ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯย้ำจุดยืนปม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยึดหลักอาเซียน-มติ ครม.ไฟเขียว ‘การบินไทย’ เซ็นกู้ 2.5 หมื่นล้าน มี.ค.นี้

นายกฯย้ำจุดยืนปม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยึดหลักอาเซียน-มติ ครม.ไฟเขียว ‘การบินไทย’ เซ็นกู้ 2.5 หมื่นล้าน มี.ค.นี้

1 มีนาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯย้ำจุดยืนปม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยึดหลักอาเซียน-ห่วงของแพง วอนพ่อค้าอย่าฉวยโอกาส-เล็งเปิดด่าน ‘ไทย-มาเลเซีย’ รับนักท่องเที่ยว-มติ ครม.ไฟเขียว ‘การบินไทย’ เซ็นกู้ 2.5 หมื่นล้านใน มี.ค.นี้-อัดงบฯ 1,411 ล้าน ยกภูเก็ตสู่ ‘เมืองท่องเที่ยวสุขภาพ’

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ย้ำจุดยืนปมขัดแย้ง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยึดหลักอาเซียน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ในประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนว่า ประเทศไทยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ รัฐบาลต้องเดินหน้าอย่างระมัดระวังด้วยการใช้กลไกการต่างประเทศในการดำเนินการ

ถามว่าประเทศไทยจะแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแสดงจุดยืนเป็นเรื่องของอาเซียน เราต้องรักษาสมดุลให้ได้ สิ่งสำคัญคือเป็นห่วงเป็นใยกับสมาชิกทุกคนในประเทศ เพราะสิ่งสำคัญคือทำอย่างไงให้คนไทยปลอดภัย สนับสนุนกระบวนการสันติภาพให้มันจบได้โดยเร็ว”

“ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ ผลกระทบที่เราต้องรับมืออันดับแรก คือ เรื่องเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน เราได้เตรียมมาตรการนี้ไปแล้ว เมื่อวานผมเรียกประชุมรองนายกรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมมาตรการเหล่านี้ตามสมมติฐานที่วางไว้ 3 ระดับ ตอนนี้อยู่ในระดับที่ 1” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

ห่วงของแพง วอนพ่อค้าอย่าฉวยโอกาส

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงประเด็นสินค้าแพงว่า “ถ้าเราดูว่ามันแพง ก็ต้องไปดูว่าสาเหตุมันมาจากตรงไหน แก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร ขออย่างเดียวคืออย่าเพิ่งฉวยโอกาสมากนักเลย อะไรที่ดูแลได้ก็จะดูแลให้ อันไหนเป็นกลไกตลาดก็อีกเรื่อง รัฐบาลพยายามหามาตรการช่วยเหลือให้ได้ทุกอัน ทุกคนก็เดือดร้อนกันหมด สิ่งสำคัญสุดคือความเข้าใจและร่วมมือกัน วันนี้ก็ขอร้องภาคเอกชนด้วย หลายอย่างผมเป็นห่วงเรื่องราคาสินค้าที่จะแพงขึ้น ต้องขอความร่วมมือจากทุกคน”

“ที่ผ่านมา ก็ได้เสนอให้รัฐบาลพยายามลดอย่างภาษีสรรพสามิต ก็ทำแล้ว พอมาตรงนี้ ก็บอกว่า ถ้าไม่มีภาษีสรรพสามิตแล้ว รัฐบาลจะทำอย่างไร ผมก็ทำมาตลอด สูญเสียรายได้ก็ยอม แต่สำคัญว่าวันข้างหน้าจะทำอย่างไร ก็ลดไปแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ใช่ หรือ วันนี้ก็ไปทบทวนดู แต่โจทย์ของเบนซินจะเป็นอย่างไร รัฐบาลก็ไม่มีเงินไปช่วยได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เห็นใจกันบ้าง เวลาเสนอข่าว อย่าย้อนแย้งกันเลย” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ใครได้รับความเดือดร้อนให้ร้องเรียนมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าร้องมาทางสื่อจะไม่รู้ว่าเกิดอะไร อย่างไร โดยแต่ละพื้นที่ก็มีศูนย์กลางการบูรณาการอยู่แล้ว มีคนลงพื้นที่ดูว่าใครยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

“ผมก็ได้รับรายงานเข้าผมทุกวัน ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มันต้องค่อยๆ แก้ไป บ้านเมืองก็ค่อยเยียวยา ถ้าทุกคนร้องตามสื่อ ผมก็ตามแก้ให้ไม่ไหว” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

สั่งทุกหน่วยเร่งแก้หนี้ครัวเรือนให้เป็นรูปธรรม

ส่วนดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรี รายงานให้ ครม.ทราบถึงการเป็นประธานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็น ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน โดยครอบคลุม 8 ด้าน เช่น แก้ปัญหาหนี้กยศ. หนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ หนี้ข้าราชการ บัตรเครดิต และการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับภาวะหนี้ในปัจจุบัน ฯลฯ

นายกฯ ย้ำว่าการแก้ปัญหาหนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยขอให้ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กลต. ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรมบังคับคดี กรมบังคับคดี กรมควบคุมสิทธิและเสรีภาพ กองงทุนกยศ. ธนาคารออมสิน ธอส. ธนาคารอิสลาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามความคืบหน้าและเร่งดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

เล็งเปิดด่าน ‘ไทย-มาเลเซีย’ รับนักท่องเที่ยว มี.ค.นี้

ดร.ธนกร กล่าวถึงการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้ชื่นชมการบริหารประเทศของกันและกัน กระชับความร่วมมือและขยายความร่วมมือในสาขาใหม่ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงจากไทยลงใต้ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม รวมทั้งการเปิดชายแดนทางบกในต้นเดือนมีนาคม 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทาง โดยไม่กักตัว เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีระบบที่ร่วมมือกับหมอพร้อมในการยอมรับวัคซีนซึ่งกันและกัน

หวั่นปม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ดันราคาสินค้า-พลังงานพุ่ง

ดร.ธนกร กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครนกับรัสเซียว่า รัฐบาลได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมทุกระดับและทุกสถานการณ์ โดยสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลการค้า โดยไทยมีจุดยืนร่วมกับอาเซียนและให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ธนาคารประเทศไทยยังได้ประเมินผลกระทบความผันผวนในตลาดการเงินโลก พบว่า ราคาสินค้าและพลังงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ดร. ธนกรย้ำว่า เสถียรภาพด้านการเงินการคลังของไทยยังเข้มแข็ง เพราะมีการพึ่งพาสถาบันการเงินในประเทศเป็นหลัก

เล็งจัดงบฯแก้ ‘ปุ๋ยแพง’

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า จากสถานกาณณ์ปุ๋ยราคาแพง มีสาเหตุจากราคาพลังงานและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลลิตและขนส่งปุ๋ย โดยสั่งการให้กระทรวง อว. กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒน์ฯ บูรณาการระบบวัตถุดิบ และการช่วยเหลือบรรเทาราคา ซึ่งต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้เริ่มได้โดยเร็ว

บรรจุ ‘มวยไทย’ ในหลักสูตรการศึกษา

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีส่งเสริม soft power ของไทย เช่น การส่งเสริมมวยไทยไทยบรรจุในกีฬาสากล โดยส่งเสริมอย่างเป็นระบบบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ฝึกอบรม หรือจัดเป็นหลักสูตรเฉพาะกรรมการมวย โดยกระทรวงต่างประเทศรับเป็นผู้ประสานงานในการเผยแพร่ต่อนานาชาติในการส่งเสริมกีฬามวยไทยต่อไป

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เซ็น MOU แรงงาน ‘ไทย-ซาอุฯ’ 7 มี.ค.นี้

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างข้อตกลงด้านแรงงาน ระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดีอาระเบีย จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงาน และร่างข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานทำงานบ้าน โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามข้อตกลงในนามของฝ่ายไทย ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซาอุดีอาระเบีย หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงแรงงานทั้ง 2 ฉบับ มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดหาแรงงานไทย (แรงงานทั่วไป/แรงงานที่ทำงานบ้าน) ไปทำงานในซาอุดีอาระเบียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจริยธรรม และมีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิของนายจ้างและลูกจ้าง โดยทั้งสองฝ่าย จะร่วมมือกันดำเนินการนำไปสู่ระบบที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งการจัดหาแรงงาน การจัดส่งแรงงานไปทำงาน และการส่งแรงงานกลับประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดหาแรงงานเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีจริยธรรม ซึ่งแรงงานและนายจ้างจะมีสิทธิรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และสามารถดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับสำนักงานจัดหางาน บริษัทจัดหางาน หรือ ตัวแทนจัดหางาน ในกรณีละเมิดกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่ใช้บังคับ

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดีอาระเบีย จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการระบุคุณสมบัติและประเภทของงานที่เสนอให้มีการจัดหาแรงงาน รวมทั้งค่าจ้าง ผลประโยชน์ และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสร้างความมั่นใจว่าสวัสดิการและสิทธิของแรงงานไทย ที่ได้รับการว่าจ้างทำงานในซาอุดีอาระเบียได้รับการคุ้มครอง ขณะที่กระทรวงแรงงานจะสร้างความมั่นใจว่าแรงงานที่จัดหา ตรงตามเงื่อนไขทางด้านสุขภาพ และปราศจากโรคติดต่อ เป็นผู้ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย และผ่านการฝึกอบรมทักษะที่เหมาะสม และจะดำเนินการที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานในการเดินทาง ไปยังซาอุดีอาระเบีย และการจัดส่งแรงงานกลับคืนสู่ไทย รวมทั้งสนับสนุนให้แรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย ศีลธรรม คุณธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะทบทวน ประเมินผล และติดตามการดำเนินการตามข้อตกลงนี้เป็นระยะด้วย ทั้งนี้ ร่างข้อตกลง ฯ นี้ มีผลบังคับใช้ เมื่อมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร มีระยะเวลา 5 ปี และจะต่ออายุได้อีก 5 ปี โดยอัตโนมัติ เว้นแต่ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสดงเจตจำนงระงับหรือสิ้นสุดข้อตกลง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ร่างข้อตกลงฯ เป็นผลสำเร็จจากการที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 25-26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือทวิภาคีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซาอุดีอาระเบีย เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งร่างข้อตกลงที่ใช้กับแรงงานทั่วไป เช่น สาขาอาชีพอุตสาหกรรมก่อสร้าง สุขภาพและบริการ ส่วนร่างข้อตกลงที่ใช้กับแรงงานที่ทำงานบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถ พี่เลี้ยงเด็ก คนสวน ทั้งนี้ คาดว่าคณะผู้เดินทางจากซาอุดีอาระเบียจะเดินทางมาไทยในช่วงวันที่ 5- 7 มีนาคม 2565 ซึ่งจะมีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวในวันที่ 7 มีนาคม 2565นี้ ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ที่เข้มแข็งในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ซาอุ ฯ และขยายตลาดแรงงานไทยในตะวันออกกลาง ด้วย

อัดงบฯ 1,411 ล้าน ยกภูเก็ตสู่ ‘เมืองท่องเที่ยวสุขภาพ’

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยใช้ที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 141 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 จำนวนวงเงินลงทุน 1,411.70 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี วิทยาการทางการแพทย์ และระบบบริการทางการแพทย์รองรับการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติ ที่ทันสมัย พัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ มูลค่าสูงเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนานาชาติ โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ

สาระสำคัญของโครงการ ฯ

  • การดำเนินโครงการ ฯ โดยมีจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย (1) ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (International Health/Medical Plaza) (2) ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) (3) ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต (4) ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center)
  • รูปแบบการบริหารจัดการโครงการ ฯ กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าอยู่ระหว่างการหารือ โดยมี 5 รูปแบบ ได้แก่ (1) ภาครัฐดำเนินการเอง (2) รูปแบบพิเศษ (3) โรงพยาบาลกึ่งรัฐกึ่งเอกชน (4) องค์กรมหาชน และ (5) ภาครัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน สธ.จะมีการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการจัดสรรงบประมาณให้ ดำเนินโครงการแล้ว
  • ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และท้องถิ่น ในพื้นที่หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 สร้างโอกาสการลงทุน เกิดการกระจายรายได้สำหรับภาคเอกชน เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่น ส่งผลให้มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรไทย ด้วย
  • ดร.ธนกร กล่าวว่า การพัฒนาโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู้เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก จะเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

    จัดงบกลาง 2,000 ล้าน ให้กองทุนฟื้นฟูฯ แก้หนี้เกษตรกร 3,425 ราย

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,000 ล้านบาท รายการเงินสำรองจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อดำเนินการ ดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานฯ ไตรมาสที่ 3-4 (งบบุคลากร งบดำเนินงาน) วงเงิน 230.38 ล้านบาท
  • การแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,425 ราย วงเงิน 1,500 ล้านบาท
  • การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 42,034 ราย 776 องค์กร วงเงิน 267.62 ล้านบาท
  • กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจัดตั้งโดย พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาของเกษตรกร 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม 3) พัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม และ 4) พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งในระยะเวลา 3 ปี ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2563-2565 กองทุนฯ ไม่ได้รับจัดสรรงบฯ จึงทำให้ในปี 65 นี้ กองทุนฯ มีงบฯ ไม่เพียงพอในการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องขอรับสนับสนุน งบกลางฯ กรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกร ตามนโยบายและข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างเร่งด่วนต่อไป

    ปลื้มต่างชาติแห่ชมวัฒนธรรมไทยในงานเวิลด์ เอ็กซ์โปฯทะลุ 7 แสนคน

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน World Expo 2020 Dubai รอบช่วง 3 เดือนแรก (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564) มีผู้เข้าชมแล้วทั้งสิ้น 713,945 คน (ณ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ) และได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมในลําดับที่ 1 ในโซน Mobility และเป็นลำดับที่ 4 จากอาคารจัดแสดง ระดับประเทศทั้งหมดโดยรองจากซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และไทย

    สำหรับ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจจากสื่อไทยและต่างประเทศ ได้แก่ 1) เนื้อหา และรูปแบบการนําเสนอ (เช่น ศิลปวัฒนธรรมไทย พระอัจฉริยภาพ ของสถาบันพระมหากษัตริย์) 2) ความนิยมของร้านอาหารไทย (โดยเฉพาะจากชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และชาวต่างชาติ) และ 3) การแสดงประจำวันบริเวณเวทีหน้าอาคารแสดงฯ (เช่น การแสดงชุด Thai Fighting Spirit) โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น การแสดงมวยไทยประยุกต์ ร่วมกับเกมและแอนิเมชัน การแสดงสี่ภาคผสมจังหวะดนตรีที่ทันสมัย และการแสดงโขน การจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลอาหารไทยและสุขภาพ เทศกาลลอยกระทง และงานวันชาติไทย การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น กิจกรรม เฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ ยังได้รับรองบุคคลสําคัญระดับราชวงศ์ ระดับรัฐบาล และองค์การ ระหว่างประเทศ อาทิ Prince Sora Bint Saud Al-Saud ซาอุดิอาระเบีย รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    สำหรับแผนงานกิจกรรมในช่วง 3 เดือนหลัง คือ เดือนมกราคม – มีนาคม 2565 จะเน้นการจัดกิจกรรม เพื่อแสดงศักยภาพด้านต่าง ๆ ของไทย เช่น เทศกาลดิจิทัลและนวัตกรรม เช่น นําเสนอโครงการเน็ตประชารัฐ สินค้าและบริการของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย และนวัตกรรมสินค้าฮาลาล เทศกาลพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น นําเสนอนวัตกรรมด้านพลังงาน แห่งอนาคต สัปดาห์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและผลิตภัณฑ์ของไทย เช่น มวยไทย นวดไทย และอาหารไทย และเทศกาลแห่งความสุข โดยนําเสนอผลิตภัณฑ์การเกษตรตามฤดูกาล

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Thailand Pavillion ภายใต้พื้นที่ Mobility Zone ในงาน World Expo Dubai 2020 ได้รับความสนใจและกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก ด้วยเนื้อหาภายในที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการขับเคลื่อนประเทศไทย การแสดงโชว์พิเศษ การนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์สัญชาติไทย และเทคโนโลยีดิจิทัลจากพันธมิตรภาครัฐและเอกชนที่หมุนเวียนกันมาจัดแสดง ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมายังได้จัดกิจกรรมพิเศษฉลองยอดผู้เข้าชมอาคารแสดงประเทศไทย ครบ 1 ล้าน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปจนสิ้นสุดงานในเดือนมีนาคมนี้

    ไฟเขียว ‘การบินไทย’ เซ็นกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านใน มี.ค.นี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ

      1.ปรับฝูงบิน โดยลดจำนวนเครื่องบินเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่คุ้มทุนจากจำนวน 116 ลำ เหลือจำนวน 58 ลำ
      2.ปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท โดยปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากรจำนวน 23,100 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2562 รวมทั้งปรับกระบวนการทำงาน ปรับลดค่าเช่า/เช่าซื้ออากาศยาน ลดแบบเครื่องบินจาก 8 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และการปรับปรุงข้อบังคับการทำงาน
      3.ปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กร โดยลดขนาดองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับพนักงานเหลือ 15,200 คน จากเดิมในปี 2562 มีพนักงาน 29,500 คน ทำให้ค่าใช้จ่ายในเดือนสิงหาคม 2564 มีเหลือเพียง 750 ล้านบาท จากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 2,675 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับลดจำนวนพนักงานเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
      4.การดำเนินโครงการริเริ่มปฏิรูปธุรกิจ โดยเฉพาะโครงการลดค่าใช้จ่ายและโครงการเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในปี 2565 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายจำนวน 53,000 ล้านบาทต่อปี
      5.การหารายได้จากช่องทางอื่น โดยการขนส่งและจำหน่ายสินค้าและอาหารอื่นที่นอกเหนือจากการจำหน่ายอาหารบนอากาศยาน
      6.วางแผนเครือข่ายเส้นทางบินสู่เมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาค โดยอาศัยความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรเชื่อมต่อเที่ยวบินและเมืองรองในภูมิภาคนั้นๆ รวมถึงทวีปอเมริกา เพื่อขยายโอกาสในการหารายได้ ทั้งนี้ ในอนาคตหากสถานการณ์โรคโควิด-19 ดีขึ้น อาจมีการปรับแผนการบินให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป
      7.การจำหน่ายทรัพย์สินรองที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ได้แก่ การขายหุ้นบริษัทย่อย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ และที่ดินและอาคารในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และสำนักงานหลานหลวง ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการขาย คือ อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศและอากาศยานที่บริษัทไม่ประสงค์จะใช้งาน
      8.เร่งจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อนำมาใช้ในการรักษาสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2564-2565
      9.ปรับโครงสร้างหนี้ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัท การบินไทย จำกัด ได้ขยายเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย การปรับลดหนี้ในส่วนภาระดอกเบี้ย การเจรจาปรับลดภาระผูกพันตามสัญญา และการเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้เช่น การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เร่งจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงิน (จากเดิมที่ประมาณการณ์วงเงินสินเชื่อไว้ 50,000 ล้านบาท) เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้ รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดยบริษัทจะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามขั้นตอนของกฎหมายภายในเดือนมีนาคมนี้เช่นเดียวกัน

    เปิด ‘Air Travel Bubble’ ไทย – อินเดีย มี.ค.นี้

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย – อินเดีย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประเทศอินเดียได้ระงับเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้เที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศอินเดียได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้มีการทาบทามฝ่ายไทยต่อการทำความตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย – อินเดีย และขณะนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการประสานงานจนได้ข้อสรุปของการจัดทำความตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย – อินเดีย มีสาระสำคัญคือ การรับขนผู้โดยสารบนเที่ยวบินระหว่างไทยและอินเดีย สามารถรับขนผู้มีสัญชาติไทย อินเดีย เนปาล ภูฏาน และผู้มีสัญชาติต่างประเทศอื่น ๆ ที่ถือวีซ่าเดินทางเข้าประเทศไทยและอินเดีย โดยก่อนที่สายการบินจะออกบัตรโดยสาร หรือ Boarding Pass ให้กับผู้โดยสาร สายการบินต้องมั่นใจว่าผู้โดยสารทุกคนมีคุณสมบัติสามารถเข้าประเทศได้ โดยมีแผนที่จะเริ่มบินในเดือนมีนาคมนี้ ผู้โดยสารที่เดินทางบนเที่ยวบินจะต้องเป็นการเดินทางระหว่างไทยและอินเดียเท่านั้น

    ขยายความร่วมมือไฟฟ้า ไทย-ลาว มุ่งซื้อขายพลังงานสะอาด

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย และ สปป. ลาว และให้ความสำคัญกับการซื้อขายพลังงานสะอาดในภูมิภาคซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งขยายความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากปริมาณกำลังผลิตเดิม 9,000 เมกะวัตต์ รวมปริมาณกำลังผลิตเป็น 10,500 เมกะวัตต์ เพื่อขายพลังงานไฟฟ้าให้กับไทย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อขายไฟฟ้า สำหรับขอบเขตความร่วมมือในด้านอื่นๆ อาทิ

      1) การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาร่วมกันในรายละเอียดเชิงเทคนิค
      2)พัฒนาไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงความร้อน พัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าและระบบขายปลีกไฟฟ้า ใน สปป.ลาว
      3)จัดสรรทรัพยากรน้ำ รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอน
      4)พิจารณาการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงกับระบบสายส่งเดิมกับประเทศที่สาม

    ทั้งนี้ การขยายกรอบดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางพลังงาน ที่กำหนดให้การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศประเทศใดประเทศหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละ 13 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติอนุมัติ หรือ เห็นชอบการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 4 ครั้ง โดยปัจจุบันประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าหรือลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ สปป.ลาว แล้ว จำนวน 5,935 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจ ฉบับวันที่ 6 กันยายน 2559 มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือ 3,065 เมกกะวัตต์ การขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือ 4,565 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดว่าจะเพียงพอต่อการจัดหาพลังงานสะอาดที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศควบคู่กับการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065)

    ไฟเขียวเพิ่มทุน ‘ราช กรุ๊ป’ ไม่เกิน 2.5 หมื่นล้าน

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการเพิ่มทุนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวนไม่เกิน 25,000 ล้านบาท และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มทุนในบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตามสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 45 จำนวนไม่เกิน 11,250 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อให้บริษัทสามารถปรับโครงสร้างเงินลงทุน เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และรองรับการขยายการลงทุนในอนาคต ซึ่งบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะการถือหุ้นในบริษัทอื่นเพื่อลงทุนในบริษัทย่อย การร่วมค้า และเงินลงทุนอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดย กฟผ. มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 45

    สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทในปี 2564 จะดำเนินการในโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ วงเงินทั้งสิ้น 46,430 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาจากการประมาณการเบิกจ่ายเงินลงทุนและการจัดหาแหล่งที่มาของเงินลงทุนโครงการระหว่างปี 2564 -2568 แล้ว จะส่งผลให้บริษัทมีหนี้สินสะสมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องและทำให้อัตราส่วนทางการเงินของบริษัทไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาตามที่ International Credit Rating Agencies กำหนด จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนดังกล่าว

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัท ราช กรุ๊ป (มหาชน) สามารถขยายการลงทุนเพิ่มเติม เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และคงอัตราส่วนทางการเงินเป็นไปตามข้อกำหนดได้ ส่วน กฟผ. จะได้รับเงินปันผลในช่วงระยะเวลา 9 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 29.56

    ตั้ง ‘ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม’ เป็นโฆษกมหาดไทย

    ดร.รัชดา กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ หรือ เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายวิวัฒน์ เขาสกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสาตร์ภาษีสรรพสามิต (นักวิชาการสรรพสามิตทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวง รองโฆษกกระทรวง และผู้ช่วยโฆษกกระทรวงมหาดไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการแต่งตั้งโฆษกกระทรวง รองโฆษกกระทรวง และผู้ช่วยโฆษกกระทรวงมหาดไทย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของทางราชการ ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ ดังนี้

      1. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทย
      2. นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองโฆษกกระทรวงมหาดไทย
      3. นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ช่วยโฆษกกระทรวงมหาดไทย

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แทนกรรมการฯ เดิม จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์
      2. นายอุทัย สินมา
      3. นายวิทยา สุริยะวงค์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2565 เพิ่มเติม