวแรงงานต่างด้าว

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 331.59 ล้านบาท สำหรับจัดทำโครงการการบริหารจัดการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าว และผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-กันยายน 2565 โดยงบประมาณวงเงิน 331.59 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในส่วนของอาคารกองร้อยหน่วยกำลังในหน่วย ตชด.จำนวน 14 แห่ง วงเงิน 142.11 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในส่วนของอาคารเต็นท์สนาม ขนาด 250 เตียง จำนวน 14 แห่ง วงเงิน 189.48 ล้านบาท

    ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด 19) ทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้จัดทำโครงการ OQ โดยใช้พื้นที่ของตำรวจตระเวนชายแดน เป็นสถานที่ควบคุมโรคติดต่อ และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2564 มีคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ารับการกักตัวแล้วจำนวน 2,999 คน ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565

    สำหรับอัตราการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่มีดังนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน อัตราผลัดละ 420 บาท ผลัดละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ล่ามแปลภาษา อัตราวันละ 420 บาท ส่วนอัตราเบิกจ่ายค่าอาหารและน้ำดื่มสำหรับแรงงานต่างด้าวในอัตรามื้อละ 50 บาท จำนวน 3 มื้อ/คน/วัน และค่าตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 คนละ 2 ครั้ง ในอัตราครั้งละ 1,500 บาท/คน

    ผ่านร่าง กม.กำหนดตำแหน่งผู้มีอำนาจสั่งเปิดข้อมูลข่าวสาร

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผย หากเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ เศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงระดับตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ตามเดิมกำหนดให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไป เป็นผู้มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ เปลี่ยนเป็น ให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับชำนาญงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ประเภทอำนวยการ ประเภทบริหาร หรือ เทียบเท่ากับตำแหน่งดังกล่าวขึ้นไป เป็นผู้มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ เพิ่มหน่วยงาน และกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนดไว้ และได้ตัดตำแหน่งปลัดสุขาภิบาลและประธานสภาตำบลออก เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น

    จ่ายค่าเสี่ยงภัย ‘กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-หมอ-อส.’คนละ 500 บาท 6 เดือน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 จำนวน 811.77 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้า ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิกอส.) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ของกรมการปกครองจำนวน 270,590 คน ในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565

    ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า กรมการปกครองเคยได้รับการอนุมัติงบกลาง ปี 2563 จำนวน 677.79 ล้านบาท สำหรับเบิกจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน และแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราคนละ 300 บาทต่อเดือน โดยไม่ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับสมาชิกอส. ซึ่งต่างจากการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ โดยปรับเป็นคนละ 500 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกตำแหน่ง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและให้เกิดความเสมอภาคระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ซึ่งอัตราดังกล่าวเทียบเท่ากับอสม.

    ส่วนการจัดสรรงบประมาณให้แก่สมาชิก อส. ด้วยนั้น เนื่องจากสมาชิก อส.มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและกองกำลังประจำถิ่นที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ประจำการ ทำให้มีความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมีบทบาทสำคัญในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด 19

    ต่อสัญญาจ้างผู้ว่า รฟม.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันที่ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายพีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง] สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แทนตำแหน่งที่ว่าง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    3. ขอความเห็นชอบการต่อสัญญาจ้างผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการต่อสัญญาจ้าง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 480,000 บาท (ตามมติคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 และครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565) รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษประจำปีและสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

    4. การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้งกรรมการปฏิรูป และเลขานุการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทนผู้ที่ลาออก จำนวน 2 คน ดังนี้

      1. รองศาสตราจารย์กัมปนาท ภักดีกุล เป็นกรรมการ
      2. นางสาววรรณภา คล้ายสวน เป็นกรรมการและเลขานุการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางลลิตา สิริพัชรนันท์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2565 เพิ่มเติม

    ป้ายคำ :